Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายฯ ระบุ ขัดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.173 ชี้ปัญหา การขอคัดคำฟ้องเป็นไปอย่างล่าช้าเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งทนายความว่ายังไม่กำหนดวันนัด จำเลยยังไม่ได้รับหมายนัดและไม่ได้รับการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สุดท้ายทนายหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว

15 ธันวาคม 2015 หลังจากที่ทนายความได้รับการโทรศัพท์แจ้งผลการพิพากษาจาก 'ชญาภา' ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้แสดงท่าทีคัดค้านต่อกระบวนการและผลการพิจารณาคดีผ่าน รายงานเรื่อง ' พิพากษาคดีโพสต์ปฏิวัติซ้อน ศาลทหารไม่แจ้งวันนัด ทนายยื่นคัดค้านกระบวนพิจารณามิชอบด้วยกฎหมาย'

โดยเนื้อหาได้ระบุว่า ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านกระบวนพิจารณา ที่มีองค์คณะตุลาการ คือ น.อ.สฤษดิ์ อนันต์วิเชียร์ ร.น. น.อ.วีระยุทธ โรจรุจิพงษ์ ร.น. และ พ.อ.ชนะณรงค์ ทรงวรวิทย์ โดยอ้างเหตุผลว่า ชญาภา จำเลยในคดีนี้ถูกฟ้องในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 อันเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นคดีที่มีโทษจำคุก จำเลยต้องการทนายความ และได้แต่งทนายความเข้ามาเพื่อแก้ต่างในคดีแล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2558 กระบวนพิจารณาของศาลวันนี้จึงต้องมีทนายความของจำเลย

การที่ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยไม่มีทนายความของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 173 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ระบุว่า ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลแต่งตั้งทนายความให้

นอกจากนี้ จำเลยยังไม่ได้รับหมายนัดและไม่ได้รับการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า แต่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เพิ่งแจ้งให้จำเลยทราบว่าจะต้องเดินทางมาศาลในคืนวันที่ 14 ธ.ค. 2558 จำเลยซึ่งถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำ จึงไม่สามารถแจ้งญาติหรือทนายความได้ทัน

ขณะเดียวกัน ทนายความจำเลยยังไม่ได้รับหมายนัด หรือได้รับแจ้งนัดสอบคำให้การจากศาลทหารกรุงเทพ ทั้งที่ วันที่ 14 ธ.ค. 2558 ทนายความจำเลยได้เดินทางมาศาลทหารกรุงเทพ เพื่อคัดค้านคำร้องขอฝากขังในคดีหมายเลขดำที่ ฝพ.38/2558 ปรากฏหลักฐานตามรายงานกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าว และได้ขอรับหมายนัดสอบคำให้การจำเลยในคดีนี้ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลตรวจสอบแล้วได้แจ้งทนายความว่าคดีของชญาภายังไม่กำหนดวันนัด หากมีจะโทรแจ้งทนายความให้ทราบล่วงหน้าอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทนายความจำเลยยังไม่ได้รับแจ้งนัดจากศาลแต่อย่างใด แต่กลับทราบจากจำเลย ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อนุญาตให้โทรศัพท์แจ้งทนายความว่าต้องการความช่วยเหลือหลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว

การที่ศาลไม่แจ้งให้ทนายความทราบวันล่วงหน้า ทำให้จำเลยไม่มีทนายความเข้ามาแก้ต่างในคดีที่มีโทษจำคุกและมีอัตราโทษสูง ทั้งที่จำเลยต้องการทนายความ และมีทนายความอยู่แล้ว เป็นเหตุให้จำเลยที่เป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป ไม่ได้มีความรู้ ความเข้าใจบทกฎหมายและกระบวนพิจารณาคดีในศาล ขาดโอกาสมีทนายความและปรึกษาทนายความในการให้การที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาล หรือเพื่อบรรเทาโทษของจำเลย

