Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


นับจากอบูบักรฺ อัล-บัฆดาดี ประกาศตั้งรัฐอิสลาม (ไอเอส) และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นเคาะลีฟะฮฺ เมื่อวันแรกแห่งการเข้าสู่เดือนรอมฎอนปีที่แล้ว (ค.ศ.2014) สารที่ไอเอสส่งไปทั่วโลกด้วยรูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ นับตั้งแต่ A Message to Mujahidin and the Muslim Ummah [1] เป็นต้นมา ล้วนมีนัยชัดเจนถึงการขยายขอบเขตปฏิบัติการที่คลุมไปทั่วโลก ไม่เพียงในอิรักและซีเรีย ทั้งในเชิงปฏิบัติการทางกายภาพ และในเชิงการขยายพรมแดนของอิทธิพลความคิด

การโจมตีกรุงปารีสของไอเอส ย้ำเตือนให้โลกตระหนักถึงภัยใกล้ตัวข้อนี้อย่างรุกเร้ามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากพวกเขากล่าวถึงมันอย่างภาคภูมิใจและอหังการในนิตยสาร Dabiq ของพวกเขาฉบับล่าสุด (ฉบับที่ 12) ส่วนในกรณีสังคมไทยก็อาจรับความรู้สึกดังกล่าวยิ่งไปกว่าเดิม เมื่อล่าสุด  หน่วยต่อต้านข่าวกรองของรัสเซียประสานผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติแจ้งเตือนความเป็นไปได้ในการก่อเหตุร้ายของกลุ่มไอเอส ต่อผลประโยชน์ของรัสเซียในประเทศไทย โดยระบุว่า มีชาวซีเรีย 10 รายที่เกี่ยวข้องกับไอเอส เดินทางเข้าไทยแล้วระหว่างวันที่ 15-31 ต.ค.58 ก่อนแยกกลุ่มเดินทางไปพัทยา 4 ราย ภูเก็ต 2 ราย กทม. 2 ราย ส่วนอีก 2 ราย ไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด และยังไม่ทราบชื่อทั้งหมด [2]

ต่อข้อมูลนี้ ทางการไทยออกมาปฏิเสธเสียงแข็ง โดย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าข่าวดังกล่าวจากรัสเซียเป็นการประเมินสถานการณ์เท่านั้น ซึ่ง “เป็นเพียงข่าวสารไม่ใช่ข่าวกรอง” [3] ส่วน สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันในท่วงท่าลีลาเดียวกัน คือ ข้อมูลจากรัสเซียเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวเพื่อให้ไทยตรวจสอบ โดยข้อมูลที่ให้มาไม่มีความชัดเจนและไทยได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวแล้วพบว่า “ไม่มีกลุ่มไอเอสอยู่จริง” [4] แต่แม้จะยืนยันเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับว่าความหวาดวิตกของสังคมไทยน่าจะยังคงมีอยู่ไม่มากก็น้อย


ทบทวนนัยยะเกี่ยวพันของไอเอสต่อไทยที่ผ่านมา

ที่ผ่านมา แม้แนวร่วมของ IS ได้ขยายตัวไปไกลถึง 80 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในมาเลเซีย อินโดนีเซีย  ตอนใต้ของฟิลิปปินส์ รวมทั้งสิงคโปร์ และแม้ล่าสุด กลุ่มเจไอและอาบูไซยาฟจะประกาศเป็นสาขาของไอเอสในแถบบ้านเรา แต่กรณีของไทยนั้น กลับยังไม่ปรากฏนัยยะเกี่ยวพันในข้อนี้มากนัก มีเพียงข้อมูลของ ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม ที่ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวหนึ่งว่า อาจมีสมาชิก IS “อยู่ที่” จ.ปัตตานี 1 คน (ซึ่งในอีกวาระหนึ่ง ศ.ดร.จรัญฯ ระบุรายละเอียดว่ามีคนไทยเข้าร่วม 1 คน แต่ “เป็นการไปจากตะวันออกกลาง” ขณะที่ในเรื่องเดียวกันนี้ แหล่งข่าวระดับสูงของหน่วยความมั่นคงไทยให้ข้อมูลว่าไม่มี คน “สัญชาติ” ไทย ไปร่วมกับ IS แต่อย่างใด [5]

