Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ตูแวดานียา ตูแวแมแง ผอ.สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา ผุดโครงการ “Kampung Damai=ชุมชนสันติธรรม” เปิดพื้นที่ทางการเมืองระดับชุมชนชายแดนใต้/ปาตานีทั้งชุมชนพุทธ-มุสลิม ดึงเจตจำนงประชาชนสู่การพูดคุยสันติภาพ ย้ำต้องเชื่อมั่นพลังชุมชนเชิงลึกสร้างสันติภาพได้

ตูแวดานียา ตูแวแมแง 

ปัจจุบันจังหวัดชาแดนภาคใต้ หรือ ปาตานี มีองค์กรภาคประชาสังคมเกิดขึ้นหลายองค์กร โดยเฉพาะที่ขับเคลื่อนงานด้านสันติภาพในพื้นที่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง หนึ่งในองค์กรเหล่านั้น คือ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา หรือที่รู้จักกันในนาม LEMPAR (Lembaga Patani Raya untuk kedamaian dan pembangunan)

ปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา อยู่ภายใต้การนำของนายตูแวดานียา ตูแวแมแง ในฐานะผู้อำนวยการสำนัก ขณะนี้กำลังดำเนินโครงการจัดตั้งเครือข่าย Kampong Damai ศูนย์การเรียนรู้วิชาการสันติภาพชุมชน หรือ “ชุมชนสันติธรรม”

Kampong damai ชุมชนสันติธรรม

ตูแวดานียา บอกว่า โครงการนี้มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า เครือข่าย “kampong Damai” ซึ่งเขาให้ความหมายในภาษาไทยว่า “ชุมชนสันติธรรม”

เขาอธิบายว่า เหตุที่ใช้คำว่าสันติธรรม แทนที่จะเป็นคำว่าสันติภาพหรือสันติสุข เนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบัน คำว่า ทั้งสองคำนี้กลายเป็นวาทกรรมที่มีปัญหามาก เพราะหากใช้คำว่าสันติภาพก็ถูกมองจากฝ่ายความมั่นคงของรัฐว่าเป็นผู้สนับสนุนหรือเอียงข้างฝ่ายขบวนการ หากใช้คำว่าสันติสุขจะถูกมองว่าสนับสนุนหรือเอียงข้างให้ฝ่ายรัฐ จึงใช้คำใหม่ว่า “ชุมชนสันติธรรม”

คำว่า “สันติธรรม” ประกอบด้วยคำสองคำ คือ สันติ และ ธรรม โดยคำว่า ธรรมในที่นี้ หมายถึง ความยุติธรรม เพราะในพื้นที่มีการกระทบกระทั่งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งมีเรื่องที่ไม่มีความยุติธรรมเยอะมาก

คำว่า ธรรมในอีกความหมายหนึ่ง มาจากคำว่า ธรรมะ แปลว่า ศาสนา หรือที่พึ่งทางใจ เนื่องจากโครงการพยายามที่จะบูรณาการระหว่างความยุติธรรมกับศาสนา

ส่วนคำว่า สันติ คือบริบทชุมชนตามโครงการ Kampong Damai ที่ต้องการเปิดพื้นที่ทางการเมืองด้วยการให้มีพื้นที่เรียนรู้เรื่องการสร้างสันติภาพ/สันติสุข โดยชาวบ้านเป็นคนขับเคลื่อนเองในระดับชุมชน มีการใช้ชุดความรู้เพื่อเปิดพื้นที่ให้มีองค์กรในระดับชุมชน ซึ่งองค์กรเหล่านี้จะเป็นการองค์กรทางวิชาการและบริหารโดยคนในชุมชนเอง

คนในชุมชนในที่นี้หมายถึง คนที่มาจากโครงสร้าง 4 เสาหลัก คือ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายศาสนา ฝ่ายบริหารและผู้นำตามธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูสอนในโรงเรียนตาดีกา รวมถึงกลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี เป็นต้น

หลักคิดคือ ต้องเชื่อมั่นในพลังชุมชน

ตูแวดานียา อธิบายต่อไปว่า หลักคิดโครงการ Kampong Damai ประกอบด้วย

1.เรามีความเชื่อมั่นว่าพลังของชุมชนในเชิงลึกว่าเป็นรากฐานที่มีความสำคัญในการสร้างสันติภาพในระยะยาวได้ เป็นหลักประกันที่จะเกิดสันติภาพในอนาคตได้ เรามีความคิดว่า สันติภาพต้องมาจากเจตจำนงของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

