Skip to main content
sharethis

ขณะฝรั่งเศสประกาศสงครามกับกลุ่มไอซิสและดำเนินการตอบโต้ด้วยกำลังอาวุธ นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการกระทำเช่นนี้จะสร้างความล้มเหลวแบบซ้ำรอยเดิมในการปราบปรามการก่อการร้าย ส่วนหนึ่งมองว่าอาจจะเข้าทางสิ่งที่กลุ่มก่อการร้ายต้องการ และจะกลายเป็นการสร้างเหยื่อเพิ่มคือกลุ่มประชาชนนิกายซุนนีซึ่งโดนกดขี่จากกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้อยู่แล้ว

ในเว็บไซต์ของ มาร์ค เจอเกนส์ไมเออร์ ศาตราจารย์ด้านสังคมวิทยาและผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านศาสนศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตา บาร์บารา ระบุถึงสาเหตุที่กลุ่มไอซิสหรือไอเอสก่อเหตุสะเทือนขวัญรอบล่าสุด โดยเจอเกนส์ไมเออร์ชี้ว่าไอซิสเองก็กำลังประสบปัญหาจากการพยายามครอบครองพื้นที่ในซีเรียและอิรัก

เจอเกนส์ไมเออร์ชี้ว่าสาเหตุที่ไอซิสเริ่มปฏิบัติการก่อการร้ายอย่างอุกฉกรรจ์อีกครั้งเพราะต้องการแสดงออกให้เห็นว่าพวกตนมีพลังอำนาจทั้งที่จริงๆ แล้วพวกเขากำลังอยู่ในสภาวะเสียเปรียบในภูมิภาคทั้งจากการเสียดินแดนที่ยึดครองให้กับกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ตและชาวยาซิดีรวมถึงถูกตัดขาดช่องทางการส่งเสบียงระหว่างเมืองต่างๆ ทำให้พวกเขาต้องแสดงอำนาจเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ที่สนับสนุนพวกเขาและดึงดูดคนเข้าร่วมใหม่ๆ รวมถึงเป็นการพยายามข่มขู่คุกคามพวกที่ไอซิสมองเป็นศัตรูไปในตัวด้วย

การตอบโต้แบบกลัว 'อิสลาม' ยิ่งเข้าทางไอซิส

นอกจากนี้เจอเกนส์ไมเออร์ยังมองอีกว่าถ้าหากพวกไอซิสสามารถหลอกล่อให้ฝรั่งเศสและชาติตะวันตกอื่นๆ สู้รบกับพวกเขาได้สำเร็จก็จะเป็นการแสดงให้เห็นภาพลักษณ์ว่า "พวกชาติตะวันตกทำตัวเป็นผู้ทำสงครามศาสนาต่อต้านอิสลาม" ซึ่งเป็นภาพลักษณ์แบบที่พวกเขาต้องการให้คนอื่นมอง ถึงแม้ว่าไอซิสจะเป็นผู้ก่อการร้ายที่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในโลกยังเกลียดชังก็ตาม แต่ไอซิสอาศัยฐานการเกณฑ์คนมาจากความเกลียดชังชาติตะวันตกในหมู่คนหนุ่มสาวชาวมุสลิมถึงแม้ว่าในยุคหลังๆ มานี้ กลุ่มไอซิสจะสามารถดึงดูดคนหนุ่มสาวชาวมุสลิมได้น้อยลงแล้วก็ตาม

"ดังนั้นแล้วการโต้ตอบพวกไอซิสถึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง การโต้ตอบแบบปฏิกิริยาหวาดกลัวอิสลามและกล่าวหาว่าศาสนาอิสลามทำให้เกิดความรุนแรงจะยิ่งกลายเป็นการช่วยเหลือพวกไอซิสโดยการโดดเดี่ยวชาวมุสลิมทำให้แนวคิดว่าโลกอิสลามกำลังถูกล้อมและต้องมีคนคุ้มกันเข้มข้นขึ้น" เจอเกนส์ไมเออร์ระบุในบทความ

เจอเกนส์ไมเออร์วิจารณ์อีกว่าการกีดกันผู้ลี้ภัยชาวซีเรียซึ่งเป็นเหยื่อจากการรุกรานของไอซิสจะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ตะวันตกดูเหมือนเป็นผู้ต่อต้านชาวมุสลิม และการใช้ปฏิบัติการทางทหารก็จะทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิมมาก โดยการที่ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศสประกาศว่าไอซิสกำลังทำสงครามกับฝรั่งเศสถือเป็นเรื่องที่เข้าทางผลประโยชน์ของพวกไอซิส โดยไอซิสต้องการให้ชาวมุสลิมนิกายซุนนีในพื้นที่ซีเรียและอิรักหันมาสนับสนุนพวกเขา แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าชาวนิกายซุนนีหันมาต่อต้านไอซิสก็จะส่งผลเสียต่อไอซิสเอง

แก้ปัญหาที่การเมืองในซีเซียและอิรัก

"มันถึงเวลาแล้วที่จะต่อสู้กับไอซิสแต่ไม่ใช่ด้วยปฏิบัติการทางทหารซึ่งจะทำให้ไอซิสได้รับการสนับสนุนมากขึ้น มันถึงเวลาแล้วที่จะทำให้ไอซิสพ่ายแพ้โดยการตัดการสนับสนุนด้วยการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในซีเรียและอิรัก" เจอเกนส์ไมเออร์ระบุในบทความ

ทางด้านเจสัน บูร์ก นักข่าวต่างประเทศของเดอะการ์เดียนมองว่าการก่อเหตุของไอซิสในช่วงที่ผ่านมาเป็นความพยายาม "ขยายปฏิบัติการไปทั่วโลก"

บูร์กและเจอเกนส์ไมเออร์มองตรงกันว่าการใช้กำลังทางการทหารของชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ กับกลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลางตั้งแต่หลังการโจมตี 9/11 เป็นต้นมา ส่งผลให้เกิดการทำให้คนกลายเป็นพวกหัวรุนแรงมากขึ้น (radicalisation) ทำให้มีคนเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะฮ์ ซึ่งต่อมาส่วนหนึ่งของอัลกออิดะฮ์แยกตัวออกมาเป็นกลุ่มไอซิสซึ่งมีความสุดโต่งมากกว่าแต่ก็มีเป้าหมายในทิศทางเดียวกับอัลกออิดะฮ์

ถึงแม้พวกไอซิสจะดูเหมือนกลุ่มก่อการร้ายที่ก่อเหตุเรื่อยเปื่อยไม่มีเป้าหมายแต่บูร์กมองว่าไอซิสมีเป้าหมายสามอย่างคือเพื่อสร้างความหวาดกลัว เพื่อขับเคลื่อนผู้สนับสนุนของตัวเอง และเพื่อแบ่งขั้วผู้คน

บูร์กมองต่างจากเจอเกนส์ไมเออร์ว่าไอซิสต้องการสร้างความหวาดกลัวเพื่อข่มขู่ไม่ให้ชาติตะวันตกใช้กำลังปราบปรามพวกเขา นอกจากนี้ยังเพื่อเรียกร้องความสนใจให้คนเข้าร่วมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้สนับสนุนตัวเอง เป้าหมายที่สามของพวกไอซิสซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือการแบ่งขั้วของผู้คนในอิรักและซีเรียซึ่งไอซิสหาผลประโยชน์จากความขัดแย้งระว่างเชื้อชาติ นิกาย และฐานะเศรษฐกิจ ของคนในประเทศเหล่านี้มานานแล้ว

บูร์กยังได้ชี้ให้เห็นอีกว่าไอซิสพยายามบีบให้คนต้องเลือกข้างอย่างไม่มีทางสายกลางโดยยกตัวอย่างจากสื่อโฆษณาชวนเชื่อของพวกเขาเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาซึ่งอ้างว่าสาวกของพวกเขาต้องหลุดจาก "อาณาเขตสีเทา" คือต้องเลือกอย่างสุดโต่งเท่านั้นว่าจะเป็นผู้ศรัทธาหรือผู้ไม่ศรัทธา รวมถึงการอ้าง "ความดี" "ความถูกต้อง" ในแบบของพวกผู้ก่อการร้ายเหล่านี้เอง

ปรับทิศทาง ก่อการในต่างประเทศมากขึ้น?

บทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์ Vox ที่มีการพูดคุยกับ วิลล์ แมคคานท์ส ผู้อำนวยการโครงการความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับโลกอิสลามของสถาบันบรูกกิงส์และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับไอซิส ระบุว่าไอซิสกำลังพยายามเปลี่ยนทิศทางปฏิบัติการออกสู่ระดับต่างชาติมากขึ้นจากที่ก่อนหน้านี้เน้นปฏิบัติการในพื้นที่ซีเรีย-อิรัก เท่านั้น แต่ในเรื่องนี้แมคคานท์สก็ออกตัวว่าเขาไม่กล้าฟันธงมากเพราะไม่ทราบเรื่องที่เกิดภายในของกลุ่มไอซิสเอง

ถึงแม้แมคคานท์สจะบอกว่ากลุ่มไอซิสยังคงเข้มแข็งอยู่หลังจากที่สูญเสียพื้นที่ยึดครองเดิมไปแล้วร้อยละ 25 แต่การที่ไอซิสเปลี่ยนเป้าหมายน่าจะเป็นเพราะพวกเขารู้แล้วว่าวิธีการพยายามขยายอาณาเขตแบบเดิมจะไม่สำเร็จ โดยที่กลุ่มไอซิสเป็นกลุ่มที่พยายามจัดตั้ง "รัฐอิสลาม" ของตนเองด้วยการขยายอาณาเขตไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าชาวมุสลิมจำนวนมากจะไม่ให้การยอมรับก็ตาม

ในแง่การใช้กำลังปราบปราม แมคคานท์ส มองว่าการปฏิบัติการทางการทหารของกลุ่มมหาอำนาจที่มีฝรั่งเศสเข้าร่วมจะส่งผลทำให้ไอซิสอ่อนแอลงได้จริงแต่ก็กังวลเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ว่าจะกลายเป็นการเล่นตามเกมของกลุ่มก่อการร้ายหรือไม่ ซึ่งแมคคานท์สเตือนว่าไอซิสไม่ใช่คู่ต่อสู้ที่ควรประเมินต่ำเกินไป สำหรับเขาแล้วกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้ไม่ใช่แค่พวกที่อยู่ๆ ก็จับอาวุธขึ้นมา น่าจะเป็นไปได้สูงว่ามีการฝึกฝนกลุ่มเหล่านี้มาก่อนในต่างประเทศหรืออย่างน้อยก็กับสมาชิกบางส่วนของกลุ่มก่อการร้ายนี้

การกีดกันให้ชาวนิกายซุนนีแปลกแยกจะยิ่งส่งผลร้าย

เว็บไซต์ Vox ยังเผยแพร่เรื่องควรรู้ 18 เรื่องเกี่ยวกับกลุ่มไอซิส หนึ่งในนั้นระบุไปในทางเดียวกับบูร์กในเรื่องที่ว่ากลุ่มไอซิสหล่อเลี้ยงตัวเองด้วยความขัดแย้งระหว่างนิกายซุนนีและชีอะอ์ และนโยบายที่ผิดพลาดของอดีตรัฐบาลอิรักก็ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างนิกายเลวร้ายลงจากการกดขี่ชนกลุ่มน้อยนิกายซุนนี ในขณะเดียวกันนอกจากชาติตะวันตกแล้วกองกำลังนิกายชีอะฮ์ทั้งในอิรักเองและที่มาจากอิหร่านยังมีส่วนสำคัญในการสู้รบกับกองกำลังของไอซิสด้วย แต่กองกำลังเหล่านี้ก็ถูกกล่าวหาว่ากระทำความเลวร้ายต่อประชากรนิกายซุนนีในพื้นที่ที่พวกเขาขับไล่กลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ไป ยิ่งทำให้เป็นการทำให้ชาวนิกายซุนนีรู้สึกแปลกแยก

ทั้งนี้สิ่งที่ทำให้ไอซิสขยายอาณาเขตในอิรักได้มากไม่ใช่เพราะการสมคบคิดหรือกองกำลังของอิรักมีความเข้มแข็งในแง่กำลังพลน้อยเกินไปแต่เป็นเพราะกองทัพอิรักขาดประสิทธิภาพและพึ่งพากลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์มากเกินไป และในทางตรงกันข้ามการแทรกแซงทางอากาศของสหรัฐฯ ในช่วงแรกๆ ช่วยยับยั้งการเคลื่อนกำลังพลของกลุ่มไอซิสด้วย นอกจากนี้ทางการสหรัฐฯ ยังร่วมมือกับอิหร่านในการจัดการปัญหาเรื่องไอซิส จนทำให้เกิดข้อวิจารณ์ว่าการพึ่งพากองกำลังนิกายชีอะฮ์จากอิหร่านอาจจะทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเมืองในระยะยาวเนื่องจากเกิดการกีดกันทางนิกายดังกล่าว

ในแง่การเมืองภายในซีเรียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกยึดครองพื้นที่โดยกลุ่มไอซิสมีความซับซ้อนในตัวเองอยู่มาก เดิมทีแล้วซีเรียมีความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับฝ่ายรัฐมาก่อนตั้งแต่ช่วงอาหรับสปริงแต่ต่อมาฝ่ายรัฐใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงทำให้มีกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ที่ไม่ใช่ไอซิสในละแวกนั้นหลายกลุ่มเริ่มฉวยโอกาสใช้กำลัง ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าประชาชนผู้ต่อต้านรัฐบาลซีเรียจะเป็นพวกเดียวกับกลุ่มติดอาวุธ ในทางตรงกันข้ามประชาชนทั่วไปที่ไม่มีกำลังอาวุธตกเป็นเหยื่อจากการโจมตีของทั้งฝ่ายกลุ่มติดอาวุธและฝ่ายรัฐบาลซีเรียเอง ในขณะที่กลุ่มไอซิสเกิดขึ้นมาทีหลังและได้สู้รบกับกลุ่มติดอาวุธหลายฝ่ายรวมถึงสู้รบกับรัฐบาลซีเรีย การสู้รบกันอย่างซับซ้อนเหล่านี้ทำให้ประชาชนชาวซีเรียได้รับความสูญเสียอย่างมากทำให้หลายคนต้องลี้ภัยสงครามออกจากประเทศกลายเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยที่มีการพูดถึงกันมากเมื่อไม่นานมานี้

#Notinmyname พลเรือนชาวมุสลิมสร้างความเข้าใจ ไอซิสไม่ได้กระทำในนามของพวกเขา

ไม่ว่าสงครามครั้งนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไรก็ตาม Vox ระบุว่ากลุ่มคนที่เจ็บปวดที่สุดคือชนกลุ่มน้อยนิกายซุนนีในอิรักซึ่งดูเหมือนว่ากลุ่มกบฏชาวเคิร์ดน่าจะกลายเป็นผู้ชนะหลังจากยึดครองหลายพื้นที่จากไอซิสได้ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าเรื่องของกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลางไม่ใช่เรื่องการปะทะกันระหว่างอารยธรรมตะวันตกและตะวันออก (clash of civilization) อย่างที่เข้าใจผิดกันมานาน หรืออย่างที่พวกขวาจัดในบางประเทศพยายามฉวยโอกาสกล่าวอ้าง

เช่น คาเล็ด ดิยาบ นักข่าวชาวอียิปต์-เบลเยียม ผู้เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ระบุว่าถึงแม้ว่ากลุ่มไอซิสจะเกลียดชังชาวคริสต์และคนที่ไม่ใช่มุสลิมรวมถึงเคยกดขี่ข่มเหงชาวยาซิดีซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ แต่เหยื่อที่ถูกกระทำหนักที่สุดก็ยังคงเป็นชาวมุสลิมที่ไม่เชื่อตามพวกไอซิส

นอกจากกลุ่มปัญญาชนชาวมุสลิมทั่วโลกจะออกมาร่วมประณามการก่อเหตุในครั้งนี้แล้วประชาชนชาวมุสลิมยังแสดงออกเพื่อสร้างความเข้าใจว่ากลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนของพวกเขาทุกคนในการรณรงค์ที่ชื่อว่า #Notinmyname หรือ "ไม่ใช่ในนามของพวกเรา" พร้อมทั้งข้อความต่อต้านการก่อเหตุรุนแรงโดยใช้ศาสนาเป็นข้ออ้าง


เรียบเรียงจาก

WHY ISIS ATTACKED PARIS, Mark Juergensmeyer, 15-11-2015
http://juergensmeyer.org/why-isis-attacked-paris/

Islamic State 'goes global' with Paris attacks, Jason Burke, The Guardian, 14-11-2015
http://www.theguardian.com/world/2015/nov/14/islamic-state-goes-global-paris-attacks

18 things about ISIS you need to know, Zack Beauchamp, Vox, 15-11-2015
http://www.vox.com/cards/things-about-isis-you-need-to-know

Why ISIS would attack Paris, according to an expert, Vox, 14-11-2015
http://www.vox.com/world/2015/11/14/9735512/paris-attacks-isis-why

ISIL and the illusion of a clash of civilisations, Khaled Diab, Aljazeera, 16-11-2015
http://www.aljazeera.com/indepth/opinion/2015/11/isil-illusion-clash-civilisations-151116075025788.html

https://twitter.com/hashtag/notinmyname


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Islamic_State_of_Iraq_and_the_Levant

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net