Skip to main content
sharethis

ทำไมผู้หญิงอาเจะห์จึงมีบทบาทเป็นอย่างมากในการสร้างสันติภาพ ท่ามกลางความท้าทายของสังคมที่มองผู้ชายเป็นใหญ่ พวกเธอก้าวข้ามจากเหยื่อความขัดแย้งสู่การรวมตัวเป็นแกนนำนักเคลื่อนไหวที่นานาชาติให้การยอมรับได้อย่างไร

ศ.ดร.เอก้า ศรีมุลยานี (Prof.Dr.Eka Srimulyani) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยอิสลาม Ar-Raniry บันดาอาเจะห์ประเทศอินโดนีเซีย บรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างสันติภาพของผู้หญิงข้ามพรมแดนในอาเซียน วันที่ 13 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ร่วมกับ Peace Women Across The Globe จัดโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างสันติภาพของผู้หญิงข้ามพรมแดนในอาเซียน วันที่ 13 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยเชิญสตรีที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการสันติภาพ 2 คนมาบรรยาย คือ เจีย วันนาถ (Chea Vannath) นักสันติภาพอาวุโสกัมพูชา และ ศ.ดร.เอก้า ศรีมุลยานี (Prof.Dr.Eka Srimulyani) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยอิสลาม Ar-Raniry บันดาอาเจะห์ประเทศอินโดนีเซีย แปลโดยนางสาวจุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม จาก Berghof Foundation

กล่าวสำหรับ ศ.ดร.เอก้า ศรีมุลยานี เธอได้เล่าถึงการรวมตัวกันของผู้หญิงเพื่อเรียกร้องสันติภาพในอาเจะห์ รวมทั้งบทบาทในกระบวนการสันติภาพ โดยเกริ่นนำบรรยายด้วยประโยคที่ว่า“คนที่อยู่ในความขัดแย้งไม่มีใครมีความสุขการสู้รบคนได้รับผลกระทบคือผู้บริสุทธิ์หรือพลเรือน เราไม่มีรู้ว่าวันข้างหน้าเกิดอะไรขึ้น แต่ความขัดแย้งกระทบต่อครอบครัวของเราอย่างแน่นอน ไม่ว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นที่ไหนที่นั่นก็ไม่มีความสุข”

จุดเริ่มต้นสงครามและตัวเร่งสันติภาพ

เอก้าอธิบายว่า ความขัดแย้งในอาเจะห์เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 ธันวาคม 1976 ที่มีการปฏิบัติการทางทหารของขบวนการอาเจะห์เสรี หรือ GAM (Gerakan Aceh Merdeka) ที่ต่อสู้กับกองกำลังทหารของรัฐบาลอินโดนีเซีย และความขัดแย้งสิ้นสุดในปี 2005 รวมระยะเวลา 29 ปี

ในความเป็นจริงความขัดแย้งระหว่างอาเจะห์กับรัฐบาลอินโดนีเซียมีมาก่อนหน้านั้นเสียอีก เป็นความขัดแย้งที่ยาวนานและขยายตัวไปทุกพื้นที่ในอาเจะห์ซึ่งดิฉันจะเล่าตั้งแต่ปี 1976 เป็นต้นมา

สงครามในอาเจะห์ที่ในปี 1976 ฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรีอยู่ภายใต้การนำฮะซันดิ ติโร ส่วนฝ่ายรัฐบาลมีการประกาศกฎอัยการศึกในอาเจะห์เพื่อปราบปรามฝ่ายขบวนการอาเจะห์เสรี

ความขัดแย้งในช่วงก่อนปี 1998 เกิดขึ้นใน 3 ตำบลเท่านั้น แต่หลังจากปี 1998 เป็นต้นมาความแย้งก็ขยายไปทั่วอาเจะห์กระทั่งในปี 2004 เกิดคลื่นยักษ์สึนามิในอาเจะห์

ต่อมาในปี 2005 มีการริเริ่มการพูดคุยสันติภาพหลายครั้ง จนมีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งคลื่นสึนามิเป็นตัวที่ทำให้เกิดกระบวนการสันติภาพอาเจะห์เร็วขึ้น และทั้ง 2 ฝ่ายเห็นว่าไม่ควรสู้รบอีกต่อไป เพราะความขัดแย้งจะทำให้ประชาชนทุพพลภาพจำนวนมาก

เหยื่อในความขัดแย้งที่อาเจะห์

เอก้าอธิบายต่อไปว่า ความขัดแย้งในอาเจะห์ทำให้มีคนบาดเจ็บและเสียชีวิตประมาณ 10,000 คน ส่วนใหญ่เป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ ส่วนบ้านเรือนประชาชน โรงเรียน โครงสร้างสาธารณูปโภคต่างๆถูกทำลายและที่ดินถูกทิ้งร้างจำนวนมากรวมทั้งเกิดการข่มขืนมากมาย

ปัจจุบันร่องรอยความเสียหายจากสงครามอยู่ แม้ความรุนแรงได้จบไปแล้ว 10 ปี รวมถึงบาดแผลของผู้ได้รับผลกระทบเมื่อผู้ชายหลบหนีหรือหายตัวไป

เมื่อสมาชิกครอบครัว เช่น พ่อหรือพี่ชายหายตัวไปก็ทิ้งผู้หญิงไว้ข้างหลัง บางหมู่บ้านกลายเป็นหมู่บ้านแม่หม้าย หรือ “Kampung Janda” ผู้หญิงจึงพยายามค้นหาสมาชิกในครอบครัวตามสถานที่ตามๆโดยเฉพาะสถานีตำรวจ ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้หญิงอาเจะห์เข้ามามีบทบาทในสังคมมากยิ่งขึ้น

“สันติภาพทำให้ร่างกายฉันห่างไกลความรุนแรง”

เอก้าเล่าว่า จากการสัมภาษณ์เหยื่อที่ถูกละเมิดทางเพศในระหว่างสงครามว่า ความขัดแย้งกับสันติภาพมีความหมายอย่างไร เขาบอกว่า “ฉันไม่รู้หรอกว่า ความขัดแย้งนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ที่ฉันรู้คือความขัดแย้งนั้นน่ากลัว เพราะทำให้ร่างกายของฉันถูกทำร้าย แต่สันติภาพทำให้ร่างกายของฉันห่างไกลจากความรุนแรงและการล่วงละเมิดสิทธิ”

ในช่วงความขัดแย้ง ผู้หญิงอาเจะห์พยายามสร้างบทบาทของผู้หญิงขึ้นมาด้วยการทำให้เป็นประเด็นทางสังคม เพื่อให้ต่างชาติเข้ามาช่วยเหลือ มีการตั้งองค์กรช่วยเหลือเหยื่อ ที่สำคัญคือการทำเรื่องเล่าของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบให้ปรากฏต่อสังคมภายนอก

สภาสตรีและสภาอูลามาสตรี

เอก้าบอกว่า ที่สำคัญคือมีการก่อตั้งสภาสตรีอาเจะห์ (Aceh Women Congress) เพื่อสะท้อนเสียงของผู้หญิงเพื่อสันติภาพ มีเป้าหมายเพื่อให้โอกาสผู้หญิงได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ และเพื่อสร้างประเด็นให้ต่างชาติเข้ามาช่วยเหลือผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบ โดยมีผู้หญิงอาเจะห์ 2 คนที่ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชน คือ สุไรยา กามาลรุสสามาน กับฟารีดา

สภาสตรีอาเจะห์ยังทำงานในประเด็นต่างๆในสังคมอาเจะห์ด้วย เช่น ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ และปัญหาทางสังคม

ในความขัดแย้งนั้นผู้หญิงมีการรวมตัวอย่างเหนี่ยวแน่นมากการก่อตั้งสภาสตรีอาเจะห์นั้นมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2000 โดยการรวมตัวของผู้หญิงอาเจะห์ 400 คน ซึ่งตอนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรวมตัวกัน เพราะต้องรายงานต่อหน่วยงานความมั่นคง

เมื่อรวมตัวกันได้แล้วก็ได้รับความสนใจจากนานาชาติมากขึ้น มีการเผยแพร่บทบาทของผู้หญิงมากขึ้น นานาชาติมาสัมภาษณ์ผู้หญิงมากยิ่งขึ้น ซึ่งการรวมตัวเป็นองค์กรทำให้ผู้หญิงได้เปรียบ ยิ่งมีผู้หญิงที่มีชื่อเสียงอยู่ในองค์กรก็ยิ่งเป็นโอกาสที่จะให้นานาชาติได้รับรู้เรื่องผู้หญิงอาเจะห์มากขึ้น

ตอนนั้นในอาเจะห์มีทั้งกลุ่มที่ต้องการเอกราชกับกลุ่มที่ต้องการประชามติ แต่สภาผู้หญิงอาเจะห์ไม่ได้ต้องการทั้ง 2 อย่าง แต่ต้องการสันติภาพ ซึ่งก่อนหน้านั้นคนอาเจะห์ไม่เคยพูดว่าจะยุติความรุนแรงอย่างไร พูดแต่ว่าต้องทำประชามติหรือจะเอาเอกราชอย่างเดียวเท่านั้น

ผู้หญิงอาเจะห์ในกระบวนการสันติภาพ

เอก้าบอกว่า ในช่วงท้ายของกระบวนการสันติภาพอาเจะห์มีการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เข้าไปมีบทบาทด้วย ทำให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ และนักวิชาการในมหาวิทยาลัยก็มาช่วยส่งเสริมผู้หญิงในการสร้างสันติภาพมากขึ้นด้วย

ช่วงหลังๆของความขัดแย้ง แกนนำขบวนการอาเจะห์เสรีได้หลีภัยทางการเมืองไปอยู่ที่ประเทศสวีเดน ทางสภาอุลามาอาเจะห์ (สภานักปราชญ์ทางศาสนาอิสลาม) ก็เดินทางไปคุยกับแกนนำที่ประเทศสวีเดน ซึ่งในสภานี้ก็มีผู้หญิงอยู่ด้วย จึงทำให้ผู้หญิงได้รับรู้ว่ามีการพูดคุยเรื่องอะไรบ้าง

