นัยที่ซ่อนอยู่ ภายในภาพยนตร์ The Little Prince ผ่านมุมมองทางสังคมวิทยา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ไม่กี่สัปดาห์ก่อนผู้เขียนได้มีโอกาสได้ไปรับชมภาพยนตร์ The Little Prince (2015) รอบปฐมทัศน์ ณ โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง ซึ่งก็เหมือนกับทุกๆครั้งสำหรับการไปชมภาพยนตร์ที่มีพื้นฐานมาจากนวนิยาย คือ ผู้เขียนไม่รู้เรื่องราวมาตั้งแต่ต้น เหมือนกับหลายๆท่านที่อาจจะเคยอ่านในฉบับหนังสือนวนิยายมาก่อนแล้ว แต่ไม่ว่าจะเคยหรือไม่เคยมีประสบการณ์การอ่านวรรณกรรมเรื่องดังกล่าวผ่านตัวหนังสือมาก่อน ผู้เขียนเชื่อว่าตัวภาพยนตร์ที่ได้ถูกสร้างออกมาก็มิได้ลดความน่าสนใจในเนื้อเรื่องลงไปเลยแม้แต่เล็กน้อย ภาพยนตร์เรื่องนี้มีหลายจุดที่สามารถจะสะท้อนแง่คิด หรือ ภาพจำลองให้แก่สังคมได้อย่างน่าติดตามและน่าสนใจ แม้ว่าตัวภาพยนตร์จะมีตัวเนื้อเรื่อง (storyline) หลักๆอยู่ที่ประเด็นความสัมพันธ์ของแม่-ลูกคู่หนึ่งกับชายชราข้างบ้านก็ตาม

เบื้องต้น ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามฉายให้เห็นถึงสภาพการณ์ของชีวิตเด็กสาวคนหนึ่งว่าถูกจัดวาง และวางแผนทุกอย่างเอาไว้ ด้วยแนวคิดที่ผู้เป็นแม่สร้างเอาไว้เพื่อล้อมกรอบชีวิตของลูกสาว เช่น คอนเซ็ปต์เกี่ยวกับเรื่อง “อนาคต” และ “ชีวิตที่ดี” ผ่านความหวังดี เป็นห่วง และอำนาจของความเป็นแม่ โดยนอกจากชีวิตแม่-ลูกในบ้านหลังหนึ่งๆแล้ว ภาพยนตร์ยังได้ชี้ถึงวงจรชีวิตของคนส่วนใหญ่ภายในสังคมและภายในเมืองดังกล่าวนั้น ผ่านการฉายภาพวิถีชีวิตของกลุ่มบุคคล (ซึ่งเป็นวัยทำงาน และเป็นครอบครัวเดี่ยว หรือ nuclear family เสียเป็นส่วนใหญ่) กลุ่มใหญ่ที่จำเป็นต้องปฏิบัติการในกิจกรรมเดิมๆทุกวัน โดยไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลง (เป็นเหมือนสมการวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมเมืองสมัยใหม่คือ ‘ตื่น-ทำงาน-กลับบ้าน-เข้านอน) ในฐานะที่เป็น “ความจริง” หรือ “ชีวิตจริง” รูปแบบหนึ่งที่หลายๆคนในสังคมจำเป็นจะต้องเผชิญ

แต่สิ่งที่ได้รับการเสนอถัดจากนั้นคือ ความผิดพลาดของสังคมหนึ่งๆ ที่มีการนำเอา “ชีวิตจริง” จากคนคนหนึ่งหรือหลายๆคนที่เคยเผชิญหรือประสบมาก่อน ไปยัดเยียดให้กับคนที่ยังไม่เคยออกไปเผชิญความจริงชุดนั้น ผ่านม่านกรอบแห่งความหวังดี ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงกลายเป็นว่า ชีวิตของเด็กหรือผู้เยาว์ จำนวนมากจะถูกแทรกแซง โดยตัวละครที่ปรากฏตัวในฐานะ “ผู้ใหญ่” เพราะในสายตาของผู้ใหญ่ หรือ สังคมเมือง (urban society) ดังปรากฏมาจากภาพยนตร์คือ ภาวะวัยเด็ก (state of infant) ซึ่งก็คือ สิ่งที่เป็น “ปัญหา” (error) แบบหนึ่ง เป็น สภาวะแห่งความไร้การผลิต ที่กระบวนการขัดเกลาทางสังคม (socialization) จำเป็นต้องก้าวเข้าไปกำจัดโดยเร็ว การแทรกแซงเหล่านั้นจึงเกิดขึ้น

“ความเป็นเด็ก” และ “อิสรภาพแห่งจินตนาการ” (freedom of imagination) ของสภาวะวัยเด็ก จึงจะถูกมุ่งเป้าหมายในการแทรกแซง และกลั่นกรอง จนสลายหายไปอยู่ตลอดเวลา นำมาสู่การเกิดสภาวะกดดันทางสังคมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีแนวโน้มจะพัฒนาต่อไป กลายเป็นกลไกหลักในการจัดพื้นที่หรือตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม (social arrangement) ไปโดยปริยาย หนักกว่านั้น มันอาจก้าวไปถึงขั้นที่สังคมผลิตซึ่งสภาวะของชีวิตที่ถูกตั้งค่า ตั้งโปรแกรมให้แก่ตัวหน่วยหรือตัวแสดงทางสังคม (agents) จนกลายเป็นชีวิตที่คาดเดาได้ และตายด้านในที่สุด ๖(programmed and predictable society)

ชีวิตที่ถูกตั้งค่า ที่มีการแข่งขัน มีความเป็นปัจเจกในสังคมสูง จะอยู่อาศัยกันภายในสังคม โดยมีความเชื่อมโยงภายในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมน้อยที่สุด กล่าวคือจะเชื่อมโยงกันเฉพาะผ่านความสัมพันธ์ในปริมณฑลของการทำงาน การผลิต ในฐานะฟันเฟืองที่จำเป็นต้องทำงานร่วมกันเท่านั้น ความสัมพันธ์ฉันมิตรประเภทต่างๆ ภายในระดับปฐมภูมิ (primary) จะมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ยากมากขึ้น สังคมรูปแบบดังกล่าวนี้จะเกิดอาการ “รวน” หรือ “สั่นเทา” ขึ้นมาทันที เมื่อพบกับ “ความแปลกปลอมที่ไม่คุ้นชิน” ซึ่งก็คือ ลุงขับเครื่องบิน (the aviator) ที่ปรากฏตัวอยู่ข้างบ้านของแม่-ลูกคู่นั้น (โดยทั้ง 3 คนคือ เป็นตัวเอกสำคัญของภาพยนตร์ หากไม่ได้นับรวม Little Prince)

ลุงขับเครื่องบินถูกมองเป็นภัยและความป่วยของสังคม กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่สังคมรังเกียจ และไม่อยากเข้าใกล้ (เพราะสังคมไม่สามารถทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของลุงคนนี้ได้) ตามเนื้อเรื่องแล้ว ลุงคนนั้นคือ ความพยายามในการจะเข้ามาก่อกวน รบกวน และสั่นคลอน “ความสงบ” ที่ถูกประกอบขึ้น ของชีวิตคนหนึ่งที่กำลังถูกกระบวนการขัดเกลาทางสังคม ตั้งค่าให้กลายเป็นเครื่องจักรสำหรับเข้าสู่กระบวนการผลิตเมื่อเติบโตขึ้น ลุงคนนั้นได้เข้ามาหยิบยกเอาเรื่องเล่า นิทาน ความฝัน รวมถึงจินตนาการในรูปแบบต่างๆ ออกมาใช้เป็นเครื่องมือในการก่อกวนชีวิตของเด็กสาวคนนั้น ซึ่งตามทัศนะของสังคมนั้นๆ มันเป็นสิ่งที่ถูกมองว่าใช้การไม่ได้ และไม่ควรจะปรากฏตัวขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการขับไล่อยู่ตลอดเวลา

แต่สุดท้าย ความไม่คุ้นชิน ความนอกคอก และการรบกวนที่ปรากฏขึ้นภายในสังคมนั้นๆ แท้จริงแล้วอาจไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป ตามที่สังคมเข้าใจหรือต้องการจะให้ตัวแสดงต่างๆที่อยู่ภายใต้สังคมนั้นๆเข้าใจ สิ่งที่เลวร้ายจริงๆ อาจเกิดจาก “ความตายด้าน” หรือ “ความคาดเดาได้” (predictable) และการถูกตั้งค่า จนกลายเป็นมนุษย์หุ่นยนต์ต่างหากที่เป็นความเลวร้ายในรูปแบบภัยเงียบ ซึ่งจะทำให้มนุษย์สูญเสียความเป็นตัวเอง หรือตัวตนไป เมื่อเข้าสู่พื้นที่ของโลกแห่งการผลิต โลกของการทำงาน โลกของผู้ใหญ่ และความเป็นเด็ก (state of infant) จะถูกทำให้กลายเป็นสิ่งที่ “ไร้สาระ” และ “ไร้ค่า” ไปในเวลาเดียวกัน ดังประโยคเด่นของตัวภาพยนตร์

“the grown men have forgotten”

ที่หมายถึง การทอดทิ้งจินตนาการ และสภาวะวัยเด็กลงไป เมื่อผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ หรือสภาวะของการเติบโตในโลกแห่งการทำงาน

โดยนอกจากนี้ตัวภาพยนตร์ยังได้แสดงภาพถึง อุปมาหรือสัญลักษณ์ (metaphor) เรื่อง “ดาว” ที่หมายถึง พลังแห่งจินตนาการ พลังในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ (creative forces) ไว้ในฐานะสิ่งที่มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการอยู่ 2 ระดับขั้น

  • ขั้นแรก: ดาว [พลังแห่งจินตนาการ] ในฐานะของพลังแห่งความสร้างสรรค์ พลังของการผลิตสร้าง สิ่งใหม่ พลังของการนอกคอก นอกรีตอย่างอิสรเสรี ไม่อยู่ในกลไกแห่งกฎระเบียบ หรือกฎเกณฑ์ใดๆที่สังคมเคยกำหนดสร้างขึ้น หรือตีกรอบเอาไว้
  • ขั้นที่สอง:  ดาว [พลังแห่งจินตนาการ] ในระดับพลังของการขับเคลื่อน เครื่องจักรภายในสังคม ซึ่งจะถูกนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็นกลไกของการหล่อลื่นภายใน แก่เครื่องจักรเพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น เป็นระบบ และมีเสถียรภาพต่อไปเรื่อยๆ (ดาวในระดับขั้นนี้ จึงจะทำหน้าที่ในการเป็นเพียงแค่ “ความฝันลมๆแล้งๆ” ที่ล่อลวง ดึงความสนใจ หรือเป็นเพียงแรงบันดาลใจ ในการทำงานตามหน้าที่ ของแรงงาน หรือ กลไกต่างๆ ภายในโรงงาน และพื้นที่ของการผลิต) ซึ่งก็คือ พลังงานที่อยู่ในรูปของจินตนาการ แต่ถูกนำไปเข้าระบบกระบวนแปลงผันจนสามารถควบคุมได้แล้ว จึงนำมาเป็นเชื้อเพลิง หรือ กลไกของการหล่อลื่นให้แก่วงจรและการขับเคลื่อนฟันเองภายในเครื่องจักรเหล่านั้น ให้สามารถทำงานตามระบบ ตามคำสั่งที่ตั้งไว้อย่างราบรื่น

สุดท้ายภาพยนตร์เรื่องนี้ยังทำให้เราได้เห็นถึงสถานะของ การมีตัวตน (subject) ในตัวแสดงต่างๆภายในโลกนี้ สามารถเป็นสิ่งใดก็ได้ไม่ว่าจะ คน สัตว์ หรือ สิ่งของ ทุกอย่างล้วนมีโอกาสที่จะยืนยันในสถานการณ์มีตัวตน (subjectivity) ของตนเองได้ทั้งสิ้น ด้วยเหตุผลที่ว่า ทุกสิ่งบนโลกไม่มีสิ่งใดที่จะมีความเหมือนกันในทุกกระเบียดหรือตารางนิ้ว เพราะไม่ว่าจะเกิดมาอย่างไร หรือมีเงื่อนไขสภาพหลังการเกิดอย่างไร แต่สุดท้ายทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีความ “เป็นตัวของตัวเองในฐานะสิ่งที่เป็นหนึ่งเดียวอันเทียบกับสิ่งอื่นมิได้” แม้เป็นสินค้าที่ผลิตออกมาจากโรงงาน หรือ ห้างร้านแห่งเดียวกัน เช่น ลูกบอล แต่มันย่อมีความแตกต่างภายในตัวของมันเองเสมอ โดยเฉพาะเมื่อมันไปสัมผัส (connect) กับเงื่อนไขอะไรบางอย่างภายในสังคม มันจะกลายเป็นสิ่งที่แปลกหรือมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และแตกต่างจากลูกบอลลูกอื่นๆ เพราะลูกบอลลูกอื่นอาจจะไปสัมผัสกับเงื่อนไขอีกอย่างหนึ่งหรือเงื่อนไขชุดอื่นภายในสังคมก็เป็นได้

เหมือนดั่งคำสอนที่จิ้งจอกได้ให้ไว้กับเจ้าชายน้อย (the little prince) ว่า ทุกสิ่งบนโลกไม่เคยมีสิ่งใดที่มีความเหมือนกัน มันจะมีบางอย่างที่ทำให้สิ่งนั้นแตกต่างจากสิ่งอื่นเสมอ

“To you, I am nothing more than a fox like a hundred thousand other foxes. But if you tame me, then we shall need each other. To me, you will be unique in all the world”

กล่าวคือ แม้สิ่งที่สามารถเห็นได้ประจักษ์ชัดกับสายตาว่ามันมีความเหมือน เมื่อเปรียบเทียบกับอีกสิ่งหนึ่งจนไม่สามารถแยกหรือจัดจำแนกความแตกต่างออกมาได้เลย ก็ไม่ได้หมายความว่า 2 สิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่เหมือนกัน หากแต่ภายในของวัตถุ 2 สิ่งนั้นอาจมีการเชื่อมต่อผสานและสัมผัสจนเกิดมีความสัมพันธ์กับบางสิ่ง บางเงื่อนไขอยู่ เช่น ลูกบอล 2 ลูกที่มีความเหมือนกันอย่างแยกไม่ออก แต่เมื่อมีเงื่อนไขบางอย่างเข้าไปสัมผัสกับมัน บอล 2 ลูกนั้นจะกลายเป็นสิ่งของที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง หรือเมื่อลูกบอลเหล่านั้นมีเจ้าของ และถูกเจ้าของนำไปใช้ต่างวัตถุประสงค์กัน คนหนึ่งนำไปใช้เป็นเก้าอี้ ส่วนอีกคนหนึ่งนำไปใช้เป็นหมอน การสัมผัสหรือเชื่อมต่อเพียงเท่านี้ ก็สามารถที่จะทำให้เห็นได้ถึงความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง และสถานะความเป็นหนึ่งเดียวของลูกบอลแต่ละลูกแล้ว  (unique in all the world) เนื่องด้วยระบบความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอย่างแตกต่าง ที่ลูกบอลเหล่านั้นเคลื่อนเข้าไปหาหรือถูกดึงเข้าไป ที่กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญซึ่งสร้างความแตกต่างให้กับพวกมัน จะเห็นได้ว่าแม้ ตัวตน หรือ สิ่งใด (subject) สิ่งหนึ่งๆจะเคยถูกสันนิษฐานว่ามีความเหมือนกันกับสิ่งอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงหรือเหมือนกัน แต่เมื่อมันเข้าไปสัมผัสกับเงื่อนไขบางประการ มันจะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็นสิ่งที่มีเพียง “หนึ่งเดียวในโลก” ได้

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกบนหน้า Facebook Wall ของผู้เขียน เมื่อ 25  ตุลาคม 2015

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท