Skip to main content
sharethis

 

วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หรือ ม.อ.ปัตตานี จัดกิจกรรม “สร้างความเข้าใจในระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทว่าด้วยครอบครัวและมรดกตามบทบัญญัติแห่งศาสนาอิสลามให้กับวิทยุชุมชน สื่อมวลชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ภายใต้โครงการวิจัย การพัฒนาประสิทธิภาพระบบไกล่เกลี่ยเรื่องพิพาทว่าด้วยครอบครัวและมรดกตามบัญญัติแห่งอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา

 

ผศ.ดร.อะห์หมัด ยี่สุ่นทรง 

ผศ.ดร.อะห์หมัด ยี่สุ่นทรง ผู้วิจัยเปิดเผยว่า โครงการนี้วิทยาลัยอิสลามศึกษาร่วมกับคณะกรรมการอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่วนนโยบายละยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมจัดทำขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจในระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทว่าด้วยครอบครัวและมรดกตามบัญญัติแห่งอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการขับเคลื่อนกระบวบการยุติธรรมทางเลือกสำหรับมุสลิมในพื้นที่

อะห์หมัด เปิดเผยต่อไปว่า โครงการวิจัยนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2553 โดยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นได้หารือกับ ดร.มะรอนิง สาแลมิง อาจารย์ประจำสาขากฎหมายอิสลาม วิทยาลัยอิสลามศึกษา ถึงระบบการไกล่เกลี่ยในระดับชุมชนซึ่งพบว่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการระบบการไกล่เกลี่ยปัญหาที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดกอยู่ โดยระดับชุมชนมีโต๊ะอิหม่ามประจำหมู่บ้านเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ส่วนระดับจังหวัดมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้ที่ไกล่เกลี่ย ต่อมารองปลัดกระทรวงยุติธรรมมีข้อเสนอให้วิทยาลัยอิสลามศึกษาทำวิจัยนี้ขึ้นมา โดยมีเป้าหมายให้ระบบไกล่เกลี่ยมีมาตรฐานเดียวกัน

“จากงานวิจัยพบว่าระบบการไกล่เกลี่ยที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในพื้นที่และโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดดำเนินการอยู่ไม่มีมาตรฐาน ซึ่งจากการไปดูงานการระบบการไกล่เกลี่ยในประเทศมาเลเซียพบว่า มาเลเซียมีระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทว่าด้วยครอบครัวและมรดกมีประสิทธิภาพและมาตรฐานเดียวกัน สามารถแก้ปัญหาเรื่องครอบครัวและมรดกได้ เช่น การหย่า ต้องไปหย่ากันที่ศาลซารีอะห์เท่านั้น เพื่อจะแบ่งมรดกตามกฎหมายอิสลามและเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน หากไม่หย่าที่ศาลซารีอะห์ จะติดคุก 3 เดือน นอกจากนี้มาเลเซียมีระบบ Electronic Nikah (E-Nikah) เพื่อแก้ปัญหาการแต่งงานซ้อนด้วย เป็นต้น” ผศ.ดร.อะห์หมัด กล่าว

ข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยและแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหานี้คือ การสร้างระบบการ E-Nikah เพื่อป้องกันการแต่งงานซ้อน เนื่องจากปัจจุบันนี้มีอาชีพแต่งงาน คือ แต่งงานกันแล้วฝ่ายหญิงเอาเงินสินสอดหลบหนีไป ซึ่งปัจจุบันเกิดกรณีอย่างนี้จำนวนมากขึ้นในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตามระบบ E- Nikah อยู่ขั้นตอนการศึกษาว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่อย่างไร

อีกส่วนหนึ่งคือ ผลักดันก่อตั้ง “ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้วยว่าครอบครัวและมรดกตามบัญญัติอิสลาม” โดยมีหน้าที่รับเรื่องเรียนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทว่าด้วยครอบครัวและมรดก ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก และพัฒนาศักยภาพผู้ที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย เพื่อให้ระบบการไกล่เกลี่ยมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ยังจะจัดตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาระบบการใช้กฎหมายอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบการใช้กฎหมายอิสลามมาจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 5 จังหวัด จำนวน 15 คน มีหน้าที่ขับเคลื่อนการใช้กฎหมายซารีอะห์ในพื้นที่ โดยเฉพาะการไกล่เกลี่ยเรื่องปัญหาครอบครัวและมรดกตามบัญญัติอิสลาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net