แม้ไทยจะมีนัยเกี่ยวพันค่อนข้างน้อยในฐานะแหล่งแนวร่วมสมาชิก แต่มีข้อมูลระบุนัยเกี่ยวพันในฐานะ “ทางผ่าน” ของไอเอสไปยังประเทศเป้าหมายอยู่เหมือนกัน ข้อมูลจากคม ชัด ลึกระบุว่า “กลุ่มเหล่านี้ก็ใช้ไทยเป็นทางผ่าน พบความเคลื่อนไหวเดินทางเข้า-ออกประเทศไทยเฉลี่ยอย่างน้อยเดือนละครั้ง ส่วนใหญ่เป็นนักรบจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่เดินทางไปร่วมรบในอิรักและซีเรียกับนักรบที่เสร็จจากภารกิจร่วมรบแล้ว กำลังเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด สาเหตุที่ใช้ไทยเป็นทางผ่าน เพราะเข้า-ออกง่าย โดยเฉพาะการเป็นผู้โดยสารผ่าน หรือ transit และหากเดินทางตรงเข้าประเทศตัวเองเลยจะถูกจับตาเป็นพิเศษ” [6]

สำหรับนัยที่หลายคนจับตามอง คือ ความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับขบวนการเคลื่อนไหวในปาตานี หรือพูดอีกแบบก็คือ โอกาสที่ไอเอสกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในปาตานีจะ featuring กันมีมากน้อยแค่ไหน ในข้อนี้ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ให้ความเห็นว่า

“..กลุ่มไอซิส น่าจะมีผลต่อความไม่สงบในภาคใต้ไม่มาก เพราะปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาระดับท้องถิ่นที่เกิดจากการกดทับด้านอัตลักษณ์ และความอยุติธรรมที่บ่มเพาะมานาน ส่วนกระแสไอซิสเป็นเรื่องของการตั้งรัฐอิสลาม ซึ่งมีการใช้ความรุนแรงเข้าปฏิบัติการ ทำให้มุสลิมส่วนใหญ่ รวมทั้งในเอเชียอาคเนย์ไม่สนับสนุนแนวทางนี้” [7]

ความเห็นนี้ยืนยันได้พอสมควรจากตัวเลขการเดินทางไปเข้าร่วมกับไอเอสในซีเรียและอิรัก ซึ่งของไทยแทบไม่มีเลย หรือหากมี ก็มีนัยไม่มากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะจริตการเคลื่อนไหวของไอเอส แตกต่างกับกลุ่มแยกดินแดนทางภาคใต้ของไทย ทำให้ไม่มีใครดิ้นรนไปร่วม นอกจากนั้น หากพิจารณากลุ่มทั้งสองใน term ของการเป็นกลุ่มก่อการร้าย รูปแบบและเป้าหมายของทั้งคู่ก็แตกต่างกันพอสมควร กล่าวคือ ในขณะที่ไอเอสมีลักษณะเป็นกลุ่มศาสนานิยม ที่วางเป้าหมายคือ การสร้างรัฐอิสลาม กลุ่มขบวนการที่ปาตานีกลับมีภาพหลักเป็นกลุ่มชาตินิยมมากกว่า และมีเป้าหมายสำคัญคือ เอกราช/รัฐอิสระ ที่ไม่เคยปรากฏแผนการที่จะสถาปนาเคาะลีฟะฮฺ หรือจะสวามิภักดิ์ต่อเคาะลีฟะฮฺใดใด

มากไปกว่านั้น ยุทธศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการที่ปาตานีที่ผ่านมา ใช้หลังพิงกับประชาคมนานาชาติค่อนข้างมาก โดยใช้ประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางของรัฐไทย บวกกับหลักสิทธิในการกำหนดใจตนเอง (Self-determination) ตามกฎหมายระหว่างประเทศเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสื่อสารและดึงเอาองค์การระหว่างประเทศระดับต่างๆ ทั้ง องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) รวมถึงสหประชาชาติ (UN) เข้ามาเป็นตัวกลางช่วยเหลือให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่ยืนพื้นอยู่บนแบบแผนเดียวกันกับการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมเพื่อปลดแอกตนเอง ยุทธศาสตร์นี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ฉุดรั้งกลุ่มขบวนการในปาตานีให้ไม่อาจตัดสินใจเข้าร่วมกับไอเอสได้ แม้สมาชิกบางส่วนอาจจะมีความเห็นใจ หรือเห็นด้วยอยู่บ้างก็ตาม แต่การเข้าร่วมกับไอเอสจะทำให้พวกเขาไม่ได้เผชิญหน้ากับรัฐบาลที่กรุงเทพฯ เท่านั้น หากแต่จะโดนรุมยำจากประชาคมโลก โดยเฉพาะสหประชาชาติ และตะวันตก (ซึ่งเชิดชูหลักสิทธิมนุษยชนและในสภาวการณ์ปกติ อาจพร้อมสอดแทรกเข้ามาเล่นบทบาทเพื่อมนุษยธรรมหากเกิดกรณี “อุบัติเหตุทางการทหาร” โดยรัฐไทย) ดังนั้น ถ้าพวกเขาตัดสินใจร่วมกับไอเอส แทนที่สหประชาชาติและตะวันตกอาจจะเป็นตัวแปรช่วยแยกประเทศได้ ตัวแสดงเหล่านี้จะหัน 360 องศากลับมาเป็นตัวแปรรองรับความชอบธรรมต่อ “ปฏิบัติการใดใดก็ได้” ของรัฐไทยในการบดขยี้เครือข่ายของภัยคุกคามตัวร้ายที่สุดของตะวันตก

เมื่อพิจารณาโอกาสขยายสัมพันธ์เครือข่ายกับเจไอและอาบูไซยาฟที่ประกาศเป็นสาขาของไอเอสในแถบนี้ จะพบว่า ข้อกังวลนี้มีมานานพอสมควร กล่าวคือ ในอดีตบางช่วง เคยมีข่าวว่ากลุ่มเจไอพยายามเข้ามาติดต่อสานสัมพันธ์กับกลุ่มขบวนการในปาตานี แต่กลุ่มหลังปฏิเสธไม่เอาด้วย เพราะกลัวถูกประชาคมระหว่างประเทศตีตราว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย อันจะทำให้การเคลื่อนไหวของพวกเขาทำได้ยากลำบากขึ้น เพราะกลุ่มขบวนการที่ปาตานีมีเป้าหมายการต่อสู้เพียงระดับท้องถิ่นเท่านั้น [8] ดังนั้น เทรนด์ตรงนี้จึงยังน่าจะดำเนินไปตามกรอบจุดยืนเดิมอยู่

กล่าวมาเช่นนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสที่กลุ่มขบวนการในปาตานีกับไอเอสจอยกัน การไร้พื้นที่ต่อสู้ทางการเมืองบีบให้สมาชิกจำนวนหนึ่งแตกตัวออกจากแนวร่วมอิสลามชาวเคิร์ด มาจับมือกับกลุ่มญุนดฺ

อัล-อิสลาม และเซลล์กลุ่มก่อการร้ายศาสนานิยมอื่น ฟอร์มขึ้นเป็นอันซอร์ อัล-อิสลาม องค์กรหัวหอกที่ทำการรบกับอเมริกาในสงครามอิรัก ส่วนในซีเรีย ไอซิสได้สมาชิกที่เพิ่มขึ้นมากจากยุทธวิธีสังหารแบบบั่นคอทหารกองทัพรัฐบาลซีเรีย ผู้ใช้อาวุธเคมีปราบปรามประชาชน ยุทธวิธีของไอซิสที่เหี้ยมหาญจึงมีมนต์ดึงดูดใจผู้คลั่งแค้นได้มากกว่ากองกำลังซีเรียเสรี (Free Syrian Army) ที่อเมริกาหนุนหลัง 

บทเรียนพอสังเขปเหล่านี้ สะท้อนว่า ต่อกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย หาก “ปาร์ตี้ A และ B” ไม่สามารถยกระดับการพูดคุยให้ลงลึกมากกว่าเดิมได้ ยังคงปรากฏข้อแสดงถึงความอ่อนไหวในความจริงใจ และยังคงปรากฏกรณีความไม่เป็นธรรมอยู่เป็นระยะๆ  รวมถึงหากมีการควบคุมหรือจำกัดพื้นที่ของภาคประชาสังคมให้หดแคบลงไป เชื่อว่านักต่อสู้จำนวนหนึ่งอาจมองว่า ตัวแทน(?)จากฝั่งของเขากำลัง “ติดกับดักของวงพูดคุย” และอาจ split ออกไปในแนวทางสุดโต่งมากขึ้น ดังนั้น การที่รัฐไทยเปิดพื้นที่ให้กับการต่อสู้ต่อรองทางการเมืองอย่างจริงใจ จะเป็นกุญแจสำคัญอันหนึ่งในการป้องกันอิทธิพลของไอเอสในพื้นที่ชายแดนใต้


ความเสี่ยงที่ไทยจะเป็นเป้าหมายของการโจมตี?

ที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกใช้เป็นฐานของการเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมก่อเหตุก่อการร้ายในพื้นที่อื่นโดยกลุ่มองค์กรก่อการร้ายข้ามชาติอย่างน้อย 3 กลุ่มใหญ่ คือ ฮิซบอลเลาะฮฺ, พยัคฆ์ทมิฬอีแลม (ซึ่งถูกสลายไปแล้ว), และกลุ่มก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ เจไอกับอาบูไซยาฟ [9] ขณะเดียวกัน ไทยก็ตกเป็นพื้นที่ก่อเหตุเสียเอง โดยกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติต่างๆ มาแล้วทั้งสิ้น 12 ครั้ง (เท่าที่ปรากฏข่าวในทางเปิด) [10]

ลักษณะการเกิดเหตุก่อการร้ายข้ามชาติในไทยส่วนใหญ่ มิได้มีเป้าหมายโจมตีประเทศไทยโดยตรง
แต่มุ่งทำลายผลประโยชน์ของศัตรูที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ของประเทศไทย เช่น สถานทูต บุคคลสำคัญ บริษัท ของชาตินั้นๆ เป็นต้น เหตุลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุสำคัญคือระบบรักษาความปลอดภัยของไทยอ่อนแอกว่าระบบของชาติเป้าหมายของการก่อเหตุ หรือที่เรียกอีกอย่างว่าเป็น “Soft Target” และที่ผ่านมา กลุ่มที่มีแผนก่อเหตุในไทยค่อนข้างบ่อย

ที่สุด คือ ฮิซบอลเลาะฮฺซึ่งล็อกเป้าหมายเจาะจงไปยังผลประโยชน์ของอิสราเอลและสหรัฐอเมริกาในไทย [11]
โดยเราจะพบว่า นับจากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ลอนดอนและมาดริดเป็นต้นมาเป็นอย่างน้อย ระบบและมาตรการการรักษาความปลอดภัย ป้องกัน ป้องปราม และเตรียมพร้อมรับมือการก่อการร้ายของบรรดาชาติตะวันตก รวมถึงอิสราเอลเองก็ได้มีการพัฒนามาตรฐานสูงขึ้นมาก ส่งผลให้พื้นที่ปฏิบัติการก่อการร้ายข้ามชาติต่อผลประโยชน์แห่งชาติของตะวันตกเหล่านั้นยักย้ายมาสู่พื้นที่ประเทศทางเอเชีย อเมริกาใต้ และแอฟริกาแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาติที่เป็นพันธมิตร หรือมิตรประเทศสำคัญกับตะวันตก อย่างไทย และอินเดีย จึงเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักในเชิงปฏิบัติการ แม้จะมิใช่เป้าหมายในเชิงการเป็นคู่ขัดแย้ง/คู่กรณีโดยตรงก็ตาม [12]

นอกจากความเป็น “Soft Target” และมีเป้าหมายของตะวันตกดำรงอยู่เยอะแล้ว ประเทศไทยยังเป็นพื้นที่ดึงดูดการเข้ามาเคลื่อนไหวไปมา และก่อเหตุโจมตีด้วยเหตุผลอีก 6 ข้อ คือ (1) การมีขบวนการลักลอบพาคนเข้าเมือง และมีช่องทางลักลอบเข้าเมืองไทยตามบริเวณชายแดนอยู่หลายจุด (2) การตรวจคนเข้าเมืองของไทยไม่เข้มงวดเท่าที่ควร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว (3) การมีแหล่งปลอมแปลงเอกสารชั้นเยี่ยมอยู่หลายแห่ง (4) ประเทศไทยเป็นแหล่งที่อาจจัดหาเงินทุนที่ใช้ในการก่อการร้ายได้ มีการค้าขายสินค้าและบริการอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง และมีการแพร่กระจายยาเสพติดอยู่มาก (5) การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในภูมิภาค และ (6) การสามารถจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จะใช้ในการก่อการร้ายได้ง่าย [13]

จากที่กล่าวมานี้ จึงจะเห็นชัดเจนว่า ต่อกรณีความเสี่ยงจากไอเอส ในนัยยะของโอกาสถูกโจมตีนั้น ไทยซึ่งเป็น Soft Target ย่อมมีความเสี่ยงไม่น้อยเหมือนกัน โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ผลประโยชน์ของรัสเซีย ฝรั่งเศส และชาติตะวันตกที่เข้าเป็นแนวร่วมปฏิบัติการต่อไอเอสในซีเรียและอิรัก ซึ่งต้องยอมรับว่าของเหล่านี้ดำรงอยู่มากมายหลายจุดในประเทศไทย และเมื่อพิจารณาเทรนด์ของการก่อการร้ายทั่วทั้งโลกระยะหลังมานี้ เราจะพบการเน้นโจมตีบ่อยครั้งขึ้นไปยังบริเวณพื้นที่สาธารณะและพุ่งเป้าไปยังชีวิตพลเรือนอย่างไม่เลือกหน้า ไม่ได้เพียงเล็งเป้าไปที่สถานที่ราชการของคู่ขัดแย้ง การจับตัวประกัน หรือจี้เครื่องบินเหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อนอีกต่อไป

นั่นแปลว่า โอกาสเสี่ยงจะเกิดเหตุในเขตพื้นที่เมืองมีสูงขึ้น และมาในหลายทิศทาง/แบบแผนมากขึ้น แม้ในภาพใหญ่ของระบบป้องกันทั่วทั้งโลก จะต้องยอมรับว่าต่อให้เตรียมพร้อมไว้เพียงใด แต่รัฐบาลไหนๆ ก็ไม่อาจล่วงรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับการก่อเหตุได้อย่างสมบูรณ์ หนึ่งในผู้ก่อเหตุระเบิดพลีชีพในเหตุโจมตีปารีส ก็เป็นคนที่ถูกขึ้นบัญชีแบล็คลิสต์ผู้มีแนวคิดสุดโต่งของทางการฝรั่งเศสเอาไว้ตั้งแต่ปี 2010 แต่ก็ยังสามารถมีเสรีปฏิบัติในการก่อเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพในปี 2015 ข้อเท็จจริงตรงนี้ทำให้ต้องตระหนักว่า รัฐบาลของประเทศเราและประเทศอื่นๆ ต้องเตรียมพร้อมรับมือการก่อการร้ายในบริบทสถานการณ์ที่ “ตามหลังผู้ก่อการร้ายอยู่ 1 ก้าว” (One Step Backward) เสมอ  

แต่หากเทรนด์ของการก่อการร้ายในโลกทศวรรษนี้เปลี่ยนไปแล้วดังที่ว่า แล้วระบบป้องกันเตรียมพร้อมเผชิญเหตุของประเทศใดยังคงทำแค่ซ้อมเผชิญเหตุจับตัวประกัน หรือจี้เครื่องบิน ประเทศนั้นก็ไม่เพียง One Step Backward หากแต่เป็นราวๆ Thirty – Forty Years Step Backward คือ ตามหลังผู้ก่อการร้ายอยู่ราว 30-40 ปีเห็นจะได้ ตัวเลขนี้บอกชัดเจนว่า โอกาสเสี่ยงของเรามีมากน้อยแค่ไหน

ไม่ได้กล่าวเช่นนี้ให้เสียขวัญ หรืออยากทำลายบรรยากาศเศรษฐกิจ การลงทุน และการท่องเที่ยว

แต่เพื่อกระตุ้นเตือนว่า แม้จะมีประเด็นเรื่องการเข้ามาของไอเอสหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่เป็นระบบป้องกันภัยจากการก่อการร้ายของประเทศไทยจำต้องยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ไล่มาตั้งแต่การแก้ไขยกระดับมาตรฐานการบิน ระบบซีซีทีวี และอีกหลายมาตรการซึ่งผมคงไม่ลงรายละเอียด เนื่องจากมีผู้เสนอแนวทางได้ดีกว่าผมและท่านเสนอมาตลอด คือ พลโท ดร.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งสามารถติดตามข้อมูล ทรรศนะ และข้อเสนอของท่านได้ตามเว็บข่าวต่างๆ

ส่วนวิธีที่ประชาชนอย่างเราๆ จะรับมือกับการก่อการร้าย โดยเฉพาะการก่อการร้ายในเขตเมืองได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง คือ “ต้องไม่คิดว่าเราปลอดภัย 100% แต่ต้องตระหนักเสมอว่าภยันตรายไม่ใช่เรื่องไกลตัว” และดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น ช่างสังเกตมากขึ้น

ซึ่งในเบื้องต้นท่านผู้อ่านสามารถศึกษาเร็วๆ ได้จากคู่มือของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติตามลิงก์นี้ครับ

http://www.nsc.go.th/Download3/Final_manual_terrorism.pdf

 

อ้างอิง:

[1]  อ่านในรูปแบบ pdf ได้ใน  http://www.gatestoneinstitute.org/documents/baghdadi-caliph.pdf.
[2] ไทยรัฐ, http://www.thairath.co.th/content/544339.
[3] มติชน, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1449204115.
[4] มติชน, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1449206336.
[5] สำนักข่าวอิศรา, http://isranews.org/isranews-article/item/36385-is_36385.html.
[6] คม ชัด ลึก, http://www.komchadluek.net/detail/20151119/217144.html.
[7] คม ชัด ลึก, http://www.komchadluek.net/detail/20141218/197884.html.
[8] สุรชัย นิระ อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ. ใน การประชุมวิชาการเรื่อง การก่อการร้ายข้ามชาติในประเทศไทย: สถานการณ์ นโยบาย และยุทธศาสตร์. วันที่ 29 เมษายน 2557 ณ มหาวิทยาลัยรังสิต.
[9] คม ชัด ลึก, http://www.oknation.net/blog/Sp-Report/2012/03/05/entry-2.
[10] อาทิตย์ ทองอินทร์. การก่อการร้ายข้ามชาติในประเทศไทย: จากอดีตถึงปัจจุบัน. ปทุมธานี: มหาวิทยาลัยรังสิต, 2558. หน้า 20-45.
[11] เพิ่งอ้าง. หน้า 50.
[12] เพิ่งอ้าง. หน้า 60-63.
[13] เพิ่งอ้าง. หน้า 57-60. 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน อาทิตย์  ทองอินทร์ เป็นอาจารย์ผู้สอนและ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์  วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net