Skip to main content
sharethis

 

13 พ.ย. 2558 ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาองค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลหรือ 'Transparency International' ซึ่งมำสำนักงานตั้งอยู่ในเยอรมนี เผยแพร่รายงาน "ดัชนีการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานกลาโหม" (Government Defense Anti-Corruption Index หรือ GI) โดยที่ประเทศไทยถูกจัดว่ามี "ความเสี่ยงในการคอร์รัปชันสูงมาก" ในภาคส่วนกองทัพและความมั่นคง

องค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลระบุว่าประเทศไทยถูกจัดอยู่ "กลุ่ม E" (จากกลุ่ม A-F เรียงจากดีที่สุดคือ A ไปแย่ที่สุดคือ F) คืออยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงมากในการทุจริตคอร์รัปชันในภาคส่วนของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคง เนื่องจากตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค. 2557 ก็ไม่มีหน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนโยบายของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่มีความโปร่งใสในเรื่องงบประมาณ และไม่มีมาตรการตรวจสอบในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างเลย

รายงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลนำเสนอต่อไปว่า ถึงแม้หน่วยงานที่มีอยู่อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แต่หน่วยงานนี้ก็ไม่มีอิทธิพลมากพอในการยับยั้งความฉ้อฉลของกองทัพเช่นการเพิ่มชึ้นของอาชญากรรมจากผู้มีอิทธิพลในภาคใต้หรือกรณี "ทหารที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง" 

เมื่อพิจารณาจากเรื่องเหล่านี้แล้วการทุจริตของกองทัพไม่เพียงส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศเท่านั้นแต่ยังเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเองในสายตาของประชาชนชาวไทยด้วย ทางองค์กรจึงแนะนำให้ภาคส่วนความมั่นคงของไทยต้องปฏิรูปตัวเองอย่างเร่งด่วนเพื่อลดความเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชัน

องค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลให้คำแนะนำต่อรัฐบาลไทย 3 ข้อหลัก หนึ่ง คือการตั้งองค์กรตรวจสอบที่มาจากภาคพลเรือนเพื่อตรวจสอบนโยบายและงบประมาณของกองทัพ สอง คือการกำจัดอาชญากรรมจากผู้มีอิทธิพลในกองทัพ และสาม คือการวางเกณฑ์กำหนดที่ชัดเจนในการเลื่อนขั้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเล่นพรรคเล่นพวก

ในรายงานขยายความในคำแนะนำข้อที่หนึ่งว่าหลังจากการรัฐประหารปี 2557 ที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญปี 2550 ภาคประชาสังคมไทยมีความสามารถจำกัดมากในการถกเถียงหรือสอบถามถึงข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ โดยปปช.ก็มีอำนาจในการตรวจสอบกองทัพน้อยมาก และไม่มีหน่วยงานภายนอกอื่นๆ สามารถตรวจสอบบัญชีกองทัพได้เลย ไม่มีใครทราบว่าหน่วยงานตรวจสอบบัญชีภายในกองทัพเองทำงานอย่างไร ทางองค์กรเพื่อความโปร่งใสฯ จึงแนะนำให้กองทัพเผยแพร่งบประมาณรายปีรวมถึงรายละเอียดด้านการใช้งบประมาณต่อสาธารณะโดยให้มีการตรวจสอบจากพลเรือนซึ่งจะเป็นการทำให้แน่ใจว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ จะเหมาะสมต่อความต้องการทางยุทธศาสตร์ของประเทศจริง

ข้อเสนอต่อมาคือการกำจัดอาชญากรรมจากผู้มีอิทธิพลในกองทัพ ซึ่งองค์กรเพื่อความโปร่งใสฯระบุว่าบางหน่วยของกองทัพหรือคนบางกลุ่มในกองทัพมีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับกลุ่มอาชญากรจากแก็งค์ผู้มีอิทธิพลถึงแม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานที่หนักแน่นพอในเรื่องนี้ แต่ก็มีหลักฐานหลายอย่างบ่งชี้ว่ากองทัพมีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายอาชญากรรมอย่างยาเสพติด, การค้าประเวณี, การค้ามนุษย์ และบ่อนผิดกฎหมาย ทางองค์กรแนะนำว่าควรทำให้การประกอบกิจการแบบเอกชนโดยทหารหรือคนในหน่วยงานความมั่นคงเป็นเรื่องผิดกฎหมายและพิจารณาให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกับกองทัพมีความอิสระมากกว่านี้

ในข้อเสนอที่สามเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้มีการเล่นพรรคเล่นพวกทางองค์กรระบุว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับเกณพ์การเลื่อนขั้นทหารและหน่วยงานความมั่นคงในไทยน้อยมาก จึงแนะนำให้มีการออกกฎเกณฑ์ที่ทำให้การเลื่อนขั้นเข้มงวดกว่านี้และมีกระบวนการที่โปร่งใสเป็นอิสระและไม่มีความลำเอียงในการแต่งตั้งเลื่อนขั้น โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสเสนอให้มีการระบุถึงคุณสมบัติให้ชัดเจนตามด้วยรายละเอียดของงาน กระบวนการแต่งตั้ง และกระบวนการตรวจสอบอย่างอิสระ

ในแง่การให้คะแนนเป็นร้อยละในแต่ละส่วน องค์กรเพื่อความโปร่งใสสากลให้คะแนนน้อยมากในหลายส่วน เช่นภาคส่วนการเมืองซึ่งหมายถึงกองทัพมีการตรวจสอบนโยบายหรือการออกกฎหมายอย่างเป็นอิสระหรือไม่ ไทยได้คะนนเพียงร้อยละ 16 ในด้านความโปร่งใสของการเงินกองทัพได้ร้อยละ 18  คะแนนความโปร่งใสด้านการปฏิบัติการได้ร้อยละ 20 ความโปร่งใสด้านการจัดซื้อจัดจ้างได้คะแนนร้อยละ 21 ความโปร่งใสด้านบุคคลได้มากกว่าส่วนอื่นแต่ก็ยังไม่เกินครึ่งคือร้อยละ 42

โดยในการตรวจสอบประจำปี 2558 ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม A คือมีความเสี่ยงน้อยมากที่จะเกิดการทุจริตคอร์รัปชันในกองทัพคือนิวซีแลนด์ ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม B คือมีความเสี่ยงน้อยที่จะเกิดทุจริตในกองทัพได้แก่ ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, ไต้หวัน และออสเตรเลีย ในกลุ่ม C คือมีความเสี่ยงปานกลางได้แก่เกาหลีใต้ กลุ่ม D ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่ บังกลาเทศ, อินเดีย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และตูนีเซีย ส่วนประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่ม E เช่นเดียวกับไทยได้แก่ จีน, อิหร่าน, ซาอุดิอาระเบีย, ปากีสถาน เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มที่แย่กว่าไทยจัดอยู่ในระดับ F ได้แก่ พม่า, กัมพูชา, ซีเรีย, เยเมน, อียิปต์, โมรอคโค เป็นต้น

 

เรียบเรียงจาก

รายงาน Government Defence Anti-Corruption Index, Transparency International, 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net