Skip to main content
sharethis

สมชัย ภัทรธนานันท์ เป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาลัยมหาสารคาม (มมส.) ผู้ซึ่งศึกษาประวัติศาสตร์อีสานและเคยทำวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของขบวนการเสื้อแดงในภาคอีสาน นอกจากนี้เขายังมีผลงานบทความวิชาการ อาทิ บทความเรื่อง การเมืองของสังคมหลังชาวนา: เงื่อนไขการก่อตัวของคนเสื้อแดงในภาคอีสาน (แปล) ในวารสารฟ้าเดียวกัน (ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2555), บทความเรื่อง ครอง จันดาวงศ์ กับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของชาวนาอีสาน ในวารสารบัณฑิตอาสาสมัคร (ปีที่ 11   ฉบับที่ 1 กรกฎาคม-ธันวาคม 2557), บทความวิชาการเรื่อง การสร้างรัฐประชาชาติไทยกับการต่อสู้ด้วยอาวุธของชาวนาอีสาน: กรณีบ้านนาบัว จังหวัดนครพนม ในรัฐศาสตร์สาร ปีที่ 36 ฉบับที่1 (มกราคม-เมษายน 2558)

ประชาไทชวนอ่านการพูดคุยถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้

อีสานเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจมากในทางการเมือง อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าประวัติศาสตร์ 'ขบถ' ของที่นี่

ศูนย์กลางของการต่อต้านรัฐบาลที่กรุงเทพฯ อยู่ที่อีสานนี่แหละ ถ้าเราจะทำความเข้าใจตรงนี้เราต้องดูประวัติศาสตร์ค่อนข้างยาวนาน จุดแรกที่เห็นความขัดแย้งชัดเจนคือ ตอนที่เกิดกบฏผีบุญสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนที่เกิดกบฏผีบุญ มีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อีสานซึ่งเป็นลาวถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย พูดง่ายๆ คือเอาคนลาวมาเป็นคนไทย ทีนี้เมื่อเอาคนลาวมาเป็นคนไทยแล้วการควบคุมก็มีมากขึ้น มีการบังคับเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก่อนหน้านี้อีสานก็ส่งส่วยให้กรุงเทพฯ แต่ว่าระบบการส่งส่วยไม่มีประสิทธิภาพ มีการค้างส่ง ไม่ส่งก็ไม่เป็นไร เพราะตอนนั้นเป้าหมายคือให้หัวเมืองเหล่านี้จงรักภักดีก็โอเคแล้ว อย่าไปจงรักภักดีต่อลาว แต่พอรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ระบบการเก็บส่วยมีประสิทธิภาพ บังคับเก็บ ทีนี้ก็เกิดความเดือดร้อน เมื่อเกิดความเดือดร้อนขึ้นก็นำไปสู่การต่อต้าน นี่เป็นจุดเริ่มของกระบวนการต่อต้าน 

จากกบฏผีบุญเป็นต้นมา พอมาถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีการเลือกตั้ง มี ส.ส.ได้ เราเห็นช่องทางใหม่ของการแสดงออกถึงความไม่พอใจของอีสานต่อรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ความไม่พอใจนั้นอยู่บนพื้นฐานที่ว่ามีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างอีสานกับกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ไม่ได้ปฏิบัติต่อคนอีสานแบบที่เป็นธรรม ยุติธรรม 

ดินแดนนี้เป็นดินแดนที่ถูกปล่อยปละละเลย ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในดินแดนนี้มีน้อยมาก นอกจากการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ มายังหัวเมืองสำคัญๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการควบคุม เป็นการเชื่อมเอาหัวเมืองพวกนี้ให้กรุงเทพฯ ควบคุมได้ง่ายขึ้น ทีนี้ความยากจนของคนอีสาน สภาพความไม่เท่าเทียมกันมันปรากฏค่อนข้างชัดเจน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม คนที่จะมาเป็นปากเป็นเสียงแทนในยุคสมัยที่มีการเลือกตั้ง ก็คือ ส.ส. คนพวกนี้อยู่บนพื้นฐานของการมองว่ามันมีความต่างกันเยอะ ส.ส.กลุ่มนี้ไปเห็นภาพกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นเขาจะมองเปรียบเทียบชัดเจนมาก แต่เวลาเขาเรียกร้องต่อสู้ เขาไม่ได้ระบุแค่เฉพาะภาคอีสาน แต่พูดถึงชนบทโดยรวม นายเตียง ศิริขันธ์ และคนอื่นๆ เวลาเขาอภิปรายในสภา เขาพูดถึงการจัดสรรงบประมาณไปสู่ชนบท แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท เขาไม่ได้พูดถึงเรื่องภาค แต่เรื่องภาคก็ไม่ใช่ไม่มี ส.ส.มาจากจังหวัดไหนก็จะพูดถึงจังหวัดนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่พอพูดถึงหลักการเขาจะพูดถึงลักษณะรวม จะไม่พูดถึงลักษณะแยก

ประเด็นก็คือว่า ควรจะจัดสรรงบประมาณให้ชนบทก่อน หรือจะจัดสรรให้กองทัพ นี่เป็นประเด็นสำคัญ เพราะในสมัยนั้น รัฐบาลทหารปกครองเป็นส่วนใหญ่ หลังจากนั้นมา จอมพล ป. เลือกตั้งได้พักหนึ่งก็เกิดกบฏบวรเดช ต่อมา จอมพล ป. ขึ้น ถึงมีการเลือกตั้ง จอมพล ป.ก็เป็นทหารก็เอางบเข้ากลาโหมเยอะ เกิดความขัดแย้งกับ ส.ส.อีสานกลุ่มนี้ในแง่ที่ว่าควรจะจัดสรรเพื่อพัฒนาชนบทก่อน แต่ทหารก็พัฒนากองทัพก่อน

ทีนี้ทหารอยู่บนพื้นฐานของการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าการจัดสรรงบประมาณจะยุติธรรมขึ้นก็ต้องเอาทหารออกจากอำนาจ นั่นก็คือผลักดันให้ประเด็นที่เขาเรียกร้องเรื่องความอยู่ดีกินดีของประชาชนไปผูกกับเรื่องประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นเราจะเห็น ส.ส.อีสานกลุ่มนี้ แอคทีฟเรื่องประชาธิปไตย เขาจะเป็นหัวหอกในการชนกับทหาร เพราะสองเรื่องมันถูกมองผูกเข้าด้วยกัน การต่อสู้ในช่วงนั้นส่วนใหญ่คนจะพูดว่าเป็นเรื่องภูมิภาคนิยม แต่ผมมองว่าไม่ใช่ มันเป็นการต่อสู้ หนึ่ง เพื่อความยุติธรรมโดยรวม สอง เขามองว่าการต่อสู้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม มันต้องมาผูกกับประชาธิปไตย ประเทศไทยต้องมีประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น ส.ส.พวกนี้มักจะด่าว่าคุณมันเป็นเผด็จการฟาสซิสต์ เหมือนฮิตเลอร์ เหมือนมุสโสลินี เหมือนโตโจ เพราะเขาต้องการให้เป็นประชาธิปไตย นี่เป็นประเด็นที่สำคัญของความขัดแย้งระหว่าง ส.ส.อีสานกลุ่มนี้กับทางกรุงเทพฯ 

มันยังมีอีกประเด็นหนึ่งคือความขัดแย้งที่มองไปถึงชาวบ้านที่อยู่ในภาคอีสาน แต่ก่อนเป็นลาว รัชกาลที่ 5 มาประกาศว่าให้เป็นไทย และให้เปลี่ยนสถานะเป็นไทยด้วย ในสำเนาทะเบียนบ้านก็ต้องเป็นเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย แต่ก่อนเป็นลาว เป็นขมุ เป็นญ้อ เป็นโซ่ แต่ไม่มีเป็นไทย ทีนี้ก็เปลี่ยนให้เป็นพลเมืองของชาติไทยหมด ถึงแม้จะประกาศอย่างนี้ แต่ว่ากลไกในการเข้าไปควบคุมชาวบ้านในระดับหมู่บ้านที่ห่างไกลมันไม่ค่อยมีในสมัยนั้น รัฐเข้าไปไม่ถึงชาวบ้าน เพราะฉะนั้น การควบคุมของรัฐหรือว่าการเปลี่ยนความคิดของประชาชนนั้นทำได้ในขอบเขตที่จำกัด ทำได้เฉพาะในตัวเมือง ความเป็นลาวดำรงอยู่ค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น เขาจะมีความรู้สึกแตกต่างจากกรุงเทพฯ แม้กระทั่งภาษาพูด ในโรงเรียนสมัยรุ่นผมครูยังสอนหรืออธิบายด้วยภาษาลาว แต่เวลาพาอ่าน อ่านเป็นภาษาไทย ที่ตลกคือไปดูคลิปเพลงเก่าๆ จะมีการล้อว่า คนอีสานพูดไทยไม่ชัด พูดไม่ถูก นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดความขัดแย้งกับรัฐไทย

นอกจากนี้เราต้องดูไปถึงความขัดแย้งในภูมิภาคอินโดจีน ขบวนการที่ต่อต้านฝรั่งเศส ต่อต้านอเมริกา ซึ่งก็มามีความสัมพันธ์กับคนอีสาน มีขบวนการเหล่านั้นมาชักชวนคนลาวที่อยู่ในภาคอีสานให้ไปช่วยรบทางฝั่งนู้น แล้วก็มีคนไปจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะชาวบ้าน ข้าราชการก็ไปเยอะ นักการเมืองก็มี เร็วๆ นี้ก็มีพระชั้นผู้ใหญ่ของลาวที่เพิ่งเสียชีวิตเมื่ออาทิตย์ก่อน เกิดในประเทศไทย อยู่กรุงเทพฯ เป็นสิบปี แล้วก็ตัดสินใจข้ามไปฝั่งนู้น ช่วยรบจนกระทั่งสำเร็จก็กลายเป็นพระผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการกลางของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว เพราะฉะนั้น ความรู้สึกมันค่อนข้างเข้มข้น พอคนพวกนี้ไปช่วยรบ ทางรัฐบาลไทยกลับมองว่า คนพวกนี้เป็นคนไทยแต่ดันไปร่วมกับขบวนการประเทศลาว ช่วยประเทศลาว มีความคิดที่จะก่อกบฏ เพราะเขาบอกว่าลาวแดง ลาวคอมมิวนิสต์มีแผนจะแบ่งแยกภาคอีสาน เพราะฉะนั้น ชาวบ้านที่ไปช่วยรบก็เป็น "กบฏต่อแผ่นดิน" ความคิดนี้สำคัญ เกิดสมัยจอมพลสฤษดิ์ แต่มันเริ่มมาตั้งแต่ช่วงสมัยจอมพล ป. ปี 2492-93 จอมพล ป. เปลี่ยนนโยบายจากที่ต่อต้านฝรั่งเศสไปยอมรับรัฐบาลที่จัดตั้งโดยฝรั่งเศสในเวียดนาม คือไปยอมรับรัฐบาลเบ๋าได๋ซึ่งเป็นรัฐบาลหุ่นที่เขาจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแข่งกับรัฐบาลของโฮจิมินห์ เพราะสหรัฐอเมริการู้ว่าถ้าเลือกตั้ง คนเวียดนามเลือกโฮจิมินห์ โฮจิมินห์ก็จะเป็นประธานาธิบดีของเวียดนาม ปกครองเวียดนามทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นก็เลยเบี้ยวด้วยการไม่ยอมรับการเลือกตั้งนั้น และอุปโลกน์เบ๋าได๋ซึ่งเป็นอดีตจักรพรรดิให้มาเป็นประธานาธิบดี 

ทีนี้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มา ไทยขัดแย้งกับฝรั่งเศสเรื่องดินแดนในอินโดจีน เคยรบกันและแพ้ จอมพล ป.สนับสนุนขบวนการกู้ชาติในอินโดจีนโดยตลอด ให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ให้พักพิง ให้อาวุธ ทุนช่วยเหลือ เพื่อสู้กับฝรั่งเศส แต่พอหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สถานการณ์เปลี่ยนแปลง สหรัฐอเมริกาเข้ามาเกลี้ยกล่อมจอมพล ป. ว่าจะให้ความช่วยเหลือ แต่ต้องเปลี่ยนนโยบาย ในรัฐบาลไทยคณะรัฐมนตรีก็เถียงกันว่าถ้ายอมรับแบบนั้นก็หมายความว่าเราสละดินแดนที่อยู่ในเขมร ในลาวตลอดไป เพราะไทยประกาศอ้างว่าขัดแย้งกับฝรั่งเศส แต่ถ้าเปลี่ยนนโยบายใหม่ว่าไม่ต่อต้านพวกนั้นแล้วก็ต้องยอมว่าไม่ได้คืนแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาใฝ่ฝันมาตลอดว่าจะไปเอาคืน แต่เมื่อชั่งน้ำหนักกันแล้ว ผลสุดท้ายก็ยอม และเปลี่ยนนโยบาย พอเปลี่ยนนโยบายปุ๊บก็ขับไล่พวกกู้ชาติที่อยู่ในประเทศไทยให้ออกไป แล้วก็เริ่มมองว่าใครที่ไปสนับสนุนพวกกู้ชาติเป็นศัตรู ก็เริ่มตั้งข้อหาว่าเป็นกบฏต่อแผ่นดิน นายเตียงก็โดน ชาวบ้านก็โดนในฐานะผู้สนับสนุนนายเตียง 

ข้อกล่าวหาว่าเป็นกบฏต่อแผ่นดิน แบ่งแยกดินแดน เป็นข้อกล่าวหา ส.ส.อีสานกลุ่มนี้เพราะว่าไปสนับสนุนขบวนการประเทศลาว ซึ่งเกิดขึ้นจริง อ.ปรีดี ก็ทำ เป็นสันนิบาตเอเชียอาคเนย์  ซึ่งรวมเอาหมดทั้งตัวแทนจากเขมร เวียดนาม ลาว ไทย แต่พอเกิดรัฐประหาร 2492 จอมพล ป.ก็ยุบ หลังจากนั้นมาเริ่มมีการตั้งข้อหาพวกที่ไปร่วมมือเป็นกบฏ ชาวบ้านที่ไปสนับสนุนก็เป็นกบฏตามไปด้วย ในสมัยจอมพล ป.ยังไม่มีการกวาดจับพวกนี้เท่าไร พอสมัยจอมพลสฤษดิ์ถึงเริ่มมีการกวาดจับโดยเฉพาะช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์สำคัญในประเทศลาวคือมีนายทหารหนุ่มคนหนึ่งของลาว ปี 2504 ยึดอำนาจที่เวียงจันทน์ได้ เขาไม่ใช่คอมมิวนิสต์แต่เขาไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมกับสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นเขาประกาศจะตั้งรัฐบาลที่เป็นกลาง เอาทุกฝ่ายในลาวที่ขัดแย้งกันอยู่มาจัดตั้งรัฐบาล เชิญขบวนการประเทศลาวซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์มาจัดตั้งด้วย สฤษดิ์เห็นว่านั่นเป็นอันตรายเพราะคิดว่านั่นคือคอมมิวนิสต์เข้ามายึดครองประเทศลาวแล้ว ต่อมาก็จะคุกคามภาคอีสาน เลยทำให้ภาคอีสานเป็นปัญหาที่เป็นความเป็นความตายของประเทศไทย  เพราะฉะนั้นต้องป้องกันอย่างเต็มที่คือส่งกำลังเข้ามากวาดล้างกลุ่มคนที่เคยสนับสนุนขบวนการประเทศลาว และเคยสนับสนุนนายเตียง ศิริขันธ์ รวมทั้งครูครอง จันดาวงศ์

ปี 2504 มีการกวาดจับแล้วก็ประหารชีวิตครูครอง ชาวบ้านถูกจับไปพันกว่าคน นี่ก็เป็นสาเหตุของความขัดแย้งที่นำไปสู่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ทำให้เขาสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ซึ่งมาจากกรุงเทพฯ มาอยู่ในป่า

เพราะฉะนั้น ความขัดแย้งระหว่างอีสานกับรัฐบาลไทยมีมาโดยตลอด มีทั้งความขัดแย้งที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันภายในประเทศ และไปโยงกับความขัดแย้งในอินโดจีน สองอย่างนี้ผสมกันเข้า พัฒนาไปทำให้ พคท.ขยายตัวและเติบโตมากที่สุดในภาคอีสาน 

ชาวบ้านเข้าร่วม พคท.เยอะไหมในยุคนั้น

เป็นบริเวณ เข้าร่วมเยอะในบริเวณที่เขาเพ่งเล็งมากในสมัยนั้นคือใกล้กับแม่น้ำโขงแถวภูพาน แล้วก็เป็นบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวตั้งแต่สมัยนายเตียง สมัยครูครอง สมัยเสรีไทย คือเขามองว่าพวกเสรีไทยนี่แหละที่เป็นผู้นำในการก่อกบฏ แต่เนื่องจาก พคท.เคลื่อนไหวเฉพาะคนที่อยู่ในเขตป่าและภูเขา ในพื้นราบและที่ห่างไกลจากป่าเขาอยู่ได้ไม่นาน ถูกจับ ถูกปราบ หลังจากถูกสฤษดิ์กวาดใหญ่ ไม่มีที่หลบซ่อนก็เข้าไปอยู่ในป่า เขาก็ทำแต่เฉพาะบริเวณหมู่บ้านที่อยู่ใกล้กับป่า แล้วแถวภูพานก็จะมีชาวบ้านอยู่บนภูเขา อยู่ในป่า เพราะว่าเขาอยู่ในป่าฝั่งนู้น ข้ามมาป่าฝั่งนี้ก็หาป่าอยู่ พคท.จึงได้ชาวบ้านพวกนั้น เนื่องจากมันทั้งอยู่ห่างไกลแล้วก็รัฐบาลจับฆ่าอย่างทารุณ สงสัยก็ฆ่า บางแห่งก็เผาบ้าน ก็เลยทำให้คนเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเยอะ แถวสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อุบลส่วนเหนือ จะเยอะ

ความขัดแย้งในอดีตนั้นมีความต่อเนื่อง ส่งต่อสืบมาจนถึงปัจจุบันแค่ไหน อย่างไร

ความขัดแย้งนั่นก็เป็นอันนึง ทีนี้ถ้ามองว่าแล้วความขัดแย้งในช่วงนั้นต่อมาถึงช่วงนี้อย่างไร

ภาคอีสานมีลักษณะเด่นอย่างหนึ่งคือ ส.ส.สังคมนิยมจะชนะเลือกตั้งเกือบทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2500 สมัยที่จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจจากจอมพล ป. แล้วก็มีการเลือกตั้ง จะมี ส.ส.สังคมนิยมชนะในภาคอีสาน พอมาปี 2501 ก็เหมือนกัน พอมาหลัง 14 ตุลา 2516 ส่วนใหญ่ ส.ส.สังคมนิยมชนะเลือกตั้งในภาคอีสานส่วนหนึ่งเคยสมัครเลือกตั้งปี 2500 เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ปรีดี ลูกศิษย์ของนายเตียง ส่วนหนึ่งก็เป็นคนรุ่นใหม่ รุ่น 14 ตุลา ประยงค์ มูลสาร อุดร ทองน้อย เป็นคนรุ่นเดียวกันกับพวกที่ถูกจับใน 14 ตุลา เช่น วิสา คัญทัพ, ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ พวกชำนิชนะเลือกตั้งในภาคใต้ แต่ ส.ส.แนวสังคมนิยมส่วนใหญ่ชนะในภาคอีสาน 

ทำไมคนอีสาน (ตอนนั้น) นิยมแนวคิดสังคมนิยม

ความคิดเรื่องสังคมนิยมในภาคอีสานมันมีมาอย่างน้อยก็ต่อเนื่องมาจนถึงหลัง 14 ตุลา คือเขาไม่กลัวพรรคสังคมนิยม เพราะเวลาหาเสียง นโยบายของพรรคสังคมนิยมก็จะพูดถึงความยากจน ความยุติธรรม ความเท่าเทียม เป็นประเด็นที่คนสื่อถึงได้ แม้กระทั่งเรื่องการเลือกปฏิบัติ การดูถูกของคนกรุงเทพฯ ต่อคนอีสานก็เป็นเรื่องที่เห็นกันอยู่ จนหลัง  14 ตุลา ก็ยังเห็นชัดเจน ประวัติเรื่องนายเตียงและคนอื่นๆ ในหมู่คนบางส่วนในอีสานก็รู้เรื่องนี้ อย่างครูมัธยมของผมจะพูดเรื่องการฆ่าสี่รัฐมนตรีให้ฟังเลย มันยังเป็นประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงถึงกัน 

และในอีสานมมีความเชื่ออย่างหนึ่งเรื่องโลกพระศรีอาริย์ ก็เหมือนที่ อ.ปรีดีเขียนว่าถ้าใช้เค้าโครงเศรษฐกิจแล้วสุดท้ายจะไปถึงโลกพระศรีอาริย์ เพราะเรื่องโลกพระศรีอาริย์ก็คือคนเท่าเทียมกันหมด มันคล้ายๆ สังคมนิยม คนมีความเชื่อเรื่องนี้มากว่าเป็นตามพุทธทำนาย อยู่ในเทศน์มหาชาติที่จะพูดถึงเรื่องพระมาลัย ไตรภูมิ พอโลกสุดท้ายจะเป็นโลกที่ทุกคนไม่กดขี่ข่มเหงกัน เท่าเทียมกัน ในทางอีสานพุทธแบบลาวเชื่อเรื่องพวกนี้มาก 

ในสมัยผม หมอธรรม ซึ่งเป็นเหมือนผู้รู้ เข้าใจธรรมะลึกซึ้งจะพูดเรื่องนี้กันแบบไม่ต้องปรับจูนคลื่นเลย สมัยผมเป็นนักศึกษาก็ออกไปตามหมู่บ้าน ไปที่โคราช พูดเรื่องความเป็นธรรม ความเสมอภาค เขาก็เอาโลกพระศรีอาริย์มาเทียบ เขาบอกว่ามันอันเดียวกัน เรียกว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับและเข้าใจกันโดยไม่ต้องอธิบาย ความคิดแบบนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ยอมรับเรื่องสังคมนิยมได้ง่าย เวลาคุณพูดเรื่องสังคมนิยม เขาตีความปั๊บ มันจะรับกันทันที ถ้าคุณเข้ามาในโหมดนี้มันจะจูนกันได้ กบฏผีบุญก็ใช้แนวคิดแบบนี้ พูดถึงโลกที่เท่าเทียม ไม่มีการกดขี่ข่มเหงกัน สิ่งเหล่านี้สืบทอดมา เราเห็นมาจนกระทั่งถึงอย่างน้อยหลัง 14 ตุลา แต่เรื่องความขัดแย้งสู้ด้วยอาวุธก็มาถึงช่วง 2526 ก็ยังมี เพราะฉะนั้นมันก็มีอะไรหลายอย่างที่เกาะเกี่ยวกันมา 

ทีนี้สิ่งหนึ่งที่เป็นลักษณะเด่นของภาคอีสานคือ การประท้วงเกิดขึ้นในภาคนี้เยอะ ไม่ว่ายุคไหนก็หาคนไปประท้วงได้ ยุค พคท.ก็จับอาวุธต่อสู้ ยุคสมัชชาคนจน สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน ก็คนอีสานเป็นส่วนใหญ่ แถมถ้าดูผู้นำในภาคกลาง ผู้นำในภาคเหนือก็มักเป็นผู้ที่อพยพไปจากภาคอีสาน ผมคิดว่ามันมีประวัติศาสตร์การต่อสู้อะไรพวกนี้อยู่ ส่วนหนึ่งมันมีส่วนที่ถ่ายทอดสืบเนื่องกันไปอยู่ ทำให้จนมาถึงมีเสื้อแดงก็มีคนอีสานไปเยอะ การออกไปอย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องที่รู้สึกว่ายากมากจนเกินไป 

แต่ปมที่ลึกไปกว่านั้นคือ ปมเรื่องเขาเป็นคนที่ยากจนกว่าใคร เวลาพูดประเด็นเรื่องนี้มันมีอยู่ เหมือนสมัชชาคนจนที่ประเด็นก็คือปัญหาเริ่มจากจะถูกขับไล่ออกจากที่ทำกิน เหมือนที่เขาทวงคืนผืนป่า น้ำท่วมบ้านจากเขื่อน ปัญหาเหล่านี้มันทำให้เกิดการต่อสู้ บวกกับสิ่งที่ดำรงอยู่ก่อนหน้านั้นเป็นเหมือนมรดกตกทอดทางการเมืองมาบวกกับความยากจน คนรุ่นก่อนก็เป็นเรื่องความยากจนที่เป็นตัวทำให้ ส.ส. ต้องออกไปพูดแบบนั้น แต่พอพูดแบบนั้นแล้วถูกจับ ถูกฆ่าก็เป็นเรื่องการเมือง ก็เลยผสมกัน 

ถ้ามองอย่างนี้แล้ว ตัวเส้นที่เป็นเรื่องดึงมาตลอดทุกยุคสมัยของอีสาน คือความยากจน ความไม่เท่าเทียม เพราะเสื้อแดงก็พูดเรื่องความไม่เท่าเทียม รู้อยู่ว่าตัวเองไม่เท่าคนอื่น มองเห็นโอกาสที่จะได้ แต่ก็ถูกตัด แม้ว่าหลังๆ พูดเรื่องสองมาตรฐาน เรื่องการเมือง แต่มันก็โยงกับเรื่องความไม่เท่าเทียม

คือพูดง่ายๆ ว่าเมื่อพูดเรื่องความยากจนมันสื่อกับคนอีสานง่าย เรื่องความไม่เท่าเทียมมันเป็นประสบการณ์ของชีวิต

พูดถึงคนที่มีอายุหน่อยอาจใช่ แต่คิดว่าคนรุ่นใหม่ยังรู้สึกแบบนั้นอยู่ไหม

คนรุ่นใหม่ก็จะต่างไปอีก อายุสิบกว่ายี่สิบ สังคมเปลี่ยนค่อนข้างเยอะ คือสภาพชีวิตความเป็นอยู่ไม่ถึงกับว่าไม่จน แต่ก็จนในอีกมิติหนึ่งที่มีสิ่งที่ปลอบประโลมใจคุณได้ สมัยผมเดินไปโรงเรียนซึ่งห่างจากบ้านหนึ่งกิโลเมตร แดดออกก็ไป ฝนตกก็ไป ใครๆ ก็เดินทั้งนั้น ไม่ใส่รองเท้า ก็ธรรมดา เพราะเกิดมาก็ไม่ใส่อยู่แล้ว ไม่มีทีวีดู ไม่มีสิ่งบันเทิงอื่นๆ หน้าร้อนไม่มีน้ำใช้ ไปรอน้ำที่บ่อ เจ็บไข้ได้ป่วยไม่มีหมอ แต่ว่าสมัยใหม่ คุณก็มีไฟฟ้าใช้ มีตู้เย็นใช้ คุณผ่อนได้ คุณมีรายได้และรายจ่ายมากขึ้น ไม่ใช่ว่าพ้นจากความยากจน แต่จนอีกมิติหนึ่ง ก็เหมือนคนในเมือง ไม่ใช่ว่าจะไปวัดว่าคุณมีตู้เย็น มีมอเตอร์ไซค์ขี่ มีทีวีดู เท่ากับคุณไม่จน แบบนี้ในเมืองก็ไม่มีคนจน แต่ที่ต่างไปคือความบันเทิงใจ ชีวิตมันหลากหลายขึ้น มีมือถือให้ใช้ มันเหมือนกับว่าคุณซื้อเวลาได้เป็นวันก็มี หมายความว่าทุกวันนี้ไม่ต้องรอปีหนึ่งขายข้าวถึงจะได้ตังค์ไปซื้อกางเกงใหม่ตัวนึง แต่นี่มันเป็นรายวัน รายสัปดาห์ คนงานก่อสร้างอาทิตย์หนึ่งตังค์ก็ออกแล้ว พอมันเป็นอย่างนี้ความรู้สึกคนก็ต่างออกไป เดี๋ยวนี้คุณก็มีมือถือ ได้ดูทีวี เข้าร้านเกม ไปไหนก็ไม่ต้องเดินตากแดด อย่างน้อยก็ไปซื้อมอเตอร์ไซค์มือสอง มือสามมา

สังคมทุนนิยมสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาและแยกคนออกจากกันได้มีประสิทธิภาพ เอาคนไปไว้กับวัตถุ คุณไม่เหงาเลย มันไม่เดือดร้อนเลยที่จะไม่เจอใครเลย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net