ข่าวสารการประท้วงทั่วไทย 19-25 ต.ค. 2558

 
ฮือไล่ หน.สนง.ปลัดเทศบาลบางหมาก
 
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 19 ต.ค. ที่หน้า สนง. เทศบาลตำบลบางหมาก อ.เมือง จ.ชุมพร ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างเทศบาลกว่า 80 คน พร้อมใจกันแต่งชุดดำชูป้ายเขียนข้อขับไล่นางพิมอนงค์ พรอำนวยลาภ อายุ 47 ปี หัวหน้า สนง.ปลัดเทศบาลตำบลบางหมาก โดยมีนายชัยพร สุขอนันต์ อายุ 40 ปี พนักงานเทศบาลเป็นแกนนำ ผู้ชุมนุมได้นำรถกระบะติดเครื่องขยายเสียงกล่าวโจมตีการปฏิบัติหน้าที่ของนางพิมอนงค์ เพื่อให้นายกเทศมนตรีตำบลบางหมากสั่งย้ายนางพิมอนงค์ออกจากพื้นที่ภายใน 24 ชั่วโมง นายชัยพรเปิดเผยว่า ตั้งแต่นางพิมอนงค์ย้ายมาจาก จ.พัทลุง ถึงวันนี้รวม 13 เดือน แรกๆก็ทำงานดี แต่ระยะหลังได้สร้างความแตกแยกให้กับบรรดาพนักงานข้าราชการลูกจ้าง มีพฤติกรรมกลั่นแกล้ง จ้องจับผิด ไม่ค่อยเข้ามาสำนักงาน อีกทั้งมีปัญหาชู้สาวกับพนักงานลูกจ้างคนหนึ่ง จึงรวมตัวกันแต่งชุดดำขับไล่ มิฉะนั้นพวกตนจะปักหลักกินนอนอยู่ที่หน้า สนง.เทศบาลจนกว่านางพิมอนงค์จะย้ายออกไป
 
ต่อมาเวลา 10.00 น. นายกัมภิรมย์ กุยุคำ นายกเทศมนตรีตำบลบางหมาก พร้อมด้วยนายประจินต์ ธารศิริสิน นายอำเภอเมืองชุมพร นายวัฒนา เยาวภักดิ์ ท้องถิ่นอำเภอเมืองชุมพร พ.ต.อ.ภัคพล ทวิชศรี ผกก.สภ.เมืองชุมพร ได้มาพบกับกลุ่มผู้ชุมนุม นายกัมภิรมย์เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้นางพิมอนงค์ได้ขอย้ายไปอยู่ที่ จ.นนทบุรี ตนได้เซ็นคำสั่งย้าย แต่ทราบว่าคณะกรรมการ จ.นนทบุรี ไม่ตอบรับการขอย้าย จึงเกิดปัญหาบานปลาย พยายามติดต่อนางพิมอนงค์ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงแต่ติดต่อไม่ได้
 
นายประจินต์กล่าวว่า ได้รายงานให้นายสมดี คชายั่งยืน ผวจ.ชุมพร ทราบแล้ว ผู้ว่าฯมีคำสั่งให้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง พร้อมกับขอให้ผู้ชุมนุมส่งตัวแทน 10 คน เพื่อไปให้ปากคำกับท้องถิ่นอำเภอ หลังจากฟังคำชี้แจงกลุ่มผู้ชุมนุมต่างพอใจและแยกย้ายกลับเข้าทำงานตามปกติ
 
ขณะที่นางพิมอนงค์ชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นว่าประเด็นแรกเรื่องชู้สาวนั้น ขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ตนมีครอบครัวแล้ว สาเหตุอาจจะมีความเป็นกันเองกับผู้ร่วมงาน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ประเด็นที่ 2 การไม่เข้ามาทำงานตั้งแต่วันที่ 1-7 ต.ค. เนื่องจากวันที่ 1 ต.ค. นายกเทศมนตรีตำบลบางหมากมีคำสั่งให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ อบต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี จึงได้ไปติดต่อที่ จ.นนทบุรี ประเด็นที่ 3 สร้างความแตกแยกขอปฏิเสธ ตนเป็นคนพัทลุง ไม่มีเหตุผลใดที่จะมาสร้างความแตกแยก และประเด็น ที่ 4 เรื่องการปลอมลายเซ็น ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นอำนาจของนายกเทศมนตรีที่จะเซ็นอนุมัติ ขณะนี้ทางท้องถิ่นจังหวัดได้เรียกตัวมาช่วยราชการไปก่อนจนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น ขอยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างตนกับนายกเทศมนตรีที่ต้องการนำคนของตัวเองมาดำรงตำแหน่งแทนตนอย่างแน่นอน
 
 
ชาวบ้านเมืองรถม้ารวมตัวทวงงบคืน ต.พระบาทวังตวง ขู่ไม่ได้เจอปิดถนนยาว
 
(19 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวบ้านจากบ้านแม่เชียงรายบน ม.4 และ ม.8 ต.พระบาทวังตวง อ.แม่พริก จ.ลำปาง เกือบ 100 คนได้มาชุมนุมตั้งเตนท์ที่หน้าสำนักงานเทศบาลตำบลพระบาทวังตวง เพื่อยื่นข้อเสนอของบโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำกว่า 9 ล้านบาท คืนให้แก่ตำบล หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เคยร้องเรียนไปยังอำเภอ จังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมแล้ว แต่เรื่องเงียบหายไป
       
ซึ่งงบประมาณดังกล่าวเดิมกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้มอบให้เทศบาลตำบลพระบาทวังตวง เป็นผู้ดำเนินการขุดลอกอ่างเก็บน้ำในปี 2558 รวม 9,169,300 บาท แต่เนื่องจากอ่างเก็บน้ำดังกล่าว เป็นของกรมชลประทาน และอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่วะ ป่าไม้ไม่อนุญาต ทำให้ทางเทศบาลพระบาทวังตวง ไม่สามารถเข้าขุดลอกอ่างได้ ปภ.จึงได้โยกงบประมาณไปลงให้แก่อำเภออื่นแทน
       
ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ และได้ร้องเรียนต่อทางอำเภอ จังหวัด และเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ได้ไปยื่นเรื่องที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดลำปาง เพื่อของบคืนให้แก่ตำบลพระบาทวังตวง แต่ไม่มีความคืบหน้า
       
ล่าสุด ชาวบ้านได้ส่งตัวแทนเข้ายื่นข้อเสนอ และเจรจากับทางอำเภอ ผู้กำกับการ สภ.แม่พริก และฝ่ายปกครอง ภายในเทศบาลตำบลพระบาทวังตวง เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าว เนื่องจากในหลายพื้นที่ที่ ปภ.เข้าดำเนินการก็เป็นพื้นที่ของป่าไม้เช่นกัน แต่กลับทำได้ และอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ชาวบ้านระบุว่า เป็นเหมือนแหล่งน้ำที่ 3 หมู่บ้านได้ใช้ประโยชน์ จึงต้องการให้นำงบประมาณกลับมาดำเนินการตามโครงการ
       
โดยกลุ่มชาวบ้านระบุว่า หากไม่ได้ข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจจะรวมตัวปิดถนนหน้าของสำนักงานเทศบาลพระบาทวังตวงต่อไป 
 
 
จ.พิจิตรตั้งคกก.ตรวจสอบการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าเขานกยูงของนายทุน หลังชาวบ้านร้องเรียน
 
วันนี้ (20 ต.ค. 58) ผู้สือข่าวรายงานว่า นายสุเมธ  ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจ.พิจิตร เปิดเผยกรณีที่มีชาวบ้านได้ร้องขอให้มีการตรวจสอบการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้บริเวณเขานกยูง หมู่ที่ 8 ต.ท้ายทุ่ง อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ว่า มีกลุ่มนายทุนบุกรุกทำการก่อสร้างรีสอร์ทที่พักหรูบางส่วน และขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่า มีการสร้างรีสอร์ตถูกต้องหรือไม่
 
ขณะนี้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจ.พิจิตร ได้จัดตั้งคณะกรรมการจากหลายหน่วยงานเข้าไปร่วมตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว โดยมีศูนย์ป่าไม้จ.พิจิตร เป็นแกนหลักในการเข้าตรวจสอบว่า กลุ่มนายทุนได้มีเอกสารหลักฐานสิทธิการขอเข้าใช้ประโยชน์ต่างๆในพื้นที่ป่าไม้ดังกล่าวเพื่อสร้างรีสอร์ทว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร หรือหากเป็นการบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ และมีส่วนไหนของพื้นที่ป่าไม้บ้างที่มีการบุกรุกและมีพื้นที่ทั้งหมดเท่าไหร่ โดยขณะนี้ได้อยู่ระหว่างรอผลจากคณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าวให้แน่ชัด อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบพบว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้จริง ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ก็จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทวงคืนพื้นที่ป่าต่อไป พร้อมทั้งชี้แจงให้ชาวบ้านพื้นที่โดยรอบเขานกยูงทราบ
 
 
ชาวม้งรวมตัวประท้วงเจ้าหน้าที่ป่าไม้
 
ท่ามกลางความพยายามแก้ปัญหารีสอร์ตภูทับเบิก ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในประเด็นการใช้ที่ดินผิดประเภทลักลอบซื้อขาย-เช่ากรรมสิทธิ์ คิดค่าบริการแพงเกินจริง ฯลฯ จนทำให้ไร่กะหล่ำปลีของชาวม้งที่เคยปลูกกันแบบสุดลูกหูลูกตากลายเป็นรีสอร์ตเกลื่อนพื้นที่ด้านนายไกรสร กองฉลาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ระบุว่า กลุ่มนายทุนรีสอร์ตที่เสียผลประโยชน์กลัวถูกกรมป่าไม้รื้อรีสอร์ตทิ้ง เตรียมเคลื่อนไหวปลุกปั่นชาวม้งภูทับเบิกเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับทางเจ้าหน้าที่ แม้กำชับให้ผู้ใหญ่บ้านและทหารให้ไปทำความเข้าใจว่าชาวบ้านแท้ๆ โดยรัฐไม่ยุ่งแน่นอน แม้กฎหมายผังเมืองรวมที่กำลังจะออกมาบังคับใช้ก็ไม่มีผลกระทบหรือไม่มีผลย้อนหลังเป้าหมายที่ต้องทำคือ แยกคนพื้นที่กับคนต่างถิ่นและนายทุนให้ชัดเจน โดยเฉพาะนายทุนซื้อต่อหรือเช่าที่ดินจากม้ง และไม่เพียงแค่เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะบังคับคดีโดยการรื้อถอนเท่านั้น กลุ่มนายทุนจากต่างพื้นที่จะต้องจ่ายเยียวยาให้กับรัฐด้วย นายไกรสร กล่าวอย่างไรก็ตาม กระแสดังกล่าวแพร่สะพัดไปยังกลุ่มนายทุนเจ้าของรีสอร์ต ทำให้กลุ่มม้งภูทับเบิกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่ง ได้ประกาศเสียงตามสายของหมู่บ้านให้ชาวเขาเผ่าม้งเดินประท้วงเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และอาจถึงขั้นปิดล้อมเจ้าหน้าที่รัฐในวันพรุ่งนี้(22 ต.ค.) หลังจากมีรายงานข่าวแพร่สะพัดว่า นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ เตรียมตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่าบริเวณภูทับเบิก
 
ขณะที่อีกกลุ่มคือ กลุ่มของผู้ใหญ่บ้านอีกคนหนึ่ง มีแนวคิดตรงข้าม ได้พยายามห้ามชาวม้งภูทับเบิกไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหว เพราะเห็นว่าผู้ใหญ่บ้านที่เป็นตัวตั้งตัวตีปลุกระดมชาวม้งออกมาต่อต้านเจ้าหน้าที่ เป็นแกนนำคนสำคัญที่ชักชวนนายทุนต่างพื้นที่มาลงทุนทำรีสอร์ต จนถึงขั้นตกลงแบ่งผลประโยชน์กันโดยบางแปลงขายให้นายทุนไปแล้วแต่ยังอ้างว่าเป็นของชาวม้งอยู่ หรืออ้างว่าเป็นการลงทุนร่วม ทำในลักษณะอำพราง บางรายถึงขั้นนำรถกระบะ ยี่ห้อโตโยต้า วีโก้ 2 คัน มาแลกที่ดินบนภูทับเบิก 8 ไร่เพื่อสร้างรีสอร์ต เรียกว่ากระทำการอย่างโจ่งแจ้งไม่เกรงกลัวกฎหมายวันเดียวกันผู้สื่อข่าวได้เข้าพบพ.อ.ถนัดพล โกศัยเสวี เสนาธิการกองพลทหารม้าที่ 1 เพื่อยื่นหนังสือในกรณณ็ มี ผอ. รพ.สตต.แห่งหนึ่งในเขต อ.หล่มเก่า ได้โพสต์ข้อความข่มขู่อาฆาตสื่อมวลชนที่ขึ้นไปทำข่าว ถือเป็นการคุกคามสื่อในครั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมด้วยฝ่ายกิจการพลเรือนได้ลงมารับเรื่องพร้อมทั้งกล่าวว่า เรื่องนี้ทราบแล้ว ทางกองทัพและท่านนายกฯ ได้สั่งการลงมาซึ่งขณะนี้กำลังประชุมวางแผนเพื่อจะเอาตัวคนที่มีตำแหน่งระดับผอ.มาสอบถาม และเพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย
 
พ.อ.ถนัดพล กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ทางทหารได้วางแผน และส่งกำลังทหารลงพื้นที่เข้าประกบตัว ผอ.รายนี้แล้ว และจะมอบหมายทหารจากกองพัน 28 เป็นคนสอบปากคำโดยจะเชิญตัวมามาสอบ หากผิดก็ต้องดำเนินการขั้นตอน ตามนโยบายของท่านนายกฯ ซึ่งการข่มขู่และอาฆาตปองร้ายสื่อ ทางทหารถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง คนโพสต์หรือคนออกมาปลุกระดมจะต้องถูกสอบสวนทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น และจะรีบดำเนินการทันทีขอให้สื่อทุกคนที่มาร้องเรียนสบายใจได้ เพราะได้ติดตามข่าวทุกช่องที่นำเสนอ นักข่าวทำถูกต้องแล้ว ดังนั้นเมื่อมีปัญหา ทหารจะไม่ทิ้งสื่ออย่างแน่นอนและจะรีบติดต่อประสานงานไปให้ทาง กอ.รมน.จังหวัดรวมถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องออกมาร่วมกันแก้ไขปัญหานี้พ.อ.ถนัดพล กล่าว
 
 
ชาวตาก ร้องนายกฯ ถูก จนท.คุกคาม กรณีเวนคืนที่ดิน
 
วันที่ 21 ต.ค. 58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านหมู่ที่ 4 และ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก รวมตัวกัน ณ ที่ว่าการอำเภอแม่สอด เพื่อเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ จากการถูกเวนคืนที่ดินกว่า 2,000 ไร่ ให้เป็นของราชพัสดุ โดยมีปลัดอำเภอ ออกมารับหนังสือ พร้อมรับปากว่าจะประสานทางจังหวัด เพื่อนำส่งนายกรัฐมนตรีต่อไป
 
ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านอ่านแถลงการณ์ ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดคุกคามประชาชน ที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ด้าน พล.ต.นพพร เรือนจันทร์ ผู้บัญชาการกองกำลังนเรศวร เตรียมเชิญตัวแทนชาวบ้านมาหารือกัน ในวันที่ 22 ต.ค.นี้ และหากพบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐทำการคุกคามจริง จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด
 
 
'ชาวสวนยาง' ขู่ก่อม็อบ หาก 2 สัปดาห์ ไม่ชดเชยราคา 
 
เมื่อ 24 ต.ค. นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 26 ต.ค.นี้ กระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะประชุมเพื่อวางมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งจะมีมาตรการแก้ไขอย่างครบวงจร เพิ่มประสิทธิภาพให้กับชาวสวนยาง โดยไม่ชดเชย หรือแทรกแซงราคายาง เพราะมีปัญหา หากดำเนินการอาจมีผลกระทบและขัดกับกฎขององค์การการค้าโลก ซึ่งจะมีตัวแทนเกษตรกร สภาการยางแห่งประเทศไทย  การยางแห่งประเทศไทย(กยท.)มาร่วมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการช่วยเหลือทั้งระบบ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ รมว.เกษตรฯ เตรียมมาตรการทั้งหมดภายในหนึ่งสัปดาห์ และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กยน.) ที่มีนายกฯ เป็นประธาน เห็นชอบแนวทาง โดยมีทั้งมาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้อาชีพชาวสวนยาง ให้สินเชื่อ แต่ไม่มีแทรกแซงราคา
 
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวอีกว่า มาตรการครั้งจะเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรทุกมิติ รวมทั้งต้องให้เกิดความรอบคอบกว่าโครงการในอดีต ซึ่งจะมีการซักซ้อมการทำงานให้เป็นตาม พ.ร.บ.ยางแห่งชาติ  มีการกำหนดปฎิทินการทำงานให้ละเอียด รวมทั้งการแต่งตั้งบอร์ด กยท.เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้มาตรการต่าง ๆ ต้องพยายามทำให้ครบทุกเรื่องตามแผน มีทั้งระยะเร่งด่วนที่จะทำอย่างไรให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเกษตรกรสวนยาง ที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำได้ก่อน ในขณะที่ต้องดูมาตรการรองรับปัญหาจากราคาตลาดโลก เป็นเรื่องต่อเนื่องด้ว ต้องดูหลายมติ ส่วนข้อเสนอของเกษตรกร ที่ของบปัจจัยการผลิตครัวเรือนละ 2.5 หมื่นบาท ยังไม่มีการพิจารณา
 
ด้านนายไพรัช เจ้ยชุม รองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ เปิดเผยว่า จะนัดประชุมตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางทุกจังหวัด ทั้งภาคเหนือ และอีสาน ที่มีพื้นที่ปลูกยาง เพื่อหารือถึงมาตรการที่รัฐบาลจะช่วยเหลือ หากภายใน 2 สัปดาห์ ยังไม่มีมาตรการออกมาเป็นรูปธรรม จะนัดรวมตัวกันเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ เรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยราคายาง ที่กิโลกรัมละ 65 บาท เพราะเกษตรกรสวนยางกำลังประสบปัญหาเดือดร้อนสาหัส ราคาอย่างตกต่ำมาตลอดช่วง 3-4 ปีนี้ วันนี้เกษตรกรประสบปัญหาวิกฤติราคายางมาก เพราะแนวทางการช่วยเหลือดูแล้วไม่เกิดประโยชน์กับเกษตรกร กลับไปตกกับรายใหญ่หมด“
 
"จะรวมตัวกันไปเรียกร้องให้นายกฯใช้มาตรา 44 บังคับให้กระทรวงคมนาคม เอาน้ำยางดิบไปผสมทำถนน จะแก้ยางราคาตกต่ำ เวลานี้วิกฤติสุดแล้ว ราคาในท้องถิ่นเกษตรกรขายได้กิโลกรัมละ 30 กว่าบาท พูดกันมาหลายรัฐบาล 10 กว่าบาทไม่เคยทำได้จริง หากนายกฯ มีความจริงใจแก้ไขให้เกษตรกรสวนยาง ลืมตาอ้าปากได้ สามารถออกคำสั่งให้หน่วนงานราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล อบต.ซื้อน้ำยาง ซื้อแผ่นยางดิบจากเกษตรกรไปทำผลิตภัณฑ์ใช้ภายในองค์กร เช่น ทำสนามฟุตซอล ทางเดินสุขภาพ หมอน ที่นอนสุขภาพ รวมทั้งการตั้งโรงงานล้อยาง ที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว เพราะจะดูดซับยางที่ล้นระบบตลาดได้มาก ราคายางจะมีเสถียรภาพขึ้นด้วย โดยรัฐไม่ต้องจ่าย ใช้เงินอุดหนุนด้านอื่นเลย"นายไพรัช กล่าว และว่า เกษตรกรจะรอฟังประชุม กยน.สัปดาห์หน้า ถ้ารัฐบาลยังไม่แก้ไขราคายาง จะออกไปเรียกร้อง รอรับม็อบได้เลย เพราะเราเดือดร้อนจริง ๆ  ไม่มีใครกลัวรัฐบาลทหาร ถ้าวันนี้ ไม่มีมาตรา 44 มาคุม เจอม็อบเกษตรกรประท้วงทุกวันจนรัฐบาลอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะเกษตรกรเดือดร้อนทั้งประเทศ ได้แต่นั่งประชุมกันอยู่ที่ทำเนียบฯ ไม่มีใครลงไปดูแลแก้ไขให้อย่างจริงใจ"
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท