Skip to main content
sharethis

<--break- />

5 พ.ย. 2558 สำนักข่าวคอมมอนดรีมส์ระบุถึงการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญกรณีความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) โดยระบุว่าเนื้อหาร่างสุดท้ายที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมาส่งผลเสียต่อประชาชนทั่วไปมากกว่าที่คิด 

#TPPWorseThanWeThought หรือ 'TPP แย่กว่าที่เราคิดไว้' กลายเป็นแฮชแท็กในทวิตเตอร์ที่ผู้คนพากันพูดถึงข้อเสียของความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หลังจากได้ศึกษาร่างความตกลงล่าสุดที่เป็นการบรรลุข้อตกลงทางการค้าร่วมกันระหว่าง 12 ประเทศ โดย TPP ถูกต่อต้านอย่างหนักก่อนหน้านี้แล้วจากนักกิจกรรมและประชาชนหลายภาคส่วน

หลังจากมีการเปิดโปงร่างสุดท้ายของ TPP ลอริ วอลลาช ผู้อำนวยการกลุ่มจับตามองการค้าโลก (Public Citizen's Global Trade Watch) กล่าวว่าร่างความตกลงชุดนี้แย่ยิ่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะเป็นการประชุมที่มีที่ปรึกษาด้านการค้าของบรรษัทสหรัฐฯ เจรจากันเองโดยประชาชนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทำให้กลายเป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มบรรษัทแต่ทำลายผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไป

ถึงแม้ว่า TPP จะเป็นข้อตกลงทางการค้าแต่ก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนทั่วไปตั้งแต่ด้านภาวะโลกร้อน ความปลอดภัยทางอาหาร การเข้าถึงยา ไปจนถึงเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งนิค เดียร์เดน จากองค์กรโกลบอลจัสติสนาวถึงกับประกาศว่า TPP "เป็นหายนะ"

ทางด้านชาร์ลส์ แชมเบอร์เลน ผู้อำนวยการบริหารองค์กร 'เดโมเครซีฟอร์อเมริกา' กล่าวว่าความตกลง TPP จะส่งผลกระทบต่อการทำให้ค่าจ้างต่ำลง ทำให้มีอาหารไม่ปลอดภัยถูกนำเข้าประเทศที่เข้าร่วม มีการขึ้นราคายาที่ใช้ช่วยชีวิตคน ในขณะเดียวกันก็วิจารณ์การที่สหรัฐฯ ยอมทำการค้ากับประเทศที่ล้าหลังในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ เช่นมีการลงโทษให้ขว้างปาหินใส่แม่เลี้ยงเดี่ยวและคนรักเพศเดียวกันจนเสียชีวิต

ฝันร้ายของสิ่งแวดล้อม

ทางด้านกลุ่มที่ดำเนินกิจกรรมประเด็นโลกร้อนอย่าง 350.org และ เดอะเซียร์ราคลับ กล่าวว่า ในความตกลง TPP ไม่มีการระบุถึงเรื่องโลกร้อนซ้ำยังมีการสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลด้วย โดยระบุให้กลุ่มทุนพลังงานสามารถฟ้องร้องรัฐบาลท้องถิ่นได้ถ้าหากมีการขัดขวางการขุดเจาะพลังงานรวมไปถึงการขุดเจาะพลังงานที่เรียกว่า 'แฟรกกิง' (Fracking) ซึ่งส่งผลให้เกิดมลภาวะแก่น้ำบาดาลและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งการให้อำนาจบรรษัทเช่นนี้ถือเป็นการบีบคั้นความสามารถในการเคลื่อนไหวของนักวิทยาศาสตร์ในประเทศด้วย

ในประเด็นสิ่งแวดล้อมองค์กร Friends of the Earth หรือ FOE กล่าวว่าร่างฉบับล่าสุดคุ้มครองการค้าเสรีที่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับพลังงานสกปรกอย่างทรายน้ำมันหรือถ่านหินทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากขึ้นทั่วภูมิภาคแปซิฟิก ทำให้ FOE วิจารณ์ว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ล้มเหลวในการทำให้สัญญา TPP ให้เป็นไปตามหลักสิ่งแวดล้อม

ทางด้านแมทธิว ริมเมอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการค้าและศาตราจารย์ด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยควีนแลนด์ประเทศออสเตรเลียกล่าวว่า ในส่วนที่พูดถึงสิ่งแวดล้อมของเอกสารความตกลง TPP ถือเป็นฝันร้ายของนักสิ่งแวดล้อม โดยมีการออกกลไกควบคุมไม่ให้มีการทำลายสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ น้อยมาก

ขัดขวางการตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหาร 

คอมมอนดรีมส์ระบุอีกว่า TPP ให้อำนาจบรรษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพมากขึ้นในขณะที่ลดอำนาจของกลุ่มผู้ตรวจสอบด้านอาหาร วีโนนาห์ เฮาเตอร์ ผู้อำนวยการองค์กร Food and Water Watch กล่าวว่า พวกกลุ่มบรรษัทการเกษตรยักษ์ใหญ่ต้องการใช้ TPP ในการ "โจมตีกฎหมายความปลอดภัยทางอาหารที่มีความเหมาะสมอยู่แล้ว" อีกทั้งยังลดอำนาจหน่วยตรวจสอบอาหารนำเข้า ทำให้สหรัฐฯ ไม่ต้องพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารของตัวเอง

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนที่แล้วกลุ่มศูนย์เพื่อความปลอดภัยทางอาหาร (Center for Food Safety) ระบุถึงเหตุผลที่ผู้คนควรกังวลในเรื่องอาหารหลังการทำข้อตกลง TPP โดยยกตัวอย่างเช่นการที่ TPP ยับยั้งกระบวนการการแปะฉลากอาหารจากวัตถุดิบตัดต่อพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอให้มากขึ้น นอกจากนี้กฎเรื่องความปลอดภัยทางอาหารอื่นๆ ที่สหรัฐฯ มีมาตรฐานสูงกว่าระดับสากลอย่างกฎการแปะฉลาก กฎเรื่องการใช้สารฆ่าแมลง หรือกฎเกี่ยวกับสารปรุงแต่งอาหาร ก็อาจจะถูกขัดขวางโดยอ้างว่าเป็น "กำแพงการค้าที่ผิดกฎหมาย" ในข้อตกลง TPP

เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจากองค์กรฟู้ดแอนด์วอเตอร์วอทช์ว่ากลุ่มบรรษัทเทคโนโลยีชีวภาพและบรรษัทการเกษตรยักษ์ใหญ่จะใช้ TPP ในการขัดขวางไม่ให้ประเทศที่เข้าร่วมสั่งแบนสินค้าจีเอ็มโอ ไม่ให้ทดสอบการปนเปื้อนของจีเอ็มโอ บีบให้ต้องนำเข้าโดยทันที หรือแม้กระทั่งห้ามไม่ให้มีการแปะฉลากว่าเป็นสินค้าจีเอ็มโอ

เฮาเตอร์กล่าวว่า TPP เลวร้ายกว่าที่คิดในเรื่องการแปะฉลากและความปลอดภัยทางอาหาร อีกทั้งยังถือเป็นข่าวร้ายสำหรับผู้บริโภคและเกษตรกรอเมริกัน เฮาเตอร์ยังเรียกร้องให้สภาคองเกรสคัดค้านความตกลงชุดนี้และเปิดโปงให้เห็นเรื่องการนำเข้าอาหารที่ไม่ปลอดภัย

ปิดตายอินเทอร์เน็ต

อีวาน เกรียร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ของกลุ่ม Fight For The Future (FFTF) กล่าวว่าความตกลง TPP มีลักษณะทุจริตคอร์รัปชันและถ้าหากสภาคองเกรสอนุมัติความตกลงนี้จะเทียบได้กับเป็นคำสั่งประหารอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างและทำให้อนาคตของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอยู่ในอันตราย โดยองค์กร FFTF แสดงความกังวลในประเด็นต่างๆ ที่ระบุใน TPP เช่น ตราสินค้า, สิทธิบัตรยา, การคุ้มครองลิขสิทธิ์ และ "ความลับทางการค้า"

FFTF ระบุว่าส่วนที่แย่ที่สุดคือส่วนที่เกี่ยวกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) พวกเขาอธิบายว่าในส่วนดังกล่าวมีการบีบให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทำตัวเป็น "ตำรวจตรวจลิขสิทธิ์" และร่วมมือนำข้อมูลบางส่วนออกโดยอ้างเรื่องลิขสิทธิ์แต่ไม่มีระบบให้ประเทศเป้าหมายส่งข้อความชี้แจงเพื่อโต้ตอบข้อเรียกร้องได้ เรื่องนี้ส่งผลให้บรรษัทของสหรัฐฯ สั่งปิดเว็บไซต์ในประเทศอื่นได้โดยที่ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถโต้ตอบใดๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะสั่งปิดได้แม้กระทั่งเว็บไซต์วิจารณ์การเมืองโดยอ้างเรื่องลิขสิทธิ์แม้ว่าเว็บนั้นจะมีลักษณะการใช้ลิขสิทธิ์อย่างเป็นธรรม (Fair Use) เช่นการใช่เพื่อการศึกษาวิจัย การใช้แบบไม่แสวงหาผลกำไร และไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์

นอกจากนี้ส่วนที่ระบุใน TPP ยังไม่ทำให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต้องรับผิดใดๆ ต่อการนำเนื้อหาของเว็บไซต์ออก ถือเป็นการผลักดันให้พวกเขาต้องเข้าข้างฝ่ายเจ้าของลิขสิทธิ์แทนที่จะอยู่ข้างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

เรียกร้องให้ประชาชนร่วมพิจารณา

คอมมอนดรีมส์ยังระบุถึงกลุ่มต่างๆ ในแคนาดา หนึ่งในประเทศที่ร่วม TPP ก็ออกมาประกาศเตือนภัยในเรื่องนี้เช่นกัน เช่นกลุ่มสภาชาวแคนาดาหรือ Council for Canadian ประกาศเตือนว่า TPP จะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน สุขภาวะ การจ้างงาน สิ่งแวดล้อม และประชาธิปไตย พวกเขาจึงเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมพิจารณาไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชน กลุ่มเศรษฐกิจ และกลุ่มสิ่งแวดล้อม สภาชาวแคนาดายังแสดงความกังวลเป็นพิเศษในข้อกำหนด "การแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐกับนักลงทุน" ที่อนุญาตให้บรรษัทฟ้องร้องรัฐได้เมื่อถูกทำให้สูญเสียผลกำไร

แคนาดาเพิ่งได้รับนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งคือ จัสติน ทรูโด ทำให้ประธานสภาชาวแคนาดา โมด บาร์โลว์ กล่าวว่าถึงเขาเข้าใจดีที่ทรูโดถูกกดดันอย่างหนักให้ลงมติยอมรับ TPP โดยเร็วที่สุด แต่พวกเขายังคงยืนยันว่าต้องมีการพิจารณาหารือร่วมกับประชาชนก่อนที่จะตัดสินได้ว่า TPP ส่งผลประโยชน์ต่อแคนาดาจริงหรือไม่

 

เรียบเรียงจาก

'Worse Than We Thought': TPP A Total Corporate Power Grab Nightmare, Common Dreams, 05-11-2015

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net