จำเลยจึงต้องจำยอมให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่มีโอกาสและไม่ได้รับสิทธิที่จะมีทนายความดังกล่าว กระบวนการพิจารณาคดีของศาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยหลักการแล้ว ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยย่อมได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การปฏิบัติต่อจำเลยจึงต้องเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน จำเลยมีสิทธิที่จะมีทนายความ มีสิทธิที่จะปรึกษาทนายความ และมีสิทธิที่จะพบญาติ อันเป็นหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในปฏิญญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง ซึ่งรัฐไทยได้ให้การรับรอง รวมถึงระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557

ทั้งนี้ องค์คณะตุลาการที่ประกอบด้วย น.อ.สฤษดิ์ อนันต์วิเชียร์ ร.น. น.อ.วีระยุทธ โรจรุจิพงษ์ ร.น. และ พ.อ.ชนะณรงค์ ทรงวรวิทย์ พิพากษาลงโทษจำคุกชญาภา 14 ปี 60 เดือน แต่จำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือ 7 ปี 30 เดือน

อย่างไรก็ตาม ทนายความยังไม่ทราบรายละเอียดในคำพิพากษา เนื่องจากบ่ายวันนี้ทนายความได้ยื่นคำร้องขอคัดถ่ายเอกสารและตรวจสำนวนพร้อมกับการยื่นคำร้องขอคัดค้านกระบวนพิจารณาที่มิชอบด้วยกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ศาลทหารยังไม่อนุญาตให้คัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาคดี ฉบับลงวันที่วันนี้ และบันทึกคำให้การของจำเลย รวมถึงคำพิพากษาของศาล

นอกจากนี้ ทนายความได้เคยยื่นคำร้องขอคัดถ่ายสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2558 แต่ศาลทหารกรุงเทพไม่อนุญาต โดยอ้างว่าศาลต้องส่งคำฟ้องให้จำเลยอยู่แล้ว ก่อนจะได้รับคำฟ้องเมื่อขอคัดถ่ายซ้ำอีกครั้งในวันที่ 8 ต.ค. 2558 และได้ติดตามการนัดหมายคดีมาโดยตลอด ล่าสุด คือ วันที่ 14 ธ.ค. 2558 ดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ศาลไม่แจ้งวันนัด รวมถึงไม่ได้รับหมายนัดให้จำเลยและทนายความ ทั้งที่มีการแต่งทนายความเข้ามาในคดีแล้ว

อีกทั้ง ศาลทหารยังมีกระบวนการพิจารณาคดีแตกต่างจากศาลยุติธรรมที่ต้องนำตัวจำเลยมาในวันที่มีการฟ้องคดี แต่ในกรณีของศาลทหาร หากจำเลยอยู่ในการควบคุมตัว ศาลทหารจะเพียงส่งคำฟ้องไปที่เรือนจำซึ่งมักไปไม่ถึงจำเลย จำเลยจะทราบคำฟ้องจากทนายความ หรือบางรายอาจทราบคำฟ้องครั้งแรกจากการที่ศาลอ่านคำฟ้องให้ฟังในนัดสอบคำให้การ

สำหรับคดีนี้ ชญาภา ถูกกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความบนหน้าเฟซบุ๊ก ในทำนองว่าจะเกิดการปฏิวัติซ้อน และข้อความที่มีลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 และ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

ชญาภาถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2558 ขณะจะออกจากบ้านไปทำงาน โดยเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ควบคุมตัวไว้และนำตัวมาแถลงข่าวในวันที่ 24 มิ.ย. 2558 แต่ชญาภามีอาการอิดโรย และเป็นลม เนื่องจากมีโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ต้องส่งเข้ารักษาในโรงพยาบาลตำรวจ ก่อนพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังชญาภาต่อศาลทหารกรุงเทพวันที่ 25 มิ.ย. 2558 และอนุญาตฝากขังจนครบ 7 ครั้ง กระทั่งอัยการศาลทหารจะมีคำสั่งฟ้องจำเลย และมีคำพิพากษาในวันนี้
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net