Skip to main content
sharethis


20 ต.ค. 2558 ณ ห้องคอนเวนชั่น c โรงแรมแอมบาสเดอร์ ตัวแทนจากไทยพีบีเอสและตัวแทนจากสมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการกลุ่มต่างๆ ร่วมเสวนานโยบายและภาคปฏิบัติการเรื่องเพศในสื่อสาธารณะ ในงานประชุมวิชาการเพศวิถีศึกษา ครั้งที่ 5  “รัฐ/ประหาร/เพศ” เพื่อร่วมกันขบคิดถึงประเด็นความอ่อนไหวในเรื่องความหลากหลายทางเพศที่สื่อต่างๆ จะต้องเจอ รวมทั้งหาแนวทางที่เหมาะสมที่ช่วยทำให้เรื่องราวของความหลากหลายทางเพศนั้นได้ตีแผ่สู่สังคม

พิมพ์ธรรม เอื้อเฟื้อ ตัวแทนจากสมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการกลุ่มส่งเสริมสถานภาพสตรี ให้ความเห็นในฐานะเป็นผู้เสพข่าวว่า ทุกวันนี้ยังพบสื่อจำนวนมากตอกย้ำกับภาพลักษณ์ดั้งเดิมของผู้หญิง และบางครั้งก็ให้ผู้หญิงเป็นเหมือนเครื่องหมายการค้า และยังมีสื่ออีกมากที่แสดงออกว่าผู้หญิงต้องเป็น “แม่” ซึ่งนั่นทำให้สังคมมองไม่เห็นความหลากหลายของผู้หญิงในมิติอื่นๆ เสนอให้สื่อผลิตรายการสำหรับผู้หญิง ที่ทำให้เห็นถึงมุมมอง ความเท่าเทียม ความแตกต่างและความละเอียดอ่อนของเพศ เช่นเดียวกันกับ นาดา ไชยจิตต์ ตัวแทนจากสมาชิกสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ กลุ่มประเด็นความหลากหลายทางเพศ ที่มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน รวมทั้งเสนอให้ผลิตสื่อที่ตอบปัญหาสังคมและหยิบยกประเด็นความหลากหลายทางเพศมานำเสนอถึง “ความเป็นเพศธรรมดาสามัญ” ซึ่งครอบคลุมถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกครอบงำด้วยหลักฐานทางการแพทย์

ด้าน อำไพ โพธิ์ชัยรัตน์ สำนักข่าวไทยพีบีเอส กล่าวถึงข้อจำกัดและความละเอียดอ่อนของการนำเสนอมุมมองในเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศว่าส่วนหนึ่งมาจากการใช้คำ ที่บางครั้งเกิดการกดทับและคำกำกวมต่างๆ เช่น รักร่วมเพศ นอกจากนั้นต้องให้ความสำคัญกับการประกาศตัวตนของคนหรือกลุ่มคนนั้นๆ ด้วยรวมทั้งการหยิบยกประเด็นในเรื่องเพศมานำเสนอก็อาจจะทำได้ในทางอื่นๆ เช่น จากภาพยนตร์เรื่องอาบัติ ถ้ามองในเชิงลึกแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้สอดแทรกไปด้วยเนื้อหาของกลุ่มคนหลากหลายประเภท เช่น พระ เยาวชน ผู้หญิง ผู้ชายรวมทั้งเรื่องเพศ ซึ่งความหลากหลายนี้ต้องนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง

นอกจากนี้ อโณทัย อุดมศิลป์ ตัวแทนสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะไทยพีบีเอส ได้ให้ข้อมูลในการทำงานของสื่อว่ามีความพยายามที่จะนำเสนอในเรื่องราวของความหลากหลายโดยสอดแทรกลงไปในรายการต่างๆ ที่ทางช่องได้นำเสนอ ส่วนตัวมองว่า ถ้าหากมีการทำรายการสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ จะเกิดเป็นการเลือกปฏิบัติทางหนึ่ง จึงควรจะค่อยๆ สอดแทรกลงไปอย่างกลมกลืนในสภาวะที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ให้ผู้ชมได้เห็นและเปรียบเทียบข้อมูลต่างๆ เพื่อเสนอให้คนทำตามและสะท้อนสังคมนั้นออกไปในเวลาเดียวกัน

วันเดียวกัน มีการปาฐกถานำ : ประชาธิปไตย เพศวิถี ณ ชายขอบ โดยชูสองประเด็นน่าสนใจของการทำงานระบบเพศในสังคมไทย และระบบรัฐไทยที่ทำให้การทำงานเรื่องเพศนั้นเป็นเรื่องยาก

อวยพร เขื่อนแก้ว นักขับเคลื่อนโครงการผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม เล่าถึงระบบเรื่องเพศแบบไทยๆว่ามีความเหลื่อมล้ำอยู่สามประเภท คือ 1.เพศสรีระ ซึ่งกำหนดชัดเจนในความแตกต่างของชาย-หญิง  2.เพศที่สังคมและวัฒนธรรมกำหนดและ 3.เพศวิถี โดยการวางระบบวิถีแบบรัฐและสังคมไทยนี้ ทำให้เกิดโครงสร้างโดยปกติที่ชายเป็นใหญ่และลดทอนบทบาทหน้าที่ทางสังคมของผู้หญิง

“การแต่งงานแบบรัฐไทย ผู้หญิงจะเข้าแบบแผนของการเป็นเมียทันทีคือ ตื่นก่อนนอนทีหลัง บอกได้เลยว่าจริงๆ แล้วผู้หญิงทำงานหนักมาก” อวยพรกล่าว

อวยพร กล่าวว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการขับเคลื่อนเพื่อที่จะให้พื้นที่ สิทธิและการยอมรับจนทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ รวมทั้งโครงการผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรมเพื่อเสนอการปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติเช่น การให้ผู้ชายนำผู้หญิงในแนวราบไม่ใช่ในแนวพีระมิด ผู้ชายไม่ใช่จุดสูงสุด หรือการนำเสนอมุมมองเรื่องเพศในสื่อต่างๆ ให้มากและหลากหลายขึ้น  โดยเธอเสริมอีกว่าหากทุกคนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคม ต้องกล้าที่จะท้าทายสังคมที่เราถูกทำให้เชื่อว่ามันปกติ ว่าแท้จริงแล้วมันไม่ได้ปกติแบบที่เราเห็น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net