Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

องค์กรอนามัยโลกได้นิยาม สุขภาพ ในรัฐธรรมนูญ 1946 ไว้ว่า สุขภาพคือสภาวะความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิต และสังคม โดยมิใช่เพียงแค่การปราศจากโรคและความพิการเท่านั้น นิยามดังกล่าวเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายที่สุด จนเมื่อปี 1983 ในการประชุมสมัชชาโลกได้มี 22 ประเทศจากเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกได้ยื่นอภิปรายเสนอ คำว่าสุขภาพจิตวิญญาณเพิ่มเติมเข้าไปใน นิยามสุขภาพขององค์การอนามัยโลก เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการผลักดัน Health for All 2000 ให้สำเร็จ

อย่างไรก็ตามปัญหาการนิยามสุขภาพจิตวิญญาณก็มิได้ข้อสรุปที่ชัดเจนนักว่ามันคืออะไร เนื่องจากมันมีความซับซ้อนและสับสนต่างๆกันไปตาม ความเชื่อวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ในปี 1998 ได้มีการยื่นญัตติในการใส่คำว่าสุขภาพวิญญาณเข้าสู่คำนิยามดั้งเดิมในรัฐธรรมนูญปี 1946 อีกครั้ง แต่ทว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ถูกโหวตผ่านโดยประเทศสมาชิก และนิยามสุขภาพอย่างเป็นทางการของอนามัยโลกจึงยังคงเช่นเดิมไว้ ส่วนเรื่องการเพิ่มเติมมิติสุขภาพจิตวิญญาณเข้าไปในสังคมจึงปล่อยไว้ให้เป็นเรื่องกิจการภายในของแต่ละประเทศสมาชิก

อย่างไรก็ตามคำว่า สุขภาพจิตวิญญาณ มิใช่ คอนเซ็ปต์ใหม่ๆแต่อย่างใด กลับเห็นได้เป็นประจำในสมัยยุโรปยุคกลางเมื่อรัฐกับศาสนายังมิได้แยกออกจากกัน สำหรับความเชื่อศาสนาคริสต์แล้ว ความเจ็บป่วยคือความชั่วร้ายที่พระเจ้าประทานมาเพื่อทดสอบมนุษย์ ความเจ็บป่วยจึงมิใช่แต่เรื่องร่างกายเท่านั้นแต่รวมถึงความเจ็บป่วยทางจิตวิญญาณ คริสต์ศาสนิกชนที่ดีนั้นต้องทำทุกวิถีทางเพื่อชำระความชั่วร้ายดังกล่าวเพื่อให้วิญญาณบริสุทธิ์ก่อนที่จะไปพบพระเจ้าในสรวงสรรค์หลังการตาย

การแพทย์และศาสนาในยุคกลางจึงเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันแทบไม่ได้ คณะแพทย์และมหาวิทยาลัยแพทย์นั้นนอกจากให้การศึกษาการแพทย์แล้วยังต้องศึกษาเทววิทยา การรักษาทางจิตวิญญาณไม่ว่าด้วยการสวดภาวนา น้ำมนต์ ส่วนตัวหมอเองก็ต้องถือครองวัตรปฏิบัติเป็นผู้ทรงศีลหรือบางคนก็เป็นนักบวชด้วย

อย่างไรก็ตามการรักษาโดยอาศัยความมหัศจรรย์ของพระเจ้าก็ไม่ได้ส่งผลสำเร็จนัก ยุโรปเคยประสบกับวิกฤติโรคระบาดหลายครั้ง เช่น กาฬโรคที่คร่าชีวิตประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของยุโรป เหตุการณ์ดังกล่าวจึงเกิดการตั้งคำถามถึงอำนาจผูกขาดทางการแพทย์ของศาสนจักร และการแพทย์แบบวิทยาศาสตร์จึงค่อยๆ เจริญขึ้นมาอีกครั้งเผื่อท้าทายศาสนจักร และภายหลังปฏิวัติฝรั่งเศส ประเทศต่างๆ ในยุโรปก็ค่อยเกิดการแยกรัฐออกจากศาสนา ในขณะเดียวกันสุขภาพจิตวิญญาณก็ค่อยๆ หายไปจากสารบบ การรักษาและนโยบายสุขภาพของชาติจึงเป็นเรื่องทางนโยบายสาธารณะภายใต้รัฐที่เป็นกลางทางศาสนา

การกลับมาอีกครั้งของ สุขภาพจิตวิญญาณในสังคมโลกปัจจุบันนั้น ในสายตาของประเทศตะวันตกที่แยกรัฐออกจากศาสนาอย่างเด็ดขาดแล้ว จึงเป็นคนละมุมมองกับประเทศที่ยังไม่ได้แยกรัฐออกจากศาสนาอย่างเด็ดขาด ในสายตาพวกเขาสุขภาพจิตวิญญาณจึงมิใช่เรื่องทางศีลธรรมเฉกเช่นในอดีต แต่ปรับเปลี่ยนเป็นการยอมรับความหลากหลายทางความเชื่อของความคิด ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มสิทธิให้คนไข้ ความเชื่อทางศาสนาเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองและสิทธิสุขภาพก็เช่นกัน

ดังนั้นแล้วความเชื่อทางศาสนาที่ต่างกันจึงต้องมิเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสุขภาพและการรักษา เช่น ผู้ป่วยที่เป็นมุสลิมต้องมิถูกปฏิเสธการรักษาเพียงเพราะเขาเป็นมุสลิมเป็นต้น และที่สำคัญความเชื่อทางศาสนาใดศาสนานึงต้องมิควรบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญของชาติซึ่งประกอบด้วยสังคมที่หลากหลาย

อย่างไรก็ตามความเห็นดังกล่าวก็ได้ถูกโต้แย้งโดย Anderson (1999) ว่า สิทธิในสุขภาพภายใต้ความหลากหลายทางความคิดนั้นควรจะอยู่ภายใต้กำกับของรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งรัฐมีหน้าที่ในการปกป้องรักษาชีวิตของพลเมืองเป็นหน้าที่หลัก ดังนั้นแล้วไม่ว่าการรักษานั้นๆ เป็นการละเมิดคำสั่งสอนของศาสนาใดศาสนาหนึ่งรัฐก็ต้องมีหน้าที่จัดหามาให้เพื่อรักษาชิวิตประชาชนนั้นๆ เช่น ถึงแม้ผู้นับถือนิกายยะโฮวาห์มีข้อห้ามในการรับเลือดผู้อื่นประสบอุบัติเหตุเข้าห้องฉุกเฉินและเพื่อรักษาชีวิตเขาแล้วก็จำเป็นต้องหาวิถีทางให้เขารับเลือดให้ได้ เป็นต้น

ซึ่งตรงข้ามกับสถานการณ์ประเทศไทยที่เทคโนแครตสายสุขภาพประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนให้สุขภาวะทางจิตวิญญาณบรรจุอยู่ใน พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ 2551 โดยที่ยิ่งไปกว่านั้น คอนเซ็ปต์ในการเสริมสร้างสุขภาพยังอิงอยู่กับศาสนาพุทธเป็นหลัก ภายใต้สังคมหลายศาสนาอย่างประเทศไทย สุขภาพกลับกลายเป็นเรื่องทางศีลธรรมอีกครั้ง โดยมุ่งหวังว่าวิถีคำสอนของพุทธจะนำไปสู่สุขภาพดีอันเป็นสัจธรรมแท้จริงหนึ่งเดียว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net