Skip to main content
sharethis

นักวิชาการพุทธศาสนาไม่หนุนให้พุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ชี้ขัดหลักประชาธิปไตยเรื่องความเสมอภาค มองกระแสกลัวมุสลิมถูกสร้างขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง ขณะที่มุสลิมก็กลัววัฒนธรรมตะวันตก ระบุหากแต่ละศาสนาขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ก็จะเป็นปัญหา

ช่วงวันที่ 4-5 พ.ย. ที่ผ่านมา Thaivoicemedia ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการพุทธศาสนาและปรัชญา โดยแบ่งเป็น 3 ตอน ต่อกรณีพระสงฆ์บางรูปได้เผยแพร่แนวคิดการติดอาวุธให้กับชาวพุทธและพระสงฆ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อต่อสู้แบบตาต่อตาฟันต่อฟันกับผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งวิเคราะห์โรคกลัวมุสลิม และประเด็นการเสนอให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

สุรพศ มองว่า เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะจะสร้างความหวาดระแวงให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และดูเหมือนกระแสนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการรณรงค์ที่จะให้ พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งคณะสงฆ์และจุฬาราชมนตรี จะต้องออกมาหยุดยั้งเรื่องนี้ก่อนที่จะบานปลาย ที่น่าแปลกใจคือ บุคลากรในมหาวิทยาลัยสงฆ์เองทั้ง อาจารย์ และพระ ควรจะเป็นแกนหลักที่จะหยุดยั้งเรื่องนี้ แต่กลับดูเหมือนจะเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ด้วย อีกส่วนหนึ่งก็น่าจะได้รับอิทธิพลจากพระชาวพม่าคือ พระวีระธุท ที่กำลังสร้างความเชื่อในหมู่ชาวพุทธพม่า ว่า มุสลิม กำลังเป็นภัยคุกคามต่อพุทธศาสนา แม้จะเกิดขึ้นได้ยากในสังคมไทย แต่หากทุกฝ่ายนิ่งเฉยก็มีโอกาสที่แนวคิดนี้จะแพร่ขยายในสังคมไทย แต่อย่างไรก็ตามผู้นำทั้งสองศาสนา ต้องออกมาทำความเข้าใจ เอาหลักหรือแก่นแท้ของทั้งสองศาสนาในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มาสร้างความเข้าใจว่าควรจะอยู่ร่วมกันอย่างไร และสุดท้ายทั้งสองศาสนาก็ต้องอยู่ภายใต้หลักการประชาธิปไตย อย่างน้อยต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชนให้ได้ก่อน ถึงจะนำหลักการศาสนามาเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในสังคมสมัยใหม่ได้อย่างแท้จริง

ไม่เห็นด้วยให้พุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ชี้ขัดหลักประชาธิปไตย

ต่อกรณีความเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ไทยบางกลุ่มที่จะให้กำหนด พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในการร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ สุรพศ มองว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการขัดกับหลักการพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตย คือความเสมอภาคทางศาสนา รัฐบาลประชาธิปไตยมีหน้าที่รักษาความเสมอภาคในการนับถือศาสนา ส่วนจะกระทบกับความมั่นคงหรือไม่ เป็นสิ่งที่รัฐกำหนดขึ้น ซึ่งไม่ใช่ เพราะตอนนี้ พุทธศาสนา เข้ามาลุกล้ำและชี้นำทางการเมืองมากเกินไป และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย และการรณรงค์ให้ พุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ พร้อม ๆ ไปกับการสร้างกระแสมุสลิมเป็นภัยคุกคามต่อ­ความมั่นคงของพุทธศาสนาด้วยแล้ว เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก ทั้งฝ่ายคณะสงฆ์ และสำนักจุฬาราชมนตรี จะต้องรีบออกมาชี้แจง ทำความเข้าใจในเรื่องนี้

แก้โรคกลัวมุสลิม แนะทุกศาสนาต้องยึดคำสอนบนหลัก ‘สิทธิมนุษยชน’

กรณีการสร้างกระแสความเกลียดชังมุสลิมในหลายประเทศทั่วโลกขณะนี้ สุรพศ กล่าวว่า กระแสความกลัวมุสลิม ถูกสร้างขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง ขณะที่คนมุสลิมก็กลัวการถูกคุกคามวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้ดูเหมือน โลกเสรีนิยมประชาธิปไตย อาจจะเข้ากันไม่ได้กับวิถีชีวิตมุสลิม เรื่องนี้ ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย ที่อยู่ร่วมกันหลายศาสนา จะต้องส่งเสริมให้ทุกศาสนา พัฒนาระดับความเชื่อและวัฒนธรรมทางศาสนา โดยเคารพหลักสิทธิมนุษยชน ดึงคำสอนของแต่ละศาสนามาใช้เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขให้ได้ เพราะหากแต่ละศาสนามีคำสอนหรือความเชื่อขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ก็จะเป็นปัญหาสำหรับประเทศนั้นๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net