Skip to main content
sharethis

ประเด็นการค้าบริการทางเพศยังเป็นเรื่องถกเถียงกันในระดับนานาชาติว่าควรทำให้ถูกกฎหมายหรือไม่ ขณะเดียวกันสำนักข่าวการ์เดียนเยี่ยมพิพิธภัณฑ์อุตสาหกรรมการค้าบริการทางเพศในกรุงเทพฯ ซึ่งชวนให้มองอีกด้านว่าการทำให้การค้าบริการทางเพศถูกกฎหมายจะช่วยสร้างรายได้แก่ประเทศและคุ้มครองสิทธิของคนทำงานได้มากขึ้น

หน้าแรกของรายงาน "Private arts: Bangkok museum celebrates Thai sex industry and its workers" ของสำนักข่าวเดอะการ์เดียนของอังกฤษ

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนของอังกฤษ รายงานเรื่องพิพิธภัณฑ์ว่าด้วยอุตสาหกรรมการค้าบริการทางเพศและคนทำงานบริการทางเพศในไทย โดยพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวบริหารงานโดยมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง หรือเอ็มพาวเวอร์ ซึ่งส่งเสริมโอกาสให้พนักงานบริการทางเพศได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไปในสังคม และไม่เน้นเรื่องการกดดันให้คนทำงานด้านนี้ต้องออกจากงาน

จันทวิภา อภิสุข ผู้ก่อตั้งเอ็มพาวเวอร์กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อเเดอะการ์เดียนว่าพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวยังไม่เปิดแบบสาธารณะแต่ผู้ที่ต้องการเข้าชมต้องทำการติดต่อไว้ล่วงหน้าเนื่องจากคนไทยทั่วไปยังมีมุมมองทางลบต่อคนทำงานบริการทางเพศ

ถึงแม้จะมีทัศนะโดยทั่วไปว่าการทำงานบริการทางเพศเป็นการถูกกดขี่และเป็นหนทางการหารายได้ของคนที่สิ้นไร้หนทางอื่น แต่ทางเอ็มพาวเวอร์ก็พยายามนำเสนออีกมุมมองหนึ่งในแง่ของคนที่ขายบริการทางเพศแบบที่เป็นงานในระดับเท่าเทียมกับงานอื่นๆ โดยไม่ถูกตัดสิน

จันทวิภา เปิดเผยมุมมองของเธอในการให้สัมภาษณ์กับเดอะการ์เดียนว่าคนทำงานบริการทางเพศไม่ใช่เหยื่อแต่เป็นงานที่เหมือนกับงานอื่นๆ และการทำงานบริการทางเพศไม่ควรจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายเพื่อที่คนทำงานบริการจะสามารถมีการเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคได้

ในพิพิธภัณฑ์มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช่วงสงครามเวียดนามที่มีทหารอเมริกันเข้ามาในประเทศไทย 700,000 นาย ทำให้กิจการการค้าบริการทางเพศเฟื่องฟูขึ้น และคนทำงานบริการทางเพศก็มีการปรับตัวเข้ากับลูกค้าของพวกเขาทำให้มีการเรียนรุ้วัฒนธรรมใหม่ๆ จากตะวันตกและสร้างรายได้ต่อเศรษฐกิจไทยถึงราว 16 ล้าน ถึง 20 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังมีภาพวาดอายุ 400 ปีที่เล่าเรื่องราวของยุคสมัยที่มีการค้าบริการทางเพศเพื่อแลกข้าวสารเป็นถังๆ บนเรือค้าขายจากจีน

เรื่องการค้าบริการทางเพศยังเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอยู่ในระดับนานาชาติว่าควรจะทำให้เป็นสิ่งถูกกฎหมายหรือไม่ โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลออกนโยบายสนับสนุนให้มีการทำให้การค้าบริการทางเพศที่มีการตกลงยินยอมร่วมกันทุกฝ่ายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ทำให้นักสิทธิสตรีบางส่วนไม่เห็นด้วย เช่น สหพันธ์ต่อต้านการค้ามนุษย์ในสตรี (Coalition Against Trafficking in Women หรือ CATW) มองว่าการส่งเสริมของแอมเนสตี้จะกลายเป็นการสนับสนุนกลุ่มผู้ซื้อ แมงดา และผู้หาประโยชน์จากคนทำงานบริการทางเพศมากกว่าจะช่วยปกป้องผู้ที่ถูกกดขี่

แต่ในเรื่องนี้แอมเนสตี้ก็โต้แย้งโดยอ้างอิงงานวิจัยของพวกเขาว่าการทำให้การค้าบริการทางเพศถูกกฎหมายเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการคุ้มครองสิทธิของคนทำงานบริการทางเพศ เพราะถ้าหากการทำงานบริการทางเพศยังถูกทำให้เป็นงานนอกกฎหมายก็จะทำให้ผู้ทำงานบริการเสี่ยงต่อการถูกกดขี่จากตำรวจและไม่สามารถคุ้มครองสิทธิของพวกเขาจากผู้ที่ใช้งานอย่างกดขี่ได้เพราะจะถูกข่มขู่เรื่องที่งานของพวกเขาเป็นงานผิดกฎหมาย

ทางด้านเอ็มพาวเวอร์มองว่าการทำให้การค้าบริการทางเพศเป็นเรื่องถูกกฎหมายจะทำให้คนเลิกตีตราผู้ค้าบริการทางเพศให้ดูเป็นคนไม่ดี โดยที่จันทวิภากล่าวว่าคนทำงานบริการทางเพศก็ต้องการสิทธิความเป็นพลเมืองเหมือนกับทุกคน พวกเขาต้องการได้รับสวัสดิการด้านการศึกษาและสุขภาพ แต่ในปัจจุบันคนทำงานบริการทางเพศก็ยังถูกกีดกันออกจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

นอกจากนี้พวกเขายังต้องต่อสู้กับทัศนคติครอบงำในสังคมเช่นความเชื่อที่ว่างานค้าบริการทางเพศเป็นงานที่ถูกบังคับใช้แรงงานไปทั้งหมดหรือเป็นงานที่อยู่ๆ คนก็จับพลัดจับผลูได้ไปทำโดยไม่ได้ตั้งใจไปทุกกรณี แต่อภิสุขมองว่างานบริการทางเพศก็เป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะอีกงานหนึ่งซึ่งต้องมีการฝึกฝน และในอีกแง่หนึงก็ไม่ใช่ว่างงานอื่นๆ จะไม่มีคนที่ต้องจำใจฝืนทำอยู่เลย

เว็บไซต์ Havocscope ระบุว่ามีประชากรที่ทำงานบริการทางเพศอยู่ในไทยราว 250,000 คน สร้างรายได้เข้าประเทศได้ราว 6,400 ล้านดอลลาร์ต่อปี

นอกจากเรื่องแนวคิดมุมมองจากสังคมแล้วเอ็มพาวเวอร์ยังพยายามช่วยเหลือให้ความรู้เรื่องโรคติดต่อทางเพศและช่วยเหลือประชากรข้ามชาติที่ต้องเข้ามาทำงานค้าบริการทางเพศในไทย โดยอภิสุขบอกว่าการเน้นปราบปรามการค้ามนุษย์แต่อย่างเดียวจะทำให้ประชากรข้ามชาติถูกลงโทษและเสียโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น เรื่องนี้ถูกนำเสนอในพิพิธภัณฑ์จากการจัดแสดงจักรเย็บผ้าที่ถูกทิ้งร้างเนื่องจากคนทำงานเย็บผ้าเปลี่ยนงานไปทำงานบริการทางเพศ อย่างไรก็ตามถ้าหากมีผู้ต้องการออกจากงานบริการทางเพศทางเอ็มพาวเวอร์มีการให้ความช่วยเหลือตรงจุดนี้ด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Private arts: Bangkok museum celebrates Thai sex industry and its workers, The Guardian, 17-12-2015 http://www.theguardian.com/global-development/2015/dec/17/thai-sex-industry-private-arts-bangkok-this-is-us-museum-chantawipa-apisuk

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net