“ไม่ผิดกลัวอะไร?” เมื่อเสรีภาพในการแสดงออกเป็นภัยต่อการคอร์รัปชั่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเป็นปัญหาที่หลายรัฐบาลทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ประเทศไทย" แต่ทว่า ไทยกลับไม่ได้โดดเดี่ยว เพราะอย่างประเทศมาเลเซียก็มีปัญหาในลักษณะเช่นเดียวกัน

ในมาเลเซียมีคนจำนวนไม่น้อยที่ถูกรัฐดำเนินคดี เพียงเพราะพวกเขาทำหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาล ว่าขาดความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด และนับเป็นเรื่องที่น่าตกใจ เมื่อนักกฎหมาย สื่อมวลชน หรือแม้แต่นักวาดการ์ตูน อย่าง ซุลกิฟลี อันวาร์ อัลฮาเก หรือ "ซูนาร์" ก็ถูกรัฐใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อปิดกั้นการแสดงออก เหมือนกัน

ผลงานของ "ซูนาร์" ค่อนข้างมีชื่อเสียง เพราะเขาใช้ภาพการ์ตูนในการเสียดสีและวิพากษ์วิจารณ์การทุจริตของรัฐบาล รวมถึงการใช้อำนาจเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน แต่เพราะความหวังดีต่อชาติของเขา ส่งผลให้เขาต้องถูกดำเนินคดีร้ายแรงถึง 9 ข้อหา

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐพยายามจะจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของเขา เพราะก่อนหน้านี้เขาถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 2 วันเมื่อปี 2553 และอีกครั้งในเดือน พ.ย. 2557 ซึ่งเขาถูกไต่สวนพร้อมกับอีกข้อกล่าวหาคือการละเมิดกฎหมายอาญาว่าด้วยสื่อสิ่งพิมพ์และการจัดตีพิมพ์

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยของมาเลเซียเคยสั่งแบนหนังสือของซูนาร์ 5 เล่ม และในเดือน พ.ย. 2557 ผู้ช่วยของซูนาร์ 3 คน ก็ถูกจับกุมเพราะขายหนังสือของเขา อีกทั้งผู้จัดการเว็บไซต์ยังถูกไต่สวนในข้อหาปลุกระดมด้วย เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมาตำรวจยังบุกตรวจค้นสำนักงานของเขาเพื่อยึดหนังสือสองปกจำนวน 155 เล่ม โดยหนึ่งในผลงานที่ทำให้เข้าต้องถูกคุกคามจากรัฐมีชื่อว่า "Cartoon-o-phobia"

ตัวอย่างภาพการ์ตูน ที่สะท้อนถึงคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อนายกฯ นาจิบ ราซักเรื่องการใช้อิทธิพลทางการเมืองบงการศาลโดยฝ่ายค้านพรรคยุติธรรมแห่งชาติ (Parti Keadilan Rakyat - PKR) ได้โจมตีนายนาจิบหลายกรณี โดยอ้างว่านายนาจิบใช้กระบวนการทางศาลให้ตัดสินเป็นคุณแก่รัฐบาล แต่ใช้บ่อนเซาะอำนาจของกลุ่มฝ่ายค้าน (สุลักษณ์ หลำอุบล, 2012)

"ซูนาร์" เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการปิดกั้นผลงงานของเขาว่า หนังสือการ์ตูนของเขาถูกสั่งห้ามเผยแพร่ เพราะเนื้อหากระทบต่อความสงบเรียบร้อย และร้านหนังสือก็ไม่กล้าที่จะนำไปขายเพราะจะมีตำรวจแวะมาเยี่ยมเยียน หรือถูกดำเนินคดีเกี่่ยวกับใบอนุญาต จนไม่มีใครกล้าวางขาย

แม้ว่าเขาจะเลือกใช้หนทางอื่น อาทิ วางขายผ่านเว็บไซต์ของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สั่งให้เว็บมาสเตอร์ต้องเปิดเผยตัวตนของคนที่สั่งซื้อหนังสือการ์ตูนของเขา ซึ่งสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับผู้สนับสนุนผลงานของ "ซูนาร์" อยู่พอสมควร

และดูเหมือน "ซูนาร์" กับรัฐบาลมาเลเซียคงจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากันไปอีกนาน เพราะครั้งล่าสุดที่เขาถูกจับกุมเพื่อดำเนินคดีก็คือวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา โดยตำรวจได้บุกเข้าไปควบคุมตัวเขาที่บ้าน โดยอ้างว่าเขาเป็นผู้ต้องสงสัยข้อหาปลุกระดมต่อต้านรัฐบาลหลังจากที่เขานำเสนอภาพการ์ตูนเกี่ยวกับกรณีที่ศาลพิพากษาให้อันวาร์ อิบราฮิม ผู้นำพรรคฝ่ายค้านมาเลเซียจำคุก 5 ปี ฐานมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายด้วยกัน

ตัวอย่างภาพการ์ตูนที่ ซูนาร์ทวีตและถูกดำเนินคดี

แม้จะดูน่าตลกขบขันแต่มันก็ขื่นขม  ใครจะเชื่อว่าการทวีตข้อความ 9 ข้อความ หรือการตีพิมพ์ผลงานภาพวาดก็อาจทำให้ชายหนึ่งคนมีโอกาสติดคุกนานถึง 43 ปี ตามกฎหมายป้องกันการปลุกระดม (the Sedition Act) ทั้งที่ ผลงานเหล่านั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ เพราะพยายามจะตอกย้ำปัญหาของรัฐบาล

แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะรัฐมีเครื่องมืออย่างกฎหมายป้องกันการปลุกระดม (the Sedition Act) ซึ่งกฎหมายดังกล่าวนี้ เป็นมรดกตกทอดมาจากยุคล่าอาณานิคมที่เจ้าอาณานิคมใช้เพื่อคุ้มครองตนเองจากฝ่ายที่ต่อต้าน โดยกฎหมายกำหนดความผิดสำหรับผู้ที่ "ยุยงปลุกระดม" หรือ "การกระตุ้นให้เกิดความไม่ชอบ" หรือ "ทำให้เกิดการดูหมิ่นหรือเกลียดชัง" ต่อรัฐบาลหรือผู้ปกครองประเทศ และมันยังมีปัญหาในเชิงกระบวนการ เพราะเกฎหมายปิดช่องให้พนักงานอัยการไม่จำเป็นต้องพิสูจน์เจตนาของผู้กระทำความผิด และด้วยช่องโหว่เช่นนี้ จึงเป็นผลให้รัฐบาลใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อจัดการกับผู้ที่ต่อต้านหรือวิจารณ์รัฐบาลในแง่ลบได้ถนัดมือ

จากกรณีนี้ มีองค์กรสิทธิมนุษยชนมากมายให้ความสนใจ อาทิ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เรียกร้องต่อนายกฯ มาเลเซียว่า ให้ยกเลิกข้อกล่าวหาต่อ "ซูนาร์" ร่วมถึงให้หลักประกันว่าเขาและทีมงานจะไม่ถูกจำกัดหรือคุกคามในทุกรูปแบบ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายป้องกันการปลุกระดมและกฎหมายอื่นๆ ที่จำกัดเสรีภาพในการแแสดงออก

และนี้คงจะเป็นบทเรียนให้สังคมตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใด รัฐจึงต้อง “หวาดกลัว” เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน เหมือนกับประโยคฮิตของบางประเทศที่ชอบบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมว่า "ถ้าไม่ผิดแล้วกลัวอะไร?"

ล่าสุด ทนายความของซูนาร์จะยื่นเรื่องต่อศาลให้พิจารณาว่า การใช้กฎหมายป้องกันการปลุกระดม (the Sedition Act) จะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญและส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่ และกรณีที่ศาลส่วนกลางมีคำพิพากษาในคดี Azmi Sharom ว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญนั้นถูกต้องหรือไม่ โดยทนายจะยื่นเรื่องดังกล่าวในวันที่ 8 ธันวาคม 2558 และศาลจะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 15 ธันวาคม 2558

ซึ่งคำพิพากษาในครั้งนี้จะเป็นการวัดดวงให้กับเสรีภาพในมาเลเซีย และเพิ่มหนทางในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รับชั่นของประชาชนต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท