สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 29 ต.ค.- 4 พ.ย. 2558

 
สอท.เผยผลสำรวจค่าจ้างแนวโน้มวุฒิปวช.-ปวส.แซงหน้าป.ตรี เหตุความต้องการตลาดแรงงานมีสูงกว่า 
 
นายพงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ รองประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2558/2559 จากจำนวนสถานประกอบการทั้งหมด 110 แห่งใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่า อัตราการจ่ายค่าจ้างขั้นต้นโดยเฉลี่ยของวุฒิปวช.อยู่ที่ 10,120 บาท ,ปวส. 11,383 บาท ปริญญาตรี 15,491 บาท ปริญญาโท  21,047 บาท และปริญญาเอก 35,985 บาท 
 
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบ อัตราค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ ระหว่างปี  2558 กับปี 2557 จะพบว่า วุฒิปริญญาตรี มีการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 9.49% แต่ถ้าเปรียบเทียบค่าจ้างเฉลี่ยในระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2552 -2558) พบว่า วุฒิปวช.มีการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเพิ่มขึ้นสูงสุด 57.85% 
 
จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในอนาคตที่ค่าจ้างในวุฒิปวช. และ ปวส. จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าวุฒิปริญญาตรี เนื่องจากความต้องการในตลาดแรงงานมีสูงกว่า รวมทั้งทิศทางของตลาดแรงงานที่กำลังเปลี่ยนไป ซึ่งในอนาคตจะเน้นรับคนเข้าทำงานโดยดูจากทักษะ และความสามารถมากกว่าที่จะดูเพียงแค่ใบปริญญา หรือระดับการศึกษา ทำให้ในอนาคต แรงงานที่จบการศึกษาจากปริญญาตรี อาจประสบปัญหาตกงานได้
 
นอกจากนี้ ผลสำรวจด้านนโยบายการจ้าง พบว่า การปรับอัตราค่าจ้างปี 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.04% ส่วนการจ่ายโบนัสประจำปี 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.3 เดือน และมีแนวโน้มที่น่าสนใจคือ บริษัทต่างๆเริ่มมีการปรับนโยบายจ่ายโบนัสตามผลงานมากขึ้น ส่วนอัตราการลาออกของพนักงาน เฉลี่ยอยู่ที่ 12.27% จากสาเหตุ ค่าตอบแทนและสวัสดิการ เป็นอันดับหนึ่ง
 
ส่วนความเคลื่อนไหวการจ่ายโบนัสปีนี้ ล่าสุด คณะกรรมการ หรือ บอร์ด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีมติให้โบนัสแก่พนักงาน ทอท.ประจำปี 58 จำนวน 7.5 เดือน มากกว่าปีก่อนที่เคยจ่าย 6.5 เดือน 
 
 
สปริงนิวส์แจงปลดพนักงานปรับโครงสร้าง ย้ำทางบริษัทพิจารณาตามความเหมาะสม และมีการสื่อสารกับพนักงานให้เข้าใจ
 
สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ส่งจดหมายชี้แจงสื่อมวลชน ต่อกรณีกระแสข่าวปลดพนักงานหลายชีวิตเมื่อวานนี้ (28 ต.ค.58) เนื้อหาในหนังสือชี้แจงมีดังนี้ 
 
"เนื่องด้วย สถานีข่าวสปริงนิวส์ ทีวีดิจิตัล ช่อง 19 ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายมุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ในปี 2559 คือ "เป็นสถานีข่าวความนิยมอันดับ 1 ของประเทศ ทุกแพลทฟอร์ม บนความรับผิดชอบ และก้าวสู่ศูนย์กลางข่าวสารอาเซียนในปี 2559"
 
จึงได้เริ่มกลยุทธ์รุกทุกแพลทฟอร์ม โดยแถลงข่าวเปิดคลื่น FM.98.5 สถานีข่าวจริง สปริงเรดิโอ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา และล่าสุดได้มีการปรับยุทธศาสตร์ในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กร โดยจะมีการปรับลดพนักงานในบางภาคส่วน จำนวน 40 อัตรา และในขณะเดียวกันมีนโยบายขยายงานข่าวภาคเศรษฐกิตและต่างประเทศ เพื่อตอบสนองเป้าหมายองค์กรปี 2559
 
ทั้งนี้ทางบริษัทได้พิจารณาตามความเหมาะสม และได้มีการสื่อสารกับพนักงานให้เป็นที่เข้าใจพร้อมได้ดูแลพนักงานที่ถูกเลิกจ้างด้วยความเป็นธรรม และถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน"
 
 
ไฟไหม้โรงงานปั่่นใยผ้าวอดกว่า 3 ล้านบาท
 
พ.ต.ต.สันติ หนูช่วย สาวรวัตรเวร สภ.บางแพ จ.ราชบุรี ได้รับแจ้งเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงงานปั่นใยผ้า บ้านเลขที่ 27 หมู่ที่ 10 ต.วัดแก้ว อ.บางแพ จ.ราชบุรี จึงประสานรถดับเพลิงจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) วัดแก้ว และเทศบาลตำบลบางแพ เดินทางไปที่เกิดเหตุ
       
พบเพลิงกำลังลุกไหม้อย่างรุนแรงบริเวณด้านหน้า โรงงานดังกล่าวอยู่ตรงข้ามกับวัดบ้านใหม่เหนือ และอยู่ห่างจากบ้านเรือนประชาชน ส่วนเพลิงได้ลุกไหม้อยู่ในบริเวณลานหน้าบ้านพักขนาดกว้างมีพื้นที่ประมาณ 100 ตารางวา มีกองเศษผ้า และผ้าโพลีเอสเตอร์กองอยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี นอกจากนี้ เพลิงยังได้ลุกไหม้โหมอย่างหนักลามเข้าตัวอาคารลุกไหม้เครื่องจักร และถังน้ำมันเชื้อเพลิง เจ้าหน้าที่ต้องช่วยกันฉีดน้ำสกัดกั้นเพลิง โดยใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมงจึงสงบ
       
จากการสอบสวน นายไพศาล วิเวก อายุ 50 ปี เป็นเจ้าของโรงงานดังกล่าว เบื้องต้นทราบว่า โรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานปั่นใยเศษผ้า และผ้าโพลีเอสเตอร์ที่ใช้ส่งให้โรงงานผลิดตุ๊กตา ก่อนเกิดเหตุนอนอยู่ในบ้านกับ นายวรรพงษ์ วิเวก อายุ 20 ปี ลูกชาย ได้เกิดมีเสียระเบิดดังขึ้น และไฟฟ้าในบ้านดับจึงอกมาดูพบว่า เพลิงกำลังลุกไม้อย่างหนัก จึงได้แจ้งไปทางผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ตำรวจประสานงานรถดับเพลิงมาช่วยเหลือแต่ก็ไม่สามารถหยุดเพลิงได้ทำให้เพลิงไหม้เผาวอดทั้งบ้านพัก ทั้งเครื่องจักรปั่นใยผ้า 3 ชุด เงินสดกว่าแสนบาท เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดวอดไปกับกองเพลิง สาเหตุคาดว่ามาจากไฟฟ้าลัดวงจร ค่าเสียหายเบื้องต้นประมาณ 3 ล้านบาท 
 
 
สกศ.คัด 8 อาชีพนำร่องแรงงานเสรี ชาติสมาชิกไฟเขียว-เทียบเคียงคุณวุฒิอาเซียน
 
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะทำงานกรอบคุณวุฒิอาเซียน (TF-AQRF) ครั้งที่ 7 สกศ.กำหนดแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ปี2559 ที่นำไปสู่การเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิอาเซียน (AQRF) ในปี 2560 ภายใต้ 3 ประเด็น 1.กำหนดรายละเอียดการเชื่อมโยงคุณวุฒิต่างๆ ในประเทศไทยกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ 2.ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิฯ เพื่อคัดเลือกกลุ่มอาชีพนำร่องและวิธีการเทียบเคียง และ 3.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดในการเทียบเคียง เช่น กำหนดมาตรฐานสมรรถนะ ระดับคุณวุฒิ ผลลัพธ์การเรียนรู้ วิธีการฝึกอบรม วิธีการประเมินผล การเทียบโอนประสบการณ์ที่มีมาก่อน การรับรอง และการเทียบโอน และการประกันคุณภาพ
 
