ส.ส.หัวก้าวหน้าสหรัฐฯ เรียกร้องตรวจสอบโครงการโดรน หลังการเปิดโปงเอกสารลับ

26 ต.ค. 2558 หลังจากที่เว็บไซต์ดิอินเตอร์เซปท์เผยแพร่เอกสารลับเกี่ยวกับปฏิบัติการโดรนของรัฐบาลบารัค โอบามา  ประธานร่วมของกลุ่ม ส.ส.หัวก้าวหน้าในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ (Congressional Progressive Caucus) คีธ เอลลิสัน ออกมาแถลงเรียกร้องให้มีการตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของโครงการโดรน

ดิอินเตอร์เซปท์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากหน่วยข่าวกรองว่าโครงการโจมตีด้วยเครื่องบินไร้คนขับหรือ 'โดรน' ในประเทศอย่างอัฟกานิสถาน เยเมน หรือโซมาเลีย มีการพยายามปกปิดเรื่องราวโดยรัฐบาลโอบามาในเรื่องจำนวนพลเรือนที่ถูกสังหารด้วยโดรน โดยการจัดประเภทให้พลเรือนที่ถูกสังหารกลายเป็น "ข้าศึก" เอกสารลับยังระบุอีกว่าโครงการโดรนในอัฟกานิสถานไม่ได้เป็นไปเพื่อต้องการกำจัดกลุ่มก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะฮ์และตอลีบันเท่านั้นแต่ยังเป็นปฏิบัติการกำจัดกลุ่มติดอาวุธในกลุ่มอื่นๆ ในประเทศเหล่านั้นด้วย

ดิอินเตอร์เซปท์รายงานอีกว่าเอกสารลับฉบับหนึ่งมีการระบุถึง "รายชื่อผู้ก่อการร้าย" และวิธีการระบุตำแหน่งของพวกเขาเหล่านั้น แต่หน่วยงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รวมถึงหน่วยข่าวกรอง หน่วยสอดแนม และหน่วยลาดตระเวนต่างก็ทำการวิจัยผลกระทบของโดรนในปี 2555 และวิจารณ์ว่าปฏิบัติการสังหารผู้ก่อการร้ายแทนการจับกุมส่งผลเสียต่อการสืบข่าว แต่กลุ่มเหล่านี้ก็ยังเรียกร้องให้มีการพัฒนาโดรนให้เป็นไปในเชิงปฏิบัติการสอดแนมและเน้นจับกุมแทนการสังหาร

ผลการศึกษาผลลัพธ์โครงการโดรนในเอกสารลับสรุปว่าตลอดเวลา 14 ปีที่ผ่านมาที่สหรัฐฯ มีปฏิบัติการโดรนนั้นนอกจากจะส่งผลเสียต่อเรื่องการสืบข่าวแล้ว ยังอาศัยการจับสัญญาณติดตามตัวเป้าหมายมากเกินไป มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการโจมตีที่เป็นพลเรือนทั่วไปจำนวนมาก นอกจากนี้ยังถือเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่า โดยแทนที่จะยับยั้งสงครามในอัฟกานิสถาน การสังหารกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่กลับทำให้สหรัฐฯ ตกเป็นเป้าหมายเสี่ยงภัยมากยิ่งขึ้น

จากรายงานของดิอินเตอร์เซปท์ทำให้ผู้แทนฯ เอลลิสัน แถลงว่าโครงการโดรนควรมีความโปร่งใสและการตรวจสอบมากกว่านี้ เอลลิสันบอกอีกว่าโครงการโดรนถูกมองว่าเป็นโครงการลอบสังหารของสหรัฐฯ จะส่งผลให้เกิดความเกลียดชังต่อสหรัฐฯ และทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศในสายตานานาชาติ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความเสียหายต่อพลเรือนและการพยายามปกปิดเรื่องความเสียหายต่อพลเรือนโดยการอ้างว่าบุคคลนั้นๆ เป็น "กองกำลังข้าศึก" ถือเป็นเรื่องที่ผิด

"รายงานแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโครงการโดรนของสหรัฐฯ เป็นปฏิบัติการที่ชวนตั้งคำถามในเชิงความชอบธรรมทางกฎหมายและเป็นโครงการที่ล่วงละเมิดหลักการความยุติธรรมของพวกเรา" เอลลิสันกล่าว

เจเรมี สกาฮิลล์ ผู้เขียนบทความเกี่ยวกับเอกสารเรื่องโดรนในดิอินเตอร์เซปท์ให้สัมภาษณ์ต่อเว็บไซต์ Democracy Now! ว่า เรื่องการใช้สัญญาณค้นหาเป้าหมายของสหรัฐฯ ทำให้มีคนตายได้ด้วยข้อมูลส่วนตัวของตนเองถือเป็น "การลอบสังหารแบบระบบราชการ" ที่ประธานาธิบดีจะเป็นผู้ลงนามสั่งประหารหลังมีการพิจารณาจากระบบศาลลับที่ไม่มีการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามจากเคน รอธ จากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ว่าการตั้งเป้าหมายสังหารมีการพิจารณาจากผู้ที่เป็นภัยกระชั้นชิดแต่กลับให้เวลาการปฏิบัติการถึง 60 วัน แทนที่จะให้ปฏิบัติการโดยทันที ทำให้มองได้ว่านิยามคำว่า "ภัยกระชั้นชิด" ของหน่วยงานเหล่านี้มีความคลุมเครือมาก

ทางด้านนาวรีน ชาห์ ผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงด้วยสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลสาขาสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์หลังมีการเปิดโปงเอกสารโดรนว่า เอกสารเหล่านี้ทำให้เกิดความน่าเป็นห่วงว่าสหรัฐฯ กำลังละเมิดกฎหมายนานาชาติอย่างเป็นระบบหรือไม่ รวมถึงเรื่องการกล่าวหาว่าประชาชนทั่วไปเป็น "กองกำลัง" เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการสังหาร ชาห์บอกอีกว่าการเปิดโปงในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลโอบามายังคงดำเนินโครงการต่อจากสมัยรัฐบาลบุชที่สร้างสงครามแต่ก็หลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากสาธารณะ

 

เรียบเรียงจาก

Congressional Progressive Caucus Co-Chair Joins Chorus Questioning Legality of Drone Killing Program, Common Dreams, 24-10-2015

The Drone Papers, Jeremy Scahill, The Intercept, 15-10-2015

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท