รายงาน: การคุกคามทนาย-ผู้ต้องขังคดีเตรียมป่วนBike for Dad กดดันถอนแจ้งความ

พูดคุยกับทนาย 2 คนของผู้ต้องหาหลายรายที่อยู่ในคุกพิเศษ มทบ.11 ซึ่งระบุว่าถูกกักตัว ติดตาม กีดกันการพบผู้ต้องหา และถูกกดดันให้ถอนการแจ้งความกล่าวโทษทหาร-ตำรวจที่ออกหมายจับคดี112 “ธนกฤต” 1 ใน 9 ผู้ต้องหาคดี 112 เตรียมป่วนกรุง ทนายเตรียมแถลงการคุกคามต่อศาลทหารพรุ่งนี้

เบญจรัตน์ มีเทียน หนึ่งในทนายความของผู้ต้องหาคดีเตรียมป่วนกิจกรรม Bike for Dad  ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ “คุกคามทนายความ” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ภายในเรือนจำ มทบ.11 ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจแจ้งความของเธอในวันพรุ่งนี้ (4 ธ.ค.)

ภาพวันตำรวจแถลงข่าวการจับกุม 2 รายแรกคือ ประธินและณัฐพล

เรื่องราวเกิดขึ้นหลังจากวันที่ 29 พ.ย.เธอได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ในฐานะหัวหน้าส่วนปฏิบัติการ คณะทำงานกฎหมายของ คสช. และ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานคดีหมิ่นเบื้องสูง พร้อมคณะ ในข้อหาละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ แจ้งความเท็จ และข้อหาหมิ่นประมาท จากกรณีการออกหมายจับนายธนกฤต โดยระบุว่านายธนกฤตเป็น 1 ในผู้เตรียมก่อเหตุความไม่สงบในกรุงเทพฯ ลอบทำร้ายบุคคลสำคัญในรัฐบาล และมีการแจ้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 

ผู้ต้องหาที่ตำรวจออกหมายจับในกรณีเตรียมการป่วนครั้งนี้มี 9 ราย ทนายความระบุว่าถูกจับกุมและควบคุมตัวใน มทบ.11 แล้วถึง 7 ราย โดยทยอยโดนจับมาอย่างเงียบๆ และเพียงประธินกับณัฐพลที่มีการแถลงข่าว นอกจากนี้หมายจับดังกล่าวยังครอบคลุมไปถึงธนกฤตซึ่งเคยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำขอนแก่นในความผิดเกี่ยวข้องกับคดี “ขอนแก่นโมเดล” เมื่อปี 2557 ต่อมาได้ประกันตัวและขณะนี้กำลังรับโทษจำคุกในความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งจะครบกำหนดพ้นโทษในอีก 6 เดือนข้างหน้า เบญรัตน์ซึ่งเป็นทนายความของธนกฤตระบุว่าเป็นไปไม่ได้ที่นายธนกฤตจะกระทำผิดตามที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา ลูกความจึงได้มอบให้เธอดำเนินการแจ้งความกลับกับพล.ต.วิจารณ์ พล.ต.อ.ศรีวราห์ และคณะดังกล่าว


เบญจรัตน์ มีเทียน (แฟ้มภาพ)

เบญจรัตน์กล่าวว่า หลังจากที่ได้เข้าแจ้งความแล้ว (วันที่ 29 พ.ย.) ในช่วงกลางคืนของวันนั้นเองตำรวจกองปราบฯ ที่รับแจ้งความได้โทรศัพท์เรียกให้เธอเข้าไปแก้ไขเอกสารและให้การเพิ่มเติมที่กองปราบฯ ในคืนนั้น แต่เธอปฏิเสธพร้อมแจ้งว่าจะเข้าไปดำเนินการเมื่อมีเวลาว่าง หลังจากนั้นตำรวจยังคงโทรมาหาเธออีกเกือบ 10 ครั้ง และแจ้งว่าจะมาพบที่บ้านเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว แต่เบญจรัตน์ยืนกรานปฏิเสธ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กำหนดเวลาให้เข้าไปที่กองปราบในช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น (30 พ.ย.)  แม้ว่าเบญจรัตน์จะแจ้งว่าต้องเข้าไปสอบข้อเท็จจริงผู้ต้องหาที่เรือนจำชั่วคราว มทบ.11 

เธอเล่าอีกว่า เวลา 10.30 น. ของวันที่ 30 พ.ย.2558 เบญจรัตน์เดินทางไปเรือนจำ มทบ.11 ขอเข้าพบเพื่อสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นผู้ต้องขังทั้ง 4 คน ได้แก่ นายประธิน, นายพาหิรัณ, นายวัลลภ และนายฉัตรชัย ที่เรือนจำชั่วคราว มทบ.11 เจ้าหน้าที่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม แต่ไม่อนุญาตให้เอาโทรศัพท์เข้าไป เธอจึงนำโทรศัพท์มาเก็บที่รถก่อนเข้าพบผู้ต้องหา แต่ปรากฎว่ามีผู้ต้องหาเพียง 3 คนที่ออกมาที่ออกมาพบ ยกเว้นประธิน เธอสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งสามโดยมีเจ้าหน้าที่ทหารนั่งฟังอยู่ด้วยตลอดเวลา หลังจากผู้ต้องหาทั้งสามกลับเข้าที่คุมขัง ทหารที่เฝ้าอยู่ซึ่งมียศร้อยเอกและทหารยศต่ำกว่าอีก 2 คน ได้แจ้งให้เธอรอประธินออกมา 

เบญจรัตน์นั่งรออยู่จนถึงเวลาเที่ยง จึงได้แจ้งต่อทหารว่าเธอมีนัดที่ศาลอาญาในเวลา 13.30 น.มีความจำเป็นต้องเดินทางออกจากเรือนจำ แต่นายทหารยศร้อยเอกได้ล็อคประตูห้องและสั่งให้เธออยู่พบ "นาย" ก่อน เบญจรัตน์นั่งรออยู่อีกประมาณครึ่งชั่วโมงจึงเปิดสมุดนัดหมายศาลให้ทหารดู และเจรจาว่าจำเป็นต้องขอไปทำหน้าที่ แล้วจะมาคุยกับ "นาย" ในภายหลัง แต่ทหารคนดังกล่าวก็ยืนกรานว่าให้ไปไม่ได้ นายสั่งไม่ให้ไปไหน เบญจรัตน์ถามกลับว่าศาลสั่งกับนายสั่งอย่างไหนสำคัญกว่า ทหารก็ยืนยันไม่ให้ออกไป และยังบอกด้วยว่าจะโทรศัพท์ไปคุยกับผู้พิพากษาให้


วิญญัติ ชาติมนตรี (กลาง) (แฟ้มภาพ)

ในขณะเดียวกัน วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความของผู้ต้องหาในคดีนี้อีกคนหนึ่งก็เดินทางมาเยี่ยมและสอบข้อเท็จจริงจากลูกความที่เรือนจำ มทบ.11 เช่นกัน วิญญัติกล่าวว่า เขาได้ทำเรื่องขอเยี่ยมและได้พบกับประธินเพียงคนเดียวเท่านั้น ประธิน ถูกตีตรวน ใส่กุญแจมือ และใช้ผ้าปิดตาระหว่างเดินมาพบทนาย ก่อนจะได้รับการแก้ผ้าปิดตาออกระหว่างพูดคุย อย่างไรก็ตาม วิญญัติระบุว่าเขาได้มีเวลาคุยกับประธินเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้น โดยระหว่างการคุยสอบข้อเท็จจริงก็มีนายทหารนั่งฟังอยู่ด้วย 

"จากนั้นเจ้าหน้าที่เรือนจำก็บอกว่าฝ่ายความมั่นคงไม่ต้องการให้คุย แล้วผมก็โดนกักบริเวณไว้ ไม่มีคำอธิบาย แค่บอกให้รอ แล้วไม่ให้ผมกับทนายเบญจรัตน์เจอกัน ทั้งๆ ที่ไปอยู่ในที่เดียวกัน แต่ให้แยกห้อง และต่อมาก็คุมตัวตัวทนายเบญไปโดยผมไม่ทราบ  มาทราบตอนหลัง" วิญญัติกล่าว

"ผมก็บอกว่าผมเป็นห่วงทนายเบญ แต่ทหารก็ไม่ยอมให้พบ" วิญญัติกล่าว

วิญญัติกล่าวด้วยว่า ทหารไม่ได้แสดงอาการก้าวร้าวแต่อย่างใด เพียงแค่บอกให้เขารอพบผู้ต้องขังเท่านั้น ขณะเดียวกันก็ถูกจำกัดไม่ให้ออกนอกห้อง ไม่ให้ใช้มือถือ และไม่ยอมบอกว่าจะได้เจอหรือไม่ โดยมีทหารใส่ชุดฝึกลายพราง 2 นายมานั่งประกบอยู่ตลอดเวลา

วิญญัตินั่งรอต่อไปจนถึงช่วงบ่ายแก่ จึงมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้ามาขอให้วิญญัติกลับไปเสียก่อน โดยระบุว่า "กลัวว่าจะมีปัญหากับทนายเพราะทหารไม่อยากให้อยู่"

โดยสรุปแล้ว วิญญัติขอเข้าพบผู้ต้องขังในเวลา 10.30 น. ถูกกักตัวให้รอ และได้ออกจากเรือนจำในเวลา 14.45 น. โดยได้มีโอกาสได้พบประธินลูกความของเขาเพียง 5 นาที

สำหรับเบญจรัตน์ เธอเล่าว่า หลังจากรออยู่พักใหญ่ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตรจากกองปราบ 2 คน เปน ชาย 1 หญิง 1  มารับตัวเธอเพื่อจะนำตัวไปที่กองปราบฯ ทหารจึงยอมนำตัวเธอออกมา เธอได้แจ้งกับตำรวจว่ามีนัดที่ศาลในคดีที่รับผิดชอบอยู่ ต้องการขอไปเลื่อนนัดศาล ตำรวจหญิงจึงนั่งรถมากับเบญจรัตน์เพื่อเดินทางไปที่ศาลด้วย โดยนายตำรวจอีกคนขับรถตามหลังมา เมื่อถึงศาลนายตำรวจหญิงได้ติดตามเข้าไปนั่งเฝ้าอยู่หน้าห้องพิจารณาคดี  เบญจรัตน์จึงได้แจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้พิพากษา ผู้พิพากษาให้เจ้าหน้าที่ศาลออกมาตำหนิเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าให้กระบวนการพิจารณาคดีดำเนินให้เสร็จสิ้นไปก่อนจึงค่อยคุมตัวไป  

เบญจรัตน์เล่าต่อว่า เธอออกจากศาลในเวลาประมาณ 16.00 น. ตำรวจที่รออยู่มารับตัวพร้อมกับนำบันทึกที่มีเนื้อความว่า เบญจรัตน์ได้เดินทางไปกองปราบฯ ด้วยความสมัครใจมาให้เซ็นด้วยก่อนจะเดินทางไปกองปราบฯ  เจ้าหน้าที่แจ้งเธอว่า ถ้าไม่ได้ตัวทนายไปในวันนี้จะถูกย้ายภายใน 7 วัน 

เธอให้ปากคำอยู่ที่กองปราบฯ จนถึงประมาณ 21.00 น. โดยการให้ปากคำและแก้ไขเอกสารเป็นเรื่องปลีกย่อย ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรมากนัก สุดท้ายเบญจรัตน์จึงถามพนักงานสอบสวนยศพันตำรวจโทเจ้าของสำนวนว่า ต้องการอะไรกันแน่ พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งว่า “นาย” ต้องการให้ถอนการแจ้งความกล่าวโทษ แต่เบญจรัตน์ได้ยืนยันว่าไม่สามารถทำได้

"เรายืนยันไปว่าเป็นทนายความไม่สามารถถอนฟ้องได้ แต่เจ้าหน้าที่ก็บอกว่ามีใบมอบอำนาจจากผู้ต้องหาแล้วก็ถอนได้สิ" เบญจรัตน์กล่าวและอธิบายว่าเหตุที่ไม่สามารถอนการกล่าวโทษได้ เพราะตามหลักกฎหมายความผิดดังกล่าวเป็นอาญาแผ่นดิน เมื่อความผิดได้เกิดขึ้นแล้วไม่สามารถถอนการดำเนินคดีได้

เธอกล่าวต่อว่า นอกจากการถูกจับตา ติดตาม  กดดันแล้ว เธอยังกังวลว่าอาจจะถูกคุกคามอีกเมื่อจะต้องเข้าไปสอบข้อเท็จจริงผู้ต้องขังทั้งสี่คนใน เรือนจำพิเศษ มทบ.11 ในครั้งถัดๆ ไป

เบญจรัตน์กล่าวด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (4 ธ.ค.) เธอจะเดินทางไปยังศาลทหาร เพื่อแถลงต่อศาลถึงเรื่องการกักขังหน่วงเหนี่ยวทนาย เป็นคุกคามและขัดขวางไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพทนายความ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้เรือนจำ มทบ.11 อำนวยความสะดวกในการเข้าพบผู้ต้องขัง เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างโปร่งใส


ธนกฤต 

สำหรับบทสรุปเรื่องจะมีการถอนแจ้งความหรือไม่นั้น แรงกดดันดูเหมือนไม่ได้มาทางทนายความอย่างเดียว  เช้าวันนี้ (3 ธ.ค.) เบญจรัตน์ได้เข้าเยี่ยมธนกฤตในเรือนจำขอนแก่น ลูกความของเธอได้แจ้งว่า หลังมอบอำนาจให้เธอไปแจ้งความกลับกับเจ้าหน้าที่นั้น ได้มีชุดตำรวจทหารจากกรุงเทพฯ เดินทางมาที่เรือนจำขอนแก่นเพื่อสอบสวนเขาถึง 4 รอบ โดยคณะผู้สอบสวนได้ขอให้เขาถอนแจ้งความเพื่อแลกกับการที่เจ้าหน้าที่จะไม่แจ้งข้อหามาตรา 112 กับเขาโดยเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเขามีการพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ในเรือนจำ สุดท้ายเขาจึงจำเป็นต้องยินยอมเซ็นชื่อถอนแจ้งความ แต่อย่างไรก็ดี วานนี้ (2 ธ.ค.) มีการแถลงข่าวจากทางเจ้าหน้าที่ว่าจะเอาผิดธนกฤตในคดีเตรียมป่วนกรุงเช่นเดิม ดังนั้นธนกฤตจึงเปลี่ยนการตัดสินใจและได้มอบหมายให้ทนายดำเนินคดีฟ้องเอาผิดต่อเจ้าพนักงานผู้กล่าวโทษในความผิดที่เขาไม่ได้ก่ออีกครั้งหนึ่ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท