บทเรียนไตรสันติภาพ (4) รศ.ดร.คอยรุดดีน อัลจูเนียต : เผย 4 วิกฤตความรู้ในสังคมมุสลิม

รศ.ดร.คอยรุดดีน อัลจูเนียต จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เผย 4 วิกฤตความรู้ในสังคมมุสลิมจนก้าวไปถึงสันติไม่ได้ เราขาดความรู้อิสลามดั้งเดิมตีความหมายญีฮาดผิด ขาดความรู้ในบริบทที่กำลังเผชิญขาดความเข้าใจลำดับก่อนหลัง

รศ.ดร.คอยรุดดีน อัลจูเนียต อาจารย์ประจำสาขาวิชามลายูศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University Of Singapore)

รศ.ดร.คอยรุดดีน อัลจูเนียต อาจารย์ประจำสาขาวิชามลายูศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University Of Singapore) ประเทศสิงคโปร์ได้สะท้อนความคิดจาก3 องค์ปาฐกใน 3 พื้นที่ขัดแย้งคืออาเจะห์ อินโดนีเซีย, มินดาเนา ฟิลิปปินส์และปัตตานี ประเทศไทยในงานประชุมวิชาการนานาชาติ TriPEACE via ASEAN Muslim Societies (ไตรสันติภาพบนเส้นทางสังคมมุสลิมอาเซียน) เรื่อง Muslim Societies, Knowledge and Peacebuilding in Southeast Asia “สังคมมุสลิม, ความรู้ และการสร้างสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา ในฐานะ1 ใน 3นักวิชาการจากนอกพื้นที่ขัดแย้ง ซึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจ ดังนี้

4 ประการที่สร้างวิกฤตความรู้ในสังคมมุสลิม

รศ.ดร.คอยรุดดีน อัลจูเนียตกล่าวเน้นถึงมุสลิมในตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยคำถามที่ว่า เหตุใดมุสลิมในพื้นที่นี้จึงประสบกับความขัดแย้งมากกว่าประเทศที่มุสลิมไม่ใช่ชนกลุ่มใหญ่ อย่างประเทศสิงคโปร์หรือประเทศอื่นๆ

“ผมจะเน้นไปที่ประเด็นเดียวก็คือ วิกฤตของความรู้ในสังคมมุสลิม ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่เรากำลังเผชิญและส่งผลทำให้เราก้าวไปสู่สังคมที่สันติไม่ได้”

วิกฤตของความรู้นี้ประกอบด้วย 4 ประการ คือ ประการแรก มุสลิมขาดความรู้ในประเด็นความรู้อิสลามดั้งเดิมของตนเอง เราเมินเฉยต่ออิสลาม จนทำให้เราตีความหมายของคำว่าญีฮาด หรือ ดารุลฮัรบ์ ผิด

เราเข้าใจอิสลามเพียงแค่ผิวเผิน แต่ไม่เข้าใจว่าอิสลามที่มีการสานต่อนับตั้งแต่สมัยท่านนะบีจนมาถึงสมัยคอลิฟะห์ทั้งสี่ และมาถึงยุคนี้อย่างไร ซึ่งความไม่เข้าใจนี้ ก็ส่งผลทำให้เกิดการเหมารวมว่าสิ่งที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งในชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่อยู่บนฐานของอิสลาม เช่น มีมุสลิมจำนวนมากจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือสิงคโปร์เอง เข้าไปร่วมกับไอซิส(ISIS : กลุ่มรัฐอิสลาม)ซึ่งงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับคนที่เข้าร่วมในไอซิสแล้วกลับมา พบว่าความเข้าใจด้านศาสนาของกลุ่มคนเหล่านี้ แม้ได้รับการศึกษาอิสลามจากอียิปต์หรืออิรัก หรือหลายๆ ประเทศก็ตาม แต่เข้าใจอิสลามเพียงแค่ส่วนเดียว ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาหนึ่งที่บอกว่า ความจริงเพียงเสี้ยวเดียวนั้นอันตรายกว่าไม่รู้ความจริงทั้งหมดเสียอีก

ขาดความรู้ในบริบทที่กำลังเผชิญ

ประการที่สอง คือ การขาดความรู้ในบริบทที่เรากำลังอาศัยอยู่ มุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เราอยู่โดยไม่เข้าใจบริบททางสังคมที่เราอาศัยอยู่ เราเป็นชาวไทยมุสลิมได้อย่างไรหากเราไม่เข้าใจชาวพุทธ เราเป็นมุสลิมในประเทศของเราได้อย่างไรหากเราไม่เข้าใจวัฒนธรรมของชาวจีนในประเทศ เราจะเป็นมุสลิมในฟิลิปปินส์ได้อย่างไรหากไม่เข้าใจคาทอลิก

เรากำลังอยู่ในโลกที่เราไม่ทำความเข้าใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งต่างจากผู้รู้ในอดีตที่บริบทหรือวากีอะห์นี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

ในประวัติศาสตร์อิสลามหลายช่วง เช่น ในช่วงราชวงศ์โมกุลที่มุสลิมเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศอินเดียแต่แสงของอิสลามได้สาดทอไปทั่ว ในสเปนช่วงเวลาหนึ่งพวกเขายอมเรียกตัวเองว่าอาหรับแม้จะไม่ใช่มุสลิมแล้วศึกษาอิสลาม

ขาดความเข้าใจในการลำดับก่อนหลัง

ประการที่สาม คือ การขาดความเข้าใจในลำดับก่อนหลัง ในฟิลิปปินส์ กลุ่มที่เคลื่อนไหวบางกลุ่มนั้นคิดว่าเมื่อต้องการเปลี่ยนแปลง ก็ให้ใช้แนวทางสุดโต่ง ถ้าต้องการเปลี่ยนสังคม ก็ให้ไปทำสงคราม ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ยุซุฟอัลกอรฎอวีย์ บอกว่าเป็นสภาวะการขาดการลำดับความสำคัญ

เราใช้แนวทางที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความเสียหายกับเรา แต่ในความจริงความสำคัญจะต้องเน้นไปที่การศึกษา ในสิงคโปร์เอง แนวทางการแก้ไขปัญหาการถูกทำให้ตกขอบก็คือการศึกษา การศึกษาและการศึกษา มุสลิมหลายคนกำลังสับสนระหว่างแนวทางและเป้าหมาย เราคิดว่าทั้งสองเป็นสิ่งเดียวกัน เราคิดว่าการฆ่าตัวเองจะช่วยแก้ปัญหา ในขณะที่ปัญหาในโลกยังคงเกิดเมื่อคุณตายไป

ขาดการแบ่งปันอิสลามต่อคนที่ไม่ใช่มุสลิม

ประการสุดท้าย คือ การขาดความรู้ของผลประโยชน์สาธารณะหรือมัสลาฮะห์ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม

ในความเป็นจริงอิสลามนั้นเป็นศาสนาของมวลมนุษยชาติ แต่หากเราตั้งคำถามกับมุสลิมบางคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่ากุรอ่านเป็นของใคร พวกเขาจะตอบว่าเป็นของมุสลิม แต่ในขณะที่ความเป็นจริงแล้วกุรอ่านเป็นของมนุษย์ทุกคน เราขาดการแบ่งปันอิสลามต่อคนที่ไม่ใช่มุสลิมเพื่อให้พวกเขาเห็นถึงความสวยงามของอิสลาม

การทำความรู้จักกันจะมาด้วยกับความรู้

4 ประการของความรู้นี้ที่มุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขาดหายไป จนก่อให้เกิดวิกฤตของความรู้ เราจำเป็นต้องเน้นการให้ความรู้ให้ถึงคนรากหญ้า ให้กระจายออกไปในทุกส่วนของชุมชน ผู้รู้จำเป็นที่จะต้องลงไปสู่มัสยิด ตลาด ร้านน้ำชากาแฟ แล้วคุยกับทุกคน มุสลิมควรเรียนรู้ที่จะพูดคุยกับคนต่างศาสนิกให้เสมือนกับพวกเขาเป็นพี่น้องเรา ไม่ใช่ศัตรู

เชื่อว่าหากเราหาความรู้ให้กับตนเองและให้ความรู้กับคนอื่นรอบข้างแล้ว จะทำให้ปัญหาไม่ว่าในอาเจะห์, ฟิลิปปินส์หรือภาคใต้ของไทยจะผ่านพ้นไปได้

รศ.ดร.คอยรุดดีนจบการอภิปรายด้วยการยกโองการจากคัมภีร์อัลกุรอ่านว่า “โอ้มวลมนุษย์ แท้จริงเราได้บังเกิดพวกเจ้ามาจากชายหนึ่งและหญิงหนึ่ง และบันดาลพวกเจ้าให้แตกเป็นเผ่าพันธุ์และเป็นกลุ่มต่างๆ เพื่อพวกเจ้าจะทำความรู้จักซึ่งกันและกัน แท้จริงผู้มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้า ณ องค์อัลเลาะห์คือผู้มีความยำเกรงที่สุดในหมู่พวกเจ้า แท้จริงอัลเลาะห์ทรงรอบรู้ยิ่ง ทรงตระหนักยิ่ง” (ซูเราะฮ์อัล-หุญุรอต โองการที่ 13)

“สิ่งที่สำคัญของอายะห์(โองการ)นี้คือคำว่า ตะอารุฟหรือการทำความรู้จักกัน และตะอารุฟจะมาด้วยกับความรู้ และความรู้จะมาด้วยกับความตระหนักรู้ และความตระหนักรู้นี้จะมาได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจถึงความสวยงามของอิสลามที่มีมานับตั้งแต่สมัยของท่านนะบี” รศ.ดร.คอยรุดดีน กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท