Skip to main content
sharethis
 
ไม่ไหวแล้ว! คนเมืองอุตรดิตถ์โวย แม่ค้ายึดลานพระบรมรูป ร.5 ขายของ-โจ๋ใช้มั่วสุม
 
(17 พ.ย.) นายชัยวัฒน์ ศรีการะเกตุ ชาวบ้านเขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า บริเวณลานอนุสาวรีย์พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5 ซึ่งตั้งเด่นอยู่ที่บริเวณลานอเนกประสงค์ริมแม่น้ำน่าน เขตเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ หรือหน้าพระอุโบสถหลวงพ่อเพ็ชร วัดท่าถนน ปัจจุบันมีบรรดาพ่อค้าแม่ขายพืชผักผลไม้นำร่มมากาง ยึดพื้นที่จอดรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถยนต์โดยสารประจำทางหลายสาย เพื่อขายของตลอดทั้งวัน
       
นอกจากจะทำให้การจราจรบริเวณดังกล่าวติดขัดมากในช่วงเช้า เนื่องจากมีผู้บริโภคมาจอดรถยนต์ รถจักรยานยนต์ซื้อของโดยไม่ยอมลงจากรถแล้ว การที่บรรดาพ่อค้าแม่ขายนำร่มขนาดใหญ่มากางบังแดดนั้นยังบดบังทัศนียภาพพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างยิ่ง บางมุมมองไม่เห็นพระบรมรูปด้วยซ้ำไป
       
“ผิดกับก่อนหน้านี้ ที่ลานอเนกประสงค์ริมแม่น้ำน่าน และพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 สามารถมองเห็นเป็นสง่าได้อย่างชัดเจนมาก”
       
นอกจากนี้ บริเวณด้านหลังพระบรมรูป หรือด้านทิศใต้ของลานอเนกประสงค์ ยังกลายเป็นที่มั่วสุมของนักเรียนนักศึกษา ที่หนีเรียนมาพรอดรักกันอย่างไม่สนสายตาประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาไหว้พระบรมรูปฯ เลยแม้แต่น้อย ส่วนกลางคืนก็เป็นแหล่งมั่วสุมของกลุ่มวัยรุ่นเช่นเดียวกัน
       
นายชัยวัฒน์ย้ำว่า ลานอเนกประสงค์และลานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ก่อนหน้านี้เคยเป็นสถานที่ที่มีประชาชนทั้งใน และต่างจังหวัด แวะนำดอกไม้ธูปเทียนมากราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคล มีรถทัวร์นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาสักการะอยู่อย่างต่อเนื่อง
       
แต่ปัจจุบันสภาพที่เกิดขึ้นแทบไม่มีนักท่องเที่ยวแวะมากราบไหว้เลย อีกทั้งทัศนียภาพก็ไม่สง่างามเหมือนก่อน เนื่องจากความไม่เป็นระเบียบของการจอดรถยนต์ของพ่อค้าแม่ค้าที่มักง่ายนำสินค้ามาวางขายในช่องจอดรถยนต์ เกรงว่าอีกไม่นานสถานที่แห่งนี้จะถูกลืมเลือนไป
       
“อยากให้ สภ.เมืองอุตรดิตถ์ และเทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ ได้ช่วยเข้ามาจัดระเบียบบริเวณดังกล่าวโดยเร็ว ก่อนที่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 และหลวงพ่อเพ็ชร จะไม่มีคนมากราบไหว้อีกต่อไป” นายชัยวัฒน์กล่าว 
 
 
 
ชาวบ้านอำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี ไม่ยอมให้นำปลิงควายตัวใหญ่ที่มีผู้ไปพบมาปล่อยในแหล่งน้ำชุมชน เกรงจะแพร่พันธุ์
 
นายวัชรินทร์ ออมสิน เก็บปลิงควายไว้ที่บ้าน ในตำบลศรีมหาโพธิ์ หลังชาวบ้านทราบข่าวต่างมาขอดู และคัดค้านไม่ให้นำไปปล่อยลงแหล่งน้ำ เกรงปลิงจะขยายพันธุ์ จนไม่กล้าลงน้ำ อย่างไรก็ตามตนเองตั้งใจจะปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ แต่ต้องเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่กว่า 100 ไร่ หรือเป็นแม่น้ำใหญ่  ด้านศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดปราจีนบุรี แจ้งว่า การพบปลิงตัวใหญ่เป็นเรื่องปกติ สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำทั่วไป ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก
 
 
 
ชาวบ้านร้องบริษัทอสังหาเมืองพัทยา ปล่อยเสือดาวเพ่นพ่าน
 
วันที่ 17 พ.ย.58 นายพงษ์ธสิษฐ์ ปิจนันท์ ช่วยราชการหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ กรมการปกครอง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พร้อมด้วย พ.ต.อ.สุขทัศน์ พุ่มพันธ์ม่วง ผกก.สภ.เมืองพัทยา นำกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ สภ.เมืองพัทยา ทหารชุดดูแลพื้นที่อำเภอบางละมุง มทบ.14 และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดชลบุรี เข้าตรวจที่บริษัท วันดีกรุ๊ป จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 109/2 ในซอย 5 ถนนทัพพระยา ย่านพัทยาใต้ หมู่ 12 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี หลังมีชาวบ้านถ่ายคลิปวีดีโอแล้วนำไปร้องเรียนว่าร้านดังกล่าวสัตว์มีสัตว์ป่าไว้ในครอบครอง และปล่อยเสือดาวซึ่งเป็นสัตว์อันตราย ให้เดินอยู่ภายในร้านโดยไม่มีการขังไว้ในกรง ทำให้เกรงว่าอาจจะหลุดออกมาทำร้ายประชาชนจนได้รับอันตรายสถานที่ดังกล่าวเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น 3 คูหา ซึ่งเปิดเป็นบริษัทออกแบบ และดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ จากการตรวจสอบชั้นล่าง พบว่ามีตู้กระจกเลี้ยงสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ งูอนาคอนย่า จระเข้ ปลาทะเลขนาดใหญ่ และปะการังหายาก ส่วนบริเวณชั้นที่ 2 พบตู้กระจกแบบเดียวกัน ภายในมีสัตว์ประเภทงูหายาก และบางชนิดไม่มีอยู่ในประเทศไทย รวมถึงอีกัวน่าสายพันธ์ต่างๆ อีกจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงอายัดสัตว์บางชนิดไว้ เพื่อประสานให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาทำการตรวจสอบอีกครั้งจาการสอบปากสวนน.ส.นิตยา วงษ์สิน อายุ 45 ปี เจ้าของบริษัทดังกล่าว ให้การว่า ตนขอยอมรับว่ามีเสือดาวจริง ตามที่ชาวบ้านถ่ายคลิปไว้ โดยเมื่อประมาณ 2 เดือนก่อน ได้ไปซื้อเสือทั้ง 2 ตัวมาจากพ่อค้าคนหนึ่งที่ตลาดนัดสวนจัตุจักร เพื่อนำมาเลี้ยงเพราะเกิดความสงสาร เนื่องจากเสือทั้ง 2 ตัวมีอาการป่วย จากนั้นจึงส่งไปให้สัตวแพทย์ของโรงพยาบาลสัตว์ย่านทองหล่อ กรุงเทพมหานคร ช่วยทำการรักษา และกำลังดำเนินการยื่นเอกสารขออนุญาตมีสัตว์ป่าไว้ในความครอบครองจากเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช อ.ศรีราชา จ.ชลบุรีด้านนายพงษ์ธสิษฐ์ ปิจนันท์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่าภายในมีสัตว์หลายชนิดที่ไม่สามารถนำมาเลี้ยงได้ อาทิ งูเหลือม งูหลาม จระเข้ จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พัทยา เชิญ น.ส.นิตยา ไปลงบันทึกการอายัดสัตว์ต้องห้าม และสั่งห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ พร้อมกับประสานไปที่กรมอุทยานและสัตว์ป่าให้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานว่ามีการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หากไม่มีเอกสารแสดงการครอบครอง ก็จะให้กรมอุทยานฯ มารับสัตว์ที่ผิดกฎหมายทั้งหมดไปอยู่ในความดูแล จากนั้นก็จะแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
 
 
ตำบลตะเคียนเตี้ย - ทหาร - การประปา เร่งแก้ไขปัญหาชาวบ้านกว่า 100 หลังคาเรือน ไม่มีน้ำประปาใช้นานหลายปี
 
นายมานพ ประกอบธรรม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พร้อมด้วย นายสุทัศน์ นุชปาน ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาพัทยา และเจ้าหน้าที่ทหาร มทบ.14 ร่วมประชุมหารือแก้ไขปัญหา ชาวบ้านกว่า 100 หลังคาเรือน ที่พักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านสุขศิริ ม.2 ต.ตะเคียนเตี้ย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ได้รับความเดือดร้อนจากการไม่มีน้ำประปาใช้มาหลายปี โดยมี นายเขมทัต สุคนธ์สิงห์ ตัวแทนโครงการหมู่บ้านเข้าร่วมรับฟังปัญหาด้วย จากการตรวจสอบปัญหาพบว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทางโครงการมีปัญหาเรื่องของน้ำอุปโภค บริโภคตลอดมา เนื่องจากน้ำที่นำมาใช้ไม่ใช่น้ำประปา แต่จะเป็นน้ำดิบที่ทางโครงการซื้อจากเอกชนมากักตุนในถังก่อนส่งจ่ายตามบ้านเรือนในบางช่วงเวลา ซึ่งหลายครั้งก็ไม่สามารถกักเก็บได้ทัน ที่สำคัญคุณภาพของน้ำก็ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ผู้พักอาศัยส่วนใหญ่เดือดร้อนอย่างมาก 
 
โดย นายเขมทัต สุคนธ์สิงห์ ตัวแทนโครงการหมู่บ้าน เปิดเผยว่า หลังจากการประชุมหารือเรียบร้อยได้ขอสรุปดังนี้ โดยโครงการหมู่บ้านได้ตกลงยินยอมที่จะดำเนินการเรื่องการประปาให้เร็วที่สุด โดยให้ทางการประปาจะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และควบคุมงานทั้งหมด คาดว่า แล้วเสร็จไม่เกิน 90 วัน ซึ่งสร้างความพอให้ชาวบ้านเป็นอย่างมาก
 
 
ชาวบ้านปากโสม จ.หนองคาย เดือดร้อนหนักจากรถบรรทุกทราย หวั่นเกิดอุบัติเหตุ-กระทบท่องเที่ยว
 
ชาวบ้านประมาณ 20 คน บ้านปากโสม ต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย เดินทางมาร้องเรียน ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดหนองคาย เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากรถบรรทุกทรายและผู้ประกอบกิจการท่าทรายในพื้นที่ โดยแกนนำชาวบ้านรายหนึ่งบอกผู้สื่อข่าวว่า ตอนนี้บ้านปากโสม มีปัญหาเกี่ยวกับท่าทราย คือมีการดูดทรายจากแม่น้ำโขงขึ้นมากองข้างบนท่าทราย บางวันก็มีรถสิบล้อบรรทุกทรายวิ่งวันละหลาย ๆ เที่ยว โดยที่ชาวบ้านเคยมีการประชาคมไปแล้ว แต่ไม่ผ่านการประชาคม การที่มีการดูดทรายส่งผลกระทบทำให้บรรยากาศของสถานที่ท่องเที่ยวหายไปและบางครั้งก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณหน้าท่าทราย ที่ผ่านมาชาวบ้านมีการประชุมกันหลายครั้ง เพื่อให้มีการหยุดดูดทราย แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเข้าไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมอีกครั้ง
 
 
โวยน้ำเสียโรงแป้งทำปลาตาย-ผู้บริหารยินดีให้พิสูจน์
 
จากกรณีชาวบ้านในตำบลเกาะขนุน อ.พนมสารคาม และ ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ร้องเรียนว่า น้ำในคลองระบมบริเวณหมู่ที่ 3 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม เกิดการเน่าเสียอย่างรุนแรง ปลาลอยตายเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นบริเวณกว้าง เมื่อวันที่ 17 พ.ย. พระอาทร ปัญญาปทีโป รักษาการเจ้าอาวาสวัดหนองไม้แดง ม.3 ต.เขาหินซ้อน นายสมควร สุริวงศ์ ผช.ผญบ.ม.3 และชาวบ้านจำนวนหนึ่ง พาผู้สื่อข่าวไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่บริเวณสะพานไม้ข้ามคลองระบม พบว่า ยังมีปลาขนาดใหญ่ลอยตายอีกจำนวนหนึ่ง
 
พระอาทรเล่าว่า ช่วงเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา ชาวบ้านเห็นปลาขนาดใหญ่ลอยตายเป็นจำนวนมาก บริเวณสะพานข้ามคลองระบม จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ 13 ชลบุรี และกรมควบคุมมลพิษ เข้าตรวจสอบพร้อมเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจพิสูจน์ ทั้งนี้ น้ำในคลองระบมจะไหลไปรวมกับคลองสียัดลงสู่คลองท่าลาด ก่อนไหลออกแม่น้ำบางปะกง ที่ปากน้ำโจ้โล้ ในเขตอำเภอบางคล้า อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ทั้งสองฝั่งคลอง ทั้งที่ใช้น้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค รวมไปถึงระบบการผลิตประปาในเขต อ.สนามชัยเขต อ.พนมสารคาม และ อ.บางคล้า
 
จากนั้น พระอาทรพาผู้สื่อข่าวไปที่บริษัท เอสซี ตั้งอยู่เลขที่ 66/6 ม.3 ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม เพื่อร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีนายสัมพันธ์ โฆษิตพล หัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา นายชัชวาล ตัญยะบุตร สาธารณสุขอำเภอพนมสารคาม ร.ท.สิทธิพร เฟื่องสำรวจ นายทหารชุดประสานอำเภอพนมสารคาม นายคะนึง คมขำ หน.กลุ่มบริหารจัดการด้านการประมงฉะเชิงเทรา นายสมชาย ทองมี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหินซ้อน ตัวแทนชาวบ้านจากอำเภอพนมสารคาม และอำเภอสนามชัยเขต และนายสุจี สิงหล้า ผจก.ทั่วไป บริษัท เอสซี จำกัด
 
ภายในที่ประชุมเกิดการโต้เถียงกันระหว่างชาวบ้านกับตัวแทนบริษัทฯ โดยตัวแทนชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่น้ำเสียจากโรงงาน ทำให้ปลาลอยตาย เนื่องจากน้ำต้นทาง ก่อนจะถึงบริเวณท่อน้ำทิ้งของบริษัท เอสซี ไม่มีเหตุปลาตาย และเป็นไปได้หรือไม่น้ำที่ชะล้างสิ่งเจือปนจากลานตากมัน หรือน้ำเสียจากบ่อบำบัดน้ำเสียของบริษัทฯ ไหลลงคลองเป็นต้นเหตุให้ปลาตาย เนื่องจากท่อจากบ่อบำบัดน้ำเสียบ่อที่ 8 เกิดการชำรุดเพราะมีเครื่องจักรกลเข้าไปขุดจนทำให้ท่อแตก ทั้งนี้ ชาวบ้านเสนอให้บริษัทฯปิดท่อน้ำทิ้งที่ปล่อยลงคลอง
 
ด้านนายสุจีกล่าวยืนยันว่า น้ำเสียที่ทำให้ปลาตายนั้น ไม่ใช่น้ำเสียจากโรงงานแน่นอน เพราะมีระบบบำบัดที่ดี ส่วนน้ำที่ปล่อยทิ้งเป็นเพียงน้ำฝนไม่มีสิ่งเจือปนหรือสารพิษ ทางโรงงานยินดีให้ตรวจสอบระบบการจัดการทั้งหมด โดยเฉพาะน้ำที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเก็บไปตรวจพิสูจน์ ส่วนกรณีชาวบ้านเสนอให้ปิดท่อน้ำที่ปล่อยลงคลองระบมนั้น ทางบริษัท ไม่ขัดข้อง แต่ต้องมีผู้ออกมารับผิดชอบ หากเกิดฝนตกลงมาแล้วไม่มีทางระบาย เกิดน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรที่อยู่ใกล้เคียง รวมทั้งลานมันของบริษัทด้วย
 
ขณะที่นายสัมพันธ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังสรุปทั้งหมดไม่ได้เพราะผลวิเคราะห์น้ำยังไม่ออกมา ชาวบ้านมีความหวาดระแวง ตามหลักการอยู่ร่วมกัน ทางโรงงานก็ต้องให้ความร่วมมือ หากไม่เป็นเรื่องเหลือบ่ากว่าแรงมากนักเพื่อความสบายใจของทั้ง 2 ฝ่าย ก็ควรให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา โดยก่อนหน้านี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้สั่งให้โรงงาน เอสซี หยุดดำเนินกิจการไปเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2558 ด้วยเหตุผลคือท่อบำบัดน้ำเสียแตก ปล่อยให้น้ำไหลลงคลองจนทำให้สัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก และเพิ่งเปิดดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา
 
 
ชาว อ.นากลางเดินหน้า ต้านนายทุนทำเหมืองแร่ หวั่นทำสิ่งแวดล้อมพัง-กระทบวิถีท้องถิ่น
 
รายงานข่าวแจ้งว่า ที่บ้านพรสวรรค์ และบ้านสนามชัย ต.กุดแห่ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ชาวบ้านได้ทำการติดตั้งป้ายข้อความต่างๆ กว่า 10 ป้ายกระจายไปทั่วบริเวณ 2 หมู่บ้าน โดยมีข้อความในลักษณะคัดค้านการเข้ามาทำเหมืองแร่ของบริษัท ศรีรุ่งอุตสาหกรรมเหมืองแร่ จำกัด ที่ยื่นขอประทานบัตร เพื่อทำเหมืองแร่ควอตซ์ ปฐมภูมิแร่ทองคำ บนพื้นที่ 169 ไร่ 1 งาน 66 ตารางวา ที่ก่อนหน้านั้นชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านก็ได้เข้ายื่นคำร้องพร้อมนำหลักฐานเข้ายื่นต่อฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรม จ.หนองบัวลำภู ไปแล้วแต่เรื่องก็เงียบหาย
       
ล่าสุดที่ศาลาประชาคมของหมู่บ้าน ได้มีชาวบ้านประมาณ 500 คน 5 หมู่บ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงที่ตั้งขอประทานบัตร ประกอบด้วย บ้านป่าแดงงาม สนามชัย ฝายแดง พรสวรรค์ และพรชัย ได้เดินทางเข้าร่วมเวทีประชาคม โดยมีนายวินัย รัตนพลที ประธานสภาองค์กรชุมชน เป็นผู้จัดตั้งเวทีประชาคมขึ้น นอกจากนี้ยังมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชนออกมาชี้แจงถึงรายละเอียด ผลดีและผลเสียให้ชาวบ้านทราบ ซึ่งชาวบ้านมากกว่าครึ่งที่เข้าร่วมประพิจารณ์ในที่ประชาคมกว่า 300 รายได้ลงชื่อคัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการทำเหมืองแร่ดังกล่าว
       
ทั้งนี้ ชาวบ้านชี้แจงว่าได้อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ตรงนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ พื้นที่โดยรวมเป็นป่าอนุรักษ์ เช่น ป่าเก่ากลอยนา มีลำห้วยถ้ำเต่า และลำห้วยเดื่อ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ ไหลลงลำพะเนียงไหลผ่านตัวอำเภอเมือง ลงไปสู่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เกรงว่าหลังจากที่บริษัทที่มาขอสัมปทานได้รับอนุญาตแล้วจะทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนต้องเปลี่ยนไป ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ดิน ป่าไม้ และแหล่งน้ำ สารเคมีจากโลหะหนักปนเปื้อนและฝุ่นละออง ไหลลงที่ทำกิน แหล่งน้ำละอาหารของชาวบ้าน อีกทั้งยังกลัวว่าจะก่อให้เกิดมลพิษอีกด้วย
 
 
ชิปปิ้งรวมตัวประท้วงขึ้นค่าจอดรถโหดเขตฟรีโซนสนามบินสุวรรณภูมิ
 
(18 พ.ย.) เมื่อเวลา 12.00 น. บริเวณหน้าประตูทางเข้าคลังสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายประทีป สัจจาเทพ พร้อมด้วยพนักงานชิปปิ้งภายในคลังสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมตัวกันราว 100 คนประท้วงกรณีที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีการขึ้นค่าบริการที่จอดรถในเขตฟรีโซน จากเดิมค่าบริการจอดมอเตอร์ไซค์เหมาจ่ายจาก 130 บาทต่อเดือน ปรับเป็น 300 ต่อเดือน ส่วนรถยนต์จาก 400 บาทต่อเดือน มาเป็น 600 บาทต่อเดือน และรถ 6 ล้อ จาก 600 บาทต่อเดือน มาเป็น 900 บาทต่อเดือน สำหรับค่าบริการจอดรายชั่วโมงก็มีการขึ้นราคาการจอดรถหลายเท่าตัว
       
ด้านนายนาวิก รอดรั้ง อายุ 34 ปี หนึ่งในผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขึ้นค่าบริการที่จอดรถ กล่าวว่า ตนเองทำงานบริษัทชิปปิ้งเล็กๆ ในอดีตนั้นก็ทำงานอยู่สนามบินดอนเมือง เมื่อสนามบินสุวรรณภูมิเปิดใช้งานก็ต้องเดินทางมาทำงานที่สุวรรณภูมิ โดยการขับมอเตอร์ไซค์มาทำงานทุกวันและได้เข้าไปจอดรถในเขตฟรีโซน ปกติเคยจ่ายค่าบริการเป็นชั่วโมง ชั่วโมงละ 3 บาท ถ้า 6 ชั่วโมงขึ้นไปก็จะคิดเป็นวัน คือวันละ 40 บาท แต่มาวันนี้มีการปรับอัตราบริการใหม่เป็นชั่วโมงละ 10 บาท 6 ชั่วโมงขึ้นไปก็จะคิดเป็นวันคือวันละ 70 บาท ตนเองทำงานได้รับค่าแรงขั้นต่ำจึงคิดว่าราคาที่ปรับใหม่นี้สูงมาก และวันนี้บรรดาเพื่อนชิปปิ้งด้วยกันต้องแก้ปัญหาโดยการนำจักรยานยนต์มาจอดด้านนอกแล้วเดินเข้ามาทำงานข้างในแทน
       
ต่อมานายวัระยุทธ ปลากัดทอง ผอ.เขตปลอดอากรและคลังสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้เข้ามาพูดคุยกับผู้ชุมนุม พร้อมกับให้ชะลอการขึ้นอัตราค่าบริการใหม่และให้เก็บค่าบริการในอัตราเดิมไปก่อนทำให้ผู้ชุมนุมพอใจแยกย้ายกันเข้าทำงานตามปกติ 
 
 
"บึงกาฬ" ทวงคืนผืนป่า!! พระ-ชาวบ้านรวมตัวขวาง
 
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 19 พ.ย. นายชัยธวัช เนียมศิริ รอง ผวจ.บึงกาฬ นำกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง กว่า 200 นาย ร่วมปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า จ.บึงกาฬ ในเขตพื้นที่บ้านคำภู หมู่ที่ 5 ต.ชัยพร อ.เมืองบึงกาฬ จำนวน 2 แปลง รวมพื้นที่กว่า 290 ไร่ ที่มีผู้เข้าไปบุกรุกเพื่อปลูกต้นยางพารา โดยการปฏิบัติการในวันนี้เจ้าหน้าที่จะเข้าทำการตัดโค่นต้นยางพาราในพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึง ได้มี พระอธิการโกวิญ กันตธัมโม หรือหลวงตาน้อย เจ้าอาวาสวัดภูงาม จ.บึงกาฬ พร้อมลูกศิษย์ และชาวบ้านในพื้นที่ ราว 50 คน เข้าขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้า ด้วยการใช้รถยนต์ และรถไถปิดทางเข้าออกที่ดิน เพื่อไม่ไห้เข้าทำการตัดต้นยางพาราได้ พร้อมกับเรียกร้องขอให้เจ้าหน้าที่หยุดการตัดต้นยางไปก่อน เพื่อตรวจสอบแนวเขตพื้นที่ไห้แน่ชัด ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่เองได้ยืนยันว่าได้มีการดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมายทุกขั้นตอนแล้ว ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้มีการตรวจสอบเขตแดนว่าอยู่ในพื้นที่ป่าสงวน แต่ชาวบ้านไม่ยอมให้ตัดต้นยาง จึงได้ปรึกษาร่วมเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยที่ร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ ก่อนลงความเห็นว่าจะถอนกำลังออกไป เพื่อไม่ไห้เกิดการประทะกับประชาชน ด้าน นายชัยธวัช รอง ผวจ.บึงกาฬ กล่าวว่าการปฏิบัติงานครั้งนี้ได้ทำตามขั้นตอนตามกฎหมายทุกประการ แต่ยังมีกลุ่มประชาชนมาขัดขวางการปฏิบัติงาน แต่เพื่อไม่ไห้เกิดสถานการณ์ลุกลามบานปลาย จึงได้ถอนกำลังออกมา อย่างไรก็ตามยืนยันว่ายังจะต้องมีการปฏิบัติตามนโยบายของ คสช.ในการทวงคืนผืนป่าให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้องและนิ่มนวลที่สุด โดยต้องไห้ทุกฝ่ายพอใจ เพื่อให้ไม่ไห้เกิดความแตกแยก มีความเข้าใจกันทั้งภาครัฐและประชาชน“
 
 
ชาวบ้านชลบุรีกว่า 30 ราย ประท้วงถูกหลอกซื้อบ้านเคหะ
 
(19 พ.ย.) ที่บริเวณสำนักงานเคหะชุมชนชลบุรี 2 บ้านเซิด อำเภอพนัสนิคม ได้มีชาวบ้านผู้เสียหายกว่า 30 ราย ได้นำเอกสารทะเบียนบ้าน ใบซื้อขายสิทธิ มาร้องเรียนหลังถูก นางพรจิตร หรือสา สุเทศ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 112/149 ถนนพระบาท ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นนายหน้าขายบ้านและที่ดินมาหลอกขายในราคาหลังละ 1 แสนบาท ถึง 2 แสนบาท และได้มีการจ่ายเงินสดไป แต่พอถึงวันกำหนดนัดโอนเพื่อจะมารับโฉนดกรรมสิทธิ์กลับถูกเจ้าหน้าที่การเคหะฯ ออกมาปฏิเสธว่า นางพรจิตร ได้ออกจากการเป็นเจ้าหน้าที่ไปนานแล้ว
       
นอกจากนั้น บ้านทุกหลังได้มีคนมาจับจอง และอยู่อาศัยเป็นที่เรียบร้อย เอกสารซื้อขายที่ถืออยู่เป็นของปลอม จึงได้เดินทางไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรพนัสนิคม ให้ทำการติดตามจับกุม พร้อมวอนผู้เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงถึงที่ไปที่มาของเอกสารดังกล่าว เนื่องจากมีตราประทับของการเคหะฯ อย่างถูกต้อง และมีการเซ็นรับรองสำเนาอย่างถูกต้องอีกด้วย
       
ด้าน นางคนึง ลาบมูล อายุ 49 ปี บ้านเลขที่ 42 หมู่ 7 ตำบลบ้านเก่า อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี 1 ในผู้เสียหายเผยว่า ได้รู้จักกับ นางสา ซึ่งเป็นนายหน้าขายบ้านเป็นอย่างดี เมื่อนำบ้านมาขายสิทธิให้ในราคาหลังละ 1 แสนบาท ตนเองจึงเห็นว่าถูกจึงซื้อไว้ 4 หลัง และได้จ่ายเงินสดไป จำนวน 4 แสนบาท แต่พอมาทวงถามเรื่องสิทธิถึงรู้ว่าถูกหลอกเสียเงินไปฟรีๆ 
 
 
ชาวแม่กี๊ดสามท่ากว่าร้อยชีวิต ประท้วงโรงงานแป้ง ปล่อยน้ำเสียหึ่งทั้งหมู่บ้าน
 
(20 พ.ย.58) ที่วัดบ้านแม่กื๊ดสามท่า ตำบลแม่กาษา อ.แม่สอด จ.ตาก ราษฎรบ้านแม่กึ๊ดสามท่า หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 8 กว่า 100 คน ได้ไปชุมนุมรวมกลุ่มกันในวัด พร้อมทั้งชูป้าย ประท้วงโรงงานทำแป้ง แห่งหนึ่ง ที่ปล่อยน้ำเสีย และส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วหมู่บ้าน ทำให้ราษฎรกว่า 300 หลังคา ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว และยังมีปัญหา จากสุขภาพตามมาคือ วิงเวียนศีรษะ หายใจไม่ออก เวลาอาบน้ำประปาหมู่บ้านมีผืนแดงคัน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูแล เพราะร้องเรียนมาหลายครั้งแล้ว แต่เจ้าหน้าที่นิ่งเฉย ไม่ยอมแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน
 
นางจารุวรรณ ไชยชนะ ชาวบ้านหมู่ที่ 8 ตำบลแม่กาษา กล่าวว่า มีบ้านไม่ห่างจากโรงงานทำแป้งมากนัก ซึ่งตั้งแต่โรงงานเปิดเดือนตุลาคม ก็ส่งกลิ่นเหม็นมาตลอด ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นทั้งกลางวัน และกลางคืน เกิดปัญหาสุขภาพ แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ และมีอาการเครียด อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดการแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหากับชาวบ้าน
 
อย่างไรก็ดี สำหรับโรงงานดังกล่าวเปิดกิจการมานานหลายปีแล้ว แต่เกิดปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงน้ำในลำห้วยแม่ละเมา ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ถึงขั้นต้องซื้อน้ำดื่มมาอาบ เพราอาบน้ำประปาแล้วมีอาการคัน ซึ่งเคยมีการประท้วงมาแล้ว
 
 
ชาวอุบลวอนเร่งแก้ปัญหามลพิษจากบ่อขยะ
 
(20 พ.ย. 58) สื่อมวลชนเข้าสำรวจพื้นที่บ่อทิ้งขยะขนาดใหญ่ ในต.เมืองศรีไค อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี หลังได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหามลพิษ โดยพบว่า ยังมีกองขยะจำนวนมหาศาลนับหมื่นๆตันที่รอการกำจัด เนื่องจากบ่อทิ้งขยะแห่งนี้ ต้องรองรับขยะจากทั้ง 25 อำเภอของอุบลราชธานี จำนวนหลายพันตันต่อวัน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลลอยกระทงที่กำลังจะมาถึง ชาวบ้านและพนักงานกำจัดขยะบอกว่า จะมีการนำขยะมาทิ้งเพิ่มมากขึ้นอีกเกือบเท่าตัว ส่วนใหญ่เป็นประเภทโฟม พลาสติก
 
นอกจากนี้จากการตรวจสอบภายในบ่อกำจัดขยะ พบบ่อพักขยะและบำบัดน้ำเสีย หลายบ่อใช้การไม่ได้ และถูกเทขยะทับถมลงในบ่อจนเต็ม ส่งผลให้น้ำขยะซึมลงไปใต้ดิน กระทบต่อชาวบ้านหลายร้อยหลังคาเรือนในพื้นที่ใกล้คียง ไม่สามารถสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้อุปโภคและบริโภคได้
 
ด้าน เทศบาลเมืองศรีไค อ้างว่า แม้บ่อขยะจะอยู่ในพื้นที่ตำบลศรีไค แต่เป็นความรับผิดชอบของเทศบาลเมืองวารินชำราบ ซึ่งรับขยะจากทุกๆเทศบาล ตำบล และท้องถิ่นทั่วไป มาทิ้งในบ่อแห่งนี้ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน ทางเทศบาลตำบลเมืองศรีไค ได้ทักท้วงไปยังเทศบาลเมืองวารินชำราบแล้ว แต่ยังไม่มีการเข้ามาดูแลแก้ไขอย่างจริงจัง จึงฝากผ่านสื่อมวลชนแจ้งให้เจ้าของบ่อขยะเร่งเข้ามาดูแล และแก้ปัญหาให้ประชาชนโดยด่วน
 
 
อบต.หนองปลิงร้อง เร่งแก้ปัญหาบ่อขยะ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 21 พ.ย. ว่า จากปัญหาบ่อกำจัดขยะเทศบาลเมืองมหาสารคาม ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านหนองปลิง ต.หนองปลิง อ.เมืองมหาสารคาม ที่ต้องรองรับขยะจากชุมชนต่างๆ รวม 15 แห่ง ไม่ต่ำกว่าวันละ 103 ตัน ทำให้ชุมชนโดยรอบบ่อขยะโดยเฉพาะชาวบ้านหนองปลิงได้รับผลกระทบจากมลพิษ ที่ก่อให้เกิดน้ำเน่าเสียจากบ่อขยะไหลลงแหล่งน้ำสาธารณะและพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกร
 
นายสุรศักดิ์ จูมศรีสิงห์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปลิง เผยว่า จากที่มีทำบันทึกข้อตกลงที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเรียกร้องจำนวน 9 เรื่อง ทางเทศบาลได้เข้ามาจัดการเพียงไม่กี่เรื่อง อาทิ การลดปริมาณขยะที่เข้ามาในบ่อขยะ ส่วนการบริหารจัดการน้ำเสียในลำห้วยเครือซูด แหล่งน้ำที่ชาวบ้านนำน้ำมาใช้ทำน้ำประปาและเป็นแหล่งหาอาหารของชาวบ้านกลับยังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งชาวบ้านในตำบลหนองปลิงจำนวน 38 รายลงชื่อว่าได้รับผลกระทบจากบ่อขยะของเทศบาลเมือง ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางเทศบาลเมืองเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งที่มีหนังสือที่ มค 00132/1278 ให้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขผลกระทบจากบ่อขยะ จากทางสำนักทรัพย์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด อีกทั้งทางเทศบาลไม่ได้ตั้งกรรมการเข้ามาร่วมเพื่อพิจารณาช่วยเหลือ หรือแม้แต่ไฟส่องสว่างทางเข้าบ่อขยะก็ยังไม่ได้ไปติดตั้งให้ การตรวจสุขภาพมีทั้งหมด 5 หมู่บ้านที่เดือดร้อนก็ส่งแพทย์มาตรวจแค่ 2 หมู่บ้าน
 
นายสุรศักดิ์เผยอีกว่า เรื่องดังกล่าวมีการร้องเรียนมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 53 ทั้งนี้ ขอให้ทางเทศบาลเมืองเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวเพื่อไม่ให้ชาวบ้านหนองปลิงทั้ง 5 หมู่บ้านต้องได้รับผลกระทบจากบ่อขยะดังกล่าว
 
 
ชาวบ้านไม่ละความพยายามบุกยึดสวนปาล์มอีกรอบ เข้าบริษัทพนมปาล์ม พบมีการทำประโยชน์ ไม่มีเอกสารสิทธิ 
 
วันนี้ (22 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ได้มีกลุ่มชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกินประมาณ 150 คน ได้รวมตัวกันเข้ายึดสวนปาล์มของบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ ม.3 ต.เขาพนม อ.เขาพนม จ.กระบี่ เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ และยึดพื้นที่กลับคืนมาเป็นของรัฐ หลังตรวจสอบพบว่า ทางบริษัทฯ เข้าดำเนินการไม่ถูกต้อง แต่ถูกทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และตัวแทนของบริษัทฯ ชี้แจงว่า พื้นที่ดังกล่าวนี้มีเอกสารสิทธิ์ กลุ่มชาวบ้านจึงได้กลับออกไป เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 ที่ผ่านมา ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
       
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 22 พ.ย. ทางกลุ่มชาวบ้านกลุ่มเดิมได้เข้ายึดสวนปาล์มของบริษัทพนมปาล์ม จำกัด ม.3 ต.เขาพนม ซึ่งอยู่ติดกับบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หลังจากตรวจสอบพบว่า ที่ดินที่ทางบริษัทพนมปาล์ม ดำเนินกิจการอยู่ เป็นพื้นที่ป่า และพื้นที่ นสล.มีการปลูกปาล์มแล้วหลายรุ่น โดยแปลงที่ชาวบ้านเข้ายึดมีอายุ ประมาณ 4-5 ปี ท่ามกลางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เขาพนม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.เขาพนม เข้าดูแลความสงบ 
       
นายพงศ์ (ขอสงวนนามสกุล) ตัวแทนชาวบ้านเปิดเผยว่า สำหรับสวนปาล์มของบริษัทพนมปาล์มในปัจจุบัน จากการตรวจสอบพบว่า มีพื้นที่ประมาณ 9,000 ไร่ และส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ของ นสล.ประมาณ 800 ไร่ โดยเริ่มแรกมีชาวมาเลเซียเป็นนายทุนใหญ่ครอบครอง และต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนมือมาเรื่อยๆ และถือเป็นแปลงที่ใหญ่ที่สุดที่มีการครอบครองอย่างผิดกฎหมาย ไม่พบว่ามีหนังสือสำคัญ หรือเอกสารสิทธิครอบครองแต่อย่างใด จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวเข้ามาตรวจสอบด้วย
       
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ข่าวการเข้ายึดสวนปาล์มกลุ่มชาวบ้านได้แพร่สะพัดออกไป ก็ทำให้มีกลุ่มชาวบ้านที่ถูกสลายการชุมนุมในพื้นที่สวนปาล์ม อำเภอปลายพระยา เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ทยอยเข้าสมทบอย่างต่อเนื่อง คาดว่าไม่ต่ำกว่า 300 คน
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net