Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
ภาพจาก เว็บไซด์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) http://www.codi.or.th/
 

ในโอกาสที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่บรรดากลุ่มองค์กรชุมชน, องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และภาคประชาสังคมบางส่วนรู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี จะมีอายุครบ 15 ปี ในปลายเดือนตุลาคม ศกนี้  ด้วยเหตุที่ผู้เขียนในสนใจติดตามการดำเนินงานของ พอช. อย่างใกล้ชิดตลอดมา  จึงตั้งใจเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในโอกาสสำคัญดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์ 2-3 ประการ กล่าวคือ ประการแรก ผู้เขียนหวังว่าบทความชิ้นนี้จะเป็นอนุสรณ์เตือนใจให้ “คน พอช.” (คณะกรรมการ, ผู้บริหาร, เจ้าหน้าที่, เครือข่ายองค์กรชุมชนและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ) ได้หันกลับมาสำรวจตรวจสอบทบทวนบทบาทหน้าที่ของตนเองกับระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมากว่า 15 ปี เพื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณแผ่นดินที่รัฐจ่ายให้แก่ พอช. ในช่วง 15  ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจำนวนเงินสูงเกือบ  3 หมื่นล้านบาทนั้นมีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด  ประการที่สอง เพื่อให้สาธารณชนได้หันมาให้ความสนใจติดตามผลการดำเนินงานของ พอช. ในฐานะ “องค์กรของรัฐ” รูปแบบหนึ่ง เพื่อร่วมกันพิจารณาว่าในช่วงเวลาที่ผ่าน พอช. ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กรสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ และประการสุดท้าย เพื่อให้สังคมได้ร่วมกันทบทวนพิจารณา “ความจำเป็นและความคุ้มค่าขององค์กร พอช.” ตลอดจนคุณูปการที่ พอช. ได้สรรสร้างให้แก่องค์ชุมชนและสังคม โดยผู้เขียนตั้งใจว่าจะนำเสนอบทความเป็นตอน ๆ จำนวน 3 ตอน โดยเริ่มจากตอนที่ 1 ว่าด้วย “จุดกำเนิด พอช. และข้อมูลทั่วไป”

 

ตอนที่ 1  จุดกำเนิด พอช. และข้อมูลทั่วไป

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนองค์การมหาชน หรือ “พอช.” เป็น “องค์การมหาชน” แห่งแรกหลังจากรัฐสภาในยุคนั้นเห็นชอบประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ซึ่งในปีถัดมาได้มีการจัดตั้งองค์การมหาชนแห่งแรกตามกฎหมายดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 กล่าวคือ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543 ได้ประกาศใช้บังคับและให้มีการจัดตั้ง “พอช.” ในฐานะองค์การมหาชน ซึ่งมีกำลังสำคัญในการผลักดันคือ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม โดยมีวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย 4 ข้อ คือ  
 
(1) สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การเพิ่มรายได้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนทั้งในเมืองและชนบท โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวมหรือบูรณาการและหลักการพัฒนาที่สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมเป็นแนวทางสำคัญ  ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาสังคม  
 
(2) สนับสนุนและให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน
 
(3) สนับสนุนและให้การช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน ตลอดจนประสานงานการสนับสนุนและให้การช่วยเหลือดังกล่าวจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  
 
(4) ส่งเสริมและสนับสนุนและสร้างความร่วมมือขององค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับประเทศ  
 
ในวาระเริ่มแรกของการจัดตั้ง พอช. ได้มีการยุบรวมสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง โครงการพิเศษในสังกัดการเคหะแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนพัฒนาชนบท ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเข้าด้วยกัน โดยในวาระแรกที่ก่อตั้ง พอช. เป็นองค์การมหาชนที่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และใน พ.ศ. 2545 ได้ถ่ายโอนมาอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และในเบื้องต้นได้มีการโอนงบประมาณและทรัพย์สินจากทั้งสองหน่วยงานมารวมกันทั้งสิ้น 3,274.35 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีงบประมาณที่รัฐบาลอุดหนุนให้เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีในช่วงระยะเวลา 15 ปี เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นกว่า 1.3 หมื่นล้านบาทเศษ ดังนี้ 
 

ลำดับที่ 

 

จำนวนงบประมาณที่รัฐบาลอุดหนุน

(ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี) 

1 2545 300,000,000 บาท
2 2546 180,000,000 บาท
3 2547 180,000,000 บาท
4 2548 300,000,000 บาท
5 2549 300,000,000 บาท
6 2550 1,993,600,000 บาท
7 2551 2,030,000,000 บาท
8 2552 1,624,000,000 บาท
9 2553 1,819,300,000 บาท
10 2554 1,250,200,000 บาท
11 2555 1,417,510,000 บาท
12 2556 1,364,984,700 บาท
13 2557 135,425,900 บาท
14 2558 252,000,000 บาท  
15 2559 242,000,000 บาท

รวมทั้งสิ้น  

13,389,020,600 บาท
(หนึ่งหมื่นสามพันสามร้อยแปดสิบเก้าล้านสองหมื่นหกร้อยบาทถ้วน)  

 

 

จากรายงานประมวลรายงานวาระปฏิรูปพิเศษ 7 การปฏิรูปองค์การมหาชน ดำเนินการโดยคณะกรรมการศึกษาการปฏิรูปองค์การมหาชน ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติได้จัดรวบรวมและเผยแพร่ พบว่าปัจจุบันมีองค์การมหาชนจำนวน 39 แห่งที่ยังคงดำเนินการอยู่ รัฐมีการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อดำเนินการตามภารกิจ โดยข้อมูลจากสำนักงบประมาณระบุว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2544 ถึง ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ได้ใช้งบประมาณแล้วโดยรวม 126,929 ล้านบาท   พบว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) “พอช.” เป็นหน่วยงานที่ใช้งบประมาณสูงสุดถึง 20,884.10 ล้านบาท โดยใช้ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2550-2553 ซึ่งเกิดจากการช่วยดำเนินนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้นเกี่ยวกับนโยบายบ้านมั่นคงเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดเป็นหลัก  เมื่อพิจารณางบประมาณที่ พอช. ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลพบว่าเป็นองค์กรของรัฐที่มีงบประมาณสูงจึงสมควรตั้งประเด็นไว้ ณ ที่นี้ก่อนว่าจากงบประมาณจำนวนมหาศาลดังกล่าวทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับองค์กรชุมชนอย่างไรบ้างคุ้มค่ากับงบประมาณที่รัฐจัดสรรลงไปหรือไม่ ยังมิพักต้องพิจารณาถึงภารกิจที่ดูเหมือนมีความทับซ้อนกับ “กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย” ในด้านการพัฒนาชุมชนและสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และ ภารกิจของ “การเคหะแห่งชาติ” ในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยอยู่ไม่น้อย 

 
เมื่อพิจารณาในแง่โครงสร้างการบริหารองค์กร พอช. มีนายสมพร ใช้บางยาง (อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย, ปัจจุบันเป็นกรรมการกองทุน สสส. และประธานคณะกรรมการแผน คณะที่ 3 อยู่ด้วย ) เป็นประธานคณะกรรมการ พอช. โดยมีคณะกรรมการ พอช. คนสำคัญ คือ นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา (อดีตผู้อำนวยการ พอช. 2 สมัยซ้อน/ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ถูกเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาโดย พอช. อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดที่ ศ.ดร. บวรศักดิ์ ฯ เป็นประธาน) นอกจากนี้ยังมี ศ.ดร. สุริชัย หวันแก้ว (นักวิชาการด้านสังคมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) , นายสมคิด สิริวัฒนากุล และนายเจษฎา มิ่งสมร ผู้แทนองค์กรชุมชน เป็นคณะกรรมการ โดยปัจจุบัน พอช. มี นายพลากร วงศ์กองแก้ว (อดีตนักพัฒนาองค์กรเอกชน (NGO) เป็นผู้อำนวยการ พอช.
 
พอช. มีการจัดโครงสร้างองค์กรโดยมีสำนักงาน พอช. ตั้งอยู่ถนนนวมินทร์ ย่านบางกะปิ และมีสำนักงานปฏิบัติการประจำภาคต่าง ๆ รวม 11 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีบุคลากรรวมทั้งสิ้นกว่า 300 คน มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรกว่า 100 ล้านบาท/ปี 
 
จากข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับงบการเงินของ พอช. ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 พอช. มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 9,795.6 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินสดและเงินลงทุนอื่น 5,993.7 ล้านบาท เงินให้กู้ระยะยาว 3,556.0 ล้านบาท ที่น่าสนใจคือ พอช. มีเงินกองทุนรวมทั้งสิ้น 9,649.8 ล้านบาท 
 
ในตอนต่อไปผู้เขียนจะได้นำเสนอและวิพากษ์ผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของ พอช. ในช่วงที่ผ่านมา เช่น การสนับสนุนสภาองค์กรชุมชน การส่งเสริมเศรษฐกิจและทุนชุมชน การดำเนินงานโครงการบ้านมั่นคง (ที่มีกระแสข่าวคราวต่าง ๆ มากมายทั้งประสิทธิภาพการดำเนินงาน และความไม่โปร่งใสของการดำเนินงานในโครงการบ้านมั่นคงจากที่เป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมาจากปัญหาข้อร้องเรียนจากคนในชุมชนเอง) ตลอดจนบทบาท พอช. ในฐานะ “หัวหอก” ผู้ผลักดันสมัชชาพลเมืองในร่างรัฐธรรมนูญ และ “กองเชียร์” กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ ฯ อย่างแอบ ๆ ซ่อน ๆ ในบางโอกาสและเปิดเผยในบางโอกาส
 
นอกนี้ พอช. ยังเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ (แต่ไม่อยากเปิดเผยตัวตน) แก่องค์กรภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวสนับสนุนการปฏิรูปประเทศในช่วงที่ผ่านมาในชื่อต่าง ๆ เช่น “ขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคมเพื่อการปฏิรูป” และ “สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป (สชป.)” ในเส้นทางการดำเนินงานตลอดช่วง 15 ปี ที่ผ่านมา พอช. ได้มีบทบาทสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับรัฐบาลของคณะรัฐประหารใน 2 ยุคสมัย คือ ในช่วงแรกที่มีการรัฐประหาร 2549 โดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม (ผู้มีบทบาทจัดตั้ง พอช. และเป็นประธานบอร์ดคนแรก) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในรัฐบาล คสช. และ มี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เป็น รมช. ซึ่งในยุคนั้น พอช. มีบทบาทในการสนับสนุนภาคประชาชนให้ผลักดันกฎหมายที่สำคัญ 2 ฉบับคือ พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมือง พ.ศ. 2551 และในช่วงการรัฐประหารที่ผ่านมา พอช. ก็มีความพยายามจะเชื่อมต่อความสัมพันธ์กับฝ่ายผู้มีอำนาจนำเพื่อประโยชน์ในการผลักดันบางประเด็นในรัฐธรรมนูญและกฎหมายผ่านอดีต ผอ.พอช. คนสำคัญซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป
 
โดยสรุปสำหรับบทความตอนแรกนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเมื่อพิจารณาเจตนารมณ์การจัดตั้ง พอช. ตลอดจนงบประมาณและบุคลากรที่กับระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา พอช. น่าจะเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาองค์กรชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น การประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนและสังคมได้มากกว่านี้ แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่  จึงสมควรตั้งข้อสังเกตไว้ ณ ที่นี้เสียก่อนว่า “เป็นเพราะเหตุปัจจัยอันใดที่ทำให้ พอช.” มีจังหวะก้าวที่เชื่องช้า ผลงานที่ปรากฏก็มีแต่ผลงานตัวเลขเชิงปริมาณโก้ ๆ ไว้โชว์หรูเพื่อให้เป็นไปตามตัวชี้วัดของ กพร. และสำนักงบประมาณ และที่สำคัญผู้เขียนเห็นว่า พอช. มีส่วนทำให้องค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมส่วนหนึ่ง “ติดกับดัก” ในวังวนของรูปแบบ “องค์กรภาคประชาสังคมจัดตั้ง” จนทำให้ชาวบ้านธรรมดามีอาชีพหลักวิ่งรอกรับเบี้ยประชุมไปตามวงประชุมเวทีต่าง ๆ แต่เกิดผลสะเทือนเป็นรูปธรรมในพื้นที่หรือชุมชนของตัวเองน้อยมาก 
 
นอกจากนี้ พอช. ยังเล่นบทบาทเป็นแหล่งทุนและฐานกิจกรรมที่มั่นสำคัญให้แก่บรรดา “NGO ทุนรัฐ” (ไม่แพ้องค์กรของรัฐตระกูล ส.) ทั้งหลายที่โยกย้ายฐานที่มั่นจากบนเขา ชายทะเล หรือชายป่า เพื่อหันมาหาทุนรอนจากองค์กรภาครัฐในการขับเคลื่อนงานเชิงประเด็นของกลุ่มตนเอง  ตลอดจนเป็นผู้ใหญ่ใจดีที่หว่านเม็ดเงินจำนวนมหาศาลลงไปยังชุมชนเมืองต่าง ๆ ในนามของ “โครงการบ้าน (ไม่) มั่นคง” ที่มีข้อเท็จจริงปรากฏต่อสาธารณะในหลายโอกาสถึงคำถามต่อความสำเร็จและประสิทธิภาพของโครงการ ตลอดจนการขาดกลไกการติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ทำให้เกิดความหละหลวมและข้อร้องเรียนจากคนในชุมชนด้วยกันเอง ซึ่งในบทความตอนต่อ ๆ ไปผู้เขียนจะได้นำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวเหล่านี้ในโอกาสต่อไป.
 
โปรดติดตามตอนต่อไป...
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net