Skip to main content
sharethis

9 ธ.ค.2558 นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ลงนามในหนังสือชมรมแพทย์ชนบท ที่ พชบ. 77/2558 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เรื่อง การไม่เพิกเฉยต่อกรณีการชี้มูลทุจริตผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข

โดยระบุว่า การต่อต้านการคอร์รัปชั่น เป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง ที่ชมรมแพทย์ชนบทได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด ประวัติศาสตร์การขับเคลื่อนของชมรมแพทย์ชนบทตั้งแต่อดีตได้ทำหน้าที่เป็น “Watch-dog” เพื่อป้องปรามและเปิดเผยหลักฐานกรณีที่มีการทุจริต ไม่ว่ากรณีทุจริตยา กรณีทุจริตรถพยาบาล ทุจริตการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ หรือทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง ฯลฯ ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางของสังคม

ชมรมแพทย์ชนบทรับทราบถึงความตั้งใจในการสร้างกระทรวงสาธารณสุขให้โปร่งใสและปราศจากการคอร์รัปชั่นของท่านรัฐมนตรี ตามที่ได้ประกาศนโยบาย 3 ป 1 ค คือปลูกจิตสำนึก ป้องกัน ปราบปราม และสร้างเครือข่าย ไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 อย่างไรก็ตาม ชมรมแพทย์ชนบทยังเห็นว่า การประกาศนโยบายสวยหรูโดยละเลยเพิกเฉยกับการจัดการกับการมีมูลทุจริตของผู้บริหารระดับสูงนั้น เป็นสิ่งที่จะบั่นทอนความจริงจังของนโยบายของท่านเอง

ชมรมแพทย์ชนบทขอเตือนความจำของท่านรัฐมนตรีว่า ยังมีคดีที่เกี่ยวเนื่องกับผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขอีก 3 กรณีการร้องเรียนเรื่องการทุจริต ซึ่งท่านรัฐมนตรีที่ได้รับตำแหน่งมากว่า 3 เดือนแล้ว ยังเพิกเฉยโดยไม่มีการสั่งการหรือมอบนโยบายใดๆ กล่าวคือ

1.      กรณีของ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ต่อกรณีที่เบิกเงินค่ารถประจำตำแหน่งซ้ำซ้อน ทำให้รัฐเสียหาย โดยได้มีการตั้งคณะกรรมสืบสวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว และผลการสืบสวนก็มีความชัดเจนว่า มีมูลการทุจริตผิดวินัยร้ายแรง ตามข่าวที่ปรากฏก่อนหน้านี้ บัดนี้ หน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐมนตรี คือต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง ตั้งแต่ก่อนที่ปลัดจะเกษียรอายุราชการ แต่ปล่อยเลยเรื่องดังกล่าว ผ่านมากว่าสามเดือนแล้ว ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

2.     กรณีของ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ ในตำแหน่งรองอธิบดีกรมสุขภาพจิตและรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอนามัย ในขณะนั้น ก็ได้มีการร้องเรียนเรื่องการเบิกเงินค่ารถประจำตำแหน่งซ้ำซ้อนเช่นเดียวกับอดีตปลัดณรงค์ สหเมธาพัฒน์ แต่กรณีดังกล่าวยังไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสืบสวน สอบสวนแต่อย่างใด ทั้งที่ระยะเวลาได้ผ่านมาหลายเดือนแล้วเช่นกัน

3.     กรณีของ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ พยาธิแพทย์ของโรงพยาบาลสุรินทร์ ที่มีการเบิกเงินค่าเวรตัดและอ่านชิ้นเนื้อทุกวัน ทั้งๆที่ไม่ได้อยู่เวรจริงทุกวัน ซึ่งได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนและสอบวินัยแล้ว กรรมการได้ชี้มูลความผิดพร้อมทั้งเสนอให้มีการลงโทษทางวินัยแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆในการดำเนินการต่อไปเช่นกัน

หนังสือชมรมแพทย์ชนบท ยังระบุอีกว่า ทั้ง 3 กรณีเป็นการกระทำอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือส่อเค้าการทุจริตต่อหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูง ที่ควรมีการดำเนินการลงโทษหรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง อันจะส่งผลดีอย่างเป็นรูปธรรมต่อการต่อต้านการคอร์รัปชั่นตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีเอง ชมรมแพทย์ชนบทจึงขอให้ท่านมีนโยบายหรือสั่งการเพื่อให้มีการดำเนินการตามวินัยและกฏหมายต่อไป ขออย่าดองเรื่องหรือเพิกเฉยต่อกรณีทั้ง 3 กรณีดังกล่าว มิเช่นนั้นการรณรงค์ประกาศนโยบายที่เกิดขึ้นก็จะเป็นเพียงวาทกรรมที่เพียงแค่ดูดีแต่ไม่มีผลในการปฏิบัติอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net