Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเล็กๆข่าวหนึ่งซึ่งสำหรับผมแล้วถือว่าเป็นข่าวใหญ่มากเพราะตรงกับแนวความคิดผมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เคยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนสนิทมิตรสหายแต่ยังไม่ได้เสนอต่อสาธารณะเพราะเกรงจะถูกกล่าวหาว่าบ้าหรือเป็นคนขวางโลก แต่ตอนนี้มีโอกาสนำเสนอต่อสาธารณะเพราะมีผู้ที่คิดเห็นเหมือนกับผมแล้วครับ ข่าวที่ว่านั้นก็คือข่าวที่นายริชาร์ด แบรนสัน ผู้บริหารของเวอร์จินซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลกที่ออกมาให้ข่าวว่า UNODC(United Nations Office on Drugs and Crime) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมระหว่างประเทศของสหประชาชาติที่ไปประชุมกันที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลย์เซีย เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอให้ ยาเสพติดทุกชนิดในโลกนี้สามารถครอบครองได้โดยถูกกฎหมาย พูดง่ายๆก็คือยกเลิกโทษทางอาญา(decriminalization)สำหรับยาเสพติดนั่นเอง

ประกอบกับเมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมาที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มีการเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “เสรีกัญชากับอนาคตสังคมไทย” ว่ากัญชาควรจะเปิดเสรีหรือไม่โดยมีหลักการเดียวกันกับที่นายริชาร์ด แบรนสันออกมาเปิดเผยนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามสำนักข่าวบีบีซีได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่าเจ้าหน้าที่ของ UNODC ได้จัดทำข้อเสนอนี้จริง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้ประเทศอื่นๆทำตาม โดยการที่นายริชาร์ด แบรนสันออกมาประกาศเรื่องนี้เพราะไม่อยากให้ UNODC ล้มเลิกแผนการนี้(he feared the UN would have a last minute chang-of-heart)นั่นเอง เขายังบอกว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหา และผู้ที่ติดยาเสพติดสมควรที่จะได้รับการรักษาไม่ใช่การถูกจับยัดเข้าไปในคุกตาราง (While the vast majority of recreational drug users never experience any problems,people who struggle with drug addiction deserve access to treatment,not a prison cell)

หลายคนอาจจะงงว่าเหตุใดผมจึงมีความเห็นด้วยแนวความคิดเช่นนี้ เหตุก็เนื่องเพราะรัฐต่างๆทั่วโลกใช้งบประมาณมหาศาลแก้ปัญหายาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ปปส. ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา ราชทัณฑ์ ฯลฯ แต่ก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้ผลมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น เพิ่มผู้มีอิทธิพล มาเฟีย อีกทั้ง ยิ่งเพิ่มโทษสูงขึ้น ยาเสพติดก็ยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่หากมีการทำให้ถูกกฎหมายขึ้น รัฐก็จะสามารถเก็บภาษีเข้ารัฐจากส่วนนี้ได้อย่างมหาศาล เช่นที่โปรตุเกสก็ทำให้กัญชาเสรี และยังลดโทษทางอาญาของสิ่งเสพติดทุกประเภทด้วยการลดโทษให้น้อยลง สถิติที่ตามมาคือการเสพลดลง ค่าใช้จ่ายในการปราบปรามลดลง ลดการทุจริตคอร์รัปชันเกี่ยวกับการค้าขายยาเสพติดลงอีกด้วย

อีกกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจจากสหรัฐอเมริกาก็คือการทำให้กัญชาไม่เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายใน 4 มลรัฐและ 1 เมือง คือ โคโรลาโด วอชิงตัน อลาสกา โอเรกอน และวอชิงตัน ดี ซี โดยผ่านการทำประชามติของประชาชน แต่ก็มีเงื่อนไขว่ามีไว้ครอบครองได้ไม่เกิน 1 ออนซ์ ปลูกได้ไม่เกิน 6 ต้น และต้องสูบในที่ส่วนตัวในบ้าน เป็นต้น ส่วนในยุโรปนั้นมีหลายประเทศแล้ว เช่น เนเทอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น

กรณีในอดีตที่ผมอยากจะยกมาเปรียบเทียบก็คือในสมัยก่อนที่สหรัฐอเมริกามีการห้ามผลิตและจำหน่ายเหล้า จึงมีการลักลอบผลิต “เหล้าเถื่อน”หรือที่เรียกภาษาอังกฤษว่า “moonshine” เพราะเป็นการลักลอบผลิตกันตอนกลางคืนภายใต้แสงจันทร์นั่นเอง การมีข้อห้ามเช่นว่าทำให้เกิดมีขบวนการค้าเหล้าเถื่อนและเกิดเจ้าพ่อขึ้น โดยที่ชิคาโกมีเจ้าพ่อที่โด่งดังมากก็คือ อัล คาโปน ที่ฆ่าคนตายเป็นว่าเล่นแต่พยานหลักฐานไปไม่ถึง สุดท้ายมาจบด้วยการแก้เผ็ดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เอาเขาเข้าคุกด้วยมาตรการทางทางภาษีที่มีโทษจำคุกด้วย ซึ่งต่อมาเหล้าหรือสุราทั้งหลายก็กลายเป็นของถูกกฎหมาย ปัญหาเรื่องการปราบปราม การทุ่มงบประมาณ ฯลฯ จึงหมดไป ทำให้ผมคิดว่ากรณียาเสพติดนี้ก็ย่อมเป็นเช่นเดียวกัน

ผมไม่ได้ยุยงส่งเสริมให้คนเสพยาเสพติด เพราะผมเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีทั้งคุณและโทษ ไม่ว่าจะเป็น เหล้าเบียร์หากดื่มมากก็มีโอกาสเป็นโรคติดเหล้า(alcoholic)ตามมาด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แต่หากดื่มแต่พอดีก็ทำให้กระชุ่มกระชวย เลือดลมแล่นดี มีความรื่นรมย์ กัญชายาเสพติดก็เช่นเดียวกันหากทำให้ถูกกฎหมายแล้วควบคุมปริมาณการซื้อการเสพมีผลดีต่อจิตประสาท แต่แน่นอนว่าหากเสพจนเกินขนาดก็มีผลต่อร่างกายและจิตใจเช่นกัน

หนามยอกก็ต้องเอาหนามบ่ง หากปล่อยให้สถานการณ์การต่อสู้กับยาเสพติดยังคงเป็นไปในรูปแบบปัจจุบันแล้วไซร้ งบประมาณทุ่มลงไปเท่าไหร่ก็ไม่พอ เรือนจำสร้างเท่าไหร่ก็ไม่พอขัง มีเจ้าพ่อเจ้าแม่เพิ่มขึ้นมากมาย มีการทุจริตคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นทุกวัน ต่อให้มีปปช.กี่ชุดๆก็ไม่มีทางเอาอยู่

เราคงต้องกลับมาพิจารณากันให้ละเอียดถ่องแท้แล้วละครับว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เราทำๆกันอยู่นี้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทางหรือไม่ เพราะแทนที่จะเป็นการแก้ปัญหากลับเป็นการเพิ่มปัญหาให้หนักหนาสาหัสขึ้นทุกวันๆ

ไม่ลองไม่รู้นะครับ บางปัญหาก็เหมือนกับเส้นผมบังภูเขาซึ่งผมก็เชื่อว่าปัญหายาเสพติดนี้ก็เป็นปัญหาเส้นผมบังภูเขาเช่นกัน แน่นอนว่าคงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในการถกเถียงหรือการประชุมในคราวเดียว แต่อย่างน้อยก็เป็นการริเริ่มที่จะเปลี่ยนแนวทางซึ่งอาจจะสำเร็จก็ได้ ใครจะรู้ใช่ไหมครับ



 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 28 ตุลาคม 2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net