คำถามว่าทำไมผู้หญิงมีบทบาทในอาเจะห์สูงมาก แต่ในกระบวนการสันติภาพที่สวิสเซอร์แลนด์มีผู้หญิงเพียงคนเดียว และดูเหมือนดอกไม้ประดับไม่ได้มีบทบาทอะไร หรือเพียงแค่ต้องการให้รู้ว่ามีผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพด้วยเท่านั้น แต่สิ่งที่ดิฉันจะบอกคือ การที่ผู้หญิงเข้าไปอยู่ในกระบวนการสันติภาพนั้นมีสำคัญอย่างไรมากกว่า

สิ่งท้าทายในการทำงานของผู้หญิงอาเจะห์

เอก้าบอกว่า ทั้งอินโดนีเซียและอาเจะห์เป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ในมุมทางศาสนาในอาเจะห์ก็เช่นกัน คือมองว่าผู้หญิงไม่ควรเป็นใหญ่ ทางสภาสตรีอาเจะห์จึงแก้ปัญหาด้วยการตั้งสภาอูลามาสตรีอาเจะห์ขึ้นมาอีกองค์กรหนึ่ง

แต่ทว่า กลับมีบางคนต่อต้านการเป็นผู้นำของผู้หญิงในอาเจะห์ซึ่งดิฉันคิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับสังคมอาเจะห์ที่ผู้หญิงจะเป็นผู้นำ เพราะในอดีตอาเจะห์เคยมีกษัตริย์ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศมาแล้ว และอินโดนีเซียเองก็เคยมีประธานาธิบดีที่เป็นผู้หญิง

แต่อย่างไรก็ตามผู้หญิงก็ยังถูกกล่าวหาว่าไม่รู้เรื่องอะไร ซึ่งดิฉันคิดว่านี่เป็นข้ออ้างเท่านั้นดังนั้นผู้หญิงต้องโชว์ความสามารถให้ผู้ชายได้เห็น เพื่อให้ผู้ชายยอมรับ

ในอาเจะห์ “มามา” หรือผู้สอนเด็กนักเรียนปอเนาะฝ่ายสตรีหรือหัวหน้าปอเนาะฝ่ายสตรี สามารถผลิตคู่มือการศึกษาเพื่อสันติภาพนำไปใช้อบรมนักเรียนให้เข้าใจเรื่องการสร้างสันติภาพได้ ดังนั้นกระบวนการสันติภาพไม่ได้จบลงที่โต๊ะเจรจาเท่านั้น แต่มันมากกว่านั้น

เครือข่ายผู้หญิงที่รวมตัวกันระหว่างเกิดความขัดแย้งและได้ทำงานกับทุกฝ่าย รวมทั้งผู้นำศาสนา จึงทำให้นักวิชาการยอมรับ และทำให้นานาชาติให้ความสนใจเรื่องการศึกษาสันติภาพมากขึ้นซึ่งสันติภาพไม่ได้หมายถึงไม่มีสงคราม แต่ต้องทำงานจนกว่าสังคมมีสันติภาพและความสงบสุข

ข้อสังเกตของผู้หญิงอาเจะห์

เอก้าได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของผู้หญิงอาเจะห์ด้วยดังนี้

1.องค์กรของผู้หญิงอาเจะห์มีความเข้มแข็งมากในช่วงที่มีความขัดแย้ง

2.ผู้หญิงทำงานทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับความขัดแย้งด้วย และยังทำงานกับผู้นำศาสนาและนักวิชาการในมหาวิทยาลัยด้วย

3.ผู้หญิงต้องใช้สื่อหรือโซเชียลมีเดียเพื่อทำให้นานาชาติได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น

4.ผู้หญิงต้องสนใจในการเรียนรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพ เพราะสันติภาพไม่ได้หมายความว่ามีขึ้นเพราะสงครามหรือความรุนแรงเท่านั้น และต้องเปลี่ยนแปลงให้สังคมเกิดความยุติธรรมและเป็นสังคมที่มียุติธรรมด้วย

ประวัติ ศ.ดร.เอก้า ศรีมุลยานี

ศ.ดร.เอก้า ศรีมุลยานี เป็นศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยอิสลาม Ar-Raniry เมืองบันดาอาเจะห์เธอยังเป็นนักวิจัยอาวุโสที่ศูนย์อาเจะห์และมหาสมุทรอินเดียศึกษานานาชาติ (ICAIOS) และยังทำงานวิจัยเรื่องสันติภาพและการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยโดยใน 2010 เธอร่วมโครงการวิจัยกับ Suraiya Kamaruzzaman เรื่อง ผู้หญิงกับการสร้างกระบวนการสันติภาพ กรณีศึกษา อาเจะห์ อินโดนีเซีย ในเดือน มีนาคม- กันยายน 2553 เธอได้เขียนบทความในจุลสารเรื่อง ผู้หญิงและความขัดแย้งในอาเจะห์ ในบทความที่ชื่อว่า “Islam, Perempuandan Resolusi Konflik di Aceh (2000 – 2005)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net