Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เที่ยงวันอาทิตย์หากเป็นชีวิตนักศึกษาทั่วไปคงเป็นการเดินตลาดนัดหรือช๊อปปิ้ง ยิ่งเธอเป็นหญิง(ข้ามเพศ) ในสายตาของสังคม อาจจะสนใจเรื่องบันเทิง แฟชั่น ความสวยความงาม การประกวดร้องเล่นเต้นรำ หรือนางงามมากกว่า

แต่ผู้หญิงเต็มร้อยในมุมมองต่อตัวของเธอเอง นัชชชา กองอุดม นักศึกษาชั้นปีสอง ด้านการสร้างแบรนด์ มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ในชุดลำลองสีขาว พร้อมกับเพื่อนเล่าให้ผมฟังถึง การไปขึ้นศาลทหารที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เธอบอกว่า “การไปขึ้นศาลทหารครั้งนี้เป็นการพิจารณาขอบเขตอำนาจศาล”  เธอเล่าว่า การเริ่มทำกิจกรรมทางการเมืองครั้งแรกของเธอคือ การไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สยามพารากอนในการฉายภาพยนต์เรื่อง Hunger Games ตอนนั้นเธอถูกควบคุมตัวไปยังสโมสรกองทัพบก ถูกใช้จิตวิทยา เช่น การข่มขู่ว่าจะดำเนินคดี และถูกปล่อยตัวออกมา เธอบอกว่าครั้งนั้นเธอไม่ได้รู้สึกว่าเธอทำผิดอะไร และการใช้จิตวิทยาเช่นนี้ก็ไม่ได้ผล

กระทั่งเธอถูกจับอีกครั้งที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอถูกพาไปฝากขังที่คุกชาย และถูกตรวจร่างกายโดยการถอดเสื้อผ้าทั้งหมดต่อหน้าเจ้าหน้าที่เรือนจำสองนาย โดยเธอและทนายพยายามบอกแก่เจ้าหน้าที่ว่าเธอเป็นหญิงจากการแปลงเพศแล้ว ดังนั้นไม่ควรปฏิบัติกับเธอเยี่ยงปฏิบัติกับผู้ชาย แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่รับฟังโดยให้เหตุผลว่า กฎหมายไทยไม่มีการรับรองบุคคลแปลงเพศ ดังนั้นแม้จะแปลงเพศจากชายเป็นหญิงแล้วก็ไม่มีการรับรองว่าเป็นเพศหญิง เพราะฉะนั้นเธอจึงถูกปฏิบัติเช่นชาย ในใจของนัชชชา กังวลและหวาดกลัวว่าตนจะได้รับการประกันตัวหรือไม่ เพราะสิ่งที่เธอหวาดกลัวมากที่สุดคือ การเข้าคุกชาย นั่นหมายถึง ความเป็นไปได้ที่เธอจะถูกทำร้ายหรือถูกล่วงละเมิดภายในคุกชาย แม้ระหว่างการถ่ายรูปเธอต้องเปลือยอกท่อนบนเช่น ผู้ชาย แต่เธอวิตกเรื่องผมของเธอที่อาจจะต้องถูกโกนหัว

ครั้งที่สองของการถูกฝากขังเจ้าหน้าที่ใช้พยาบาลผู้หญิงสองคนตรวจร่างกายเธอ แต่กระบวนการถ่ายภาพก็เป็นเช่นเคย เธอต้องเปลือยท่อนบน

นัชชชาเล่าให้ฟังว่า อันที่จริงเธอสนใจความยุติธรรมในสังคมรอบๆตัวมาก เพื่อนๆของเธอ และครอบครัวจะทราบถึงความสนใจของเธอ แม้คนภายนอกอาจจะมีภาพลักษณ์ที่ว่า หญิง(ข้ามเพศ) มักไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และความเป็นธรรมของสังคม แต่ไม่ใช่สำหรับเธอ เธอมองว่าสิทธิ LGBTI จะเกิดขึ้นเมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตย และขบวนการเคลื่อนไหวสามารถร่วมมือกันขับเคลื่อนประเด็น  เธอบอกว่า LGBTI เองอาจจะตัดสินเธอว่าเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่เป็น LGBTI เท่านั้น แต่สำหรับเธอความอยุติธรรมทางสังคมทั้งปวงต่างหากที่เธอกำลังต่อสู้อยู่ และด้วยการเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศในตัวเธอเธอจึงไม่ปฏิเสธว่าเธอสนใจและรอคอยที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว LGBTI ในไทย

การถูกละเมิดภายใต้การอนุญาตของกฎหมายต่อคนข้ามเพศเมื่อเผชิญหน้ากับกระบวนการยุติธรรม ความอ่อนไหวเรื่องเพศเป็นอาวุธที่ผู้มีอำนาจใช้ ขู่ ปราม ล้อเลียน และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยเหตุผลคือ ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง

ก่อนจากกันนัชชชาบอกว่า ช่วงนี้การดำเนินชีวิตผ่อนคลายลง หากเป็นก่อนหน้านี้เธอเครียดมากกับคดีความและการถูกติดตาม หากเธอสามารถพูดกับคนอื่นๆ และชาว LGBTI ได้ เธอบอกว่า อยากให้เรื่องของเธอเป็นที่รับรู้มากขึ้น เพื่อให้รู้ว่าชีวิตที่ถูกละเมิดนั้นมีอยู่จริง

 

หมายเหตุ: บทความเพื่อร่วมรำลึกถึง วันสากลแห่งการรำลึกถึงคนข้ามเพศ (Transgender Day of Remembrance: TDOR) 20 พฤศจิกายนของทุกปี

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net