Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ไม่น่าเชื่อว่าในศตวรรษที่ 21 แล้ว เรายังได้เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในนามศาสนาแบบยุคกลางอยู่บ่อยๆ เช่นกรณีนางออง ซาน ซู จี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี สั่งห้ามไม่ให้ชาวมุสลิมในพรรคลงสมัครเลือกตั้ง ในวันที่ 8 พฤศจิกายนศกนี้ เพื่อต้องการลดแรงเสียดทานจากกระแสต่อต้านชาวมุสลิมของกลุ่มชาวพุทธชาตินิยมสุดโต่งในพม่า แปลว่าอิทธิพลของศาสนาอยู่เหนือเกียรติภูมิเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ อีกกรณีเป็นเรื่องของพระไทยรูปหนึ่งแห่งพระอารามหลวงในกรุงเทพฯ เสนอว่า “ฆ่าพระ 1 รูป เผา 1 มัสยิด” เพื่อตอบโต้ปัญหาความรุนแรงต่อพระสงฆ์ในสามจังหวัดภาคใต้

ทำให้ผมต้องถามว่า ที่เราพูดตามความเคยชินกันมาตลอดว่า ปัญหาความรุนแรงในนามศาสนาเป็นปัญหาของ “ตัวบุคคล” หรือ “องค์กร” ไม่เกี่ยวกับ “ตัวศาสนา” หรือหลักคำสอน เวลาที่เกิดปัญหาทางศาสนาก็มักมีคนออกมา “แก้ต่าง” ให้ศาสนาทำนองนี้ตลอด แต่เราสามารถพูดได้อย่างสิ้นสงสัยจริงๆหรือว่า ตัวศาสนาหรือหลักคำสอนไม่มีส่วนใดๆในการสร้างความคิดความเชื่อแบบ “คลั่งศาสนา” ขึ้นในตัวบุคคลหรือองค์กรศาสนานั้นๆ

เมื่อผมตั้งคำถามดังกล่าวในเฟซบุ๊ก อาจารย์สมภาร พรมทา ได้เข้ามาแสดงความเห็นชวนคิด ผมเห็นว่ามีประโยชน์ จึงขอคัดมาให้อ่านดังนี้ 

ฝากอาจารย์สุรพศศึกษาเรื่องต่อไปนี้หากมีเวลานะครับ ผมไม่ค่อยมีเวลาจึงขอฝาก งานวิจัยทางสังคมวิทยาที่ฝรั่งทำเท่าที่ผมลองอ่านสองสามชิ้นในช่วงนี้เสนอข้อมูลว่า สังคมที่ปลอดศาสนาจะก้าวหน้ากว่าสังคมที่มีอิทธิพลของศาสนาเข้มข้นมาก ก้าวหน้าในที่นี้ดูจากการศึกษา การเมือง วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจ ยิ่งปลอดศาสนามากเท่าใดการทุจริตก็น้อยลงเท่านั้น การละเมิดสิทธิผู้คนก็น้อย งานวิจัยพวกนี้เปรียบเทียบอเมริกากับยุโรปว่าอเมริกายังมีอิทธิพลของศาสนาอยู่มากเมื่อเทียบกับยุโรป เพราะเหตุนี้อเมริกาจึงล้าหลังกว่ายุโรป หากนักวิชาการอเมริกาเห็นด้วย เขาคงคิดหาหนทางทำให้สังคมเขาปลอดศาสนามากขึ้น

บ้านเราน่าจะมีนักวิชาการที่สนใจทำงานด้านนี้ คือศึกษาว่าจะลดอิทธิพลของศาสนาได้อย่างไร ส่วนตัวผมสนใจ กำลังศึกษาเท่าที่มีเวลาว่ายุโรปเขาหลุดจากอิทธิพลของศาสนาอย่างไร อ้อ เวลาพูดถึงศาสนาเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในแง่การคิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ศาสนาคือทุกอย่างรวมทั้งแนวโน้มพฤติกรรมของผู้ที่นับถือศาสนาด้วย

บ้านเราช่วงนี้ค่อนข้างชัดว่าศาสนาเป็นปัญหาสังคม คนนับถือศาสนามากกลายเป็นคนพูดไม่รู้เรื่อง ไม่ใช้เหตุผล ล้าหลังกว่าชาวบ้าน ข้อมูลที่เห็นอยู่ในบ้านเราตอนนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาข้างบนที่ว่า สังคมปลอดศาสนาก้าวหน้ากว่า อย่างน้อยที่ผมเห็นในอินเตอร์เน็ต คนพูดมีเหตุผลมักไม่คลั่งศาสนา

แต่สังคมที่ปลอดศาสนานั้น ว่าไปแล้วศาสนาอาจรุ่งเรืองกว่าเดิมนะครับ เพราะเข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัย หรือในองค์กรเอกชน พระไทยยังต้องไปเรียนกับเขาเลยเพื่อให้ได้ปริญญาเอก ฝรั่งที่สอนทางพุทธดีๆมีมากในยุโรปที่เป็นเมืองไร้ศาสนา

ผมคิดว่าผลการศึกษาที่อาจารย์สมภารอ้างถึงมีน้ำหนัก เพราะในสังคมตะวันตกนั้น การเกิดขึ้นของ “หลักสิทธิมนุษยชน” เป็นผลของการหลุดพ้นจากอิทธิพลของ “ศีลธรรมแบบศาสนา” (religious morality) มาสู่ “ศีลธรรมสมัยใหม่” (modern morality) ที่เป็นอิสระจากความเชื่อแบบศาสนา

พูดตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตลอดมาในประวัติศาสตร์ของทุกสังคมในโลก มาตรฐานของศีลธรรมแบบศาสนา “ต่ำกว่า” หลักสิทธิมนุษยชน เช่นเราจะเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในนามศาสนาอยู่เสมอ ตั้งแต่เรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ การลงโทษคนรักร่วมเพศในหลายประเทศที่เคร่งศาสนาด้วยการเฆี่ยน จำคุก กระทั่งประหารชีวิต

การที่ชาวพุทธละเมิดสิทธิทางการเมืองและอื่นๆของชาวมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า หรือความรุนแรงในนามพุทธศาสนาต่อชาวทมิฬในศรีลังกา การกีดกันสิทธิการบวชภิกษุณีและอ้างการปกป้องพุทธศาสนาโดยเรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายที่ขัดหลักเสรีภาพและความเสมอภาคในไทย เป็นต้น ล้วนแต่เป็นการแสดงออกในนามศาสนาที่มีมาตรฐานทางศีลธรรมต่ำกว่าหลักสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น

เมื่อพิจารณาระบบคำสอนของศาสนา ก็จะพบ “ความย้อนแย้งในตัวเอง” ชัดเจน เช่น ศาสนาที่เชื่อพระเจ้าจะสอนเรื่องความรักและการให้อภัยแม้แก่ศัตรู แต่โทษทัณฑ์ของการไม่ศรัทธาและละเมิดกฎศีลธรรมของพระเจ้า ก็คือ “ความทุกข์ทรมานในนรกชั่วนิรันดร” เพราะทัศนะเช่นนี้เอง การกระทำผิดต่อพระเจ้าจึงต้องมีโทษทัณฑ์แสนสาหัส ตั้งแต่การถูกเฆี่ยน ปาหิน แขวนคอ เผาทั้งเป็น ท่ามกลางสาธารณชนที่กล่าวประณามสาปแช่ง ดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ยุโรปยุคกลาง โดยเฉพาะช่วงล่าแม่มดอย่างเข้มข้นในศตวรรษที่ 16-17 เป็นต้น

ในคัมภีร์พุทธศาสนาก็ระบุว่า การกระทำผิดต่อ “คนดีสูงสุด” เช่นพุทธะ, พระอรหันต์ก็เป็นกรรมหนัก เทวทัตทำร้ายพุทธะเพียงแค่เท้าห้อเลือด โทษทัณฑ์ในบั้นปลายคือถูกธรณีสูบและตกนรกยาวนาน ขณะที่นางกิญจมาณวิกาแค่ “ทำผิดด้วยวาจา” คือกล่าวใส่ร้ายพุทธะว่าทำให้เธอท้อง ก็ถูกแผ่นดินสูบและต้องทุกข์ทรมานในนรกเป็นเวลายาวนาน

โทษทัณฑ์ของคนเลว ตาม “กฎของพระเจ้า” และ “กฎแห่งกรรม” ที่รุนแรงหนักหนาสาหัสเช่นนั้น น่าจะมีส่วนอย่างสำคัญต่อการกำหนดมาตรการลงโทษคนเลวบนโลกมนุษย์ยุคสังคมศาสนา ในสังคมพราหมณ์-พุทธแม้จะไม่มีประวัติศาสตร์แบบยุโรปยุคกลาง แต่ก็มีการจำลองภาพการลงโทษสัตว์นรกตามคัมภีร์ศาสนามาสร้างคุกและเครื่องมือลงโทษอาชญากรบนโลกมนุษย์อย่างทารุณ ประวัติศาสตร์การพิพากษาโทษ “คนเลว” ทั้งบนโลกมนุษย์และโลกหลังความตายจึงรุนแรงเหลือประมาณ จนคนเลวไม่เหลือ “ความเป็นคน” อยู่เลย

เพราะรับความเชื่อเช่นนั้นไม่ได้ นักปรัชญาศีลธรรมสมัยใหม่เป็นต้นมา ต่างถือว่าศีลธรรมต้อง “เป็นอิสระจากความเชื่อแบบศาสนา” กล่าวคือ ศีลธรรมต้องอยู่บนฐานของ “หลักการสากล” คือเสรีภาพและความเสมอภาคของมนุษย์ หมายความว่า สังคมต้องเคารพเสรีภาพและความเสมอภาคให้ได้ก่อน จึงจะสามารถเป็นสังคมที่มีศีลธรรมได้ แนวคิดเช่นนี้ได้กลายเป็นพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนสากล ที่เป็นหลักปกป้องคุณค่าและศักดิ์ศรีในตัวเองของมนุษยชาติทั้งมวล

ศาสนามีคุณค่าเชิงบวกต่อการกล่อมเกลาจิตใจคนให้มีความรัก การให้อภัย การพัฒนาปัญญาและกรุณาอย่างแน่นอน แต่คุณค่าเช่นนี้จะมีความหมายต่อสังคมสมัยใหม่ได้ ก็ต่อเมื่อสถาบันศาสนาต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติ วิธีคิด การแสดงออกที่เคารพหลักสิทธิมนุษยชนให้ได้ก่อนเท่านั้น

ศาสนาที่มีมาตรฐานทางศีลธรรมต่ำกว่าสิทธิมนุษยชน ย่อมกลายเป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย และเป็นอันตรายต่อสันติภาพในโลกสมัยใหม่

 


เผยแพร่ครั้งแรกใน คอลัมน์ “ทรรศนะ แสงสว่าง” โลกวันนี้วันสุข (7-13 พ.ย.2558)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net