'สมานฉันท์แรงงานไทย' เรียกร้อง คสช. ทบทวนใช้ ม.44 รื้อบอร์ดประกันสังคม

13 พ.ย. 2558 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทบทวนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 40/2558 ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้ยุติบทบาทของคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษา คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ยุติการดำเนินงานเลือกตั้งและสรรหา ที่มีการเตรียมการตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2558 และแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่

รายละเอียด มีดังนี้

แถลงการณ์คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
“หัวใจของการปฏิรูปประกันสังคม” คือ การบริหารจัดการที่เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน

12 พฤศจิกายน 2558

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 40/2558 ให้ยุติบทบาทของคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษา คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ยุติการดำเนินงานเลือกตั้งและสรรหา ที่มีการเตรียมการตามพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2558 และแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ทันที รายละเอียดตามที่สื่อมวลชนรายงานข่าวอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ในฐานะองค์กรแรงงานที่ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และการเสนอกฎหมายเข้าชื่อของประชาชน เพื่อผลักดันให้สำนักงานประกันสังคมมีโครงสร้างการบริหารงานที่เป็นอิสระจากระบบราชการ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน โดยเฉพาะมีการเลือกตั้งผู้แทนผู้ประกันอย่างทั่วถึง มาตั้งแต่ปี 2551 รวมถึงการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันต่างๆ ของสำนักงานประกันสังคมมาจวบจนปัจจุบัน ขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทบทวนคำสั่งฉบับดังกล่าวนี้ ด้วยเหตุผลดังนี้

(1) เมื่อคิดจะปฏิรูประบบประกันสังคมอย่างแท้จริง ในยุคปัจจุบันกิจการของสำนักงานประกันสังคมมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการปรับปรุงการบริหารจัดการให้มีความโปร่งใส มีกระบวนการตรวจสอบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลที่ดีที่สุด เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากผู้ประกันตนและผู้ที่เกี่ยวข้องว่า กิจการมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance)

ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักงานประกันสังคมต้องมีการบริหารงานที่เป็นอิสระจากระบบราชการแต่ยังคงอยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน ที่สามารถกำหนดระเบียบวิธีการในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้เองเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และผู้ประกันตนต้องมีสิทธิในการกำหนดนโยบาย การปฏิบัติ สิทธิประโยชน์ มีส่วนร่วมในการบริหารองค์กร ตรวจสอบ รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ตัดสินใจ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง

(2) พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบประกันสังคมประเทศไทย ที่กำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารงานสำนักงานประกันสังคมได้ ผ่านบทบัญญัติในมาตรา 8 ที่กำหนดไว้ในวรรค 3 ว่า “ให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งเป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด”

กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายเร่งด่วนใน 20 กว่าฉบับที่ คสช. ได้ดำเนินการผลักดันให้มีการออกมาบังคับใช้ ภายหลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ดังจะเห็นได้จากการมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 และต่อมาในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....โดยทันที จนในที่สุดนำมาสู่การบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน ได้ถูกเสนอโดยกระทรวงแรงงานโดยตรงในสมัยอดีตรัฐมนตรีพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ โดยในร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติในช่วงนั้น ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 8 วรรค 2 ว่า “ให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนตามวรรคหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งเป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด” ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2559

(3) หลักการเรื่อง “หนึ่งคนหนึ่งเสียง เลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม” ที่มีการกำหนดองค์ประกอบ กระบวนการได้มา คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ และวาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการประกันสังคม รวมถึงการชี้แจงบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ถือเป็นหลักประกันชัดเจนให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสม และไม่มีส่วนได้เสียในกิจกรรมที่กระทำกับสำนักงานทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เพื่อทำให้กองทุนประกันสังคมมีความรับผิดชอบต่อผู้ประกันตนและกองทุนบำนาญชราภาพมีเสถียรภาพ จึงควรเดินหน้าให้มีการเลือกคั้งตัวแทนผู้ประกันตนตามกำหนดการเดิม แทนที่จะมีการแต่งตั้งจากวงจำกัดเช่นนี้

(4) แม้การเลือกตั้งจะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายที่สูง แต่ก็เป็นเรื่องของหลักการตามระบียบกฎหมายประกันสังคม ในกรณีนี้เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2558 นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้กล่าวกับสื่อมวลชนโดยตรงตอนหนึ่งว่า "สำหรับระเบียบกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งคณะอนุกรรมการจัดทำร่างกฎหมายลูก มีข้อสรุปให้ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง แบบเดียวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) คาดว่าใช้งบประมาณ 1 พันล้านบาท โดยบอร์ด สปส.เห็นชอบแล้ว ตอนนี้อยู่ในระหว่างให้ รมว.แรงงาน พิจารณาว่าควรดำเนินการอย่างไร"

ดังนั้น เพื่อให้นำไปสู่การปฏิรูประบบประกันสังคมตามที่ คสช.ตั้งใจไว้ และเป็นประโยชน์แก่นายจ้าง ผู้ประกันตน และสังคมส่วนรวมมากที่สุด จึงจำเป็นทบทวนคำสั่งดังกล่าว เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีส่วนร่วมในการบริหารกองทุน ตลอดจนตรวจสอบการบริหารกองทุนมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท