Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มา: จับภาพหน้าจอจาก
ตอนจบของละคร เพื่อนรัก เพื่อนริษยา

การทำละครที่ดี มีคุณภาพ คนทำละครต้องทำการบ้าน ต้องหาข้อมูล เพราะการนำเสนอแต่ละฉากแต่ละตอนของละครมีผลต่อพฤติกรรม ความคิด ความเชื่อ ของคนในสังคม ละครจึงถือเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในอันที่จะช่วยสร้างสรรค์จรรโลงสังคม หรือทำให้สังคมมีความรู้ ความเข้าใจในมิติต่างๆ

ละครเรื่องเพื่อนรัก เพื่อนริษยา ที่ออกอากาศทางช่อง 3 ทุกวันจันทร์ อังคาร ซึ่งสัปดาห์ที่ 5-6 ตุลาคม 2558 นี้จะนำเสนอเป็นตอนจบแล้ว ละครเรื่องนี้ได้รับความนิยมค่อนข้างมากเรื่องหนึ่ง ด้วยดาราที่แสดงและเนื้อหาที่ถูกจริตคนไทย ชื่อเรื่องก็บอกอยู่แล้ว เรื่องราวความรัก ความริษยาระหว่างเพื่อน 3 คน แต่ที่จะขอพูดถึงในที่นี้คือมีการเผยแพร่บทละครตอนจบผ่านสื่อต่างๆ ในฐานะคนทำงานเรื่องเอชไอวี/เอดส์มานาน 20 กว่าปี พออ่านแล้วก็ต้องถอนหายใจเฮือกใหญ่ “เอาอีกแล้ว” พล็อตเดิมๆ ข้อมูลเก่าๆ ในบทโดยสรุปไลลาตายเพราะเป็นเอดส์ โดยไปนอนตัวเน่ามีแผลพุพองทั้งตัวจนต้องพันผ้าพันแผลไว้จนเพื่อนรักอีกสองคนที่ไปทำบุญที่สถานสงเคราะห์ที่ไลลานอนออยู่จำไม่ได้ มารู้เอาตอนที่สิ้นใจแล้วมือที่กำรูปถ่ายเพื่อนรัก 3 คนไว้หลุดมือตกลงมา ช่างเป็นภาพที่น่าเศร้าสะเทือนใจเสียนี่กระไร

เมื่อย้อนนึกไปในอดีตที่ละครนำเสนอคือไลลาเคยมีเพศสัมพันธ์กับเจ้าของช่องทีวี พระเอก และโปดิวเซอร์เพื่อแลกกับหน้าที่การงาน ตอกย้ำการมีคู่นอนมากหน้าหลายตาทำให้เธอต้องมีสภาพเช่นนี้ การนำเสนอเรื่องราวของเอดส์ผ่านบทละครแบบนี้นอกจากจะไม่ตรงตามข้อมูลทางวิชาการยังเป็นการตอกย้ำว่าเอดส์เป็นเรื่องของคนที่มีคู่นอนหลายคน เอดส์เป็นแล้วต้องตาย ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจผิดเรื่องเอชไอวี/เอดส์อย่างมาก!!!

ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานภาคประชาสังคมด้านเอดส์ร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเอชไอวีและเอดส์ตามสโลแกนดังต่อไปนี้ "เอชไอวีป้องกันได้…เอดส์รู้เร็วรักษาได้"

หัวใจสำคัญคือรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนตระหนักว่าหน้าที่การป้องกันเอดส์เป็นหน้าที่ของทุกคน หากคุณมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อเอดส์คุณต้องป้องกันตัวเอง พฤติกรรมเสี่ยงที่ว่าคือหนึ่ง มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ได้ป้องกันโดยการสวมถุงยางอนามัย แม้จะมีคู่นอนเพียงคนเดียว เพราะเราไม่อาจทราบว่าคู่นอนของเรามีเพศสัมพันธ์กับเราคนเดียวหรือไม่ (คนไทยกว่า 90% ติดเชื้อเอชไอวีจากช่องทางนี้) สองคือใช้ยาเสพติดด้วยวิธีฉีดเข้าเส้นและใช้เข็มฉีดร่วมกัน สามคือรับเลือดที่มีเชื้อเอชไอวีเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง

ประการต่อมาคือหากมีพฤติกรรมเสี่ยงแล้ว กังวล อยากรู้ว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ สามารถขอรับคำปรึกษาจากสายด่วนเอดส์ 1663 ได้ทุกวัน เวลา 09.00-21.00 น. และหากต้องการตรวจหาเชื้อเอชไอวีสามารถไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลที่ท่านสะดวกใจที่ไหนก็ได้ที่สบายใจ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ฟรี) ปีละ 2 ครั้ง เพียงแสดงบัตรประชาชน เงื่อนไขคือ ต้องมีสัญชาติไทยและเข้ากระบวนการประเมินความเสี่ยงกับเจ้าหน้าที่ ค่าใช้จ่ายจะเบิกจากกองทุนเพื่อการตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ (กรณีนี้ไม่ครอบคลุมการตรวจเพื่อสมัครงาน การบวช) หากพบว่าติดเชื้อเอชไอวีก็จะเข้าสู่การดูแลรักษาทันที ตั้งแต่การตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกัน (CD4) การป้องกันและการรักษาโรคฉวยโอกาส การตรวจรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถใช้สิทธิเบิกค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะใช้สิทธิบัตรทอง บัตรประกันสังคม และบัตรข้าราชการ ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ ที่เข้าการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีมีมากกว่า 300,000 คน

ดังนั้น ยิ่งรู้สถานภาพการติดเชื้อเร็ว เข้าสู่กระบวนการรักษาเร็ว ยิ่งเป็นผลดีต่อบุคคลนั้น จะทำให้แทบไม่มีโอกาสป่วยป็นเอดส์เลย ขณะเดียวกันหากติดเชื้อเอชไอวีมาก่อนแล้วและเริ่มมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือที่เรียกว่ามีอาการของเอดส์ มีอาการหรือมีโรคฉวยโอกาส รีบมารับการรักษาอาการหรือโรคฉวยโอกาสนั้นให้หาย บุคคลนั้นก็จะกลับไปอยู่ในสถานะเป็นเพียงผู้ติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น ไม่เป็นผู้ป่วยเอดส์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถทำงานได้ เรียนหนังสือได้ ทำกิจกรรมต่างๆ ได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป มีอายุยืนยาว

ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของข้อความรณรงค์ เอชไอวีป้องกันได้…เอดส์รู้เร็วรักษาได้

กลับมาที่ละครเพื่อนรัก เพื่อนริษยา การนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้ป่วยเอดส์ที่มีพฤติกรรมมีคู่นอนหลายคน มีแผลพุพองตามเนื้อตัว ต้องไปอยู่สถานสงเคราะห์ สุดท้ายต้องตาย สวนทางอย่างยิ่งกับการรณรงค์สร้างความเข้าใจใหม่เรื่องเอดส์ เพราะปัจจุบันเราแทบจะไม่เห็นสภาพนั้นแล้ว หากยังมีนั่นแสดงว่าผู้ป่วยรายนั้นไม่ได้รับการรักษาตามมาตรฐานการรักษา อีกทั้งเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมให้เกิดทัศนคติเชิงลบต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ คนดูละครที่มีสมาชิกในครอบครัวติดเชื้อเอชไอวีหรือป่วยเอดส์แล้วต้องตายแน่นอน คนทำละครและสถานีที่เผยแพร่จึงจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ศึกษาหาข้อมูลแล้วนำเสนอเพื่อร่วมลดการตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ในสังคมไทย…มิฉะนั้นจะเป็นการทำร้ายผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเอดส์ซ้ำซาก

 

หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net