Skip to main content
sharethis

8 ธ.ค. 2558 นายมูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch: DSW) ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้คนใหม่แทน แทนนายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ที่หมดวาระลง โดยเขาได้รับเลือกโดยการลงคะเสียงเลือกตั้งจากตัวแทนองค์กรสมาชิกกว่า 20 องค์กรในการประชุมถอดบทเรียน 11 ปี  พัฒนาการองค์กรภาคประชาสังคมกับการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 7  ธันวาคม 2558 ที่โรงแรมปาร์ควิว จ.ปัตตานี

นอกจากนี้ยังมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสภาประชาสังคมชายแดนใต้ชุดใหม่ไปด้วย โดยนายรักษ์ชาติ สุวรรณ นางโซรยา จามจุรี นายอัศวมันต์ บินยูโซ๊ะ ได้รับเลือกเป็นรองประธาน

นายมูฮำมัดอายุบ เปิดเผยหลังได้รับเลือกตั้งว่า สภาจะต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางใหม่มากขึ้น เช่น สภาจะต้องเพิ่มสมาชิกสภาประชาสังคมชายแดนใต้ให้มากขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะมุ่งเปิดพื้นที่ในการทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้หญิง ผู้นำศาสนาทุกศาสนา ขณะเดียวกันสภายังต้องเน้นประเด็นความยุติธรรม การกระจายอำนาจและกระบวนการสันติภาพ

“นอกจากนี้สภาจะต้องเชื่อมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่และทำงานเชื่อมต่อกับภาคประชาสังคมในอาเซียน เนื่องจากมีบทเรียนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งและการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ” นายมูฮำมัดอายุบ กล่าว

เผยบทบาทเด่น “โรดแมปสันติภาพภาคประชาชน”

สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2554 โดยองค์กรประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 20 องค์กรเป็นองค์กรสมาชิกผู้ก่อตั้ง ซึ่งในปฏิญญาเพื่อการขับเคลื่อนข่ายงานประชาสังคมชายแดนใต้ ระบุว่าเป็นการรวมตัวผนึกกำลังเพื่อมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางและมาตรการแก้ปัญหาอย่างจริงจังโดยใช้พลังแห่งสันติวิธี ความรู้ สติปัญญาและพลังแห่งคุณธรรมเป็นธงนำ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสานงานและสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างองค์กรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน มีการสื่อสารและสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สังคม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาสภาประชาสังคมชายแดนใต้ได้มีบทบาทส่วนหนึ่งที่ชัดเจน คือ การหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี นั่นก็คือการเสนอ แผนที่เดินทางสันติภาพโดยภาคประชาสังคมชายแดนใต้/ปาตานี ผลจากการระดมความเห็นเครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดนใต้ หรือที่เรียกว่าโรดแมปสันติภาพภาคประชาชน ที่มีข้อเสนอต่อฝ่ายต่างๆ เกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ทั้งต่อฝ่ายรัฐบาลไทย ฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ต่อภาคประชาชน ต่อสื่อมวลชน และต่อรัฐบาลมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพ

การนำเสนอโรดแมปฉบับนี้มีขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน 2556 หรือหลังจากมีกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน ซึ่งหลายข้อเสนอจากโรดแมปฉบับนี้ยังถูกนำไปขับเคลื่อนต่อจนถึงปัจจุบัน เช่น การสร้างพื้นที่ปลอดภัย การสื่อสารสันติภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งการสร้างบรรยายให้เอื้อต่อการพูดคุยในระดับพื้นที่ เป็นต้น

           

อ่านข่าวและข้อมูลที่เกี่ยวข้องจาก Deep South Watch :

เปิดร่าง "โรดแมปสันติภาพ" ฉบับประชาสังคมชายแดนใต้

ทำความเข้าใจ "โรดแมพเพื่อสันติภาพ" (อีกครั้ง)

ประชาสังคมชายแดนใต้คลอดร่าง Road Map สันติภาพจากข้างล่าง

ภาคประชาชนรุกสร้างโรดแมป นำทางสันติภาพชายแดนใต้

บทบาทสภาประชาสังคมชายแดนใต้ในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ

เปิดตัว “สภาประชาสังคมชายแดนใต้”: สร้างดุลอำนาจต่อรองจากพื้นที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net