Skip to main content
sharethis

ถอดบทเรียน ‘ขบวนการผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี’ จากงานเยียวยาเหยื่อผลักดันจนเกิดกองทุนเยียวยาจากแม่ม่ายสู่คนทำงานด้านสังคมจากครอบครัวถูกคดีและความรุนแรงในครอบครัว ขอให้มีผู้หญิงในกรรมการอิสลามจากข้อเรียกร้องยุติความรุนแรงสู่การรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมจากจุดแข็งที่ช่วยเหลือโดยไม่เลือกชาติพันธุ์

อนุสนธิจากมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 1325 เพื่อกำหนดแนวนโยบายและดำเนินการเสริมศักยภาพผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและแก้ปัญหาสันติภาพอย่างยั่งยืน กล่าวคือให้มีการปกป้องสิทธิผู้หญิงและรองรับกระบวนการสันติภาพที่มาจากการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน กอปรกับความที่กล่าวโดยทั่วไปว่า ทศวรรษความขัดแย้งความรุนแรงยืดเยื้อเรื้อรังชายแดนใต้ ทำให้เกิดเครือข่ายผู้หญิงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็ง ก้าวหน้า

คำถามสำคัญคือ การรวมตัวของเครือข่ายผู้หญิงที่หลากหลายเหล่านั้น ได้สร้างความตระหนักร่วมกันในปัญหาที่เกิดขึ้นจนกลายเป็น “ขบวนการผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี” แล้วหรือยัง และการรวมตัวเหล่านั้นเพื่อผลักดันการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นแล้ว มากน้อยอย่างไร

เมื่อวันที่ 11-12 ธันวาคม2558 ที่ผ่านมา คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ (PAW) ซึ่งเป็นก่อรูปรวมตัวกันขององค์กร/เครือข่ายผู้หญิงในพื้นที่ 23 องค์กร เริ่มต้นผลักดันประเด็นร่วมกันนับจาก 28 เมษายน 2558 เป็นต้นมา ได้ร่วมกันถอดบทเรียน ประเมินภาพรวม ‘ขบวนการผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี’

กล่าวสรุปโดยภาพรวมจุดเริ่มต้นจากเอ็นจีโอที่ทำงานฐานชุมชนและทรัพยากรร่วมมือกับนักวิชาการในพื้นที่ปัตตานี เริ่มเคลื่อนไหวให้เกิดการเยียวยาผู้ได้รับผลประทบจากเหตุความรุนแรงรายวัน เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ และเหตุการณ์ตากใบ 2547 ทว่าความรุนแรงที่ต่อเนื่องทำให้เครือข่ายเยียวยาเรียกร้องผลักดันเชิงนโยบายให้มีกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างมีคุณภาพมากขึ้น จนเกิดการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กยต.) ขึ้นมา

ความขัดแย้งรุนแรงยืดเยื้อห้วงเวลาสิบปี บรรดาผู้หญิงที่เป็น “เหยื่อ” “แม่ม่าย” “ผู้ได้รับผลกระทบฯ” ได้เปลี่ยนสถานะกลายเป็นคนทำงานด้านสังคม มีวาทกรรมเปลี่ยนผู้หญิง “มือล่าง” (ผู้ได้รับการช่วยเหลือ) สู่ “มือบน” (ผู้ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นต่อ) มีการก่อตั้งกลุ่มอาชีพจากเงินเยียวยาขึ้นมา มีการตั้งกลุ่มเสริมศักยภาพกลุ่มหญิงหม้าย กลุ่มช่วยเหลือเด็กกำพร้า ผู้พิการจากสถานการณ์ และพัฒนาสู่ก่อตั้งกลุ่มทำงานเพื่อให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อเข้าถึงสิทธิด้านต่างๆ อย่างเป็นลำดับ

หลังปี 2550 เครือข่ายผู้หญิงเหล่านี้พบว่า ผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้มีแค่คนเจ็บและคนตาย ยังมีผู้หญิงและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคงอีกจำนวนมาก ไม่นับประเด็นผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงในครอบครัวที่ถูกกดทับจากปัญหาความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองที่กดทับพวกเธออยู่ จึงมีการเรียกร้องให้มีตัวแทนผู้หญิงทำงานในคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดด้วย

ก่อนหน้าการริเริ่มกระบวนการสันติภาพและการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐ(บาล)ไทยและขบวนการบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ข้อเรียกร้องของเครือข่ายผู้หญิงต่างๆ มุ่งขอ ‘ยุติความรุนแรง’ เป็นหลักและสะท้อนให้เห็นว่าเหตุการณ์รุนแรงนั้นผู้หญิงกลายเป็นปลายทางของการรองรับปัญหา ทั้งการเป็นลูกหลง เป็นเป้าการสังหาร การต้องแบกรับภาระทุกอย่างหลังจากผู้ชาย สามี หรือคนในครอบครัวบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือกลายเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง เธอต้องลุกขึ้นมาดูแลครอบครัวและสังคม ดูแลเด็กกำพร้า คนพิการอย่างมีนัยยะสำคัญ และบางกลุ่มต้องเป็นผู้รักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมของพื้นที่อย่างเข้มข้น เพื่อแสดงสัญญะการสูญเสียครั้งใหญ่ของชนชาวปาตานี

ทว่าจุดแข็งขององค์กรเครือข่ายผู้หญิงที่หลากหลายเหล่านี้ มีลักษณะโดดเด่นคือการทำงานช่วยเหลือโดยไม่เลือกชาติพันธุ์ ให้ความช่วยเหลือเยียวยาทั้งกลุ่มไทยพุทธและมุสลิมด้วยต่างได้รับผลกระทบไม่เลือกหน้า จุดแข็งนี้จึงกลายเป็นฐานเรียกร้องสำคัญหลังการริเริ่มพูดคุยสันติภาพ ปี 2556 ข้อเรียกร้องของเครือข่ายผู้หญิงขยับจากการเรียกร้องยุติความรุนแรง ละเว้นเป้าอ่อน: เด็ก สตรี นักบวช ผู้สูงอายุ (สันติภาพเชิงลบ) มาสู่สันติภาพเชิงบวก: เรียกร้องให้ตระหนักถึงวงจรความรุนแรง การเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการตายในเหตุการณ์สะเทือนขวัญ และการผลักดันให้เกิดพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยอย่างมีส่วนร่วม โดยหยิบหัวใจสำคัญของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศมาขับเคลื่อน กล่าวคือเริ่มมีเสียงเรียกร้องขอให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นลำดับในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ อันเป็นเสียงที่ชอบธรรม

ด้วยจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวขบวนการผู้หญิงเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ มีจุดเริ่มต้นจากงานเยียวยา และกลุ่มงานอาชีพ ฐานสนับสนุนของพวกเธอจึงอยู่ที่หมู่บ้านและชุมชนเป็นหลัก การเรียกร้องขอมีส่วนร่วมในการกระบวนการสันติภาพมิได้เปล่าลอยในอากาศ พวกเธอขอมีบทบาทในการกำหนดวาระการขับเคลื่อนแม้กระทั่งในการทำงานของ “คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้” ด้วย จึงทำให้แกนนำผู้หญิงที่เคลื่อนไหวต้องฟังเสียงมวลชนสนับสนุนการเคลื่อนไหวมากขึ้น

และผลลัพธ์ในการออกแบบยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนของ “คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้” ล่าสุดนั้นเกิด 3 ยุทธศาสตร์สำคัญคือ (1) การสร้างความเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวผู้หญิงเพื่อสันติภาพและเครือข่ายให้มีพลังอำนาจในการต่อรอง (2) การมีส่วนร่วมและตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งรุนแรง การมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับ และ (3) การสร้างการยอมรับบทบาทผู้หญิงเพื่อสร้างสันติภาพ

โดยทั้งสามยุทธศาสตร์นี่จะหนุนเสริมซึ่งกันและกัน ที่มีฐานเจตจำนงต้องการเป็น “พื้นที่กลางผู้หญิงสร้างสันติภาพ” (Woman’s Peace Building Platform) ที่สามารถเชื่อมโยงสะท้อนเสียง ออกแบบปฏิบัติการต่างๆของผู้หญิงในระดับหมู่บ้าน ชุมชน (แทร็ค 3) ให้ผู้กุมทิศทางการแก้ไขปัญหาและความขัดแย้งรุนแรงทั้งฝ่าย A คือรัฐไทย ฝ่าย B - ขบวนการเห็นต่างจากรัฐ (แทร็ค 1) ได้ยิน ขณะเดียวกันพร้อมทำงานกับพันธมิตรต่างๆ ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ (ฝ่าย C) องค์กรเครือข่าย กลุ่มผู้นำศาสนาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพในอนาคต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“3 ข้อเสนอต่อคู่เจรจา” ขอพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัย ถนน ตลาด โรงเรียน มัสยิด วัด

เครือข่ายผู้หญิง จชต. เรียกร้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติ

เครือข่ายผู้หญิง 23 องค์กรเรียกร้อง “พื้นที่สาธารณะปลอดภัย” ในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ออกแถลงการณ์ (ฉ.2) ใน "วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล"

เสียงของคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้เดินหน้าสร้างพื้นที่ปลอดภัย

มติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 1325: ทบทวนข้อเสนอเพื่อพิจารณา ทิศทางการทำงานของเครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดนใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net