ไทม์ไลน์: เหตุการณ์สำคัญในรอบ 5 ปี ก่อนพม่าจัดเลือกตั้ง 8 พ.ย. 58

รายงานจาก “เมียนมาร์ นาว” แสดงเหตุการณ์ที่สำคัญทางการเมืองในรอบ 5 ปีที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในพม่า ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป 8 พฤศจิกายนนี้ โดยการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นถูกจับตามองว่าจะเป็นหมุดหมายว่าจะมีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมในรอบ 25 ปีของพม่าหรือไม่

ในปี 2553 พม่าจัดการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2533 ที่ออง ซาน ซูจี แกนนำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย แต่กองทัพไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง

โดยการเลือกตั้งในปี 2553 เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศพม่ายังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร และถูกต่างประเทศคว่ำบาตรทางการค้า และการเลือกตั้งถูกมองว่าเป็นการเตรียมไว้แล้ว และผลการเลือกตั้งพรรคซึ่งประกอบด้วยอดีตนายทหารในกองทัพ คือพรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา หรือ USDP ก็ได้เสียงข้างมากในสภา

ขณะที่ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ถูกวางตัวมาอย่างรัดกุมและได้รับการเลือกให้เข้าสู่อำนาจการบริหารประเทศ มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยโดยกองทัพ ซึ่งจะส่งผลให้มีการเลือกตั้งในที่ 8 พฤศจิกายนนี้ โดยการเลือกตั้งดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการเลือกตั้งที่เปิดเสรีครั้งแรกในรอบ 25 ปี

และต่อจากนี้คือเหตุการณ์สำคัญในรอบ 5 ปีของการเปลี่ยนผ่าน ที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้่ง 8 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

000

เหตุการณ์สำคัญก่อนพม่าจัดเลือกตั้ง (พ.ศ. 2553 - 2558) (คลิกที่นี่เพื่อรับชมภาพขนาดใหญ่)

2553

7 พฤศจิกายน 2553 – มีการเลือกตั้งของพม่าเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ พ.ศ. 2533 โดยถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าถูกเตรียมการมาเพื่อให้พรรค USDP ได้เปรียบ โดยพรรค NLD และพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์หลักคว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยผลการเลือกตั้งพรรค USDP และพรรคที่เป็นพันธมิตรคือ พรรคเอกภาพแห่งชาติ (NUP) ซึ่งประกอบด้วยอดีตสมาชิกพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (BSPP) สมัยรัฐบาลเผด็จการเนวิน โดยพรรค USDP ได้ที่นั่งร้อยละ 76.5 ในสภา ส่วนพรรค NUP ได้ที่นั่งร้อยละ 5.5 ในสภา

อีกสองพรรคการเมือง ได้แก่ พรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติ หรือ NDF ที่แยกตัวออกมาจากพรรค NLD และพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐฉานคือ พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ หรือ SNDP ชนะการเลือกตั้งหลายที่นั่งในสภาระดับชาติ และสภาระดับรัฐ

13 พฤศจิกายน 2553 – ออง ซาน ซูจี ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพและผู้นำพรรค NLD ได้รับการปล่อยตัวจากการถูกกักบริเวณ

2554

30 มีนาคม 2554 – เต็ง เส่ง ซึ่งเป็นอดีตนายพลในกองทัพพม่า ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเป็นรัฐบาลพลเรือนของพม่าเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี

9 มิถุนายน 2554 – เกิดการปะทะกันระหว่างกองทัพรัฐบาลพม่า กับกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) ทางตอนเหนือของพม่า ใกล้กับบริเวณโครงการก่อสร้างเขื่อนตะเปง (Ta-pein) เขื่อนผลิตไฟฟ้าที่จีนสนับสนุนโครงการ ทำให้มีประชาชนหลายพันคนต้องอพยพ

18 สิงหาคม 2554 – เริ่มต้นกระบวนการหยุดยิงทั่วประเทศ โดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ประกาศอย่างเป็นทางการเชิญกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ร่วมพูดคุยด้วย

19 สิงหาคม 2554 – เต็ง เส่ง และ ออง ซาน ซูจี พบกันเป็นครั้งแรกที่เนปิดอว์ โดยภายหลังออง ซาน ซูจี แสดงทัศนะในเชิงบวกต่อเจตนาของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง

30 กันยายน 2554 – เต็ง เส่ง ระงับโครงการก่อสร้างเขื่อนมิตซงชั่วคราว โดยจะไม่มีการก่อสร้างเขื่อนซึ่งมีที่ตั้งในรัฐคะฉิ่นในช่วงวาระการบริหารของเขา สำหรับโครงการเขื่อนซึ่งจีนสนับสนุนแห่งนี้นี้ ถูกต่อต้านอย่างมากจากชาวคะฉิ่นและสาธารณชนวงกว้าง

30 พฤศจิกายน 2554 – ฮิลลารี คลินตัน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนแรกที่เยือนพม่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา โดยเธอได้พบกับเต็ง เส่ง และออง ซาน ซูจี นับเป็นการปฏิสัมพันธ์กับชาติตะวันตกเป็นครั้งแรก หลังจากพม่าถูกคว่ำบาตรและถูกโดดเดี่ยวมานับครึ่งศตวรรษ

 

2555

13 มกราคม 2555 – รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองคนสำคัญ รวมทั้งผู้นำนักศึกษารุ่น'88 ซึ่งนำการลุกฮือในปี พ.ศ. 2531 นอกจากนี้สื่อมวลชน และผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ก็ได้รับการปล่อยตัวด้วย

1 เมษายน 2555 – พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ลงสมัครในการเลือกตั้งซ่อม โดยชนะได้ที่นั่งในสภาระดับต่างๆ 43 จาก 44 ที่นั่ง รวมทั้งเขตเลือกตั้งที่เนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า ออง ซาน ซูจี กลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

13 เมษายน 2555 – ผู้มีตำแหน่งสำคัญเริ่มการเยือนพม่า ในจำนวนนี้มีนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด คาเมรอนด้วย โดยเขาเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

8 มิถุนายน 2555 – เกิดการปะทะกันระหว่างชุมชนชาวยะไข่ที่เป็นชาวพุทธ กับชาวโรฮิงญาไร้สัญชาติที่เป็นชาวมุสลิม

20 สิงหาคม 2555 – กระทรวงข้อมูลข่าวสารยุติการเซ็นเซอร์ต้นฉบับก่อนตีพิมพ์ นับเป็นการยกเลิกมาตรการคุมเข้มสื่อที่ดำเนินมาหลายสิบปี

21 ตุลาคม 2555 – เกิดความรุนแรงทางศาสนากระจายไปทั่วรัฐยะไข่ ทำให้คนจำนวนมากต้องอพยพ ทั้งนี้ในปัจจุบันยังมีผู้ที่ต้องอพยพออกจากชุมชนราว 140,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ประชากรมุสลิมที่เริ่มอพยพออกจากพม่าโดยทางทะเล

19 พฤศจิกายน 2555 – บารัก โอบามาเยือนพม่า นับเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนแรกที่มาเยือนประเทศแห่งนี้ ในช่วงที่ยังดำรงตำแหน่ง

2556

20 มีนาคม 2556 – เกิดเรื่องกระทบกระทั่งระหว่างลูกค้าชาวพุทธกับเจ้าของร้านทองชาวมุสลิมในเมืองเมกติลา และขยายวงกลายเป็นเหตุรุนแรงระหว่างชุมชนกินเวลากว่า 4 วัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 43 ราย

22 เมษายน 2556 – สหภาพยุโรปยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าเกือบทั้งหมด แต่ยังคงระงับการจำหน่ายอาวุธให้พม่า ขณะที่ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ สหรัฐอเมริกาได้ระงับมาตรการคว่ำบาตรพม่าเป็นการชั่วคราว คงเหลือแต่การขึ้นบัญชีดำนักธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารชุดก่อน

30 พฤษภาคม 2556 – หลังการสู้รบกินเวลามากว่า 2 ปี รัฐบาลและกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) ได้เริ่มเจรจากัน และทำให้การสู้รบเริ่มเบาบางลง อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิง

21 มิถุนายน 2556 – มีการก่อตั้ง “สมาคมผู้รักชาติแห่งพม่า” หรือ “มะบะต๊ะ” ในระหว่างการประชุมของพระสงฆ์กลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยกลุ่มพระสงฆฺ์เหล่านี้เรียกร้องให้มีการออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อปกป้อง “เชื้อชาติและศาสนา”

2557

2 กรกฎาคม 2557 – เกิดจลาจลระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในมัณฑะเลย์ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่พระสงฆ์ชื่อดัง “วีระธุ” กระจายข่าวลือในเฟซบุ๊คว่ามีชาวมุสลิมคนหนึ่งข่มขืนสตรีชาวพุทธ

2558

9 กุมภาพันธ์ 2558 – เกิดการสู้รบขึ้นในเขตโกก้าง ทางตอนเหนือของรัฐฉานติดกับชายแดนจีน หลังจากที่กองกำลังโกก้าง (MNDAA) บุกโจมตีฐานของกองทัพพม่า การปะทะกันส่งผลให้เกิดผู้อพยพนับหมื่น ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์จีนโกก้าง

19 พฤษภาคม 2558 – ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ลงนามในกฎหมาย 1 ใน 4 ฉบับซึ่งเป็นที่ถกเถียง นั่นคือร่างกฎหมาย “เพื่อปกป้องเชื้อชาติและศาสนา” ซึ่งผลักดันโดยกลุ่ม “มะบะต๊ะ” และต่อมาประธานาธิบดีพม่าก็ลงนามในกฎหมายอีก 3 ฉบับที่เหลือ ซึ่งมีเสียงต่อต้านเล็กน้อยในรัฐสภาที่สมาชิกส่วนใหญ่มาจากพรรครัฐบาล USDP

25 มิถุนายน 2558 – สมาชิกรัฐสภาแบบแต่งตั้งจากโควตากองทัพ และ ส.ส.พรรค USDP ส่วนหนึ่งรวมกันลงมติคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ความพยายามเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงอำนาจการลงมติยับยั้ง (Veto) ของสมาชิกรัฐสภาจากกองทัพ ไม่ประสบความสำเร็จ

3 กรกฎาคม 2558 – เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสจากสำนักงานประธานาธิบดี บอกกับรอยเตอร์ว่า เต็ง เส่ง จะไม่ลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้ โดยให้เหตุผลว่ามาจากเรื่องสุขภาพ และบอกด้วยว่าเต็ง เส่ง จะยังคงได้รับการเสนอชื่อในรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2

8 กรกฎาคม 2558 – คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (UEC) หรือ กกต.พม่า กำหนดให้วันเลือกตั้งทั่วไปคือวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน ทั้งนี้มีพรรคการเมือง 93 พรรค และผู้สมัครกว่า 6,074 ราย ลงสมัครในการเลือกตั้งทั้งในระดับชาติได้แก่ ส.ส., ส.ว. และสภาระดับรัฐ

12 สิงหาคม 2558 – ประธานรัฐสภา ฉ่วย มาน ถูกปลดจากตำแหน่งหัวหน้าพรรครัฐบาล USDP นับเป็นการขจัดอำนาจภายในพรรครัฐบาล

8 กันยายน 2558 - เริ่มการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในพม่า

20 กันยายน 2558 – ยังคงเกิดปัญหาผิดพลาดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในการเปิดเผยบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งรอบที่ 2 โดยที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพม่าสามารถร้องเรียนเพื่อแก้ไขรายชื่อในรอบสุดท้ายภายในวันที่ 27 กันยายน 2558

13 ตุลาคม 2558 – กกต.พม่า ได้สอบถามพรรคการเมืองเพื่อขอเลื่อนวันเลือกตั้ง เนื่องจากเกิดน้ำท่วมเมื่อเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ต่อมาก็ยืนยันว่าจะจัดการเลือกตั้งตามกำหนดเดิมคือ 8 พฤศจิกายน 2558

15 ตุลาคม 2558 – สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU), กองทัพกะเหรี่ยงประชาธิปไตยผู้มีความเมตตา (DKBA), สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์อีก 5 กลุ่ม ได้ลงนามข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาล อย่างไรก็ตามข้อตกลงหยุดยิงนี้ ยังไม่รวมถึงกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีกำลังขนาดใหญ่ อย่างกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) และกองทัพสหรัฐว้า (UWSA)

(ที่มาของข้อมูล:- The Burma Fund; Local media; UEC; BBC; Reuters; The Irrawaddy; Human Rights Watch; International Crisis Group; the United Nations)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท