‘Chea Vannath’ จากผู้ลี้ภัยสู่ผู้นำภาคประชาสังคม-สร้างสันติภาพในเขมร

Chea Vannath

วันที่ 13 ตุลาคม 2558 “คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ร่วมกับ Peace Women Across The Globe ” จัดโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างสันติภาพของผู้หญิงข้ามพรมแดนในอาเซียน ที่ห้องศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีวิทยากรสตรีที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสันติภาพ 2 คน คือ Chea Vannath นักสันติภาพอาวุโสผู้เคยผ่านสงครามและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา ในฐานะประธานศูนย์พัฒนาสังคมกัมพูชา และ Prof.Dr. Eka Srimulyani (Assistant director II post graduate program at the Ar-Raniry State Islamic Institute in Banda Aceh) แปลโดยนางสาวจุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม จาก Berghof Foundation

เธอผ่านสงครามกลางเมืองและการสังหารหมู่

กล่าวสำหรับ Chea Vannath หรือวรรณา เธอได้เล่าถึงประวัติชีวิตและภูมิหลังในช่วงสงครามกลางเมืองในกัมพูชา กระทั่งต้องระหกระเหินลี้ภัยไปไกลถึงสหรัฐอเมริกา กระทั่งในกลับมาอีกครั้งในฐานะผู้นำภาคประชาสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพในประเทศ

วรรณาได้ผ่านเวลาที่มืดมิดและยากลำบากในช่วง 20 ปี ในห้วงมหาภัยของสงครามเย็น การปฏิวัติที่เลวร้ายและสงครามกลางเมืองในชวงปี ค.ศ 1970-1993 ที่มีคนมากกว่าสองล้านคนเสียชีวิตจากสงคราม การสังหารหมู่ ความตายจากความอดอยากและโรคภัย

เธอได้จบเส้นทางที่มืดมิดด้วยการหนีและลี้ภัยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และกลับยังประเทศกัมพูชาในช่วงเริ่มต้นของภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ 1992-1993

ในฐานะที่เป็นผู้นำภาคประชาสังคมและหัวหน้าศูนย์พัฒนาสังคม เธอมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพของกัมพูชา การสร้างความความปรองดองแห่งชาติ และการฟื้นฟูบูรณะประเทศหลังสงครามผ่านการทำกิจกรรมหลายอย่าง เช่น การจัดเวทีสาธารณะ การฟื้นฟูการปกครองที่มีหลักธรรมาภิบาล และโปร่งใสและเคารพและส่งเสริม หลักสิทธิมนุษยชนผ่านกระบวนการประชาธิปไตย

วรรณาเอาชนะความยากลำบาก ผ่านการเรียนรู้และซึมซับกับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามี 3 ปิฎก คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎกและอภิธรรมปิฎก และ วิปัสสนากรรมฐาน

เธอเป็นลูกนักการเมือง ได้รับผลกระทบถูกจับ อยู่ในทุ่งสังหาร และใช้ชีวิตในทุ่งสังหาร ตามระบอบสังคมนิยม หลังจากนั้นลี้ภัยไปอเมริกา ก่อนหน้านั้นอยู่ค่ายกักกันในประเทศไทย และเดินทางไปฟิลิปปินส์

จุดเริ่มต้นสงครามในกัมพูชา

วรรณา เริ่มต้นการเล่าเรื่องของเธอโดยยกแผนที่ประเทศไทย กัมพูชาและเวียดนามมาประกอบเพื่อเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในกัมพูชาจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วย

สมัยนั้นเวียดนามแบ่งเป็นสองขั้ว คือเวียดนามเหนือที่ได้รับการสนับสนุนจากค่ายคอมมิวนิสต์คือรัสเซียกับประเทศจีน และเวียดนามใต้ทีสนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกาในฝ่ายโลกเสรี ส่วนประเทศไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา กัมพูชาพยายามเป็นกลางแต่พันธมิตรที่อยู่ในสงครามนั้นมีผลต่อกัมพูชาในการต่อต้านการรุกรานจากฝรั่งเศส ส่งผลทำให้คนกัมพูชาเสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เหลือแค่ผู้หญิงกับเด็ก

ในปี 1970 รัฐสภาของประเทศกัมพูชามีมติให้สมเด็จพระนโรดม สีหนุ มารับตำแหน่งเป็นประมุขของประเทศ

เวียดนามเหนือเป็นพันธมิตรกับคอมมิวนิสต์เข้ามาในกัมพูชาและเวียดนามใต้ที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาก็เข้ามาในประเทศกัมพูชา มาต่อสู้กันในกัมพูชา ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดขึ้นของเขมรแดงในกัมพูชา

ในปี 1970-1975 ที่มีการสู้รบกันนั้นทำให้คนกัมพูชาชีวิตไป 600,000 คน หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุด ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะและมีอำนาจในกัมพูชา โดยเมื่อเขมรแดงเข้าสู่อำนาจ และสงครามเย็นระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์กับฝ่ายโลกเสรีสิ้นสุดลง ทุกคนคิดว่าสงครามสิ้นสุดแล้วและสันติภาพจะเกิดขึ้นใน แต่ไม่เลย

ช่วงนั้นเขมรแดงกวาดจับทุกคนรวมถึงครอบครัวของเธอด้วย ถูกจับให้ไปอยู่ในชนบท โดยไม่มีอาหาร มีแต่โรคภัยไข้เจ็บ เขรมแดงยังทำลายวัด ตลาด และโรงเรียน สังคมนิยมกวาดต้อนทุกคนให้ไปอยู่ในชนบท

ตอนนั้นดิฉันคิดว่า เรากำลังจะตาย ดิฉันจึงสวดขอพรต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พรจากพ่อแม่อย่างเงียบๆ จนกระทั่งรู้สึกดีขึ้น

ช่วงนั้นต้องทำงานเหมืนทุกคน ใช้แรงงานปลูกข้าว ทุกเช้าต้องถือถังใส่ข้าวและปุ๋ยคอกซึ่งเหม็นมาก เขรมแดงจะฆ่าทุกคนที่คิดต่อต้านหรือคิดต่างจากเขรมแดง

ช่วงเขมรแดงมีอำนาจ มีประชาชนกัมพูชาถูกฆ่าตายประมาณ 1,000,000 กว่าคน ส่วนมากเป็นผู้ชาย คนที่ถูกฆ่าถูกกล่าวหาว่าทรยศต่อเขรมแดง ไม่ว่าคนจีนหรือมุสลิมก็ถูกฆ่าทั้งหมดไม่เลือกปฏิบัติ

1979 เวียดนามบุกกัมพูชาและขับไล่เขมรแดงไปทางเหนือใกล้กับชายแดนไทย และอนุญาตให้ประชาชนกลับบ้านของตัวเอง ในช่วงนั้นดิฉันกลับไปยังกรุงพนมเปญ แต่ในตอนนั้นกรุงพนมเปญเป็นสังคมล่มสลายไปแล้ว ผู้คนไม่ไว้วางใจต่อกัน เกิดการแก้แค้นเกิดระหว่างกัน

ลี้ภัยไปไทย – ฟิลิปปินส์- สหรัฐอเมริกา

ต่อมาสามีถูกสงสัยว่าสนับสนุนกลุ่มปลดปล่อยที่อยู่ชายแดน ดิฉันไม่มีทางเลือกจึงต้องอพยพหนีไปอยู่ค่ายลี้ภัยในประเทศไทย ระหว่างหนีต้องหลบทั้งด่านเขมรและด่านเวียดนาม ขณะเดียวกันกัมพูชาก็เริ่มมีสงครามกลางเมืองแล้ว

ตอนนั้นในกัมพูชาเกิดความขัดแย้ง 4 ฝ่าย ได้แก่ 1.กลุ่มนิยมกษัตริย์ 2.เขรมแดง 3.สาธารณรัฐ 4.ฝ่ายปกครองหรือฝ่ายที่มีอำนาจในกัมพูชาตอนนั้น ตอนนั้นเราฆ่ากันเองโดยการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจ

ต่อมา ดิฉันได้ลี้ภัยไปอยู่ที่ฟิลิปปินส์ ในค่ายลี้ภัยที่นั่นมีแต่ผู้หญิงและเด็ก เพราะผู้ชายถูกฆ่าจำนวนมาก

ตอนที่ทำงานในชนบท ดิฉันรู้สึกเจ็บปวดมากและตั้งคำถามกับตัวเองว่า สงครามเกิดขึ้นได้อย่างไร เราไว้ใจรับบาลและเราไว้ใจสหรัฐอเมริกา เราไว้ใจผู้ชาย เพราะคิดว่าผู้ชายจะเป็นผู้นำสังคมได้ เราจึงไม่สนใจสังคมภายนอก

เป็นผู้นำของผู้หญิงในค่ายผู้ลี้ภัย

ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ฟิลิปปินส์ เราค้นพบว่าผู้นำทิ้งเราไปแล้ว เหลือแต่เด็กกับผู้หญิง เราคิดว่านี่คือปัญหาเพราะเราไม่ได้มีส่วนร่วมในสังคมกับผู้ชายตั้งแต่ต้น หลังจากนี้ไปผู้หญิงต้องเข้าไปมีส่วนร่วมมากกว่านี้ ต้องมีบทบาทมากกว่านี้

ดิฉันเคยได้รับเลือกให้เป็นผู้นำของผู้หญิงในค่ายผู้ลี้ภัย แม้จะรู้สึกอายและรู้สึกไม่คุ้นเคยกับการนั่งอยู่ตรงหน้าคนจำนวนมาก แต่ฉันก็ไม่ปฏิเสธ

ตอนั้นเกิดข้อกล่าวหาว่าหัวหน้าในค่ายลี้ภัยคอรัปชั่นค่าอาหาร จึงมีการประชุมกันและต้องการตำหนิและลงโทษ แต่เมื่อถึงเวลาจะลงโทษต่อหน้าคนเป็นร้อย ดิฉันลุกขึ้นยืนและคิดว่าต้องพูดอะไรบางอย่าง และรู้สึกว่าต้องเข้มแข็ง และพูดว่า “ทำไมเราจึงต้องหาคนผิด ทำไมเราไม่คุยกัน เราเดินทางมาไกลแสนไกลขนาดนี้เพื่อมาหาคนผิดหรือ เราควรคุยกันเพื่อเดินไปข้างหน้า” ทุกคนนิ่งเงียบ และฉันก็ประหลาดใจที่กล้าพูดแบบนี้ ทำไมทุกคนถึงหยุดฟัง

ในปี 1981 ดิฉันอพยพไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนที่ไปอยู่ที่อเมริกาอากาศหนาวมาก และไม่คิดว่าจะหนาวขนาดนั้น และดิฉันเริ่มทำงานให้กับคนลี้ภัยที่กำลังรอความช่วยเหลือจากรัฐบาลและทำงานทุกอย่างให้กับชุมชน 7 วันต่อสัปดาห์ จากประสบการณ์อันเจ็บปวดรู้สึกว่าตัวเองต้องทำอะไรบางอย่างให้กับชุมชน

ที่นั่นดิฉันต้องสูญเสียอัตลักษณ์ของตัวเองไปแล้ว ไม่มีความหวังอีกแล้วที่จะกลับไปกัมพูชา เพราะไม่มีประเทศนี้อีกแล้ว

1987 ดิฉันหย่ากับสามีขณะอยู่ที่อเมริกา การใช้อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้มีความสุขสบายอย่างที่คิดเลย ดิฉันได้วาดภาพพระพุทธรูปขึ้นเพื่อรักษาความทุกข์และความเจ็บปวดข้างในใจของตัวเอง

ใน 1991 ดิฉันได้รับปริญญาโท สาขาบริหารรัฐกิจ ทางมหาวิทยาลัยโอเรกอนให้รางวัลนี้เพื่อเชิดชูที่ดิฉันทำงานให้กับผู้ลี้ภัยและทำงานเพื่อชุมชน

เริ่มต้นกระบวนการสันติภาพเขมร

ช่วงเริ่มมีกระบวนการพูดคุยสันติภาพกันระหว่างสมเด็จฮุนเซนกับเจ้านโรดมศรีหนุนอกกัมพูชา คือที่ฝรั่งเศสและอินโดนีเซีย

ปี 1987 เป็นช่วงที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย สหภาพโซเวียตล่มสลาย

ปี 1989 ทหารเวียดนามถอนกำลังออกจากกัมพูชา หลังจากอยู่มาสิบปีแล้ว ซึ่งสถานการณ์เอื้อให้ถอนกำลังออกเพราะคอมมิวนิสต์ล่มสลาย หลังจากต่อสู้กันมาอย่างยาวนานด้วยการสนับสนุนจากคนต่างชาติ

ปี 1992 ดิฉันเดินทางมาประเทศไทยก่อนจะกลับไปกัมพูชา ได้มาพบแม่หลังจากกันมาเป็นเวลา 12 ปี ก่อนไปกัมพูชา ดิฉันแวะค่ายลี้ภัยคนกัมพูชาที่อยู่ในประเทศไทย

ปี 1991 มีการเรียกประชุม 19 ประเทศ รวมทั้งไทย ในเรื่องเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยกัมพูชา ต่อมา ปี 1992 ก็ตั้งใจว่าจะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ ซึ่งกระบวนการพูดคุยนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 1983 จนถึงปี 1991 ใช้เวลาในการพูดคุยถึง 8 ปี จึงมีการลงนามร่วมกัน

บทบาทผู้นำภาคประชาสังคมและการฟื้นฟูประเทศ

ตอนที่ดิฉันกลับไปที่พนมเปญ พบว่ามีคนพิการ ตาบอดและเด็กกำพร้าจากการโดนระเบิดเยอะมาก คนหนุ่มสาวเยอะแยะที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนี้

สงครามที่เกิดขึ้น 20 ปีในกัมพูชาได้สร้างความไม่ไว้วางใจกันมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือสร้างความไว้วางใจก่อน จากนั้นได้กลับไปสหรัฐอเมริกาตั้งใจจะลาออกจากงาน เพื่อไปทำงานเป็นล่ามให้กับสหประชาชาติ

ปี 1993 เกิดองค์กรภาคประชาสังคมจำนวนมากในกัมพูชา ทั้งกลุ่มผู้หญิง พระ กลุ่มที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งตอนนั้นดิฉันทำงานให้มูลนิธิเอเชีย ทำให้รู้จักองค์กรเหล่านี้มากมาย และเริ่มทำงานจัดเวทีสาธารณะให้ฝ่ายต่างๆมาเข้าร่วม รวมถึงฝ่ายเขมรแดงด้วย

ในช่วงท้าย วรรณาได้นำเสนอภาพถ่ายต่างๆที่เป็นกิจกรรมของเธอซึ่งมีมากมาย เช่น การจัดเวทีสาธารณะ บทบาทด้านการสร้างสันติภาพ ความปรองดอง งานพัฒนาสังคม ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท