Skip to main content
sharethis

การจัดเวทีรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ 11 ปีก่อน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 85 คน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ถูกจัดขึ้นทุกปี แต่ดูเหมือนว่าไม่สามารถทำให้คดีนี้ก้าวหน้าไปกว่าการไต่สวนการตายอีกแล้ว ความไม่เป็นธรรมทางคดีที่เหยื่อในเหตุการณ์นี้ได้รับยังคงถูกพูดถึงอยู่ตลอดเวลา เพราะยังไปไม่ถึงการนำคนผิดทาลงโทษ

แม้ในทางคดีไม่ก้าวหน้า ทว่าในเวทีเสวนาสาธารณะเนื่องในวันครบรอบ 11 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบหัวข้อ "ตากใบ"กับความลักลั่นบนเส้นทางกระบวนการสันติภาพ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี กลับมีคำถามมากมายที่จะทำให้ไปข้างหน้า โดยเฉพาะในท่ามกลางความพยายามในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในชายแดนใต้หรือปาตานี

เป็นการถามตอบระหว่างผู้เข้าร่วมฟังเสวนา กับวิทยากรซึ่งประกอบด้วย นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา ดำเนินรายการโดยนายแวหามะ แวกือจิก ผู้อำนวยการสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน ดังนี้

มะยุ เจ๊ะนะ : เจตจำนงทางการเมืองของคนปาตานีคืออะไร

มะยุ เจ๊ะนะ จากมูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า หลายครั้งเจอคำถามว่าจัดงานรำลึกตากใบเพื่ออะไร ส่วนใหญ่เป็นคำถามจากคนนอกพื้นที่ คนในพื้นที่ก็ตั้งคำถามกลับไปว่าผิดด้วยหรือที่จะรำลึกเหตุการณ์นี้อยู่ตลอดเวลา

ผมมองว่าเหตุการณ์ตากใบส่งผลต่อเรื่องอื่นๆ ที่เราไม่ได้พูดถึง เช่น เกิดเด็กกำพร้า และเหตุการณต่างๆตามมาส่งผลให้เกิดเด็กกำพร้ามากขึ้นทุกวัน รวมถึงกรณีแม่หม้าย ซึ่งมักไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก เป็นต้น

ดังนี้ สิ่งที่ผมจะถามก็คือ 1. เจตจำนงทางการเมืองของคนปาตานีคืออะไร ถึงนำไปสู่การประท้วงไม่ว่าจะเป็นกรณีในปี 2518 กรณีตากใบปี 2547 หรือกรณีที่หน้ามัสยิดกลางปัตตานีปี 2550 และอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

2.โครงสร้างทางการเมืองของรัฐไทยเป็นอย่างไร จึงส่งผลต่อวิธีการจัดการกับประชาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างทารุน เช่น กรณี 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519, พฤษภาทมิฬ 2535, ตากใบ กรือเซะ 2547, เหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 และอาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต เป็นต้น

เกาซัร อาลีมามะ : จะเริ่มสร้างสันติภาพจากจุดเล็กๆได้อย่างไร

เกาซัร อาลีมามะ จากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดยะลา กล่าวว่า ติดใจกับสิ่งที่วิทยากรพูดว่า จะสร้างสันติภาพได้ก็ต้องสร้างความเป็นธรรมในพื้นที่ให้เกิดขึ้นเสียก่อน ขณะที่ก่อนหน้าที่ตนจะมาเป็นอาสาสมัครที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมก็เคยเชื่อว่า ตราบใดที่ความเป็นธรรมยังไม่เกิดขึ้น เราก็ไม่ต้องมาคุยเรื่องสันติภาพ แต่มีพี่ในมูลนิธิเคยบอกว่าอย่าได้คิดเช่นนั้น เราควรคิดอยู่ตลอดว่า เราจะต้องสร้างสันติภาพและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับตัวเองเสียก่อน แล้วจึงค่อยไปสร้างกับคนอื่น

ดังนั้น จึงต้องการถามวิทยากรว่า เราควรเริ่มต้นหรือทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมหรือให้สันติภาพในมุมเล็กๆ เช่นในหมู่บ้านของเรา ไม่ต้องหวังไกลถึงการสร้างสันติภาพให้โลก แต่จะเริ่มจากเลขศูนย์หรือจากที่เรามีควรจะทำเช่นไร?

รุสลัน : รัฐจารีตจะทำให้กระบวนการสันติภาพเดินต่อได้หรือไม่

รุสลัน มะสีละ ชาวบ้านจาก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ตั้งคำถามไปยัง อ.อนุสรณ์ ว่า ที่ผ่านมามีความแตกต่างในการอนุญาตให้มีการจัดเวทีลักษณะนี้ระหว่างที่กรุงเทพกับที่ปาตานี อาจารย์จะอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างไรในช่วงรัฐบาล คสช.?

อีกคำถามคือ ในช่วงที่พื้นที่ชายแดนใต้หรือปาตานีมีกระบวนการสร้างสันติภาพอยู่ คำถามคือรัฐจารีตที่อาจารย์กล่าวถึงจะทำให้กระบวนการสร้างสันติภาพสามารถเดินต่อไปได้หรือไม่ ในขณะที่คนในพื้นที่ต้องการรัฐประชาชาติ

ซาวาวี : จะก้าวให้พ้นเหตุการณ์ตากใบอย่างไร?

ซาวาวี ปิ จากสำนักสื่อวาร์ตานี กล่าวว่า เมื่อ 11 ปีที่แล้ว ตนกำลังเรียนมัธยม ขณะนั้นอยู่บนรถประจำทางกลับจากโรงเรียนแต่ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ เนื่องจากถนนถูกปิดและมีโอกาสเห็นรถของทหารที่ลำเลียงชาวบ้านหลายคัน ทำให้วันนั้นตนต้องละศีลอดข้างทางเพราะถึงเวลาแล้วแต่ยังกลับบ้านไม่ได้ ในช่วงนั้นยังไม่มีสื่อออนไลน์ที่สามารถโพสต์เรื่องได้ทันที จากเหตุการณ์นั้นทำให้ตนเลือกที่จะเป็นนักสื่อสารในวันนี้

กรณีเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 ได้สร้างบรรดานักวิชาการหลายๆ คนในวันนี้ แสดงให้เห็นว่าการชุมนุมสามารถสร้างคนได้ สร้างคนให้เป็นผู้นำก็ได้ ซึ่งเหตุการณ์ตากใบเองก็เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยที่สร้างนักต่อสู้ในวันนี้ เพราะทนเห็นปรากฏการณ์เหล่านั้นไม่ได้ และกลายเป็นวงจรเมื่อวันที่ 25 ตุลามาถึง เราก็จะทำการรำลึก ในขณะที่ประเด็นสำคัญคือการจะสร้างสันติภาพได้เราจะต้องก้าวพ้น แต่การที่เราจะก้าวให้พ้นสิ่งเหล่านั้นได้ คำถามก็คือ เราจะก้าวอย่างไรให้พ้น เพื่อไม่ให้รัฐมากล่าวหาว่าเรามาตอกย้ำเหตุการณ์ครั้งนั้น เพราะความจริงแล้วเราไม่ได้ต้องการตอกย้ำใดๆ แต่เราเพียงมาถอดบทเรียนเท่านั้น

รอมฎอน ปันจอร์ : กระบวนการสันติภาพจะคุยเรื่องตากใบอย่างไร?

รอมฎอน ปันจอร์ จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) กล่าวว่า ประเด็นแรกต้องการแลกเปลี่ยนกับ อ.อนุสรณ์ว่า ตามข้อเท็จจริงแล้วเวทีเสื้อแดงเองก็ใช้เหตุการณ์ตากใบเป็นเครื่องมือเหมือนกัน กล่าวคือ ทั้งเวทีเสื้อแดงและเสื้อเหลืองในรอบหลายปีที่ผ่านมาก็ใช้เหตุการณ์ตากใบพอๆ กัน หรือมีคนถูกด่าอยู่ไม่กี่คน คือ ฝ่ายเสื้อเหลืองจะด่าทักษิณ ในขณะที่ฝ่ายเสื้อแดงจะด่าทหาร แต่อาจารย์ก็พูดถูกตรงที่เหตุการณ์ตากใบกลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ปัญหาคือ เรามีการรำลึกเหตุการณ์ตากใบ 11 ปีในวันนี้ แล้วเราจะเดินต่อไปอย่างไร

ประเด็นที่สองคือ งานรำลึกตากใบสามารถจัดได้ทุกปี แต่การขยับประเด็นค่อนข้างทำได้จำกัด และไม่อาจทราบได้ว่ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพจะนำเรื่องตากใบไปคุยกันบนโต๊ะหรือไม่ คำถามคือ นอกเหนือจากกระบวนการทางกฎหมายแล้ว เราจะทำอย่างไรให้ความจริงหรือความยุติธรรมได้ปรากฏ และมีวิธีการอย่างไร

ขบวนการปลดปล่อยปาตานีอยู่ตรงไหนในเหตุการณ์ตากใบ?

รอมฎอน กล่าวต่อไปว่า สำหรับตนคิดว่า มีสองทางที่จะไป คือ 1. ทางที่จะไปตาบา (ชุมชนบริเวณด่านตากใบ) กล่าวคือ การทำให้เหตุการณ์ตากใบกลายเป็นเรื่องของชนชาติปาตานี 2.ขึ้นไปทางเหนือ กล่าวคือ สถาปนาสิ่งที่เรียกว่าตุลาตากใบให้ชัดขึ้น คือการผนึกกำลังรวมกับฝ่ายประชาธิปไตยในสังคมไทย

ประเด็นสุดท้าย คือ จากที่ฟังมาตลอด 11 ปี ตนรู้สึกว่าขาดตกไปหนึ่งประเด็นที่สำคัญ คือ ตัวแสดงที่สำคัญที่สุดในพื้นที่แห่งนี้อย่างขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานีอยู่ตรงไหนในเหตุการณ์ตากใบ แน่นอนว่ามีข้อถกเถียงอยู่อย่างที่เจ้าหน้าที่ของรัฐอธิบายว่า เหตุการณ์ตากใบถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างเงื่อนไข ซึ่งคำอธิบายในลักษณะนี้ก็เคยปรากฏในเหตุการณ์อื่นๆ แต่คำถามคือ ในช่วงสองสามปีล่าสุดที่ขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้ที่มีพลังในทางการเมืองสูงมันปรากฏชัดขึ้นกว่าปี 47 ที่ไม่มีใครรู้ว่ามีขบวนหรือไม่? หากเรามองย้อนกลับไปจากวันนี้สามารถอธิบายได้หรือไม่ว่าขบวนการอยู่ตรงไหนกันแน่ในวันนั้น?

ตูแวดานียา ตูแวแมแง : ประชาชนต้องการความยุติธรรม

ตูแวดานียา ตูแวแมแง ได้ตอบคำถามว่า เจตจำนงของแต่ละเหตุการณ์ในทางการเมืองในรูปแบบของการชุมนุมเพื่อเสนอข้อเรียกร้องผ่านการรวมตัวกันของคนจำนวนหนึ่ง เรือนพันถึงเรือนแสนคน ถ้าเจตจำนงที่ถูกสะท้อนผ่านกิจกรรมในรูปแบบทางการเมืองมันจะมีความชัดเจนในตัวของมันเอง กล่าวคือ การชุมนุมในปี 2518 ที่มัสยิดกลางปัตตานี กับการชุมนุมในปี 2547 ที่ตากใบ และการชุมนุมในปี 2550 ที่หน้ามัสยิดกลางปัตตานี มีเจตจำนงที่ชัดเจนผ่านข้อเรียกร้อง และทั้งหมดมาจากประเด็นความไม่เป็นธรรม ที่เกิดจากความรู้สึกของพี่น้องประชาชนที่ไม่พอใจกับการสรุปและการตัดสินของรัฐ

เจตจำนงทางการเมือง คือ ประชาชนต้องการความยุติธรรม ความเป็นธรรม แต่ที่น่าสนใจคือเจตจำนงทางการเมืองที่ไม่ได้สะท้อนทางกิจกรรมทางการเมือง กล่าวคือ ที่ไม่ได้ใช้แนวทางในรูปแบบของสันติวิธีหรือที่เป็นกิจกรรมทางอาวุธคืออะไร? ตรงนี้จะขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์และสังเคราะห์ของแต่ละคนไป เนื่องจากไม่มีความชัดเจน ไม่แม้กระทั่งจะทราบได้ว่าใครใช้กิจกรรมทางอาวุธเหล่านั้น แม้จะมีชื่อของขบวนกาต่างๆ แต่ในการขับเคลื่อนกิจกรรมที่ใช้อาวุธนั้น เราจะทราบได้ว่าเป็นใครก็ต่อเมื่อผู้ที่ใช้อาวุธคนนั้นถูกจับตัวได้

แต่ก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเป้าหมายของกิจกรรมทางอาวุธในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ถ้าในบริบทของสามจังหวัดก็คือการได้รับเอกราช หรือต้องการได้ซึ่งอิสรภาพหรืออำนาจ แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดก็คือข้อมูลเชิงวิเคราะห์ยังไม่ได้มาจากฝ่ายที่ใช้กิจกรรมทางอาวุธเอง

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมทางการเมืองกับกิจกรรมทางอาวุธ ขึ้นอยู่กับข้อมูลข้อเท็จจริงว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร หรือมาจากต้นทางเดียวกันหรือไม่? มาจากกลุ่มคนเดียวกันหรือไม่? หากมาจากกลุ่มคนคนเดียวกัน เจตจำนงที่ผ่านกิจกรรมทางการเมืองก็เหมือนกันกับเจตจำนงที่ผ่านกิจกรรมทางอาวุธ หรืออาจไม่เหมือนก็ได้ แต่โดยส่วนตัวแล้วคิดว่ายังสรุปไม่ได้ว่ามาจากต้นสายเดียวกันหรือไม่

พื้นที่การเมืองเปิดโอกาสเกิดสันติภาพมีมากขึ้น

ตูแวดานียา ให้คำตอบต่อไปว่า ประเด็นคำถามที่ว่าขบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยปาตานีอยู่ตรงไหนของเหตุการณ์ตากใบ เป็นคำถามที่ท้าทายทุกภาคส่วน เพราะสถานการณ์ปัจจุบันต้องยอมรับว่ามันเลยจุดที่จะปฏิเสธว่าไม่มีขบวนการอยู่จริง เพราะขบวนการได้ถูกยอมรับอย่างเป็นทางการแล้ว แต่การที่บอกว่าขบวนการเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบหรือไม่นั้น ณ เวลานี้ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ของขบวนการมันยังไม่ปรากฏชัดเจน

หากจะให้วิเคราะห์ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรานิยามขบวนการอย่างไร เรามองขบวนการเกี่ยวข้องกับประชาชนอย่างไร มีความสัมพันธ์ที่เป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่ หรือแยกกันคนละส่วนกัน และหากมองไปยังขบวนการที่รัฐให้น้ำหนักมากที่สุดซึ่งก็คือ BRN ที่มีคำว่าปฏิวัติอยู่ในชื่อ ซึ่งแน่นอนว่าต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปสู่สันติภาพ ในมุมของ BRN คือต้องมีสงครามประชาชน นี่คือสูตรตายตัวสู่แนวทางการปฏิวัติ แต่จะมีประชาชนมากน้อยเพียงใดที่สนับสนุนยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับทุกคน โดยเฉพาะคนที่มีความตื่นตัวที่กำลังตั้งคำถามว่า ปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่

ตนคิดว่าปัญหาตากใบมันเร็วเกินไปหากต้องการที่จะสรุปว่าเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการ แต่สำหรับตนคิดว่าวันนี้เป็นโอกาสที่ดีมากที่มีคำถามว่า เหตุการณ์ตากใบกับขบวนการเกี่ยวข้องกันแค่ไหนออกไปสู่สาธารณะ เพราะในพื้นที่ที่โครงสร้างของรัฐมีข้อจำกัดอะไรบางอย่าง หากต้องการการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กว้างและการยอมรับในสิทธิของประชาชน เป็นภาระหน้าที่ของประชาชนเองที่จะต้องขยับขยายพื้นที่ในทางการเมืองของตัวเอง

“เหล่านี้คือข้อท้าทายต่อการมีบทบาทร่วมของภาคประชาชนในการที่ช่วยกันผลักดันให้เกิดสันติภาพ โดยเริ่มจากกรณีเหตุการณ์ตากใบแล้วค่อยๆ ขยับขยายพื้นที่ทางการเมือง ยิ่งพื้นที่ทางการเมืองเปิดกว้างมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิดสันติภาพที่ตรงกับความต้องการของประชาชนย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น”

อนุสรณ์ อุณโณ : รัฐส่วนใหญ่ในโลกไม่ได้ปกครองแบบไทย

อนุสรณ์ ให้คำตอบว่า โครงสร้างรัฐไทยหากเทียบกับโครงสร้างที่มีอยู่ในปัจจุบันที่เป็นรัฐในลักษณะที่เรียกว่ารัฐเดี่ยว กล่าวคือ การมีอำนาจเหนือดินแดนที่ไม่มีการแยกย่อยซึ่งจะต่างกับรัฐอื่นๆ ที่น่าสนใจคือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแค่สองประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยว คือ ประเทศไทยและประเทศกัมพูชา

ความน่าสนใจก็คือ สาเหตุที่รัฐส่วนใหญ่ในโลกนี้ที่ใช้รูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่รูปแบบรัฐเดี่ยว เพราะพบว่าเป็นรูปแบบของการจัดระเบียบองค์กรทางการเมืองที่สามารถตอบสนองความแตกต่างหลากหลายของผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องความเชื่อ ชาติพันธ์ ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือว่าระบบเศรษฐกิจ และอื่นๆ

ดังนั้น ในโลกนี้จะมีรัฐเล็กหรือรัฐน้อยเต็มไปหมดภายใต้ร่มเงาของรัฐบาลกลาง แต่ประเทศไทยไม่มีในลักษณะนั้น แต่เดิมทีในช่วงที่ ร.5 สร้างรัฐสมัยใหม่ขึ้นมา ในลักษณะผนึกรวมที่หมายถึง ต่อไปนี้ไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ในเขตแดนที่เพิ่งขีดเส้นใหม่ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร เชื้อชาติไหน ขอให้สามารถที่จะพูดภาษาไทยได้ และเป็นคนที่จงรักภักดี ก็นับว่าเป็นคนไทยทั้งหมด

แต่พอหลังจาก ร.6 เป็นต้นมาถูกทำให้กลับหัวกลับหาง เพราะท่านเป็นนักชาตินิยมตัวยง ถัดมาแนวคิดตรงนี้ถูกขยายแม้แต่ในคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่ต้องการจะสร้างมหาอาณาจักรไทย และถึงจุดขีดสุดคือช่วงของจอมพล ป. ที่พยายามจะกลืนกลายทุกชาติพันธ์ให้กลายเป็นคนไทยเพียงอย่างเดียวซึ่งกระทบคนมลายูเป็นอย่างมาก

แม้ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะยอมรับในความแตกต่างมากขึ้น แต่ผลพวงที่สั่งสมมาอย่างยาวนานมันยังฝังอยู่ในใจ เพราะฉะนั้นในปัจจุบันพบว่า นอกเหนือจากประเทศไทยที่มีรัฐเดี่ยวที่ไม่สามารถจะตอบสนองความแตกต่างได้อย่างมีประสิทธิภาพได้แล้วนั้น ก็พบว่ามีเชื้อหน่ออ่อนของชาตินิยมเชิงชาติพันธ์บวกกับศาสนา มันยังคงติดอยู่ จึงทำให้ประสบความยากลำบากในการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มคนมลายู

ทั้งตาบาและตุลาตากใบไปด้วยกันได้

อนุสรณ์ ให้คำตอบอีกว่า ประเด็นถัดมา คือ ในกรณีของปัจจุบันที่ถามว่าต้องเลือกหรือไม่ระหว่างตาบากับตากใบ ตนคิดว่า รัฐประชาชาติที่บริหารด้วยอำนาจอธิปไตยแบบยืดหยุ่นและแยกย่อยไม่จำเป็นจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ไปด้วยกันทั้งสองอย่างได้ เพราะจะมีที่ทางให้กับคนมลายูอยู่ตรงนั้น เนื่องจากการบริหารแบบนี้ไม่ได้กลัวว่าคนที่ต่างจากเขาจะเป็นอันตรายกับเขา

อีกประเด็นที่ถามว่าทำไมที่กรุงเทพฯ จัดกิจกรรมในลักษณะนี้ไม่ได้แต่ที่นี่จัดได้ ประเด็นก็คือ คสช. ที่เข้ามาในตอนนี้มีภารกิจในหลายระยะ ระยะแรกคือระงับยับยั้งกลุ่มที่เป็นอันตรายต่อการเมืองเฉพาะหน้า เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นอันตรายหรือเป็นภัยคุกคามเฉพาะหน้า จึงถูกระงับไว้ก่อน ในขณะที่กรณีของสามจังหวัด คู่ปะทะใหญ่กว่าและไม่ใช่เขาที่เป็นคู่กรณี เขาจึงเปิดโอกาสให้เนื่องจากเป็นปัญหาระยะยาว แต่โจทย์ของเขาเป็นโจทย์เฉพาะหน้าหรือหมายถึงความขัดแย้งของสองขั้วอำนาจทางการเมือง

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ความขัดแย้งที่แหลมคมมันเคลื่อนตัวไปจากการปะทะระหว่างกลุ่มข้างนอกกับข้างใน มันกลายเป็นการกระจุกตัวอยู่ข้างในที่เขายังจัดการเองไม่เสร็จ กล่าวคือ มันมีระยะและจังหวะอยู่ และมีการจัดลำดับความสำคัญของคนที่เข้าไปอยู่ในอำนาจรัฐว่าจะจัดการกับปัญหาไหนก่อน อะไรที่ใกล้ตัวและคุกคามมากที่สุดก็จะจัดการสิ่งนั้นก่อน

รัฐจารีตไปด้วยกันไม่ได้กับกระบวนการสันติภาพ

อนุสรณ์ ให้คำตอบต่อไปว่า ประเด็นรัฐจารีตกับกระบวนการสันติภาพคล้ายๆ กับว่ามันจะไปกันไม่ได้ เพราะเส้นทางสุดท้ายแล้วต้องไปสู่รัฐประชาชาติที่บริหารอำนาจอธิปไตยแบบยืดหยุ่นและแยกย่อย คำนึงถึงความแตกต่างของพื้นที่ ผู้คนที่มาอยู่กันภายใต้รัฐที่ขีดเส้นไว้ ซึ่งเป็นเส้นทางที่รัฐจำนวนมากในโลกนี้เขาเดินกัน แต่ปัญหาคือ หากเราเลือกที่จะเดินในเส้นทางนั้น คนที่อยู่ขั้วอำนาจเก่าหรือคนที่อยู่ในเครือข่ายอำนาจเดิมจะเสียอำนาจและผลประโยชน์ไป จึงทำให้เห็นว่าทำไมถึงทำได้ยาก

ประเด็นที่ตัวอย่างเฉพาะ กปปส. เพราะต้องการที่จะขมวดในสิ่งที่พูดไปสู่รัฐบาล คสช. แต่เอาเข้าจริงแล้วก็สามารถพูดได้อีกว่า ตอนนี้ที่มีกลุ่มทางการเมืองเกิดขึ้น เรามีคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกัน มีจินตนาการทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน ปัญหาคือเราจะไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเหล่านั้นอย่างไร เราจะไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่จะพาเราไปสู่รัฐจารีต หรือจะไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่เรียกร้องความเสมอภาพ ซึ่งเราเองก็ต้องดูว่าแต่ละกลุ่มชูประเด็นอะไร ไม่ใช่ไปดูที่ตัวบุคคลในกลุ่ม ตรงนี้เป็นโจทย์ที่เราสามารถเลือกได้

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ : ทุกคนกำลังทำงานเพื่อสันติภาพ

อับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ให้คำตอบว่า ประเด็นคำถามที่ว่าความยุติธรรมของแต่ละคนอยู่ตรงไหน จะพบว่าแต่ละคนมองไม่เท่ากัน มองไม่เหมือนกัน แต่หากถามว่าต้องการสันติภาพหรือสันติสุขหรือไม่ เชื่อว่าทุกคนกำลังทำงานด้านสันติภาพ เพียงแต่ตัวเขาไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นนักสันติภาพ เราเรียกร้องผู้คนให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมซึ่งก็เป็นกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ก็เพื่อความมั่นคงและความสงบสุขของชุมชน

เมื่อถามว่าจะทำงานกับชุมชนอย่างไร? พื้นที่แห่งถูกกดทับมาอย่างยาวนาน รัฐสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวมาโดยตลอดตั้งแต่เหตุการณ์ฮัจยีสุหลงมาจนถึงปัจจุบัน พอทำงานทางด้านกฎหมาย มาพบว่าชาวบ้านไม่เข้าใจกฎหมายเพราะกฎหมายเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก รัฐผูกขาดว่าตนเองเป็นผู้ที่ให้ความยุติธรรมได้ฝ่ายเดียว

ประเด็นคือ เราจะสร้างกลไกในพื้นที่อย่างไร เช่น เมื่อรู้ว่ามีการซ้อมทรมานก็เข้าไปให้ความช่วยเหลือในทันที เราจะทำได้หรือไม่? 11 ปีที่ผ่านมา ตนยอมรับว่ายังอ่อนแอ เพราะยังทำไม่ได้ จะทำได้ทุกคนจะต้องช่วยกัน วันนี้คณะพุดคุยเพื่อสันติสุขเสนอประเด็นความยุติธรรม ที่ความเป็นจริงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้อยู่แล้ว

คนในพื้นที่คือโจทย์ที่สำคัญที่สุดในการสร้างสันติภาพ

อับดุลกอฮาร์ ให้คำตอบต่อไปว่า เมื่อพูดถึงประเด็นตากใบ ขอพูดประเด็นเดียวว่า กลไกของรัฐจะทำอย่างไรที่จะนำตัวเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดมาอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน ใช้กฎหมายเดียวกันอย่างเท่าเทียมกัน และให้กลายเป็นวาระของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่วาระของคนที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย เพราะพวกเขาอาจไม่เข้าใจบริบทของจังหวัดชายแดนใต้แล้วก็เป็นได้

กลไกในการสร้างความยุติธรรมในพื้นที่ที่มีเจตนาบริสุทธิ์จริงๆ ไม่มีการแบ่งฝ่ายหรือแบ่งพวก เพื่อนคนในพื้นที่แห่งนี้ควรที่จะเกิดขึ้นได้แล้ว และองค์กรเอกชนที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ก็ควรได้รับแรงสนับสนุนจากชุมชน และบางครั้งเมื่อเราลงไปพัฒนาชุมชนก็ถูกมองว่าเป็นปีกซ้ายของขบวนการ หากยังเป็นเช่นนี้ คำถามคือ เราจะเดินต่อไปอย่างไร หรือเมื่อเกิดเหตุการณ์ฝ่ายขบวนการก็ไม่เคยยอมรับว่าฝ่ายตนเป็นผู้กระทำ ดังนั้นควรที่จะต้องมีกลไกในการตรวจสอบความจริง

“การจะเปลี่ยนความคิดหรือเปลี่ยนวัฒนธรรมมันอาจจะต้องใช้เวลานาน แต่จะต้องเกิดจากความพยายามของคนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน  คนในพื้นที่คือโจทย์ที่สำคัญที่สุดในการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net