Skip to main content
sharethis

10 พ.ย. 2558 พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีการเสียชีวิตของนายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง ผู้ต้องหาคดี ม.112 ว่าได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบเรื่องดังกล่าวเป็นการส่วนตัวแล้ว แต่ไม่ได้หยิบยกมาหารือในที่ประชุม ครม.ในวันนี้ และในฐานะที่ตนรับผิดชอบในส่วนของกรมราชทัณฑ์ จึงได้สั่งให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์เข้าดูแลตรวจสุขภาพผู้ต้องหาคดี ม.112 ที่เหลืออีก 1 คน คือนายจิรวงศ์ วัฒนเทวาศิลป์ หรืออาร์ท คนสนิทของหมอหยอง

รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อว่า ยอมรับว่าการเสียชีวิตของผู้ต้องขังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะกรมราชทัณฑ์ต้องดูแลผู้ต้องหาทั่วประเทศกว่า 300,000-400,000 ราย ย่อมต้องมีคนที่ฆ่าตัวตายและเจ็บป่วยล้มตายบ้าง ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดปกติ ที่ผ่านมาทั่วประเทศก็มีผู้เสียชีวิตในเรือนจำหลายกรณี แต่ไม่ตกเป็นข่าวเท่านั้น ขอให้สื่อมวลชนรอฟังข้อชี้แจงจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯด้านความมั่นคงและรมว.กลาโหม และ พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. อย่างเป็นทางการ วอนอย่าเสนอข่าวตามกระแสโซเซียล เพราะอาจทำให้ผู้ถูกพาดพิงได้รับความเสียหาย

กรณีที่มีการเรียกร้องให้มีการปิดเรือนจำชั่วคราว แขวงถนนนครไชยศรี ภายในมทบ. 11 ภายหลังมีผู้ต้องขังคดีความผิดมาตรา 112 เสียชีวิตขณะถูกคุมขังในเรือนจำ 2 ราย ดังกล่าว พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า อนุมัติให้เปิดเรือนจำชั่วคราวตามคำร้องขอของหน่วยงานความมั่นคงและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมราชทัณฑ์มีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรือนจำดังกล่าวคุมขังผู้ต้องขัง 2 คดี คือคดีระเบิดราชประสงค์ และคดีความผิดมาตรา 112

โดยทั้งหมดเป็นคดีที่อยู่ในความผิดชอบของตำรวจ ยืนยันว่าเรือนจำชั่วคราวไม่ใช่เรือนจำทหาร เป็นเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ มีระเบียบการดูแลในเรือนจำดังกล่าวเหมือนเรือนจำอื่น เปิดใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องของการเบิกตัวและการประสานงานต่างๆให้มีความรวดเร็วขึ้น เพราะมีผู้ต้องขังจำนวนน้อย

"ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเรือนจำทหารนั้น ขอชี้แจงอีกครั้งว่าเรือนจำเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ไม่เกี่ยวกับกองทัพหรือตำรวจ สำหรับข้อเสนอให้มีการเปิดเรือนจำให้สื่อเข้าไปตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่เพื่อตอบข้อสงสัยในประเด็นการคุมขังนั้น ถือเป็นแนวคิดที่ดีแต่ต้องสอบถามอธิบดีกรมราชทัณฑ์ถึงความเหมาะสม และระเบียบขั้นตอนว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ โดยล่าสุดได้สั่งการให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้เข้มงวดกับการตรวจสอบสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ต้องขังจะได้ไม่มีข้อสงสัยเมื่อเกิดเหตุขึ้น" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณี ที่มีการออกมาแสดงความเห็นถึงการเสียชีวิตภายในเรือนจำชั่วคราวผ่านสื่อโซเชียลอย่างกว้างขวางว่า ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและหลักการต่างๆ ไปแล้ว ทุกฝ่ายดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย คดีดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 112 ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากนำเรื่องมาปะติดปะต่อเองก็เหมือนการมโนไปเอง ต้องใช้ความระมัดระวัง โดยเฉพาะกระบวนการนำเสนอข่าวก่อนที่จะมีความชัดเจน การเขียนข้อมูลในโลกออนไลน์ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่หากตนพูดออกไป ต้องเป็นคนรับผิดชอบ ดังนั้นควรให้เกียรติกับผู้ที่ถูกพาดพิงด้วย อย่าเร่งรัดผู้ที่ทำงาน เพราะต้องสอบสวนให้ชัดเจนก่อน ตำรวจจึงแถลงได้ชัดเจน หากไม่อยากให้เกิดความสับสนทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกัน และต้องระวังผู้ที่จะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์

เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์ประชาชาติธุรกิจ และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net