"สกศ.และผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับคณะทำงาน AQRF จาก 9 ประเทศประชาคมอาเซียน ยกเว้น ประเทศบรูไนดารุสซาลาม เห็นชอบร่วมกันให้เริ่มต้นเทียบเคียง NQF กับ AQRF ในปี 2559 หรืออย่างช้าไม่เกินปี 2561 โดยเชื่อมโยงกับ 8 สาขาอาชีพ คือ วิศวกรรม การสำรวจ สถาปัตยกรรม แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล บัญชี และการบริการ/การท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดการพัฒนากำลังคนของภูมิภาค และส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้ ในส่วนของไทยนั้น สกศ.จะนำหลักการเทียบเคียง NQF กับ AQRF ไปปฏิบัติในส่วนของการจัดการศึกษาและการฝึกอบรม โดยมุ่งเน้นการบูรณาการทั้งในส่วนของคุณวุฒิการศึกษาและคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้ผู้เรียนและแรงงานไทยมีทักษะ และความรู้ความสามารถ รวมถึงมาตรฐานที่เทียบเท่ากับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบแนวทางการเทียบเคียง AQRF การเรียนรู้นอกระบบการเรียนรู้ตามอัธยาศัยและการรับรองประสบการณ์เดิม โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์การเรียนรู้เป็นหลัก เพื่อประกันคุณภาพการศึกษาและฝึกอบรม ตามกรอบการประกันคุณภาพของประเทศอาเซียน ทั้งระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา" นายกมลกล่าว
 
 
โฆษกรัฐบาลระบุนายกให้เร่งปฏิรูปอาชีวศึกษา ผนึกกำลังภาคเอกชนผลิตแรงงานฝีมือตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
 
พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลเร่งปฏิรูปการศึกษาด้านอาชีวะโดยประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ผลิตกำลังคนร่วมกัน และกำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสมตามระดับความสามารถของฝีมือแรงงาน รวมทั้งส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมจัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคีมากขึ้น โดยในปี 2558 มีสถานประกอบการเข้าร่วม 10,527 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ถึง2.75 เท่า และมีจำนวนนักเรียนสายอาชีวะเพิ่มขึ้นเป็น 91,448 คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลสามารถกระตุ้นให้นักเรียนและผู้ปกครองหันมาสนใจการศึกษาด้านอาชีวะมากขึ้น
 
"นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ ประสานงานกับกระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรม จัดให้มีระบบทวิศึกษาสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นให้ได้เรียนวิชาชีพเพิ่มเติม ขณะที่นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถเรียนสายสามัญควบคู่กับสายอาชีพ (ปวช.) โดยใช้เวลาเรียนเพิ่มขึ้น 1 ภาคเรียน เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับทั้ง 2 วุฒิ คือสายสามัญและสายอาชีพ และสามารถทำงานได้ทันที ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนค่าเล่าเรียน อุปกรณ์ประจำตัว และค่าเดินทาง" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว 
 
พลตรีสรรเสริญ กล่าวว่า สำหรับปีการศึกษา 2559 สถาบันอาชีวศึกษาจะร่วมกับสถานประกอบการเปิดหลักสูตรเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศเฉพาะทาง นำร่องในสาขาวิชาพาณิชย์นาวี ขนส่งระบบราง ปิโตรเคมี แม่พิมพ์ การผลิตไฟฟ้า ท่องเที่ยว และเทคโนโลยีอาหารปลอดภัย ส่วนปีการศึกษา 2560 จะเปิดเพิ่มในสาขาปิโตรเลียม ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และโรงแรม จากนั้นจะปรับเพิ่มจำนวนสถานศึกษาในโครงการให้เหมาะสมกับศักยภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกันยังได้ร่วมกับประเทศจีนส่งนักศึกษา ปวส. ไปฝึกงานการขนส่งระบบรางเป็นเวลา 1 ปี และเตรียมเปิดหลักสูตรสาขาการขนส่งระบบรางในประเทศไทย เพื่อสร้างความพร้อมรองรับการพัฒนาระบบขนส่งทางรางตามนโยบายของรัฐบาล 
 
โฆษกรัฐบาล กล่าวต่อว่า สำหรับเป้าหมายในการปฏิรูปอาชีวศึกษาจะเน้นผลิตนักเรียนอาชีวะที่มีความเชี่ยวชาญเทคนิคปฏิบัติ เป็นแรงงานฝีมือ มีทักษะความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรม นำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการได้ในอนาคต ภายใต้แนวคิด “อาชีวศึกษา ฝีมือชน คนสร้างชาติ” จึงขอให้ผู้ปกครองเชื่อมั่นในการส่งบุตรหลานมาเรียนอาชีวศึกษา ส่วนนักเรียนอาชีวะควรตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง ภาคภูมิใจในวิชาชีพ และพร้อมพัฒนาตนและนำพาประเทศชาติไปสู่ความก้าวหน้า
 
 
นายจ้างโอด ต่างด้าวโยกย้ายเปลี่ยนงานนอกข้อตกลงกันป่วน ร้อง คสช.กลับเงียบ
 
(2 พ.ย.58) ที่สำนักงานจัดหางาน จ.สมุทรสาคร น.ส.ภรณภัท ทองแผ่น ผู้ประกอบการแปรรูป ย่านตำบลมหาชัย อ.เมืองฯ พร้อมพวก เข้าร้องเรียนพร้อมด้วยหลังฐานเอกสารประจำตัวแรงงานต่างด้าว เข้าร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อนกับ นายประสิทธิ์ พูลจันทร์ รักษาการ หน.จัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร ว่า กรณีหลังได้มีลูกจ้างแรงงานต่างด้าวที่เคยจ้างงาน ก่อปัญหาหลบหนีเคลื่อนย้ายเปลี่ยนนายจ้างทำงานจำนวนหลายราย ส่งผลให้ธุรกิจเสียหาย ดังนั้นจึงต้องการให้เจ้าหน้าที่ฐานะผู้กำกับดูแลเร่งดำเนินการตรวจสอบ เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงตามกฎหมายกรณีโดยนายจ้างเดิมยังไม่ได้อนุมัติให้ออกจะสามารถโยกย้ายไปทำงานที่อื่นได้หรือไม่ เนื่องจากยังสมาชิกในกลุ่มผู้ประกอบการแปรรูปอาหารจากสัตว์น้ำ (กุ้งและปลา) จำนวนไม่น้อยประสบปัญหาที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน
 
น.ส.ภรณภัท เปิดเผยว่า ล่าสุดส่วนตัวมีแรงงานหลบหนีจำนวน 8 คน ย้ายไปทำงานที่อื่น ซึ่งตนเองยืนยันว่าไม่ได้เต็มใจและไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อนทั้งที่เอกสารประจำตัวแรงงานที่ทำให้ยังอยู่กันตนเอง เป็นเหตุให้รับความเดือดร้อนที่เสียทั้งเงินค่าดำเนินการจัดทำเอกสารและการขออนุญาตทำงาน ซึ่งขณะนี้กำลังสืบหาแหล่งทำงานแห่งใหม่ และผู้ลงนามอนุมัติให้แรงงานเปิดช่องทางโยกย้ายงานของแรงงานเหล่านี้
 
“เบื้องต้นยังไม่ได้เจาะจงฟ้องร้องใคร แต่ต้องการทราบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตั้งมาตรฐานกรณีการเปลี่ยนนายจ้าง ซึ่งนายทะเบียนนั้นเค้าวินิจฉัยเลยหรือไม่ หรือเปลี่ยนนายจ้างได้ทันที และกรณีของนายจ้างเก่าไม่ได้รับรู้ว่าแรงงานได้หลบหนี ขณะที่การเซ็นอนุมัติให้เปลี่ยนนายจ้างได้คือนายทะเบียน อย่างไรก็ตามซึ่งผู้ประกอบการเองก็ถือว่าไม่ใช้หลักการที่ถูกต้อง" น.ส.ภรณภัท กล่าว
 
สำหรับมาตรฐานการอายุการทำงานเรื่องของเวิร์คเพอร์มิท (ใบขออนุญาตทำงาน) ของนายจ้างนั้นมีเวลาระบุเบื้องต้นไว้ 1 และ 2 ปี ดังนั้นเมื่ออายุเวิร์คเพอร์มิทยังไม่ครบ แล้วแรงงานเกิดหลบหนีไป ใครจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบตามกฎหมายที่บังคับให้ทำ อย่างไรก็ตามด้วยเหตุนี้ฝ่ายนายจ้างจำจำเป็นต้องร้องขอความเป็นธรรมด้วย เพราะเกิดความเสียหาย เช่น เป็นฝ่ายคนงานลูกจ้างต้องชดใช้ค่าเสียหาย และเสียเวลาของนายจ้างเหมือนกัน เพราะแรงงานต่างด้างเมื่อจะออกจากงานจะไม่ยอมแจ้งล่วงหน้า เจ้าของรับรู้
 
น.ส.ภรณภัท ยังกล่าวว่า ด้วยเหตุนี้นายจ้างจึงต้องรับภาระต่างๆ ทั้งออกเงินให้คนงานไว้ใช้ก่อน ตลอดจนค่าที่พัก และเบิกล่วงหน้าอื่นๆ ทั้งนี้ตนจะติดตามการแก้ปัญหาต่อไป เพราะเรื่องดังกล่าวนี้ตนได้ร้องเรียนไปยัง คสช.แล้วด้วยแต่ยังเรื่องยังเงียบอยู่”
 
ด้านนายประสิทธิ์ กล่าวยอมรับว่า บางกรณีเมื่อมีแรงงานหรือนายจ้างมายื่นหลักฐานของคนงานเข้ามาก็มีการเซ็นอนุมัติให้เปลี่ยนนายจ้างเลยทันที และบางกรณีก็มีผู้ประกอบการนำใบแจ้งออกจ้างนายจ้างเก่าแนบมาด้วย อย่างไรก็ตามในส่วนของกรณีคุณภรณภัท หรือเจ้นิด ต้องการร้องเรียนยืนยันขอให้ช่วยตรวจสอบที่มีที่ไปของแรงงานหลบหนีที่สร้างความเดือดร้อนนั้นจะตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อรายงานให้ต่อไปว่าแรงงานกลุ่มนี้มาจากตัวแทนหรือนายหน้ากลุ่มไหนค่อยชี้แจงต่อไป
 
 
แรงงานพม่าฮือไล่ บิ๊ก รง.ผลิตชิ้นส่วนไก่ พร้อมยื่น 5 ข้อเสนอเจรจา
 
เมื่อวันที่ 2 พ.ย.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แรงงานต่างด้าวชาวเมียนมากว่า 2 พันคน ได้รวมตัวชุมนุมประท้วงไม่ยอมเข้าทำงาน เนื่องจากไม่พอใจการบริหารงานของผู้บริหารของโรงงาน ไทยฟู๊ดกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หมู่ 4 บ้านหนองสามเกวียน ต.อุโลกาหมื่น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนไก่แช่แข็งส่งนอก
 
ในเวลาต่อมา พ.ต.อ.เจนณรงค์ สมเสถียร ผกก.สภ.ท่าเรือ อ.ท่ามะกา พร้อม พ.ต.ท.ไวโรจน์ แน่นพิมาย รอง ผกก.ป. นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังกับ พ.ท.ณัฐติพงษ์ ตะโกใหญ่ ผบ.ป.พัน 109 หน่วยทหารที่ควบคุมความสงบเรียบร้อยใน อ.ท่ามะกา น.ส.วนิดา จงเจริญวัฒนา ปลัดฝ่ายความมั่นคง มาดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ชุมนุม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุที่ทำให้แรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นคนงานของ โรงงานแห่งนี้ชุมนุมประท้วง เนื่องจากที่ผ่านมาบรรดาคนงานซึ่งมีอยู่ประมาณ 3 พันกว่าคน เป็นแรงงานต่างด้าว 2 พันคน คนไทยพันกว่าคน ไม่พอใจการบริหารงานของชุดผู้บริหาร โดยเฉพาะนายเนติศาตร์ ไชยบุตร ผจก.ฝ่ายบุคคล ที่บริหารงานแบบไม่เป็นธรรม จึงประท้วงหยุดงานโดยยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ ได้แก่ 1.ต้องการให้ทางบริษัทไล่ออก หรือสั่งย้าย ผจก.ฝ่ายบุคคลให้พ้นจากโรงงาน 2.ต้องการให้โรงงานปรับปรุงห้องสุขาที่มีอยู่ 12 ห้อง แต่ใช้การได้แค่ 5-6 ห้อง และยืดเวลาการเข้าห้องน้ำจาก 15 นาที ออกไปเป็น 20 นาที 3.เรื่องเวลาการพักรับประทานอาหารกลางวัน ต้องการให้ทางโรงงานจัดหาสถานที่โรงอาหาร และขยายเวลาในการพักรับประทานอาหาร ที่ผ่านมาคนงานส่วนใหญ่บางคนไม่ได้กินข้าวตอนเที่ยง เนื่องจากตอนพักเที่ยง อาหารมีไม่เพียงพอกับจำนวนคนงาน
 
4.เรื่องการรักษาพยาบาลตรวจสุขภาพคนงานประจำปี เวลาเจ็บป่วยหยุดงานไปหาหมอ เอาใบรับรองแพทย์ไปเบิกค่ารักษาพยาบาล ก็ถูกทางโรงงานและทางบริษัทจัดหางานไม่ยอมให้เบิก อ้างว่าไม่ได้ลาป่วยล่วงหน้า การเจ็บป่วยไปหาหมอคนงานทุกคนมีใบรับรองแพทย์มายืนยันทุกครั้ง 5.การทำงานทุกวันที่ผ่านมาวันหยุดเสาร์-อาทิตย์หากคนงานมาทำงานก็ไม่ได้ค่าแรงพิเศษเพิ่ม ได้ค่าแรงเพียงแรงเดียว
 
การชุมนุมใช้เวลานานกว่า 5 ชม.ยังไม่ข้อยุติ จนกระทั่ง เวลา 14.00 น. นายอดุลย์ บัวบาน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการได้เรียกประชุมคณะฝ่ายบริหารร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และ เจ้าของบริษัทจัดหาคนงาน 3 บริษัทเพื่อแก้ไขปัญหาและหาข้อตกลง โดยใช้เวลาในการประชุมหารือกันประมาณ 1 ชม. ผลการประชุมมีมติทางบริษัท ไทยฟู๊ดกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยินยอมทำตามข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่แรงงานต่างด้าวยื่นข้อเสนอ โดยให้ บริษัทซัพคอนแท็กทั้ง 3 บริษัทนำเอกสารที่ตกลงกันในที่ประชุมไปให้ดู และบอกกล่าวให้แรงงานได้รับรู้รับทราบ หลังแรงงานต่างด้าวได้รับรู้รับทราบต่างก็เดินทางเข้าทำงานตามปกติ จะมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่จับกลุ่มพูดคุยกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง คอยดูแลความสงบเรียบร้อย เหตุการณ์ทั่วไปเป็นปกติ
 
 
สหภาพ "ทีโอที-กสท" ยื่นนายกฯ ค้านประมูล 4G
 
ช่วงเช้าวันนี้ (3 พ.ย.) เวลา 9.30 น.สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และองค์กรสมาชิกร่วมยื่นหนังสือกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และสหภาพแรงงานบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงาน ก.พ.
 
เพื่อคัดค้านการให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำคลื่น 900 MHz ของทีโอทีไปประมูลในวันที่ 15 ธ.ค.นี้
 
นายอนุชิต ธูปเหลือง ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทีโอที กล่าวว่า คัดค้านการประมูลคลื่น 900 เพราะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ กำหนดให้คลื่น 900 เป็นของทีโอที โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด แต่ถ้าจะนำไปประมูลควรต้องแก้กฎหมายให้ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งพนักงานทีโอทีจะไม่ขัดขวาง
 
แต่ถ้าไม่มีการแก้ไขกฎหมายและเดินหน้าประมูลก็จะยื่นเรื่องต่อศาลปกครองให้ระงับการประมูล และร้องให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองการประมูลชั่วคราว
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ กสทช.ให้ระงับการประมูล
 
นายอนุชิต บอกว่า หากนำคลื่น 900 มาให้ทีโอที ก็จะนำมารวมกับคลื่น 2100 ในแผนจัดการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมั่นใจว่าทีโอทีจะสามารถทำได้ และแผนฟื้นฟูกิจการจะผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ส่วนจะมีการรวมกับ กสท หรือไม่เป็นการพิจารณาของฝ่ายบริหาร
 
 
รร.ดุสิตธานีการโรงแรม เปิดสอนวิชาชีพการโรงแรมระยะสั้น
 
จากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรม พบว่า ประเทศไทยมีความต้องการแรงงานภาคอุตสาหกรรม เพิ่มปีละ 2 แสนคน ซึ่งถือว่าขาดแคลนเพราะมีกำลังการผลิตบุคลากรเพียงปีละ 1,500 คน ทั้งนี้ “โรงเรียนดุสิตธานีการโรงแรม” จึงเปิดสอน วิชาชีพด้านการโรงแรมเพื่อพัฒนาแรงงานคุณภาพในระยะสั้น ระดับวุฒิบัตรและประกาศนียบัตร 3 สาขางาน ครอบคลุมสาขางานในธุรกิจโรงแรม ได้แก่ การให้บริการฝ่ายงานห้องพัก (งานแม่บ้านและงานต้อนรับส่วนหน้า), การให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม และการผลิตอาหารและขนมอบ ซึ่งผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาสามารถทำงานในโรงแรมได้อย่างมืออาชีพ
 
สำหรับน้องๆ เยาวชนที่สนใจเข้าศึกษา สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โรงเรียนดุสิตธานีการโรงแรม CG. โรงเรียนดุสิตธานีการโรงแรม โทร.02-013-9999 , www.dusitthanihotelschool.com 
 
คุณสมบัติของผู้ที่สนใจเข้าศึกษา เพียงสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือ ปวช.จากสถาบันที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ หรือ มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่า มัธยมศึกษาปีที่ 3 สามารถเข้าไปได้ที่ โรงเรียนดุสิตธานีการโรงแรม 
 
 
รมว.คมนาคม สั่ง "การบินไทย-ขสมก.-ร.ฟ.ท." ทำแผนปรับลดสิทธิประโยชน์ผู้บริหารระดับสูง พร้อมทำแผนลดรายจ่ายเสนอนายกฯภายใน 30 วัน
 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณี ครม.ได้พิจารณาเรื่องการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และมีคำสั่งให้กระทรวงคมนาคม พิจารณามาตรการปฏิรูปบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบใน 30 วันว่า กระทรวงคมนาคมกังวลมาก ถึงแผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหาขาดทุน ต้องฟื้นฟู ทั้ง การบินไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ดังนั้นจึงได้สั่งทั้ง 3 หน่วยงาน เร่งทำแผนการปรับลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ รวมถึงสิทธิประโยชน์ของผู้บริหาร ทั้งอดีตถึงปัจจุบัน รายงานกลับมายังกระทรวงคมนาคม ภายในเดือน พ.ย.นี้ ก่อนจะเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามเวลาที่กำหนด 
 
“รัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหา อย่างการบินไทย ต้องฟื้นฟู และพนักงานในองค์กร ต้องทำความเข้าใจ ว่าโครงสร้างการดำเนินงานขององค์กร ไม่สัมพันธ์กับบุคลากร และเนื้องานที่ทำอยู่ จะเห็นว่าตัวองค์กรยังโต ค่าใช้จ่ายระดับบนมีสูง รับเงินเดือนมาก แต่ความรับผิดชอบน้อย และที่ผ่านมา การบินไทยพยายามปรับโครงสร้างฝ่ายบริหารกว่า 77 ตำแหน่ง แต่ต้องดูว่า เมื่อปรับแล้ว ทำไมค่าใช้จ่ายยังสูงอยู่ การปรับทำได้จริง หรือไม่” 
 
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ไปปรับแผนดำเนินงานใหม่ทั้งหมด เพื่อให้องค์กรอยู่ได้จริง และวางแผนถึงอนาคตด้วย หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับองค์กร ก็ต้องมีแผนรองรับ ซึ่งนอกจากการบินไทยแล้ว รัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาขาดทุน เข้าแผนฟื้นฟู ก็ต้องปรับตัวในการทำแผน ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ กลับมายังคมนาคม ภายใน 30 วันเช่นกัน 
 
ด้านนายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน และการบัญชี (ซีเอฟโอ) บริษัท การบินไทย กล่าวว่า การที่บริษัทขาดทุนนั้น เพราะได้รับผลกระทบจาก 2–3 ปัจจัย คือ ผลกระทบจากเหตุระเบิดในพื้นที่ราชประสงค์ ที่ส่งผลให้ช่วงเดือนต.ค.-ก.ย. มีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (โหลดแฟกเตอร์) ลดลง ฉุดภาพรวมรายได้ติดลบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังประสบปัญหายอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และการปรับโครงสร้างงบดุลบริษัทฯ ยังไม่เห็นผลโดยเฉพาะการจัดการสินทรัพย์ 
 
“หากมองว่าเงินเดือนของตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง และผลตอบแทนของบอร์ดสูง ทำให้เป็นผลกระทบกับการขาดทุน คงไม่ใช่สาเหตุทั้งหมด เพราะปัจจุบัน ผลตอบแทนของบอร์ดเรียกได้ว่าเป็นศูนย์ จากการรายงานผลประโยชน์บอร์ดต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้แจงว่า 6 เดือนของปี 58 บอร์ดได้รับผลประโยชน์เป็นศูนย์ ซึ่งหมายความว่า ทั้งสิทธิประโยชน์บัตรโดยสาร หรือสิทธิอื่น ๆ ไม่มีอยู่แล้ว มีเพียงเบี้ยประชุมที่ได้ตามระเบียบทั่วไป ซึ่งไม่ได้เยอะ” 
 
รายงานข่าวแจ้งเพิ่มว่า รายละเอียดค่าตอบแทนบอร์ดการบินไทย และเจ้าหน้าที่บริหาร ตามมติในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 57 เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 57 ได้กำหนดให้ ค่าตอบแทนกรรมการบอร์ด คนละ 50,000 บาทต่อเดือน เบี้ยประชุมคนละ 30,000 บาท แต่ประธานกรรมการได้รับเบี้ยประชุมสูงกว่ากรรมการ 25% และรองประธานกรรมการได้รับเบี้ยประชุมสูงกว่ากรรมการ 12.5% คณะกรรมการ ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการย่อยอื่นๆ ได้อีก และจะได้รับเบี้ยประชุม และค่าตอบแทนอีกคนละ 10,000 บาท 
 
นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบ ให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือน คนละ 30,000 บาท เดือนใดไม่มีประชุม คงให้ได้รับค่าตอบแทนด้วย และคณะกรรมการ ได้รับเงินโบนัสคำนวณ 0.2% ของกำไรสุทธิก่อนผลกำไร ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จากงบการเงินรวม ในวงเงินรวมไม่เกิน 30 ล้านบาท แต่ขณะเดียวกันการบินไทยได้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ด้านบัตรโดยสาร ตามมติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้ว
 
 
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดกว้างให้วิทยาลัยสารพัดช่างทั่วประเทศ สร้างโอกาสเด็กพิเศษ (ออทิสติก) หลังผลการวิจัยย้ำเด็กสามารถเรียนสายอาชีพได้
 
นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ระบุว่าได้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมสุขภาพจิต จัดการเรียนการสอนสายอาชีพให้กับเด็กพิเศษ หรือ เด็กออทิสติก ของวิทยาลัยสารพัดช่าง ซึ่งมี 4 แห่งทั่วประเทศ ให้สอนด้านงานอาชีพกับเด็กเหล่านี้อย่างจริงจัง ซึ่งจะต้องมีความยืดหยุ่นสูง และเป็นการฝึกทักษะการประกอบวิชาชีพ ที่สามารถเลือกเรียนสาขาอาชีพได้หลากหลายตามความสนใจ เพื่อให้เด็กเหล่านี้ลดภาระของผู้ปกครอง และสามารถดูแลตัวเองในสังคมได้ เด็ก ๆ จะเรียนรู้ความสามารถพิเศษอย่างต่อเนื่อง 3 ปี และเด็กพิเศษเหล่านี้เมื่อจบออกไปจะมีงานรองรับทันที และสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ตลอดวัยทำงานนานถึง 45 ปี  
 
ขณะที่ข้อมูลสำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ สพฐ.เปิดเผยว่าในปี 2556 มีจำนวนนักเรียนเด็กพิเศษที่ต้องการเรียนรู้สายอาชีพ จำนวน 9,546 คน  หากเด็กพิเศษเหล่านี้เรียนสายงานอาชีพอย่างจริงจัง จะสามารถสร้างโอกาส และ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการเพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของประชากรกลุ่มนี้ได้มากถึง 60,000 ล้านบาท 
 
 
กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครทดสอบความสามารถภาษาเกาหลีกรณีพิเศษ เพื่อสมัครทำงานสาธารณรัฐเกาหลี วันที่ 12 พ.ย. นี้
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครทดสอบความสามารถภาษาเกาหลีกรณีพิเศษ (Special EPS-TOPIK) เพื่อการสมัครไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลี ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ สำหรับคนหางานที่เคยเดินทางไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลี อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และมีความประสงค์เดินทางกลับเข้าไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอีกครั้งหนึ่ง ในประเภทกิจการอุตสาหกรรมการผลิต เกษตรกรรม ปศุสัตว์ ก่อสร้าง ประมง และบริการ
 
ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้สมัครเป็นคนหางานที่เคยเดินทางไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเดินทางกลับตามกำหนดระยะเวลาการจ้างงาน โดยเป็นผู้ที่เดินทางกลับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 และมีความประสงค์เดินทางกลับเข้าไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีอีกครั้ง เพศชายหรือหญิง อายุ 18 - 39 ปีบริบูรณ์ ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา สุขภาพแข็งแรง ไม่มีประวัติการถูกลงโทษถึงขั้นจำคุก เป็นบุคคลซึ่งไม่ถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ไม่มีประวัติการถูกเนรเทศหรือถูกสั่งให้ออกนอกสาธารณรัฐเกาหลี และไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสมัครด้วยตนเองพร้อมหลักฐานได้ที่สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ อาคารสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 เวลา 09.00 – 15.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0-2245-6716 หรือ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท