Skip to main content
sharethis

อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ เผย 40 กว่าปีทีขัดแย้งกันและกระบวนการสันติภาพที่ยาวนาน จากอาคีโนผู้พ่อจนถึงบังซาโมโรเบสิก ลอว์ ชี้พลังของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและศาสนา คือกุญแจสำคัญในสันติภาพมินดาเนา

ศ.ดร.มาคาปาโด อบาตอน มุสลิม

ศ.ดร.มาคาปาโด อบาตอน มุสลิม อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ แสดงปาฐกถาเรื่องบทเรียนสันติภาพมินดาเนาภายในงานประชุมวิชาการนานาชาติ TriPEACE via ASEAN Muslim Societies (ไตรสันติภาพบนเส้นทางสังคมมุสลิมอาเซียน) เรื่อง Muslim Societies, Knowledge and Peacebuilding in Southeast Asia “สังคมมุสลิม, ความรู้ และการสร้างสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ที่มีองค์ปาฐกพิเศษจาก 3 พื้นที่ความขัดแย้ง คือ อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย มินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ และปาตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศไทย

40 กว่าปีทีขัดแย้งกันและกระบวนการสันติภาพที่ยาวนาน

ศ.ดร.มาคาปาโด อบาตอน มุสลิม เริ่มต้นปาฐกถาโดยกล่าวว่า ในช่วงเวลานี้ตัวเขาควรจะอยู่ในที่ประชุมวุฒิสภาเพื่อร่วมพิจารณางบประมาณของมหาวิทยาลัยที่เขาเป็นผู้บริหารอยู่ แต่ก็ได้รับอนุญาตให้เดินทางมาร่วมงานนี้ ซึ่งเขาได้เตรียมเนื้อหาปาฐกถา 18 หน้ากระดาษ แต่คงสามารถนำเสนอเพียง 5 หน้าสุดท้ายหรือหนึ่งในสามของเนื้อหาที่เตรียมมาทั้งหมด

“ความขัดแย้งในมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์เริ่มต้นเมื่อ 45 มาแล้ว ตั้งแต่ปี 1970 ที่เกิดความขัดแย้งจนเป็นสงครามขนาดใหญ่มากว่า 40 ปีและมีประชาชนที่ต้องสูญเสียจากสงครามนับแสนคน

ในส่วนของกระบวนการเจรจาสันติภาพเองก็เกิดขึ้นมากว่า 40 มาแล้วเช่นกัน นับเป็นกระบวนการเจรจาสันติภาพที่ยาวนานมาก เพราะนักวิชาการด้านสันติภาพมักจะบอกว่ากระบวนการสันติภาพโดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลาประมาณ 5 ปีก็จะสามารถคาดหวังผลสำเร็จได้

จากอาคีโนผู้พ่อจนถึงบังซาโมโรเบสิก ลอว์

ตอนนี้ฟิลิปปินส์มีประธานาธิบดีเบนิคโน อาคีโนที่ 3 ที่มุ่งหวังและต้องการช่วยเหลือมุสลิมทางตอนใต้ของประเทศและต้องการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น ซึ่งในปี 1983 ผมมีโอกาสถามอาคีโนผู้พ่อเมื่อครั้งที่เขาบรรยายให้นักศึกษามุสลิมฟิลิปิโนที่เจดดาห์ว่า จะมีแนวทางอย่างไรเพื่อให้เกิดสันติภาพขึ้นได้ ซึ่งอาคีโนผู้พ่อตอบว่าจะต้องให้ชุมชนมุสลิมบังซาโมโรดูแลและปกครองตนเองได้ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้

ซึ่งนั่นเป็นข้อเสนอของอาคีโนผู้พ่อ และเช่นเดียวกับประธานาธิบดีคอราซอน อาคีโน ผู้แม่ก็ตอบเช่นเดียวกันในแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งในมินดาเนา และเราโชคดีอีกครั้งกับอาคีโนที่ 3 ที่เดินหน้ากระบวนการสันติภาพที่แม้ว่าในบังซาโมโรเบสิก ลอว์จะไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่ต้องการและไม่ได้มีทุกสิ่งทุกอย่างบรรจุอยู่ แต่ก็มีทุกอย่างที่จำเป็นรวมกันอยู่ ที่จะให้ประชาชนบังซาโมโรสามารถใช้ชีวิตอย่างมีสันติภาพได้ ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของฟิลิปปินส์ได้”

บทเรียนและประสบการณ์จากความขัดแย้ง

บทเรียนและประสบการณ์ความขัดแย้งของฟิลิปปินส์ที่จะเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศอื่นๆ คือ ประการแรกรัฐบาลจะต้องปรับกระบวนทัศน์การบริหารจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะในกรณีของฟิลิปปินส์ คือรัฐบาลต้องแก้ปัญหารากเหง้าของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการครอบงำในทางการเมือง ความล้าหลังด้านเศรษฐกิจรวมทั้งด้านอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและศาสนา รวมทั้งในด้านความปลอดภัยและด้านความมั่นคงแทนที่ของความขัดแย้งด้วยอาวุธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้คือกระบวนการสันติภาพ

บทสรุปของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 45 ปีที่ผ่านมาคือ ทั้งหมดเป็นการจัดการและควบคุมความขัดแย้ง (conflict regulation) ไม่ใช่การแก้ปัญหาความขัดแย้ง (conflict resolution)

การทุ่มกองกำลังไม่มีนัยยะว่าจะแก้ปัญหาได้

ประการต่อมา ความล้มเหลวตลอดมาของของการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ คือแนวทางด้านการทหารที่ใช้ในการควบคุมประชาชนบังซาโมโรของรัฐบาลในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไม่มีนัยสำคัญว่ากองทัพจะสามารถแก้ปัญหาได้ แม้ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนกองกำลังหรือการเปิดรับสมัครทหารใหม่เป็นจำนวนมากก็ตาม

อีกประการหนึ่งคือ ความสำคัญของการแก้ปัญหาความยากจนและความขาดแคลนทางด้านเศรษฐกิจนับเป็นพลังขับเคลื่อนและพลวัตรสำคัญของความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ด้วยปัญหาความยากจนทำให้การรับสมัครนักรบของกลุ่มติดอาวุธกระทำได้ง่าย ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งขนาดใหญ่หลายๆ ครั้งและหลายแห่งที่เกิดขึ้น มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับความยากจนและการก่อเหตุรุนแรง”

สร้างขีดความสามารถเพื่อสร้างความมั่นใจในกระบวนการ

ศาสตราจารย์มาคาปาโดกล่าวถึง ความสำคัญของการเจรจาสันติภาพเพื่อลดความขัดแย้งว่า ขณะนี้ฟิลิปปินส์มีคณะทำงานด้านกระบวนการสันติภาพภายใต้สำนกนายกรัฐมนตรีอันเป็นคณะทำงานของรัฐบาลในกระบวนการสันติภาพ

ที่สำคัญอย่างยิ่งคือการสร้างขีดความสามารถ (capacity building) ในกระบวนการต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า จะมีกลไกและองค์ประกอบต่างๆ ที่เพียงพอในการสร้างเขตปกครองพิเศษบังซาโมโรที่จะเกิดขึ้น ซึ่งข้ออ่อนด้อยประการหนึ่งที่มีอยู่ตลอดมาในช่วง 2 ทศวรรษคือ ความล้มเหลวในการสร้างขีดความสามารถ (capacity building) ในระดับผู้นำรัฐบาลท้องถิ่น ที่จะพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพที่จะให้รัฐบาลท้องถิ่นเข้มแข็ง ซึ่งส่งผลให้ไม่เกิดความมั่นใจว่าการกระจายอำนาจดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ

พลังของอัตลักษณ์เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการแก้ไขความขัดแย้ง

“สิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดในกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง คือการรื้อฟื้นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการแก้ไขปัญหาในประเด็นทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญในอันดับต้นๆ เช่นเดียวกันกับกรณีการแก้ปัญหาความความขัดแย้งในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ทั่วโลก”

การขับเคลื่อนทางสังคม เศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมในทางวัฒนธรรมสำหรับกรณีความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์หรือชนกลุ่มน้อยนั้น ไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์หรือการสร้างกระแสให้เกิดขึ้นในระดับชาติได้ หากว่าอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและศาสนาไม่ได้ถูกนำมาร่วมพิจารณาด้วย เพราะอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์จะเป็นพลังการขับเคลื่อนความเคลื่อนไหวของพลังชาตินิยมอย่างสำคัญเช่นที่เกิดขึ้นกับบังซาโมโร พลังของอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศาสนา เป็นส่วนสำคัญอย่างมากในกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งบังซาโมโร

พลังขับเคลื่อนของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและศาสนาได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วในกรณีบังซาโมโร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับรู้ถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เป็นความขัดแย้งด้านศาสนาระหว่างมุสลิมและคริสเตียนในพื้นที่ความขัดแย้ง ส่งผลทำให้คนมุสลิมกลุ่มใหญ่เข้าร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้ด้วยแนวทางไม่ใช้อาวุธ

ซึ่งในที่นี้สามารถยืนยันได้ว่าหนึ่งในความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตลอดมาคือ การไม่ให้ความสำคัญกับประเด็นอัตลักษณ์อิสลามอย่างเพียงพอ อย่างเช่นในกระบวนการร่างกฎหมาย การนำหลักกฎหมายอิสลามหรือชารีอะห์มาใช้เป็นเพียงส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ในครอบครัวเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการต่อสู้ของบังซาโมโรในมินดาเนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net