สมัชชาคนจนแถลงรับประยุทธ์มาอุบลฯ ขอเปิดปชช.มีส่วนร่วมโครงการพัฒนา หยุดใช้ม.44

สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูลแถลงรับประยุทธ์มาอุบลฯ ร้องเปิดปชช.มีส่วนร่วมโครงการพัฒนา หยุดใช้ ม.44 กับประชาชนชี้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ พบปะประชาชน จ.อุบลราชธานี (ที่มาภาพ ศูนย์สื่อทำเนียบ)

12 พ.ย. 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยายสรุปโครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการสนับสนุนด้านการเกษตร พร้อมตรวจเยี่ยมการดำเนินนโยบายการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และพบปะประชาชน ณ บ้านยางกระเดา ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี

ด้านสมัชชาคนจนได้ออกแถลงการณ์ฉบับพิเศษเนื่องในโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางมาลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ดังกล่าวด้วยว่า กรณีเขื่อนปากมูล เป็นตัวอย่างของปัญหาความยากจนเกิดจากโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การปิดกั้นและการไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งผลให้ความต้องการและทางเลือกสำหรับการพัฒนาอื่นๆ ที่มีค่าถูกมองข้าม ซึ่งสภาพเช่นนี้ได้บ่มเพาะความโกรธแค้นมากขึ้นและขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ

พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลมองประชาชนทุกหมู่เหล่าเป็นหุ้นส่วนในสังคมมีส่วนร่วมกับการดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐบาล ต้องให้ความคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในการแสดงความเห็นต่อกิจกรรมโครงการพัฒนาของรัฐบาล  และต้องได้รับความยินยอมของทุกภาคส่วน การบิดเบือนกลไก ขั้นตอน และกระบวนการที่ดี ที่มีอยู่แล้ว ด้วยการใช้ ม.44 กับโครงการพัฒนาของรัฐบาลที่จะส่งผลต่อประชาชน และโครงการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

“รัฐบาลต้องตระหนักเสมอว่า ในสภาวะที่ประเทศไม่เป็นปกติ ยิ่งไม่ควรใช้วิธีการที่ไม่ปกติ เพราะจะยิ่งตอกย้ำความไม่ปกติ ให้ผิดปกติมากยิ่งขึ้น” แถลงการณ์สมัชชาคนจน ระบุ

รายละเอียดแถลงการณ์ : 

แถลงการณ์สมัชชาคนจน (ฉบับพิเศษ)

            ดังที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ การบริหารประเทศดำเนินการด้วยวิธีพิเศษ และบ่อยครั้งมีการใช้อำนาจพิเศษ (ม.44) จัดการรายละเอียดหยิบย่อย จนเสมือนหนึ่งว่า ม.44 เป็น “ยาสามัญประจำบ้าน” รักษาได้ทุกโรค การใช้บ่อยจนเกินความพอดี ได้ทำให้ระบบปกติของโครงสร้างสังคม (ระบบการทำงานของหน่วยงานและกฎหมายที่มีอยู่แล้ว) ขาดความสมดุล

            กรณีการเดินทางมาลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา) ในวันนี้ (12 พฤศจิกายน 2558) ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการเสนอโครงการของหน่วยงานราชการในพื้นที่ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าบรรดาโครงการพัฒนาที่จะถูกเสนอนั้น จะดำเนินการโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และยิ่งหากมีการใช้ ม.44 ในการผลักดันโครงการก็ยิ่งจะทำให้เกิดปัญหาตามมา มากกมาย ดังปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากการสร้างเขื่อนปากมูล ที่ดำเนินการในยุค รสช. ซึ่งปิดกั้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ จนกระทั่งนำมาซึ่งความขัดแย้งยืดเยื้อเรื้อรังมา กว่า 24 ปี

            อย่างไรก็ตาม สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ความเห็นต่อการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดอุบล ฯ ของนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ ดังนี้

            1. ปัญหาความยากจน และความเดือดร้อนของประชาชน ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรืออุปนิสัยเกียจคร้านของผู้คน หากแต่เกิดจากปัญหาโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จนทำให้เกิดสภาพความขัดแย้ง การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ที่รุนแรงอยู่ในหลายพื้นที่ ทั่วประเทศ เช่น กรณีปัญหาความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูล

            2. การปิดกั้น และการไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการพัฒนาของรัฐบาลหลายโครงการได้ไปแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ที่เดิมเป็นของชาวบ้านในท้องถิ่น ถูกนำไปรับใช้เมือง และอุตสาหกรรม ในขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมดังกล่าว แต่ถูกบังคับให้เสียสละโดยไม่สมัครใจ ที่สำคัญผู้ถูกบังคับให้เสียสละไม่สามารถแสดงความคิด ความต้องการ แม้แต่ทางเลือกที่มีค่าก็ยังถูกมองข้าม สภาพเช่นนี้ได้บ่มเพาะความโกรธแค้น มากขึ้นและขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ

            ต่อสภาวะการณ์ดังกล่าวนี้ สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้

            1. การแก้ไขปัญหาความยากจนประชาชน ต้องแก้ที่โครงสร้างสังคมให้เกิดความเป็นธรรม โดยทุกฝ่ายต้องตระหนักว่า ประชาชนทุกหมู่เหล่า ล้วนเป็น “หุ้นส่วน” ในสังคม การดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐบาลต้องคำนึงว่า “ผู้เสียสละต้องมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม”

            2. รัฐบาลต้องให้ความคุ้มครองการใช้ “สิทธิ์ เสรีภาพ” ของประชาชน ในการแสดงความเห็นต่อกิจกรรมโครงการพัฒนาของรัฐบาล การควบคุม ดำเนินคดีกับประชาชนที่แสดงความเห็นต่างต่อโครงการพัฒนาของรัฐบาลย่อมไม่สามารถกระทำได้ ดังเช่น การดำเนินคดีกับแกนนำเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ จ.ขอนแก่น รัฐบาลควรสั่งยกเลิกการดำเนินคดี ทันที

            3. การพัฒนาประเทศจำเป็นจะต้องได้รับความยินยอมของทุกภาคส่วน การบิดเบือนกลไก ขั้นตอน และกระบวนการที่ดี ที่มีอยู่แล้ว ด้วยการใช้ ม.44 กับโครงการพัฒนาของรัฐบาลที่จะส่งผลต่อประชาชน และโครงการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ จะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

            อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องตระหนักเสมอว่า ในสภาวะที่ประเทศไม่เป็นปกติ ยิ่งไม่ควรใช้วิธีการที่ไม่ปกติ เพราะจะยิ่งตอกย้ำความไม่ปกติ ให้ผิดปกติมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญหากรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ปัญหาเขื่อนปากมูลที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านปากมูนมาเป็นเวลากว่า 24 ปี รัฐบาลควรแสดงความจริงใจ แก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านปากมูน ให้ลุล่วงเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความมั่นใจต่อคนในสังคม

เชื่อมั่นในพลังประชาชน

สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท