Skip to main content
sharethis

อิซิลิน ฟรินเดนลุนด์ นักวิจัยเรื่องสันติภาพและสิทธิมนุษยชนเปิดเผยในเว็บไซต์อิสต์เอเชียฟอรัมว่าถึงแม้พระสงฆ์ในพม่าจะเคยมีส่วนร่วมเรียกร้องประชาธิปไตยมาก่อน แต่บทบาทการส่งเสริมพรรคเผด็จการทหารในการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ชวนตั้งคำถามว่าพวกเขากำลังถูกฝ่ายเผด็จการใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมแก่ตัวเองหรือไม่

9 พ.ย. 2558 บทความในเว็บไซต์อีสต์เอเชียฟอรัมระบุถึงเรื่องบทบาทของพระสงฆ์ศาสนาพุทธในพม่าว่ามีส่วนในการช่วยส่งเสริมหรือลิดรอนประชาธิปไตย

บทความดังกล่าวตีพิมพ์ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. ก่อนพม่ามีการเลือกตั้ง โดยมีผู้เขียนคืออิซิลิน ฟรินเดนลุนด์ นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพออสโล (PRIO) และศูนย์สิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ของคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยออสโล

ในบทความระบุว่าก่อนหน้านี้พระสงฆ์ในพม่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยผลักดันประชาธิปไตย แต่ในช่วงที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในปีนี้กลุ่มที่มีอำนาจทางศาสนาพุทธกลับให้การสนับสนุนพรรคของเผด็จการทหารอย่างพรรคสหสามัคคีและการพัฒนาหรือ 'ยูเอสดีพี' (USDP) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นสิทธิของพวกเขาตามหลักประชาธิปไตยที่จะสนับสนุนพรรคใดก็ได้ แต่การกระทำเช่นนี้อาจจะกลายเป็นการทำให้ประชาธิปไตยในพม่าล้าหลังกว่าเดิม

ฟรินเดนลุนด์ระบุว่า หลังมีการปฏิรูปการเมืองในพม่าปี 2554 ก็มีกลุ่มชาวพุทธชาตินิยมผุดขึ้นโดยมีผู้นำพระสงฆ์จัดตั้งองค์กรที่ชื่อ 'มะบ๊ะต๊ะ' (MaBaTha) หรือ 'องค์กรปกป้องเชื้อชาติและศาสนา' ที่ผลักดันกฎหมาย 4 ฉบับซึ่งชวนให้เกิดข้อถกเถียงในเรื่องการกีดกันศาสนาอื่นและการลิดรอนสิทธิสตรี นอกจากนี้ พวกเขายังชักจูงไม่ให้คนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้กับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ 'เอ็นแอลดี' (NLD) ของอองซานซูจีผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยในพม่าโดยกล่าวหาว่าพรรคของซูจีเป็นมิตรกับชาวมุสลิมมากเกินไป อีกทั้งกลุ่มมะบ๊ะต๊ะยังร่วมมือกับพรรคของเผด็จการทหารถ้าหากพวกเขาส่งเสริมสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ต่อศาสนาพุทธ

ฟรินเดนลุนด์ยกตัวอย่างว่านอกจากพม่าแล้วยังมีประเทศอื่นๆ ที่เรียกร้องให้รัฐปกป้องพุทธศาสนาเช่นกันอย่างเช่นประเทศไทยหรือศรีลังกา และการที่รัฐยอมปกป้องพุทธศาสนาจะช่วยให้พวกเขาขับเคลื่อนการสนับสนุนทางการเมืองได้ง่ายขึ้น ในเรื่องนี้ทำให้อำนาจทางการเมืองถูกผูกติดอยู่กับการมีส่วนร่วมทางศาสนา แต่ก็เป็นการสร้างปัญหาแก่ชนกลุ่มน้อยศาสนาอื่นๆ เพราะเมื่อศาสนาพุทธถูกใช้เพื่ออ้างความชอบธรรมในอำนาจทางการเมืองก็จะมีการกีดกันศาสนาอื่นหรือคนเชื้อชาติอื่นอย่างเป็นระบบ เช่นในการเลือกตั้งของพม่าครั้งล่าสุดที่ผู้สมัคร 88 คนที่ถูกประกาศว่าขาดคุณสมบัติในการลงสมัครส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม

"ในขณะที่พระพุทธเจ้าเทศนาแนวคิดเรื่องการหลุดพ้นและความเสมอภาคในระดับสุดโต่ง การอ้างว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ยึดหลักการประชาธิปไตยนั้นอาจจะเป็นการมองประวัติศาสตร์แบบกลับหัวกลับหางไปหน่อย เนื่องจากอินเดียโบราณเป็นสังคมที่มีโครงสร้างชนชั้นและพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ท้าทายโครงสร้างชนชั้นโดยตรง" ฟรินเดนลุนด์ระบุในบทความ

ฟรินเดนลุนด์ยังวิจารณ์แนวคิดพุทธว่าเป็นแนวคิดแบบปกป้องชนชั้นนำให้ยังได้รับการคุ้มครองทางกายภาพและผลประโยชน์ทางวัตถุ ขณะเดียวกันก็คอยระวังไม่ให้มีการเสื่อมทรามทางจริยธรรม ในขณะที่เหล่าพระสงฆ์ถูกคาดหวังให้ต้องเป็นผู้สร้างความชอบธรรมแก่รัฐ

บทความยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าการรณรงค์ของกลุ่มมะบ๊ะต๊ะดูเผินๆ เหมือนเป็นการที่รัฐอุปถัมภ์ศาสนาในรูปแบบทั่วๆ ไป แต่จริงๆ แล้วการที่พวกเขาเลือกใช้วิธีการแนวพุทธชาตินิยมแบบหัวรุนแรงเป็นเพราะพวกเขาคิดว่ามันเป็นวิธีการดึงดูดผู้คนให้กลับมาปกป้องศาสนาได้

ฟรินเดนลุนด์ชี้ให้เห็นความย้อนแย้งในตัวเองของแนวคิดการทำให้พระสงฆ์ไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งในพม่า หรืออาจจะรวมถึงในไทยว่า ในแง่หนึ่งมันกลายเป็นการทำให้ศาสนาพุทธมีอภิสิทธิ์ในพม่า อีกแง่หนึ่งมันกลายเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพระและแม่ชีแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกพระจะไม่มีอิทธิพลทางการเมือง เช่นการที่กลุ่มพระสงฆ์ร่วมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยก่อนหน้านี้เป็นเพราะพวกเขาเห็นโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองและสามารถแผ่ขยายอิทธิพลทางการเมืองแบบไม่เป็นทางการได้ ทำให้พวกเขายังรักษาอำนาจทางศาสนาเอาไว้ได้โดยไม่ถูกทำให้ "แปดเปื้อน" จากกิจกรรมทางการเมือง

ก่อนหน้านี้พระสงฆ์ในพม่าเคยเป็นแกนหลักในการประท้วงต่อต้านเผด็จการทหารในปี 2531 และปี 2550 และเคยช่วยนักศึกษาเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ฟรินเดนลุนด์ยังระบุอีกว่าพุทธศาสนาในพม่ามีแนวคิดค่านิยมในเรื่องความรับผิดชอบทางจริยธรรม ความยุติธรรม ความเต็มใจ ความเสมอภาค และสนับสนุนให้มีการอาสาสมัครเพื่อส่วนรวม ทั้งหมดนี้ฟรินเดนลุนด์มองว่ามีส่วนสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า

แต่ฟรินเดอลุนด์ก็ยังระบุว่าพุทธศาสนาจะเป็นผู้นำมาซึ่งประชาธิปไตยในพม่าอย่างแท้จริงได้ก็ต่อเมื่อทำให้กลุ่มชาติพันธุ์หรือศาสนาชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ได้รับการคุ้มครองและสิทธิอย่างเสมอภาคกันเท่านั้น

 

เรียบเรียงจาก

Are Myanmar’s monks hindering democratisation?, Iselin Frydenlund, East Asia Forum, 0-11-2015
http://www.eastasiaforum.org/2015/11/04/are-myanmars-monks-hindering-democratisation/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net