2 อดีตผู้นำละตินอเมริกา เสนอนโยบายสู้โลกร้อนช่วยเศรษฐกิจประเทศได้

ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมใหญ่เรื่องโลกร้อนของสหประชาชาติในกรุงปารีสซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในตอนนี้ อดีตผู้นำเม็กซิโกและชิลีเสนอว่าการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนจะสามารถช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นทั้งในระดับประเทศและทำให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ โดยยกตัวอย่างในหลายกรณีผ่านบทความในดิอิโคโนมิสต์

เฟลิปเป คาลเดรอน อดีตประธานาธิบดีเม็กซิโก ประธานคณะกรรมการโลกว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจและภูมิอากาศ (the Global Commission on the Economy and Climate) และริคาร์โด ลากอส นักเศรษฐศาสตร์และอดีตประธานาธิบดี และคณะกรรมการโลกว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจและภูมิอากาศ (ที่มา: วิกิพีเดีย/แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. เฟลิปเป คาลเดรอน อดีตประธานาธิบดีเม็กซิโกผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโลกว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจและภูมิอากาศ ร่วมกับ ริคาร์โด ลากอส นักเศรษฐศาสตร์ อดีตประธานาธิบดีชิลี ผู้เป็นสมาชิกคณะกรรมการโลกว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจและภูมิอากาศ นำเสนอบทความในดิอิโคโนมิสต์เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมาว่าการดำเนินนโยบายโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อเรื่องโลกร้อนเช่นการจำกัดการปล่อยกีาซคาร์บอนนั้นก็สามารถเป็นโอกาสในการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้

ประเทศชั้นนำทั้งในละตินอเมริกาและทั่วโลกแสดงให้เห็นว่าปฏิบัติการรับมือกับโลกร้อนเป็นทางเลือกที่ถูกต้องทั้งต่อประชาชนและต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้พวกเขามองว่าเศรษฐกิจโลกกำลังดำเนินมาถึงจุดที่ควรเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว เนื่องจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่างๆ จากการละลายของแผ่นน้ำแข็ง การเกิดภัยจากพายุและคลื่นความร้อนบ่อยขึ้น รวมถึงการคำนวนฤดูการเติบโตของพืชพันธุ์ได้ยากขึ้น และการพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงเหล่านี้ก็ถือเป็นแรงจูงใจหลักๆ เพื่อผลักดันให้เกิดความสัมฤทธิ์ผลในการประชุมเรื่องโลกร้อนของสหประชาชาติในกรุงปารีสช่วงวันที่ 30 พ.ย.-11 ธ.ค. นี้

อย่างไรก็ตามในบทความระบุว่ากลุ่มประเทศละตินอเมริกาสามารถค้นพบข้อดีของปฏิบัติการเรื่องโลกร้อนแล้วซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลดีทั้งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและต่อชุมชน พวกเขามองเห็นนโยบายเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนว่าเป็นโอกาส เรื่องนี้ทำให้การประชุมหารือข้อตกลงที่กรุงปารีสควรช่วยส่งสัญญาณให้มีการเปลี่ยนแปลงด้วย

ในบทความระบุว่านโยบายเศรษฐกิจที่คำนึงถึงโลกร้อนจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเมืองและส่งผลพลอยได้ถึงการประหยัดงบประมาณอย่างมาก เช่น ในเม็กซิโกมี 'โครงการจำนองเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม' (green mortgage programme) ซึ่งให้แต่ละครอบครัวที่เข้าร่วมสามารถร่วมลงทุนเพื่อเทคโนโลยีเชิงอนุรักษ์ได้ด้วยเงินเริ่มต้นเพียง 6 ดอลลาร์ต่อเดือน แต่ผลที่ได้ทำให้พวกเขาสามารถประหยัดรายจ่ายด้านค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าเชื้อเพลิงหุงต้มโดยเฉลี่ย 17 ดอลลาร์ต่อเดือน อีกตัวอย่างหนึ่งคือในโคลอมเบียเป็นผู้นำด้านระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ หรือ บีอาร์ที ที่ทำให้เกิดการขนส่งมวลชนราคาถูก

ไม่เพียงแค่การพัฒนาเมืองเท่านั้น บทความของพวกเขาระบุอีกว่าการคำนึงถึงเรื่องการลดการตัดไม้ทำลายป่าและฟื้นฟูดินนอกจากจะช่วยเรื่องโลกร้อนแล้วยังช่วยส่งเสริมให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น โดยมีข้อมูลว่าการฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมร้อยละ 12 สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 40,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีและสามารถใช้ผลผลิตหล่อเลี้ยงประชากรได้ 200 ล้านคน

ทั้งสองคนยังระบุถึงการใช้ป่าและลุ่มน้ำเป็นโครงสร้างพื้นฐานตามธรรมชาติในการจัดการทรัพยากรน้ำ มีการลงทุนด้านการจัดการทรัพยากรน้ำเช่นนี้ในโคลัมเบียซึ่งสามารถลดรายจ่ายไปได้ถึง 35 ล้านดอลลาร์ ภายใน 10 ปี ในตอนนี้หลายประเทศแถบละตินอเมริกาก็กำลังเดินรอยตาม

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพลังงานหมุนเวียนที่ในบทความระบุว่าตัวอย่างที่ดีคือประเทศบราซิลซึ่งมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยต่อประชากรราวครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จี 20 โดยบราซิลมีการใช้พลังงานลม พลังงานน้ำ และเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้เกิดการสร้างงานเพิ่มขึ้นภายในประเทศ และประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกาก็เริ่มพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของตัวเอง เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในทะเลทรายอาตากามาของชิลี

ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนอื่นๆ ดูเหมือนเป็นสิ่งที่มาทำลายธุรกิจการส่งออกพลังงานฟอสซิล แต่บทความระบุว่าในความเป็นจริงแล้วกลุ่มประเทศโอเปคเป็นผู้ให้เงินอุดหนุนพลังงานฟอสซิลจำนวนมากและเงินจำนวนนี้ก็ให้ผลประโยชน์แต่กับกลุ่มคนร่ำรวยเท่านั้น ขณะที่ทบวงพลังงานโลก (IEA) ระบุว่าการเลิกให้เงินอุดหนุนในเรื่องนี้จะส่งผลดีในแง่ที่ทำให้เกิดการหันมาใช้จ่ายในโครงการอื่นๆ ที่ให้ผลผลิตดีกว่า สร้างมลภาวะน้อยกว่า ดีต่อสุขภาพของผู้คนมากกว่า

คาลเดรอนและลากอสระบุว่าทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นถ้าหากหันมาดำเนินนโยบายแบบคำนึงถึงเรื่องโลกร้อนซึ่งต้องมีการผลักดันในการทำข้อตกลงที่กรุงปารีส นอกจากนี้ยังต้องมีการขับเคลื่อนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั้งทางด้านการเงินและเทคโนโลยีและมีระบบติดตามผลจากรัฐบาลในประเทศเหล่านั้น

เรียบเรียงจาก

Doing well by doing good : Latin American economies should show leadership on climate negotiations, Felipe Calderón and Ricardo Lagos, The Economist  http://www.economist.com/blogs/freeexchange/2015/11/doing-well-doing-good

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท