Skip to main content
sharethis
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมแก้ไขวิกฤตผู้ย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องในการประชุมระดับภูมิภาคสมัยวิสามัญครั้งที่สอง ว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียซึ่งมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
 
 
เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2558 ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมแก้ไขวิกฤตผู้ย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องในการประชุมระดับภูมิภาคสมัยวิสามัญครั้งที่สอง ว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปรกติในมหาสมุทรอินเดียซึ่งมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมีรายละเอียดทั้งหมดดังต่อไปนี้
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ร่วมแก้ไขวิกฤตผู้ย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยอย่างเป็นรูปธรรม
 
ในการประชุมระดับภูมิภาคสมัยวิสามัญครั้งที่สอง ว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปรกติในมหาสมุทรอินเดียซึ่งมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาลบังคลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และไทย ให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัย แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการบริหารจัดการการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ
 
ในเดือนพฤษภาคม 2558 มีคนหลายพันคนจากประเทศเมียนมาและบังคลาเทศถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายโดยลูกเรือในอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน การปฏิบัติมิชอบเหล่านี้ประกอบด้วยการฆาตกรรม ซ้อม และกักขังหน่วงเหนี่ยวในสภาพไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี สุดท้ายทางการไทยเริ่มปฏิบัติการปราบปรามการค้ามนุษย์และการลักลอบนำบุคคลเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ลูกเรือเหล่านี้ได้สละเรือและทิ้งให้ผู้ลี้ภัยและผู้ย้ายถิ่นอยู่ในเรือที่ลอยอยู่กลางทะเล โดยรัฐบาลต่างๆไม่ได้ทำหน้าที่ตามสมควรและปฏิเสธที่จะรับบุคคลเหล่านี้เข้าเมือง สุดท้ายพวกเขาได้รับอนุญาตให้อาศัยในที่พักพิงชั่วคราวในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย
 
ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 รัฐบาลต่างๆ ในที่ประชุมได้แสดงพันธะสัญญาที่จำเป็นในปฏิญญา "อาเซียน 2568: ร่วมมือกันเพื่ออนาคต" (ASEAN 2025: Forging Ahead Together) เพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ การรักษาความปลอดภัย การค้นหาและกู้ภัยทางทะเล
 
การประชุมในวันนี้เป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมจะได้อภิปรายเพื่อหาแนวทางการบรรลุพันธะสัญญาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม มาตรการการบังคับใช้กฎหมายต้องได้รับการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปรกติ และทำลายเครือข่ายผู้ลักลอบนำบุคคลเข้าเมืองหรือค้ามนุษย์ เพื่อไม่ให้กระทบต่อความปลอดภัยของผู้ย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัย และเพื่อให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนต่อการคุ้มครองพวกเขา รัฐบาลต้องประกันไม่ให้เกิดการเอาผิดทางอาญาหรือควบคุมตัวบุคคลที่เข้าเมืองอย่างไม่ปรกติในประเทศของตน หากรัฐบาลจริงใจต่อการแก้ปัญหาการลักลอบนำบุคคลเข้าเมืองหรือค้ามนุษย์ รัฐบาลควรขยายช่องทางการเข้าเมืองแบบปรกติและนำประเด็นนี้มาเป็นหัวข้อหลักในวาระการประชุม
 
รัฐบาลต้องยอมรับว่า บุคคลจำนวนมากต้องเสี่ยงเดินทางเพื่อหลบหนีจากความโหดร้าย รวมถึงชาวโรฮิงญา ซึ่งต้องการการคุ้มครองจากนานาชาติ รัฐบาลประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องให้การประกันว่าผู้แสวงหาที่พักพิงสามารถเข้าถึงขั้นตอนการจำแนกสถานะผู้ลี้ภัยได้โดยทันทีและเป็นธรรม และในระหว่างกระบวนการร้องขอที่พักพิงนั้นพวกเขาควรได้รับการคุ้มครอง บรรดารัฐภาคีของอาเซียนซึ่งยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 ก็ควรเริ่มดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามแนวทาง รัฐบาลต่างๆ ต้องเห็นชอบให้เกิดปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย มีขั้นตอนการนำบุคคลขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย รวมทั้งมีมาตรการรองรับผู้ย้ายถิ่นและผู้ลี้ภัยอย่างมีมนุษยธรรม
 
การโยกย้ายถิ่นต้องแก้ไขที่รากเหง้าของปัญหาด้วย รัฐบาลต่าง ๆ ต้องนำเรื่องนี้มาพิจารณาและดำเนินการอย่างเร่งด่วน เช่น รัฐบาลพม่าต้องยุติการคุกคามชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยอย่างเช่นชาวโรฮิงญา ไม่เช่นนั้นแล้วพวกเขาย่อมไม่มีทางเลือก และต้องเสี่ยงอันตรายเพื่อหลบหนีจากสภาพที่โหดร้ายเช่นนี
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net