'ไมโครซอฟท์' ให้ข้อมูลรัฐไทยดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมฯ โบรกเกอร์ปล่อยข่าวหุ้นตก

30 พ.ย. 2558 องค์กร Privacy International ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามในประเด็นสิทธิความเป็นส่วนตัว เปิดเผยรายงานผ่านเว็บไซต์องค์กรเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ว่าบริษัทไมโครซอฟท์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีร้ายแรงของรัฐบาลในประเทศไทย พร้อมระบุว่านี่เป็นตัวอย่างที่น่าตกใจของบริษัทสัญชาติตะวันตกที่ไม่เพียงแต่ร่วมมือกับรัฐบาลที่ไม่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากลเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยเหลือให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

องค์กร Privacy International ระบุว่า กรณีดังกล่าวเป็นคดีที่นายคธา ซึ่งเป็นโบรกเกอร์คนหนึ่ง ถูกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ฟ้องด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฐานเป็นผู้ปล่อยข่าวพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โดยถูกกล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวทำให้หุ้นตกลงอย่างฉับพลัน

ทั้งนี้ องค์กร Privacy International ชี้ว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ผู้ใช้ปล่อย “ข้อมูลอันเป็นเท็จ” ในโลกออนไลน์ เนื่องจากคำว่า “ข้อมูลอันเป็นเท็จ” เป็นคำที่คลุมเครือ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จึงถูกใช้กับข้อความที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้วหลายครั้ง เพื่อฟ้องร้องความเห็นใดก็ตามเกี่ยวกับราชวงศ์ที่ถูกมองว่าเป็นเชิงลบ

องค์กร Privacy International ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทไมโครซอฟเข้ามามีบทบาทในคดีนี้อย่างไม่ถูกต้อง ด้วยการให้เอกสารสำคัญที่ถูกใช้เป็นหลักฐานเอาผิดนายคธาในการไต่สวนเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557

เอกสารสำคัญหนึ่งในสามชิ้นที่แสดงอยู่ในชั้นศาลคือจดหมายจากบริษัทไมโครซอฟท์ ซึ่งค้นพบโดยองค์กร Privacy International ระบุหมายเลขไอพีของบัญชีอีเมลที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพดังกล่าว แม้ว่าจดหมายดังกล่าวจะไม่ได้ให้อะไรมากไปกว่าหมายเลขไอพีของบัญชีอีเมลของผู้ต้องสงสัย แต่จดหมายฉบับนั้นก็ทำไปสู่การพิพากษาสั่งฟ้องนายคธาในที่สุด เอกสารฉบับดังกล่าวจากไมโครซอฟท์ถูกใช้เพื่อหักล้างหลักฐานของฝ่ายจำเลยในคดีนี้

นายคธาถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 8 เดือนเมื่อเดือนมีนาคม 2557 และขอยื่นอุทธรณ์ นายคธาถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวและยังคงถูกจำคุกอยู่กว่าหนึ่งปี

องค์กร Privacy International ระบุว่า ก่อนการเผยแพร่รายงานนี้ ได้ให้โอกาสบริษัทไมโครซอฟท์ในการแสดงท่าทีต่อการตรวจสอบแล้ว โดยไมโครซอฟท์ตอบกลับมาว่า พวกเขาเพียงแค่ขานรับต่อคำร้องที่มีเป้าหมายแน่ชัดซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกฎหมาย พร้อมให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าระเบียบของกฎหมายดังกล่าวอยู่ภายใต้กฎหมายไทย และพุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้เฉพาะรายบุคคลเท่านั้น บริษัทไมโครซอฟท์ระบุว่า พวกเขาสนับสนุนการสอบสวนบัญชีอีเมลที่โดนกล่าวหาว่าถูกใช้ในการละเมิดกฎหมายของไทย จากการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและส่งผลต่อตลาดซื้อขายหุ้นของไทยในทางลบ

องค์กร Privcay International ชี้ว่า บริษัทไมโครซอฟท์ได้ให้ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนของผู้ใช้กับรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่รู้ว่าอยู่แล้วว่าการสอบสวนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรืออาชญากรรมร้ายแรง แต่เป็นเพียง “ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง” ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น การกระทำดังกล่าวของไมโครซอฟท์ถือว่าสนับสนุนการฟ้องร้องที่ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก

อีวา บลูม ดูมอนเตท (Eva Blum-Dumontet) เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยขององค์กร Privacy International กล่าวว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว รัฐบาลจีนได้ร้องขอให้ยาฮู (Yahoo) เปิดเผยหมายเลขไอพีของบัญชีอีเมลนิรนาม บัญชีอีเมลดังกล่าวถูกใช้เพื่อประจานรายการคำสั่งเซนเซอร์ที่รัฐบาลจีนใช้ควบคุมงาน Asia Democracy Forum ก่อนวันครบรอบการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ยาฮูได้รวบรวมข้อมูลและเปิดเผยออกมาว่าหมายเลขไอพีของอีเมลมาจากสำนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่อยู่ในมณฑลหูหนาน นายชือเต่า นักข่าวที่ทำงานให้กับสำนักข่าวหนังสือพิมพ์ถูกจับกุมและพิพากษาจำคุก 10 ปี ขณะนั้น ยาฮูถูกวิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากยินยอมต่อคำขอของรัฐบาลจีน พวกเขาออกมาแก้ต่างว่าพวกเขาไม่ทราบถึงลักษณะคดีที่แท้จริงของคดีนี้

เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยขององค์กร Privacy International กล่าวว่า เป็นเรื่องที่รับไม่ได้อย่างสิ้นเชิงที่ 10 ปีให้หลังบริษัทสัญชาติอเมริกันอีกแห่งหนึ่งให้ความร่วมมืออย่างชนิดหน้ามืดตามัวกับคำร้องของรัฐบาลที่กดขี่ประชาชนอย่างโจ่งแจ้ง คำแก้ต่างของบริษัท ไมโครซอฟท์ ยิ่งก่อให้เกิดคำถามมากขึ้น เมื่อพวกเขาโต้แย้งว่าได้รับคำร้องที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดกฎหมายไทย โดย “การเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องซึ่งส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยในทางลบ”

"ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน “การเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง” ถูกนับว่าเป็นอาชญากรรมอย่างสมเหตุสมผล เราขอชื่นชมที่บริษัทต่างๆ ปฏิบัติตามกฎหมายของท้องที่ แต่ถ้อยแถลงเช่นนี้ไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการละทิ้งมาตรฐานสิทธิมนุษยชนของสากลได้ นี่นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจและน่ากังวลที่บริษัทสัญชาติตะวันตกสมรู้ร่วมคิดกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่เรียบง่ายอย่างชัดแจ้งแบบต่อหน้าต่อหน้า" อีวา บลูม ดูมอนเตท ระบุ

ที่มา

Privacy International investigation exposes the role of Microsoft in Thailand human rights abuse case
https://www.privacyinternational.org/node/673

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท