พรรคฝ่ายค้านปราศรัยย่อยโค้งสุดท้าย - ออง ซาน ซูจี หวัง "อยู่เหนือ" ประธานาธิบดี

ประมวลภาพพรรคฝ่ายค้าน "เอ็นแอลดี" ปราศรัยย่อยที่สถานีรถไฟย่างกุ้ง ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง 8 พ.ย. ขณะที่ 'ออง ซาน ซูจี' หวังชนะให้ได้ที่นั่งให้มาก ตั้งรัฐบาลแห่งชาติให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และจะขอ "อยู่เหนือ" ประธานาธิบดี  ขณะเดียวกันยังเลี่ยงตอบปมล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา ยกภาษิตพม่า "ทำเรื่องใหญ่เป็นเรื่องเล็ก ทำเรื่องเล็กให้หายไป"

 

เมื่อคืนวานนี้ (5 พ.ย.) ผู้สนับสนุนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ร่วมฟังการปราศรัยหาเสียงย่อยที่ลานตรงข้ามสถานีรถไฟย่างกุ้ง โดยเป็นการจัดปราศรัยโดยปีกเยาวชนของพรรค และมีการบรรเลงดนตรี โดยกิจกรรมที่เริ่มตั้งแต่ช่วงหัวค่ำสิ้นสุดในเวลาประมาณ 24.00 น.

ทั้งนี้พม่าอยู่ในช่วงการหาเสียงโค้งสุดท้าย จนถึงวันที่ 6 พ.ย. นี้ และจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 พ.ย. นี้

 

ออง ซาน ซูจี หวังอยู่เหนือประธานาธิบดี - ขอสื่ออย่าถามเรื่องโรฮิงญา

ขณะเดียวกันในการแถลงข่าวก่อนวันเลือกตั้งวานนี้ (5 พ.ย.) ที่บ้านพักของออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน และประธานพรรคเอ็นแอลดี ตอนหนึ่งสำนักข่าวอิระวดี รายงานว่า ออง ซาน ซูจี กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะซ้ำรอยแบบที่เคยเกิดในอดีต ที่กองทัพไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2533 ทั้งนี้มีคะแนนการเลือกตั้งล่วงหน้าจำนวนมากอย่างผิดปกติในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2553 โดยที่ในเวลานั้นทุกคนต่างรู้ดีถึงความผิดปกติ แต่ในการเลือกตั้ง 8 พ.ย. 2558 นี้ ถ้ามีเรื่องผิดปกติ คนจำนวนมากพร้อมที่จะรายงานความผิดปกตินั้น

"ผู้คนกล้าหาญขึ้นมากกว่าในอดีต นี่เป็นเหตุผลที่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2533 (ที่กองทัพไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง) จะซ้ำรอยอีก สิ่งที่สำคัญก็คือเสถียรภาพก่อนวันเลือกตั้ง และการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพหากมีการทุจริตเกิดขึ้น"

กรณีที่มีผู้แสดงความกังวลต่อการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญามุสลิม ที่บางส่วนเชื่อว่ากำลังจะนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญานั้น ออง ซาน ซูจี ตอบว่า อย่าเพิ่งกล่าวถึงปัญหาในประเทศนี้อย่างเกินเลย สำหรับผู้ประสงค์ดีต่อประเทศแห่งนี้ควรนึกถึงสุภาษิตพม่าที่ว่า "ทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ทำเรื่องเล็กให้หายไป"

"สิ่งนี้ไม่ควรมาเป็นคำถามในการสร้างปัญหาเล็ก ให้เป็นปัญหาใหญ่ และปัญหาใหญ่ให้กลายเป็นเรื่องที่จัดการไม่ได้ ดิฉันไม่ได้หมายความว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเล็ก แต่ขอสัญญากับทุกคนว่าผู้ใดที่อาศัยอยู่ในประเทศแห่งนี้ จะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมตามกฎหมายและบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชน"

โดยที่ก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนต่างรายงานว่าทั้งพรรครัฐบาลยูเอสดีพี และพรรคฝ่ายค้านเอ็นแอลดี ตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งที่เป็นมุสลิมลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะเดียวกันเมื่อเดือนก่อนฉ่วย หม่อง อดีต ส.ส. พรรครัฐบาลชาวโรฮิงญา ได้แถลงข่าวผ่านระบบสนทนาทางไกลมาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ว่าเขาถูกพรรครัฐบาลตัดสิทธิลงสมัครเช่นกัน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ทั้งนี้ออง ซาน ซูจี ตอบเรื่องเงื่อนไขที่พรรคเอ็นแอลดีจะชนะว่า เราไม่ต้องการที่จะตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ถ้าพรรคเอ็นแอลดีชนะท่วมท้น เช่น เราชนะได้ 100% ของที่นั่ง เราก็อยากสร้างรัฐบาลปรองดองแห่งชาติเพื่อสร้างแบบอย่างที่ดีให้กับประเทศของเรา การเลือกตั้งไม่ควรเป็นเกมชนิดได้-เสีย (zero-sum game) ที่ผู้ชนะได้ทุกอย่างและผู้แพ้เสียทุกอย่าง สิ่งนี้ไม่ควรเรียกว่าประชาธิปไตย

ส่วนคำถามเรื่องรูปแบบการนำของออง ซาน ซูจี หากพรรคเอ็นแอลดีพร้อมที่จะจัดตั้งรัฐบาล ออง ซาน ซูจี กล่าวว่า ความเป็นจริงที่ดิฉันถูกวิจารณ์คือดิฉันนี่เป็นนักการเมืองเสียจริง แต่ดิฉันก็ไม่เคยได้ยินว่านักการเมืองคนไหนไม่เคยถูกวิจารณ์ ในข้อเท็จจริงก็คือไม่มีใครในโลกไม่ถูกวิจารณ์ โดยเฉพาะถ้าเขาและเธอเป็นบุคคลสาธารณะ

"และพรรคเอ็นแอลดี แน่นอน! เรามีความสามารถพอที่จะตั้งรัฐบาลที่ดีได้ ดิฉันมักถูกถามว่าพวกเรามีความสามารถจะบริหารรัฐบาลที่ดีได้หรือ ดิฉันว่าไม่น่าจะแย่ไปกว่า (รัฐบาล) ที่เรามีนะ"

ส่วนเรื่องที่พรรคเอ็นแอดีไม่ส่งผู้สมัครที่มาจากชุมชนมุสลิม และนักศึกษารุ่น '88 (นักศึกษาสมัยลุกฮือปี พ.ศ. 2531) ออง ซาน ซูจีตอบว่า เมื่อการเลือกตั้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หรือ พ.ศ. 2533 ก็เคยมีผู้สมัครชาวมุสลิม แต่ในปีนี้เราก็เคยมีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นชาวมุสลิม แต่เขาคุณสมบัติไม่ผ่าน ทั้งนี้ออง ซาน ซูจี อ้างว่าเป็นเรื่องปกติที่พรรคจะเลือกผู้สมัครที่มีฐานเสียงสนับสนุนในเขตเลือกตั้ง ส่วนเรื่องที่ไม่มีผู้สมัครที่เป็นนักศึกษายุค '88 นั้น ออง ซาน ซูจีบอกว่า พรรคก็คำนึงถึงนักศึกษารุ่น '88 แต่พรรคก็ปฏิเสธคุณสมบัติผู้สมัครไป 3,000 คน โดยออง ซาน ซูจีกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจ ที่พรรคเอ็นแอลดีเองก็ปฏิเสธที่จะรับผู้สมัครเลือกตั้งที่เพิ่งย้ายมาจากพรรคอื่นมาลงพรรคเอ็นแอลดีได้ไม่นาน

ส่วนคำถามที่ว่าออง ซาน ซูจีไม่มีคุณสมบัติเป็นประธานาธิบดี และในรัฐธรรมนูญพม่าก็ไม่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ออง ซาน ซูจี บอกว่า "ใครบอกว่าดิฉันจะไปเป็นนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าประธานาธิบดี ดิฉันกล่าวว่าดิฉันจะอยู่เหนือประธานาธิบดี" ทั้งนี้มีผู้ถามว่า "ทำอย่างไร" ออง ซาน ซูจี ตอบว่า "ดิฉันมีแผนก็แล้วกัน"

ในการตอบคำถามสื่อมวลชนหลังจากนั้น ออง ซาน ซูจี กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติอะไรเกี่ยวกับเรื่อง "อยู่เหนือประธานาธิบดี"

ส่วนเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งนั้น ออง ซาน ซูจี กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าการทุจริตนั้นหนักหนาเพียงไหน และตอนนี้ไม่อยากคาดการณ์ ขอให้ทุกฝ่ายเฝ้ารอและจับตา "เราต้องการสร้างสถานการณ์ที่ดีที่สุด เราหวังให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุด และเตรียมรับผลร้ายที่สุด และแม้ว่าผลนั้นจะเป็นผลร้ายที่สุด ก็หวังว่าปฏิกิริยาจากสาธารณะและโลกจะเป็นสิ่งที่ช่วยเหลือดีที่สุด"

โดยออง ซาน ซูจี กล่าวว่า ถ้ามีการทุจริตเลือกตั้ง ก็ขึ้นอยู่กับประชาคมนานาชาติจะช่วยเปิดโปงและประณามให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2551 นั้น ออง ซาน ซูจี กล่าวว่า ไม่มีมาตราไหนในรัฐธรรมนูญที่บอกว่ารัฐธรรมนูญนี้อยู่ถาวร แม้แต่รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ก็มีการแก้ไขมาแล้ว แต่การแก้ไขก็ทำได้ยาก แต่ก็ไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นอุปสรรค โดยออง ซาน ซูจีหวังว่าถ้าได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนเพียงพอ ก็คิดว่าไม่มีสิ่งใดที่จะไม่สามารถเอาชนะ "ปัญหาเล็กๆ" นี้ได้ อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท