Skip to main content
sharethis
21 ต.ค.2558 รายงานข่าวจากสำนักการสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ระบุว่า นพ.วิพุธ พูลเจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2558 ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ เห็นชอบการจัดทำ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment : HIA) ตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ 2 แห่ง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยชุมชนของ บริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.โพนสว่าง อ.เมือง จ.หนองคาย กำลังการผลิต 4.9  เมกะวัตต์ และ โครงการโรงไฟฟ้าขยะจากสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและไม่เป็นอันตรายของบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย จ.สระบุรี กำลังการผลิต 9.4 เมกะวัตต์ 
 
จากรายงานการกลั่นกรองความจำเป็นในการทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กรณีขอใช้สิทธิมาตรา 11 พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พบว่า อาจจะมีแนวโน้มจะเกิดผลกระทบด้านสุขภาพในหลายประเด็น เช่น พื้นที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท หนองคายน่าอยู่ฯ ตั้งอยู่พื้นที่เนินหลังเต่าล้อมรอบด้วย 10 หมู่บ้าน ซึ่งอาจทำให้อากาศเสียและเป็นพิษกระจายไปสู่ชุมชนโดยรอบ เกิดกลิ่นเหม็น เป็นที่อยู่ของสัตว์นำโรครวมถึงการน้ำเสียปนเปื้อน ส่วนโครงการของบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ อยู่ในพื้นที่แอ่งกระทะล้อมรอบด้วยภูเขาหินปูน อากาศไม่ถ่ายเท หากเกิดมลพิษจากการเผาไหม้อาจทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งปัญหากลิ่นเหม็นจากขยะ การปนเปื้อนน้ำผิวดิน รวมถึงอุบัติเหตุจากการจราจรและการขนส่งวัตถุดิบที่เป็นขยะมายังที่ตั้งโครงการ
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้มีการทำงานในระดับนโยบายภาพรวม เพื่อสร้างกรอบการพัฒนาและตัดสินใจที่เหมาะสม รวมถึงลดผลกระทบที่อาจจะตามมา และเป็นการลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในรายพื้นที่ โดยให้ทำงานร่วมกับคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น การป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธาน โดยอาจจะจัดเวทีหารือร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชนในพื้นที่ หน่วยราชการ นักวิชาการ ภาคเอกชน จัดทำข้อมูลทางวิชาการ โครงสร้าง กระบวนการ รูปแบบมาตรฐานของโรงไฟฟ้าจากขยะมูลฝอย เพื่อนำไปสู่กระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพต่อไป 
 
ด้าน นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นการป้องกันและลดผลกระทบด้านสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เสนอว่า โรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยอาจจะเกิดขึ้นได้อีกหลายพื้นที่ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบ ลดการขัดแย้งในพื้นที่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จำเป็นต้องมีการจัดทำโครงสร้างโรงไฟฟ้าขยะที่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาการ เป็นที่ยอมรับของชุมชน เชื่อมโยง ต่อยอดจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ปัจจุบันมีกลไกของคณะทำงานเดิมอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งคณะทำงานชุดใหม่ เพียงแต่เพิ่มประเด็นเชิงเทคนิค โดยเชิญตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มาร่วมหารือกำหนดมาตรฐานโรงไฟฟ้าขยะ ให้ครอบคลุมสมบูรณ์มากที่สุด
พื้นที่โดยรอบโครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยชุมชนของ บริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.โพนสว่าง อ.เมือง จ.หนองคาย กำลังการผลิต 4.9 เมกะวัตต์
พื้นที่โดยรอบโครงการของโรงไฟฟ้าขยะจากสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและไม่เป็นอันตรายของ บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย จ.สระบุรี กำลังการผลิต 9.4 เมกะวัตต์
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net