2.เป็นการสร้างพื้นที่ทางการเมือง ผ่านการจัดตั้งเครือข่าย Kampong Damai คือเปิดพื้นที่ทางการเมืองระดับชุมชน โดยมีกระบวนการคือ ผู้ก่อตั้งสามารถเข้าถึงในชุมชนระดับลึกได้ โดยไม่เกิดแรงต้านและไม่เพิ่มปัญหาต่อชุมชน เพราะบางแห่งโครงสร้าง 4 เสาหลักในชุมชนเองก็มีความขัดแย้งอยู่แล้ว

ดังนั้นเราจึงหาเครื่องมือตัวใหม่เข้าไปใช้ในชุมชน พยายามจัดโครงสร้างขึ้นมาใหม่เป็นรูปแบบองค์กรในชุมชนและชาวบ้านสนับสนุน โดยชาวบ้านไม่รู้สึกหวาดระแวง ไม่รู้สึกว่ามีวาระซ่อนเร้นจากฝ่ายขบวนการหรือฝ่ายรัฐ หรือจากองค์กรพัฒนาเอกชนเอง

ดังนั้นในระยะแรกการจัดตั้งเครือข่าย Kampong Damai มีกิจกรรมหลักๆ เป็นงานความรู้เป็นหลักซึ่งเป็นหลักสูตรเฉพาะชุมชน โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับสันติภาพในระดับชุมชน เพื่อให้ 4 เสาหลักและชาวบ้านสามารถมองเห็นว่าอนาคตของชุมชนว่าจะเป็นอย่างไร เพื่อก้าวข้ามปัญหาความมั่นคง ปัญหายาเสพติด ปัญหาอบายมุขและการขาดความรู้เรื่องสถานการณ์ปัจจุบันของชาวบ้าน

“เราจึงใช้กิจกรรมที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสันติภาพ/สันติสุขเป็นหลัก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชาวบ้านให้มากที่สุด”

ศูนย์กลางชุมชนและพื้นที่ทางการเมือง

ตูแวดานียา อธิบายอีกว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่สามารถที่จะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ในกรณีที่มีการปิดล้อม ตรวจค้น หรือจับกุมผู้ต้องสงสัยในชุมชน เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและไม่ทำให้มีการละเมิดสิทธิได้โดยตรง มีเพียงผู้นำ 4 เสาหลักเท่านั้นที่พอจะพูดคุยหรืออธิบายกับเจ้าหน้าที่ได้ หรือเจ้าหน้าที่อาจจะไปกดดันผู้นำศาสนาให้รับผิดชอบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งที่ในแง่มิติความมั่นคงนั้น ผู้นำ 4 เสาหลักต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะชาวบ้านไม่มีพื้นที่ทางการเมืองที่เข้มแข็งเพียงพอ ที่ทุกคนสามารถมาออกแบบร่วมกันได้ ดังนั้น เครือข่าย Kampong Damai จะเป็นศูนย์รวมของทุกฝ่ายในชุมชนทั้งชาวบ้านและผู้นำ 4 เสาหลัก ที่เจ้าหน้าที่รัฐสามารถติดต่อประสานงานได้ทันที รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) หน่วยงานรัฐ นักวิชาการหรือหน่วยง่านอื่นๆที่จะลงพื้นที่ชุมชน

ตัวอย่างเช่น หากมีเจ้าหน้าที่มาปิดล้อม ตรวจค้นในชุมชน ก็สามารถประสานงานที่เครือข่าย Kampong Damai ได้เลย ไม่ต้องไปกดดันผู้นำศาสนาอีกต่อไป ดังนั้นการมีเครือข่าย Kampong Damai จะทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีพื้นที่ทางการเมืองที่เข้มแข็งโดยปริยาย

4ชุมชนนำร่องทั้งพุทธ-มุสลิม

ตูแวดานียา บอกว่า ชุมชนเป้าหมายของโครงการเครือข่าย Kampong Damai มี 4 แห่ง ได้แก่

1.บ้านตันหยงเปาว์ ต.ท่ากำชำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

2.บ้านนอก ต.บ้านนอก อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นชุมชนไทยพุทธ ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานงานเพื่อจัดตั้ง

3.บ้านบาเจาะ ต.บาเจะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา

4.บ้านบลูกาแปเราะ ต.ปะลุกาสาเมาะ จ.นราธิวาส

โครงการเครือข่าย Kampong Damai หรือชุมชนสันติธรรมนี้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2558 นี้ โดยจะเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดมาเป็นประธานในพิธีเปิดพิธี รวมทั้งเชิญเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่มาร่วมงานด้วย โดยจะทยอยเปิดตัวทุกสัปดาห์

ชุมชนเหล่านี้ ฝ่ายความมั่งคงระบุว่าเป็นพื้นที่สีแดง แต่เราไม่ได้เลือกเพราะเป็นพื้นที่สีแดง แต่เลือกเพราะเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง ซึ่งโดยปกติชุมชนที่มีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐมักเป็นชุมชนที่ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง จึงง่ายต่อการขับเคลื่อนงานความรู้ เพราะชาวบ้านต้องการความรู้เหล่านี้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง

มุ่งเรียนรู้สันติภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาสังคม

ตูแวดานียา อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับหลักสูตรที่ใช้ในโครงการมาจากการระดมความคิดเห็นของชาวบ้านว่าต้องการเรียนรู้อะไร ซึ่งพบว่าชาวบ้านต้องการเรียนรู้ 3 หมวดวิชา ดังนี้

1.หมวดความรู้เกี่ยวกับสันติภาพและการเมือง เช่น ความขัดแย้ง ประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งระดับชุมชน บทเรียนสันติภาพ กระบวนการสันติภาพ การจัดกลุ่มคนเป็น Track 1,2,3, และ Kampong Damai อยู่ตรงไหนของกระบวนการสันติภาพ

2.หมวดความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน กฎหมายพิเศษ และการเยียวยาทางด้านจิตวิทยาและศาสนา

3.หมวดความรู้เกี่ยวกับการจัดการองค์กรภาคประชาชน เป็นการสร้างรากฐานให้ประชาชนสามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้

ตอนนี้อยู่ระหว่างประสานงานผู้เชียวชาญในแต่ละด้านมาเป็นผู้สอน โดยทั้งหลักสูตรใช้เวลาเรียน 3 เดือน โดยใน 2 เดือนแรกเป็นการเรียนในห้องเรียน ส่วนเดือนสุดท้ายเป็นการเรียนข้ามชุมชน ข้ามประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง โดยให้แต่ละชุมชนได้เรียนรู้ระหว่างกัน

เมื่อเรียนครบหลักสูตร ผู้เรียนต้องทำ 2 กิจกรรม คือ 1.กิจกรรมทางการเมืองสันติวิธี รูปแบบเวทีสาธารณะโดยให้ผู้เรียนเป็นออกแบบเองในชุมชนของตัวเอง 2.กิจกรรมการรวบรวมข้อเสนอของผู้เรียนในแต่ละพื้นที่มาทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายโดยการจัดเวทีสาธารณะเป็นเวทีใหญ่ 1 เวที

ข้อเสนอดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อเสนอในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพที่มาจากเจตจำนงของชาวบ้านอย่างแท้จริง เช่น มุมมองของชาวบ้านต่อสันติภาพคือ ต้องขจัดยาเสพติด ขจัดปัญหาการเลือกปฏิบัติทางวัฒนธรรม ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความยุติธรรม เป็นต้น

จากนั้นจะนำเสนอทั้งหมดเสนอต่อสาธารณะเพื่อนำไปขับเคลื่อนกระบวนสันติภาพต่อไป เพราะสันติภาพไม่ใช่แค่ยุติความรุนแรงอย่างเดียวเท่านั้น ต้องสนองความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ด้วย

สันติภาพต้องมีเจตจำนงของประชาชน

ตูแวดานียา ทิ้งท้ายว่า สันติภาพไม่ใช่เพียงแค่ไม่มีเสียงปืนเสียงระเบิดเท่านั้น แต่สันติภาพต้องตอบโจทย์การกินดีอยู่ดีมีความสุขของประชาชนด้วย กลไกของรัฐต้องตอบสนองและต้องให้การคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งต้องยอมรับปัญหารากเหง้าของที่นี่ด้วย

ต้องยอมรับว่าเจตจำนงทางการเมืองระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่นั้นแตกต่างกัน เพราะเจตจำนงของประชาชนที่นี่คือต้องการมีตัวตน มีหลักประกันความปลอดภัย ยอมรับอัตลักษณ์และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ดังนั้นเครือข่าย Kampong Damai พยายามที่จะดึงเจตจำนงของประชาชนออกมาให้มากที่สุดเพื่อตอบโจทย์กระบวนสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้มีความต้องการของประชาชนเข้าไปอยู่ในกระบวนการสันติภาพด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net