Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ: บทความนี้แปลและเรียบเรียงใหม่หลายแห่งจาก Thongchai Winichakul, “The Hazing Scandals in Thailand Reflect Deeper Problems in Social Relations,” Perspective, no. 56, 2005, 9 October 2015, by the ISEAS Yusof Ishak Institute, Singapore. Downloadable at http://www.iseas.edu.sg/images/pdf/ISEAS_Perspective_2015_56.pdf

สรุปย่อ

- การรับน้องในสถาบันอุดมศึกษาไทยหรือที่เรียกว่า โซตัส (SOTUS) ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่อื้อฉาวจนถึงขั้นเสียชีวิตแทบทุกปี เสียงเรียกร้องให้ยุติประเพณีดังกล่าว มักต้องเผชิญกับฝ่ายสนับสนุนอย่างเหนียวแน่นรวมทั้งจากนักวิชาการและผู้บริหารมหาวิทยาลัย

- โซตัสเฟื่องฟูในไทยเพราะมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสังคมไทย เป็นพิธีกรรมที่ประมวลและการผลิตซ้ำ “ความเป็นไทย” ที่สำคัญๆ ได้แก่ความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากันและสถาบันทางสังคมแบบอิงตัวบุคคล

- การเฟื่องฟูของโซตัส เป็นส่วนหนึ่งของกระแสอนุรักษ์นิยมที่เข้มแข็งขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นปฏิกิริยาที่มีต่อโลกาภิวัตน์และภัยคุกคามจากตะวันตกตามที่คนเหล่านั้นคิด ทั้งยังเป็นผลมาจากลัทธิลุ่มหลงเจ้า (Hyper-royalism) เป็นเหตุให้ในมหาวิทยาลัยมีการประดิษฐ์ประเพณีที่ส่งเสริมความเป็นไทยอย่างแพร่หลาย

- ความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากันและสถาบันทางสังคมแบบอิงตัวบุคคล เป็นรากเหง้าของปัญหาร้ายแรงในสถาบันทางสังคมของไทย เพราะทำให้กฎหมาย ระเบียบ จรรยาบรรณวิชาชีพและหลักการซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับสถาบันเชิงสังคมในสังคมที่ซับซ้อน ถูกละเลยจนเป็นเรื่องปกติ


00000000000


ประเพณีการรับน้องในมหาวิทยาลัยไทยแบบที่เรียกว่าโซตัสตกเป็นข่าวพาดหัวบ่อยครั้ง เสียงเรียกร้องให้ยุติประเพณีดังกล่าวเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุอื้อฉาวขึ้น ผู้ที่ปกป้องโซตัสไม่ได้มีเพียงนักศึกษาและศิษย์เก่าบางคนเท่านั้น แต่มักรวมถึงอาจารย์และผู้บริหารในมหาวิทยาลัยด้วย

โซตัส มาจากตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษของคำว่า “Seniority Order Tradition Unity Spirit” เชื่อกันว่าโซตัส เป็นของนำเข้ามาจากตะวันตก แต่ผู้เขียนก็ไม่พบหลักฐานว่ามาจากสถาบันประเภทไหน (มหาวิทยาลัย โรงเรียนทหาร หรือโรงเรียนประจำ) หรือนำเข้าโดยใคร เมื่อไร บ้างว่ามาจากสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 1950 บ้างว่าพวกเจ้าไทยที่ไปเรียนในอังกฤษนำประเพณีนี้กลับมาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 บ้างว่าเริ่มที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บ้างว่าเริ่มที่จุฬาฯ

แม้ว่าประเพณีรับนักศึกษาใหม่จะยังมีอยู่ในหลายสถาบันในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร แต่การกระทำใดๆ ที่รุนแรง วิตถาร น่าทุเรศ หรือทำให้อับอาย (เรียกรวมในภาษาอังกฤษว่า Hazing) ถูกห้ามมานานแล้วในสถาบันแทบทุกแห่ง รวมทั้งในโรงเรียนของทหาร Hazing ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสถาบันอุดมศึกษา น่าสนใจว่าถ้าเราค้นดูในอินเทอร์เน็ต จะพบว่าคำว่าโซตัสหมายถึงประเพณีรับน้องในประเทศไทยเท่านั้น ดังนี้น แม้ชื่อจะเป็นฝรั่ง แต่อาจเรียกได้ว่าประเพณีนี้มาเกิดใหม่ เติบโตและเฟื่องฟูในประเทศไทยเท่านั้น

เหตุใดโซตัสจึงเฟื่องฟูเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาไทย? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สถาบันอุดมศึกษาของไทยกำลังพยายามอยากจะเป็นสถาบันติดอันดับสูงๆ ของโลก เหตุใดผู้บริหารมหาวิทยาลัยและนักวิชาการจำนวนมากจึงยังคงสนับสนุนประเพณีที่ชาวโลกถือว่าป่าเถื่อนผิดกฎหมาย แทนที่จะกำจัดให้หมดไปเพื่อให้สถาบันของตนไต่อันดับสูงขึ้น?

โซตัสเป็นแค่ความสะใจของวัยรุ่นหรือ? หรือสะท้อนเงื่อนไขที่ลึกซึ้งและปัญหาที่ร้ายแรงกว่าในสังคมไทย?

ผู้เขียนเห็นว่าโซตัสเฟื่องฟูขึ้นเพราะสังคมไทยมีลักษณะที่เอื้อต่อการ Hazing ไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไรก็ตาม ประเพณีนี้ได้รับการดัดแปลงให้เข้ากับสังคมไทยและตอบสนองกับสภาวะของไทยเป็นอย่างดี โซตัสเป็นไทยไปเรียบร้อยแล้ว มีบางคนบอกว่าโซตัสเฟื่องฟูมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็หมายความว่าโซตัสสอดคล้องกับภาวะของสังคมไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามากกว่าช่วงก่อนหน้านั้นเสียอีก
 

อะไรเป็นเงื่อนไขให้โซตัสเติบโตในสังคมไทย?

ผู้เขียนขอเสนอว่าโซตัสแสดงถึงและผลิตซ้ำแบบแผนหลักสองอย่างของความสัมพันธ์ทางสังคม ได้แก่ ความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากันและสถาบันทางสังคมแบบอิงตัวบุคคล สังคมไทยมีความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากันที่เข้มแข็ง “ความเป็นไทย” หมายถึง ความหมกมุ่นให้ความสำคัญเกินควรกับสถานะสูงต่ำของคน ไม่ว่าจะเป็นชาติวุฒิ วัยวุฒิ คุณวุฒิ ชนชั้น ยศถาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่ง ความร่ำรวย เพศ หรืออำนาจ สถานะสูงต่ำของคนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับ แวดวงสาธารณะต่างๆ ที่คนจำนวนมากพบปะสัมพันธ์กันจนก่อรูปก่อร่างเป็นสถาบันทางสังคม (social institution) ทั้งการศึกษา การบังคับใช้กฎหมาย ทหาร ระบบกระบวนการยุติธรรม ธุรกิจ สื่อมวลชน ฯลฯ เป็นเหตุให้สถาบันทางสังคมเหล่านี้มีลักษณะ “อิงตัวบุคคล” อย่างมาก แทนที่จะ “ไม่อิงตัวบุคคล”

สถาบันทางสังคมที่ “อิงตัวบุคคล หรือ ไม่อิงตัวบุคคล” เป็นคุณลักษณะที่ตรงข้ามกันสองประเภท การอิงตัวบุคคลทำให้สถาบันหนึ่งๆ อาศัยสถานะของบุคคลเป็นปัจจัยที่กำหนดวัฒนธรรม โครงสร้างอำนาจ ตลอดจนปฏิสัมพันธ์ของคนในสถาบันสาธารณะนั้นๆ ความสัมพันธ์ที่อิงตัวบุคคลไม่จำกัดแค่ความสัมพันธ์ส่วนตัวล้วนๆ (เช่น การเล่นพรรคเล่นพวก เส้นสาย ระบบอุปถัมภ์ หรืออคติ รังเกียจกัน) แต่รวมถึงการให้ความสำคัญกับสถานะสูงต่ำของคนที่ตนอาจไม่รู้จัก ใช้เป็นปัจจัยกำหนดการตัดสินใจและกำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจในสถาบันนั้นๆ

ส่วนสถาบันทางสังคมแบบที่ไม่อิงตัวบุคคลหมายถึงสถาบันที่มีวัฒนธรรมและโครงสร้างอำนาจอยู่บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์หรือระเบียบที่ไม่ได้ขึ้นกับสถานะของตัวบุคคลหรือความสัมพันธ์ส่วนบุคคล หลักเกณฑ์เหล่านี้อาจปรากฏในหลายรูปแบบและหลายระดับ เช่น กฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์ มาตรฐาน จรรยาบรรณวิชาชีพ และหลักการต่างๆ

อันที่จริง ความสัมพันธ์เชิงสังคมทั้งสองแบบปรากฏอยู่ในทุกสังคมและทุกสถาบันสาธารณะบนโลกใบนี้ ไม่มีสถาบันและสังคมใดอยู่รอดได้ด้วยความสัมพันธ์เพียงประเภทเดียว แต่ความแตกต่างของสังคม ก. และ สังคม ข. เป็นผลจากระดับของความสัมพันธ์แต่ละประเภทที่แตกต่างกันในสังคมหนึ่งๆ และในสถาบันต่างๆ และยังขึ้นอยู่กับว่าสังคมหนึ่งๆ มีสถาบันประเภทใดเป็นหลักหรือเป็นพื้นฐาน

กล่าวโดยทั่วไป สังคมขนาดเล็กและซับซ้อนน้อยกว่า มักจะมีความสัมพันธ์เชิงสังคมที่อิงตัวบุคคลหรือขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ยอมยืดหยุ่นระเบียบกฎเกณฑ์ตามตัวบุคคล หรือมีการเลือกบังคับใช้กฎหมายและปรับกระบวนการยุติธรรมให้ยืดหยุ่นตามสถานะของบุคคลที่เกี่ยวข้อง แต่ในสังคมขนาดใหญ่และซับซ้อนที่มีความแตกต่างและผลประโยชน์ของผู้คนขัดแย้งกันมากจนเป็นภาวะปกติ สถาบันทางสังคมที่เป็นสาธารณะต้องอิงตัวบุคคลน้อยลงหรือไม่อิงเลย และต้องยึดมั่นกับกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ มาตรฐาน จรรยาบรรณวิชาชีพ และหลักการมากกว่า นั่นคือต้องไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหม

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความซับซ้อนแตกต่างขัดแย้งกันเป็นภาวะปกติอย่างแน่นอน แต่สถาบันทางสังคมของเรากลับเป็นแบบอิงตัวบุคคล เวลาบังคับใช้ระเบียบต่างๆ เรามักต้องพิจารณาว่าใช้กับ “ใคร” “ใคร” เป็นปัจจัยที่สำคัญกว่า คอขาดบาดตายกว่ากฎหมาย ระเบียบ จรรยาบรรณวิชาชีพ หรือหลักการต่างๆ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบไม่อิงตัวบุคคล ในบางสถาบันวิชาชีพ (เช่น สื่อมวลชน) จรรยาบรรณอาจจะยังไม่ได้รับการพัฒนาจนมีวุฒิภาวะพอด้วยซ้ำไป

ระบบกระบวนการยุติธรรมซึ่งมักถูกมองว่าเต็มไปด้วยการปฏิบัติแบบ “สองมาตรฐาน” ความจริงแล้วอาจมีเพียงมาตรฐานเดียว คือขึ้นอยู่กับว่าบุคคลที่เป็นคู่ความกันนั้นมีสถานะทางสังคมแบบใด การบังคับใช้กฎหมายในสังคมสยามสมัยโบราณมักขึ้นอยู่กับศักดินาของบุคคลคู่กรณี ดูเหมือนว่าแม้สังคมไทยจะล้ำยุคทันสมัย แต่วัฒนธรรมโบราณยังดำรงอยู่ หลักการและจรรยาบรรณวิชาชีพที่สำคัญสุดคือการตระหนักถึงปัจจัย “ใคร” ตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบอิงตัวบุคคลเช่นนี้ เป็นเสน่ห์และข้อน่าดึงดูดใจสำหรับคนต่างชาติจำนวนไม่น้อย พวกเขานิยมคุณลักษณะซึ่งมีน้อยไปในสังคมของเขา บางคนบอกว่าความสัมพันธ์แบบนี้มีความเป็นมนุษย์มากกว่า (ตรงข้ามกับสถาบันที่ไม่อิงตัวบุคคลที่ เป็นมนุษย์น้อยกว่า?) กล่าวอีกอย่างก็คือ พวกเขารักประเทศไทยที่ยังคงวัฒนธรรมโบราณอยู่ ตราบที่พวกเขายังไม่มีปัญหาที่ต้องเผชิญกับตำรวจและกระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ และตราบที่พวกเขาไม่ต้องข้องแวะกับระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ

ระบบการศึกษารวมทั้งสถาบันอุดมศึกษา เป็นโครงสร้างพื้นฐานทำหน้าที่ผลิตซ้ำและสืบทอดสถาบันแบบอิงตัวบุคคล และความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากันต่อเนื่องมาหลายชั่วคน ผู้สนับสนุนโซตัสมักอ้างว่า โซตัสเป็นการตระเตรียมให้คนออกไปเผชิญกับโลกที่เป็นจริง ดูเหมือนว่าพวกเขาจะพูดถูก โซตัสทำให้เกิดเครือข่ายอุปถัมภ์ ซึ่งอาจมีผลต่อการงานอาชีพของบางคนแทบจะตลอดชีวิตก็เป็นได้ โซตัสเป็นเบ้าหลอมผู้มีความเป็นไทยในรุ่นต่อไป เพราะโซตัสได้ประมวลค่านิยมหลักๆ ของความเป็นไทยไว้ด้วยกันจนตกผลึกเป็นพิธีกรรมการละเล่นแบบเด็กๆ ได้แก่ การให้ความสำคัญกับอาวุโสหรือสถานะสูงต่ำ การสยบยอมต่ออำนาจและความสงบราบคาบ การยอมรับประเพณีหรือสิ่งที่ทำตามกันมาอย่างไม่พึงสงสัย เป้าหมายสูงสุดของสังคมเพื่อความสามัคคีสอดคล้องกัน และจิตวิญญาณหรือความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ความเป็นไทย โซตัสจึงเป็นการบ่มเพาะ เป็นการฝึกฝน และเป็นการผลิตซ้ำความสัมพันธ์แบบที่ดำรงอยู่แล้วในสังคมไทย

โซตัสอาจถูกมองว่าเป็นประเพณีสิ้นคิด ใฝ่ต่ำ รุนแรง หรืออาจถึงขั้นอันตราย แต่หากถือว่าเป็นการฝึกฝนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เป็นเบ้าหลอมวัยรุ่นสำหรับสังคมอำนาจนิยมที่มีชั้นชน โซตัสจะดูสมเหตุสมผล เอื้ออาทร เป็นการบ่มเพาะอย่างอ่อนโยน เป็นสนามเด็กเล่นของระบอบอำนาจนิยม

สถาบันอุดมศึกษาไทยทำตามภารกิจที่สังคมคาดหวังได้ดี บรรดาผู้บริหารและนักวิชาการที่สนับสนุนโซตัสอย่างเข้มแข็งทำหน้าที่เป็นอย่างดี สอดคล้องกับดัชนีชี้วัดสมรรถนะ หรือ KPI (key performance index) ตามที่กำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องทำ (โปรดดูต่อไป)


ทำไมโซตัสจึงกลับมาแรง?

อันที่จริงโซตัสได้เสื่อมลงตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1970 โดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งนักศึกษาได้ตื่นตัวท้าทายสถาบันทางสังคมและจารีตประเพณีต่างๆ โซตัสตกเป็นเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่ง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยมีลักษณะอนุรักษ์นิยมมากขึ้น มีการส่งเสริมความเป็นไทยอย่างเอาเป็นเอาตาย ทั้งโดยรัฐและประชาสังคม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อว่าภัยคุกคามมาจากโลกตะวันตกในรูปของโลกาภิวัตน์และระบอบทุนนิยมที่สามานย์ เหตุอีกอย่างที่หนุนส่งความเป็นไทยคือภาวะการเมืองอนุรักษ์นิยมจัดและการขยายตัวของลัทธิลุ่มหลงเจ้า (Hyper-royalism) ในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา

ภายใต้ภาวะความเป็นไทยล้นเกิน ผู้คนหันมาใส่ใจกับพฤติกรรมที่เหมาะสมกับสถานะทางสังคมของตนเมื่อเทียบกับคนอื่น ประเพณีพิธีกรรมสาธารณะและการประพฤติปฏิบัติหลายอย่างถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ถูกรื้อฟื้น ส่งเสริม และขยายผล เพื่่อตอกย้ำ ผลิตซ้ำ และสร้างความเข้มแข็งให้กับความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากัน หลายกรณีมีลักษณะวิจิตรอลังการหรือ “เว่อร์” ผู้คนจับจ้องอ่อนไหวกับรายละเอียดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กลัวทำผิดในพิธีกรรมและการแสดงออกหรือถ้อยคำต่างๆ อย่างเหลือเชื่อ จนความหมกมุ่นกับเรื่องไม่เป็นเรื่องกลายเป็นเรื่องปกติ นาฏกรรมแบบเว่อร์ๆ เพื่อตอกย้ำความสูงต่ำของคน มีแนวโน้มขยายตัวอย่างชัดเจนในสถาบันการศึกษาในหลายทศวรรษหลังๆ ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของสังคมแบบละครโรงใหญ่ของเรา

- การบังคับให้นักศึกษาแต่งเครื่องแบบเกิดขึ้นทั่วประเทศ ทั้งที่ภายหลัง พ.ศ. 2516 ข้อกำหนดให้แต่งเครื่องแบบถูกยกเลิกไปแล้วในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ เพราะมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของระบอบอำนาจนิยม แต่ในปัจจุบัน หลายแห่งบังคับให้แต่งเครื่องแบบในห้องเรียนอีกครั้ง และแทบทุกแห่งบังคับให้แต่งเครื่องแบบในห้องสอบ

- นับแต่ปี 2540 เศษๆ เป็นต้นมา นิสิตใหม่ของจุฬาฯ จะต้องทำพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อหน้าอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 และ 6 ว่าจะเป็นข้ารับใช้ที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ว่ากันว่าเป็นการรื้อฟื้นพิธีถวายตัวแบบที่นิสิตจุฬาฯ ปฏิบัติในยุคที่ยังเป็นโรงเรียนมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ อาจารย์ใหม่ของจุฬาฯ ก็ต้องเข้าร่วมพิธีที่เพิ่งจะสร้างขึ้นมาใหม่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ที่เรียกว่า “พิธีถวายตัวถวายใจ” ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อาจมีนิสิตใหม่และอาจารย์บางท่านรู้สึกไม่พอใจแต่ก็ต้องปฏิบัติตาม แต่เท่าที่ทราบมา ส่วนใหญ่จะพอใจและภูมิใจที่ได้เข้าร่วมพิธีกรรมนี้

- พิธีกรรมคล้ายคลึงกันต่อพระนเรศวรเพิ่งคิดค้นขึ้นมาไม่กี่ปีนี้เองที่มหาวิทยาลัยนเรศวร ปัจจุบันกลายเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ สถาบันอุดมศึกษาไทยแห่งอื่นๆ จำนวนมากกำลังทำตาม มีการประดิษฐ์พิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ดูอลังการขึ้นมา (เช่น ดู http://www.oknation.net/blog/ruendorkrak/2012/06/22/entry-1 และตัวอย่างอื่นอีกมากมายที่สามารถค้นหาได้เองในอินเทอร์เน็ต) นักเรียนมัธยมก็อยู่ในกระแสนี้เช่นกัน เช่น นักเรียนมัธยมในพิษณุโลกก็ต้องเข้าร่วมพิธีถวายตัวเป็นลูกสมเด็จพระนเรศวรด้วย (http://iiquare.com/post.php?post_id=939) และที่อื่นๆ อีกมาก (เช่น ดู https://www.youtube.com/watch?v=_dkLS3BdKI4)

- หนึ่งในพิธีกรรมเก่าแก่ของสถาบันการศึกษาไทยแทบทุกแห่ง ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย คือพิธีไหว้ครู คงเนื่องจากบรรดาชนชั้นกลางของไทยที่มีฐานะร่ำรวยขึ้นมากในทศวรรษหลังๆ มานี้ พิธีไหว้ครู จึงวิจิตรพิสดารอลังการขึ้นมาก แม้แต่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของสามัญชน ความเท่าเทียม และเสรีภาพ ยังมีการจัดพิธีนี้อย่างเหลือเชื่อ (ดู https://www.youtube.com/watch?v=AWAei5W9jqo)

- แนวโน้มอนุรักษ์นิยมในสถาบันอุดมศึกษาของไทย ถูกกำหนดให้เป็นดัชนีชี้วัดสมรรถนะหลัก (key performance index - KPI) ประการหนึ่งของมหาวิทยาลัยไทย มีการกำหนดภารกิจว่าบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยไทยต้องมีคุณสมบัติที่สามารถ “อนุรักษ์ความเป็นไทยท่ามกลางโลกาภิวัตน์"

ยังมีตัวอย่างอื่นอีกมากมาย

ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ โซตัสจึงกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งแถมอาจจะสำคัญขึ้นมากด้วย ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2558 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ที่สะท้อนอย่างชัดเจนถึงวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่เข้มแข็งในระบบการศึกษาไทย ในกรณีแรก ครูท่านหนึ่งตบศีรษะนักเรียนซึ่งเป็นแกนนำการประท้วงโรงเรียนที่เก็บค่าส่ง SMS ของทางโรงเรียนเอง หลังจากที่ภาพแพร่หลายออกไป ครูท่านนั้นได้ประกาศอย่างชัดเจนต่อสาธารณะว่าตนยอมรับผิดที่ทำรุนแรงไป แต่จะไม่ยอมขอโทษต่อการทำตามสำนึกของความเป็นครู เขากำลังบอกว่าสำนึกของความเป็นครูคือการบ่มเพาะให้ลูกศิษย์สยบยอมต่อครู ต่อโรงเรียน และต่ออำนาจ การลงโทษเด็กจึงสมควรแล้ว เพียงแต่ทำรุนแรงไปหน่อยแค่นั้นเอง

ในกรณีที่สอง อาจารย์ท่านหนึ่งวิจารณ์โซตัสในมหาวิทยาลัยของเธอ เป็นเหตุให้นักศึกษา ศิษย์เก่า อาจารย์มหาวิทยาลัยบางคนและคนภายนอกตอบโต้เธออย่างรุนแรง มีบางคนขู่จะทำร้ายทางเพศและใช้กำลังประทุษร้ายด้วย วันต่อมาผู้บริหารมหาวิทยาลัยคนหนึ่งยังปฏิเสธที่จะปกป้องอาจารย์ท่านนั้นโดยบอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย แถมแสดงท่าทีปกป้องการกระทำของนักศึกษาอีกด้วย

การกลับมาเข้มแข็งของโซตัสเป็นประจักษ์พยานว่าอุดมศึกษาไทยประสบความสำเร็จ ไม่ล้มเหลวอย่างที่มักกล่าวหากัน แต่เป็นความสำเร็จในการสืบทอดผลิตซ้ำปัญหาเรื้อรังให้คงอยู่กับสังคมไทยต่อไป (น่าเสียดายที่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกไม่รวมสมรรถนะข้อนี้ไว้ด้วย)
 

สืบทอดโรคร้ายในสังคมไทย

ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งของสังคมไทยก็คือความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากันและวัฒนธรรมอำนาจนิยม ประกอบกับสถาบันทางสังคมแบบอิงตัวบุคคลที่ถูกผลิตซ้ำโดยโซตัสนี่เอง โรคนี้ระบาดในทุกอณูของสถาบันต่างๆ ความอัปลักษณ์ของโซตัสและความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเนืองๆ เป็นภาพขนาดเล็กที่สะท้อนสังคมไทยโดยรวม

ยกตัวอย่างเช่น ในแวดวงนักวิชาการไทย เป็นที่ทราบกันดีว่าการเลื่อนขั้นทางวิชาการ นอกจากต้องอาศัยผลงานทางวิชาการแล้ว ยังต้องอาศัยความสัมพันธ์ทางการเมืองหรือความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการเลื่อนขั้นในตำแหน่งที่สูงมักมีความชอบไม่ชอบทางการเมืองหรือส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวด้วยเป็นประจำ การให้ความเห็นเชิงวิชาการต่อผลงานของคนอื่นต้องคำนึงถึงว่าเป็นงานของใครและมีตำแหน่งทางสังคมแบบใด ทำให้เกิดวัฒนธรรมการวิจารณ์แบบไทยๆ (ผู้เขียนเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ในที่อื่นแล้ว ขอไม่อธิบายซ้ำในที่นี้อีก) แม้แต่การลอกงานทางวิชาการ (plagiarism) ซึ่งถือเป็นบาปมหันต์ทางวิชาชีพก็อาจได้รับการปกป้องหรือคุ้มครองเป็นเวลาหลายปี หากผู้กระทำผิดมีเส้นสายดีหรือมีอาวุโส นอกเหนือจากวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจนเป็นปกติในสถาบันวิชาการแล้ว การเมืองแบบที่ต่อต้านประชาธิปไตยอย่างชัดเจนของบรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และกระแสอนุรักษ์นิยมที่กล่าวถึงข้างต้น ทำให้ชีวิตนักวิชาการแบบวิพากษ์วิจารณ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตอย่างมาก

ในสังคมที่สถาบันทางสังคมยังอิงกับบุคคลอย่างมาก วงการวิชาการและสื่อมวลชนที่ดีเกิดขึ้นได้ยาก เพราะไม่ให้ความสำคัญกับผลงานอย่างที่ควรจะเป็น แถมยังมีการดูแคลนความเป็นมืออาชีพอีกด้วย สถาบันทางสังคมจะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในบริบทที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นแนวราบ และอยู่ภายใต้กฎระเบียบจรรยาบรรณที่ไม่อิงตัวบุคคล แต่น่าเศร้าที่โรคร้ายเกิดขึ้นแผ่กระจายในสถาบันทหาร ตำรวจ ราชการ และในสถาบันสาธารณะแทบจะทุกแห่งในประเทศไทยทุกวันนี้ รวมทั้งในกระบวนการยุติธรรม ความไร้ประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือตกต่ำดำรงอยู่ต่อเนื่องมาหลายรุ่นเนื่องจากการรับสมัคร การปรับเลื่อนตำแหน่งและการบ่มเพาะบุคลากร ไม่ได้อิงกับมาตรฐานแบบมืออาชีพ แต่อยู่บนพื้นฐานของเส้นสายนานาชนิดและวัฒนธรรมอิงกับบุคคล สถาบันทางสังคมเหล่านี้จึงไม่มีความสามารถรับมือกับภารกิจที่มีความซับซ้อนและยากมากขึ้นในโลกสมัยนี้

ความไร้ประสิทธิภาพเช่นนี้ส่งผลร้ายแรงอย่างมากเมื่อเร็วๆ นี้ อย่างกรณีอื้อฉาวที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization - ICAO) ประกาศลดอันดับอุตสาหกรรมการบินไทย เนื่องจากสอบตกมาตรฐานความปลอดภัย การลงโทษของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปต่อประเทศไทยกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และคำเตือนของสหภาพยุโรปต่ออุตสาหกรรมประมงของไทย เนื่องจากปัญหาการใช้แรงงานทาส ในทุกกรณีดูเหมือนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ซึ่งถูกมองข้ามมาหลายปี ในระยะไม่กี่ปีมานี้ชาวโลกยังได้ตระหนักว่าตำรวจไทยมีความเป็นมืออาชีพแค่ไหนในการคลี่คลายคดีสำคัญๆ ที่โลกจับตามอง ไม่ต้องพูดถึงคดีเล็กๆ ทั้งหลายที่เกิดขึ้นทุกวันในประเทศ การทุจริตก็เป็นผลมาจากวัฒนธรรมทางสังคมแบบนี้เช่นกัน การโยนบาปให้กับนักการเมืองว่าเป็นผู้ทุจริต โดยไม่คำนึงถึงปัญหาที่แท้จริงที่เกิดขึ้นกับสถาบันทางสังคมทุกแห่ง โดยเฉพาะสถาบันของทหารและข้าราชการ แสดงว่าคนไทยกำลังหลอกตัวเองอีกครั้ง

ผลลัพธ์ที่น่าเศร้าที่สุดของสถาบันทางสังคมที่ต้องอิงกับบุคคลจนเกินไป ได้แก่ ระบบการเมืองไทยซึ่งพึ่งพากษัตริย์ผู้มีบารมีอย่างมาก แถมโอกาสที่จะมีมหาบุรุษก็เป็นเรื่องยาก ในยามที่อาทิตย์อัสดง อนาคตของทั้งประเทศจึงเท้งเต้งเหมือนอยู่ในมวลเมฆ ทำให้ระบบการเมืองสั่นคลอนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีคนกล่าวว่ากษัตริย์ไทยเป็นเสาหลักการเมืองไทยมั่นคง แต่ดูท่าคนไทยยังไม่เรียนรู้ถึงบทเรียนที่ว่า มนุษย์ที่ไม่เป็นอมตะไม่อาจเป็นพื้นฐานของสถาบันการเมืองที่มั่นคงได้

สรุป

ปัญหาโซตัสจึงเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง เป็นส่วนยอดของปัญหาพื้นฐานที่ร้ายแรงและใหญ่กว่านั้นมาก เป็นภาพสะท้อนเล็กๆ ของปัญหาที่แพร่หลาย หรือเป็นอาการของความบกพร่องเรื้อรังในเชิงโครงสร้าง การหยุดโรคร้ายเช่นนี้ เราต้องเผชิญหน้ากับความสัมพันธ์แบบคนสูงต่ำไม่เท่ากันและวัฒนธรรมอำนาจนิยม และต้องปรับปรุงให้สถาบันทางสังคมโดยเฉพาะสถาบันสาธารณะต่างๆ ให้อิงตัวบุคคลน้อยลง ให้ยึดหลักกฎหมาย ระเบียบ จรรยาบรรณวิชาชีพ และหลักการมากขึ้น

ในระหว่างนี้ถ้าอันดับของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยตกต่ำลงทุกทีก็คงเหมาะสมดีแล้วตามมาตรฐานแบบไม่อิงตัวบุคคล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net