Skip to main content
sharethis

ประเทศกัมพูชาแม้มีชาวมุสลิมอยู่เพียง 5% แต่ที่ผ่านมาพวกเขาก็ผ่านความเจ็บปวดในสมัยสงครามกลางเมืองมาหลายสิบปีเช่นเดียวกับชาวเขมรทั่วไป กระทั่งเมื่อสันติภาพกัมพูชาเกิดขึ้นราวปี ค.ศ.1998 ชาวมุสลิมที่นั่นต่างก็พยายามฟื้นฟูชุมชนและประเทศเช่นเดียวกับคนอื่นๆ

ปัจจุบันชาวมุสลิมกับพูชาได้รับสิทธิต่างๆ เฉกเช่นเดียวกับประชากรทั่วไป หรืออาจจะมากกว่า เพราะในจำนวนประชากรมุสลิมเพียง 600,000 กว่าคนนั้น มีรัฐมนตรีมุสลิมถึง 6 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 11 คน ปลัดกระทรวง 12 คน ตำรวจระดับสูง 10 คน

Othsman Hassan (อุสมาน ฮัสซัน) คือ 1 ใน 6 รัฐมนตรีในรัฐบาลสมเด็จฮุน เซน โดยเป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงแรงงานและการฝึกอาชีพ ซึ่งในงาน Southern Border Halal International Fair 2015 (SHIF 2015) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ระหว่างวันที่ 8 - 10 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา เขาได้มากล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “วิถีชีวิตของมุสลิมในสังคมพหุวัฒนธรรม” ที่มีผู้นำศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้รับฟังกว่า 3,000 คน

รัฐมนตรีมุสลิมเขมรบรรยายภาษามลายู

อุสมานเริ่มต้นบรรยายด้วยการออกตัวว่า “ผมสามารถพูดภาษามลายูได้ แต่กลัวว่าเมื่อพูดภาษามลายูไปแล้ว คนมลายูด้วยกันเองไม่เข้าใจ” เป็นคำออกตัวที่เรียกเสียงฮาได้พอสมควร แต่ก็แฝงด้วยอารมณ์ประชดประชันหน่อยๆว่า คนที่นี่พูดภาษามลายูแต่ทำไมจะไม่เข้าใจภาษามลายู?

อย่างไรก็ตาม ตลอดต่อเนื่องการบรรยายทั้งหมดเขาก็ใช้ภาษามลายู บอกเล่าเรื่องราวคนมุสลิมในประเทศกัมพูชาที่เคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายจากสงครามไม่แพ้คนอื่นๆในประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งสามรถถอดความทั้งหมดได้ดังนี้

มุสลิมกัมพูชาสืบเชื้อสายจามปา

“คนมุสลิมในกัมพูชามีเชื้อสายมาจากคนมลายูในอดีต นั่นคือ“อาณาจักรจามปา” ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ในเขตประเทศเวียดนาม อาณาจักรจามปามีความเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต ต่อมาล่มสลายลงเนื่องจากถูกอาณาจักรอื่นมาโจมตี ประกอบกับเกิดความแตกแยกกันในหมู่มุสลิมด้วยกันเอง

หลังจากอาณาจักรจามปาล่มสลายลง คนมุสลิมจามปาหนีไปยังประเทศไทย เวียดนาม จีน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ฝรั่งเศสและกัมพูชา

แต่เดิมคนจำปาไม่ใช่คนมุสลิม นับถือศาสนาฮินดู ต่อมานับถือศาสนาพุทธ และอิสลาม ซึ่งในประวัติศาสตร์กัมพูชาก็มีคนตระกูลของกษัตริย์นับถือศาสนาอิสลามด้วย ดังนั้นกษัตริย์กัมพูชาจึงให้สิทธิต่างๆ แก่คนที่นับถือศาสนาอิสลามในกัมพูชา

ร่วมรบต่อต้านอาณานิคม

ปัจจุบันมีคนมุสลิมมลายูจามปาในกัมพูชาประมาณ 600,000 คน และอยู่ในเวียดนามประมาณ 100,000 คน คนที่หนีมาอยู่ในกัมพูชาถือว่าโชคดี เพราะกษัตริย์กัมพูชาถือเป็นประชากรของประเทศ ที่สำคัญคือพวกเขาก็มีบทบาทในการต่อต้านการรุกรานของฝรั่งเศสจนทำให้กัมพูชาได้รับเอกราชในปี ศ.ค. 1954 ด้วย

หลังจากได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสแล้ว กษัตริย์กัมพูชาก็เปลี่ยนชื่อมุสลิมจามปามาเป็นมุสลิมเขมร และให้สิทธิแก่คนมุสลิมสามารถใช้ชื่ออิสลามอย่างเป็นทางการได้ เช่น อุสมาน อับดุลเลาะ มูฮำหมัด มาเรียม เป็นต้น

สงครามกลางเมืองมุสลิมตาย 4 แสน

ต่อมาเมื่อปี 1970 – 1975 เกิดสงครามกลางเมืองในกัมพูชา มีคนชีวิตประมาณ 3,000,000 คน ในจำนวนนี้เป็นคนมุสลิมประมาณ 400,000 คน มีการปิดกันสิทธิต่างๆ ของทุกศาสนา ในช่วงนั้นอิหม่ามประจำมัสยิดและครูสอนศาสนาอิสลาม 90% ถูกฆ่าตาย

ต่อมาปี 1998 กัมพูชามีสันติภาพขึ้นมาซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศ เนื่องจากก่อนหน้านั้นเมื่อกลุ่มหนึ่งขึ้นมามีอำนาจทางการเมือง อีกกลุ่มหนึ่งก็เข้าป่าเพื่อต่อต้านรัฐบาล แต่ตอนนี้ทุกกลุ่มเข้าร่วมทำงานกับรัฐบาล

หลังจากที่มีสงคราม 30 ปีในกัมพูชา ทุกกลุ่มที่เคยต่อสู้กันก็เข้าร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศกัมพูชา

กษัตริย์ฟื้นตำแหน่งผู้นำอิสลาม-ให้สิทธิต่างๆ

ปีเดียวนั้นกษัตริย์สีหนุก็ได้แต่งตั้งให้มีผู้นำศาสนาอิสลามในประเทศกัมพูชาขึ้นมา หลังจากตำแหน่งนี้ได้หายไปประมาณ 25 ปี ในช่วงสงครามกลางเมืองกัมพูชา

การแต่งตั้งผู้นำศาสนาอิสลามในประเทศ ส่งผลให้การแต่งตั้งอิหม่ามประจำมัสยิดและครูสอนศาสนาตามชุมชนต่างๆในกัมพูชากลับคืนมาด้วย โดยนายกรัฐมนตรีให้อำนาจผู้นำศาสนาอิสลามกัมพูชาแต่งตั้งอิหม่ามประจำมัสยิดและครูสอนศาสนา

ในประเทศกัมพูชามี 25 จังหวัด มีหมู่บ้านมุสลิม 535 หมู่บ้าน และมีมัสยิด 535 แห่ง โดยอยู่ในกรุงพนมเปญ 14 แห่ง มีคนมุสลิมอยู่ทุกจังหวัด แต่ส่วนใหญ่อยู่ที่หมู่บ้านจามประมาณ 50%

รัฐมนตรี 6 คน ปลัดกระทรวง 12 คน

ปัจจุบันทางรัฐบาลให้ความสำคัญกับสังคมมุสลิมอย่างมาก เนื่องจากไม่เคยต่อต้านรัฐบาลและสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่มาตลอด ไม่ทำผิดกฎหมายและสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นๆในประเทศได้

ในกัมพูชามีคนมุสลิมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 11 คน เป็นรัฐมนตรี 6 คน สมาชิกวุฒิสภา 2 คน ปลัดกระทรวง 12 คน ตำรวจระดับสูง 10 คน ทั้งที่ทั้งประเทศมีชาวพุทธ 90% และมีมุสลิมแค่ 5%เท่านั้น

อิหม่ามประจำมัสยิดไม่ได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล แต่ชาวบ้านจะเก็บเงินมอบให้อิหม่ามและครูสอนศาสนา จะได้น้อยหรือมากขึ้นอยู่กับฐานะของประชาชนในหมู่บ้าน หากหมู่บ้านไหนมีฐานะดีก็จะเก็บเงินได้เยอะ หากในหมู่บ้านไหนฐานะไม่ดีก็เก็บเงินได้น้อย

รับความช่วยเหลือจากประเทศมุสลิม

เราทำงานกับประเทศมุสลิมต่างๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียน เช่น มาเลเซีย บรูไน และในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย คูเวต กาตาร์ บาห์เรน โอมาน เป็นต้น เพื่อนำเงินบริจาคของประเทศเหล่านั้นมาใช้ในกิจกรรมศาสนาอิสลาม

ปัจจุบันทุกๆเดือนจะมีการสร้างมัสยิดใหม่ สร้างอาคารเรียนใหม่จำนวนมาก ทำให้คนมุสลิมมีโอกาสที่เรียนรู้ศาสนามากขึ้น ต่างกับสมัยก่อนที่คนกัมพูชามีโอกาสได้รับการศึกษาน้อยมาก เนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามกลางเมือง

ขอบคุณอัลเลาะห์ที่ให้ทุกๆหมู่บ้านมุสลิมในกัมพูชามีโรงเรียนสอนศาสนา ตอนนี้มีคัมภีร์อัลกุรอานแปลความหมายเป็นภาษากัมพูชา ซึ่งสนับสนุนโดยนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และนายกรัฐมนตรีกัมพูชาก็สนับสนุนในการรับเงินบริจาคจากประเทศเหล่านี้ด้วยโดยไม่ปฏิเสธ

เมื่อเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา รัฐบาลได้เปิดละศีลอดร่วมกับผู้นำศาสนาและอิหม่ามมัสยิดในกัมพูชา โดยมีอิหม่ามมาร่วมละศีลอดประมาณ 4,000 คน

การสนับสนุนกิจกรรมอิสลามต่างๆภายใต้รัฐบาลสมเด็จฮุน เซ็น ส่งผลให้เลขาธิการองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ส่งหนังสือฉบับหนึ่งในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาว่า สมเด็จฮุน เซนกำลังสร้างสันติภาพแก่ประชาชนกัมพูชา

อนุญาตสวมฮิญาบทำบัตร

ช่วงเดือนรอมฎอนปี 2557 รัฐบาลอนุญาตให้สตรีมุสลิมสามารถสวมฮิญาบได้ทั้งในการทำหนังสือเดินทาง บัตรขับขี่ ส่วนผู้ชายสามารถสวมซอเกาะและผ้าสะระบันได้

รัฐบาลให้เงินเดือนครูสอนศาสนาอิสลามเท่ากับเงินเดือนครูโรงเรียนรัฐบาล จำนวน 1,500 คน รวมประมาณ 3,000,000 ดอลลาร์ต่อปี จากเดิมที่ไม่ได้ให้อะไรเลย นี่คือสิ่งที่ผมอยากบอกว่าแม้ว่าสมเด็จฮุน เซ็น ไม่ได้เป็นคนมุสลิม แต่สมเด็จฮุน เซน ให้ความสำคัญกับคนมุสลิมเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันคนมุสลิมในกัมพูชามีความเจริญมากขึ้น ทำธุรกิจได้มากขึ้น หากเป็นสมัยก่อนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือจับปลาตามคลองเท่านั้น แต่ปัจจุบันออกไปทำงานตามเมืองใหญ่ๆ ได้

ทุกๆเดือนรอมฎอนเราได้เงินบริจาคจากประเทศอาเซียน เช่น ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น เพื่อใช้ในการละศีลอดสำหรับชุมชนมุสลิมในประเทศ ในวันตรุษอีดิ้ลอัฎฮาเราได้รับบริจาควัวประมาณ 6,000 ตัว เพื่อใช้ทำกุรบาน(เชื่อพลี)เพื่อแจกจ่ายเนื้อแก่คนมุสลิม ส่วนใหญ่มาจากมาเลเซีย

ซาอุให้ทุนทำฮัจญ์ปีละ 40 คน

ทุกๆ ปีทางรัฐบาลซาอุดีอาระเบียให้ทุนมุสลิมกัมพูชาไปประกอบพิธีฮัจญ์ 40 คน ปีนี้รัฐบาลกาตาร์ให้อีก 2 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 5 คน และสันนิบาตอาหรับให้ 7 คน ซึ่งเราดีใจอย่างมาก

ปัจจุบันมุสลิมกัมพูชาสามารถเดินทางไประกอบพิธีฮัจญ์ด้วยทุนตัวเองได้มากขึ้นด้วย ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้คนมุสลิมกัมพูชาไปประกอบพิธีฮัจญ์แล้วประมาณ 100,000 คน ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่คนมุสลิมไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้เพียงปีละ 2- 3 คนเท่านั้น”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net