Skip to main content
sharethis

18 ธ.ค. 2558 คณะบุคคลจากหลายภาคส่วน จำนวน 54 ราย ทำจดหมายเปิดผนึกถึงผู้มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม เรียกร้องให้ตีความกฎหมายอาญาโดยเฉพาะที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองอย่างเคร่งครัด โดยยกกรณีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 และ มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว เคารพสิทธิตามกติการะหว่างประเทศของผู้ต้องสงสัย แจ้งให้ญาติและทนายความทราบถึงสถานที่ควบคุมตัว และให้เข้าพบผู้ต้องหาได้ ทั้งนี้ ระบุด้วยว่า พลเรือนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยศาลพลเรือน

 

จดหมายเปิดผนึก

เรื่อง การตีความกฎหมายอาญาโดยเฉพาะที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองควรทำอย่างเคร่งครัด

เรียน ผู้มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม

ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านโดยผู้มีอำนาจขอเวลาในการปฏิรูปและพัฒนาประชาธิปไตยตามหลักสากล และพร้อมที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่มีอยู่ พวกข้าพเจ้าซึ่งมีรายนามข้างท้ายนี้ จึงขอให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีและมีผลใช้บังคับกับไทยตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2540 โดยเฉพาะขอให้ตีความกฎหมายที่มีบทลงโทษทางอาญาอย่างเคร่งครัด โดยมีข้อเสนอแนะดังนี้

1. กรณีที่ประเทศใดจะไม่ทำตามส่วนหนึ่งใดของกติการะหว่างประเทศ ICCPR นั้น ต้องเป็นกรณียกเว้นชั่วคราวเมื่อมีเหตุฉุกเฉินสาธารณะที่คุกคามชีวิตของประชาชาติ (life of the nation) ทั้งนี้ ตามมติองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2544 การประกาศใช้กฎอัยการศึกซึ่งต่อมาถูกแทนที่ด้วยการออกคำสั่งตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น ขัดกับกติการะหว่างประเทศ ICCPR มาตรา 4 จึงควรยกเลิกเสียและหันมาใช้กฎหมายอาญาในภาวะปกติ อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีการจับกุมบุคคลโดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่แทนกฎอัยการศึก โดยตั้งข้อสงสัยว่าขัดคำสั่งของ คสช. และ  อื่น ๆ ในกรณีเช่นนี้ ควรเคารพสิทธิตามกติการะหว่างประเทศของผู้ต้องสงสัยเช่นเดียวกับที่พึงปฏิบัติต่อผู้ต้องหาทั่วไป ซึ่งต้องคำนึงว่าผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิด รวมถึงการแจ้งให้ญาติและทนายความทราบถึงสถานที่ควบคุมตัว และให้เข้าพบผู้ต้องหาได้ ทั้งนี้ พลเรือนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยศาลพลเรือน

2. มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญามีบทบัญญัติดังนี้
“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี”
แต่ก็มีการตีความว่า มาตรานี้ครอบคลุมถึงบุคคลที่ไม่ได้บัญญัติไว้ เช่น พระมหากษัตริย์ในอดีตทุกพระองค์ บรมวงศานุวงศ์ และรวมสิ่งที่ไม่ใช่บุคคล ซึ่งอาจตีความอย่างกว้างขวางได้ เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงขอให้ทบทวนการตีความดังกล่าว  ว่าเป็นการตีความเกินเจตนารมณ์การคุ้มครององค์พระประมุขของประเทศองค์ปัจจุบันหรือไม่ และการตีความควรเป็นไปอย่างเคร่งครัดตามลายลักษณ์อักษรเพราะเป็นกฎหมายอาญาหรือไม่ อีกทั้งควรคำนึงเพียงใดว่าผู้ต้องหาอาจไม่มีเจตนาเพราะไม่ทราบถึงการตีความที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ ได้ ทั้งนี้ โดยยึดตามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอันเป็นกติกาสากล

3. มาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญามีบทบัญญัติดังนี้
“ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ
(3) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”
จะเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายน่าจะเป็นการป้องกันการก่อการกบฏ โดยใช้กำลังหรือการยุยงปลุกปั่น ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตย ดังนั้น จึงขอให้มีการตีความอย่างเคร่งครัดและบังคับใช้กฎหมายเมื่อมีภัยคุกคามจากการก่อการกบฏ มิใช่ใช้เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้เห็นต่าง

4. ปัจจุบันมีการตั้งข้อหาว่ามีการทำผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์กันบ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะทำผิดมาตรา 14 ซึ่งบัญญัติว่า 
“ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)”
เจตนารมณ์ของมาตรานี้น่าจะเป็นการป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลปลอมหรือเท็จ ตลอดจนข้อมูลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงหรือลามก การใช้มาตรานี้เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองหรือทางการเมือง จึงอาจขัดต่อกติการะหว่างประเทศ ICCPR ดังกล่าว อีกทั้งยังมีการตีความว่า คนกด share มีเจตนาเผยแพร่และย่อมเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 14 (5)  ซึ่งการตีความเช่นนี้เป็นโทษอย่างยิ่งต่อผู้ไม่ทราบการตีความดังกล่าว ส่วนการตีความว่าคนกด Like คือผู้ลงนามรับรองข้อมูลเพื่อให้ได้รับความเชื่อถือมากขึ้นนั้น น่าจะเป็นการกล่าวโทษเจตนาเกินการตีความที่เคร่งครัด เพราะคำว่า Like แปลว่าชอบ การกด Like เป็นการแสดงความรู้สึก ไม่เชิงเป็นการแสดงความเห็นโดยตรงด้วยซ้ำไป และยิ่งไม่ใช่การลงนามรับรองแต่อย่างใด จึงขอให้มีการทบทวนการตีความในเรื่องนี้ ให้เป็นการตีความอย่างเคร่งครัดตามเจตนารมณ์การให้ความคุ้มครองของกฎหมาย

พวกข้าพเจ้ามีข้อเสนอแนะข้างต้นเพราะเห็นว่าได้เกิดความตึงเครียดในสังคมการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว การผลักดันแต่ความเชื่อของตนและการใช้ไม้แข็งนั้นได้ใช้กันมามากแล้ว โดยไม่เกิดผล  จึงขอให้ยึดหลักนิติธรรมอันเป็นสากล และถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีมากกว่า


เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช
งามศุกร์ รัตนเสถียร
โคทม อารียา
ธนพล แสงจันทร์
พรรณนภา ห้วยหงษ์ทอง
บดินทร์ สายแสง
ใจสิริ วรธรรมเนียม
รัฐวิศว์ เอื้อประชานนท์
นิอับดุลฆอร์ฟาร โตะมิง
อันธิฌา แสงชัย
เวลา กัลหโสภา
เอกฤทัย ฉัตรชัยเดช
ดาราณี ทองศิริ
ปรัชญา โต๊ะอิแต
อาทิตย์ ชูสกุลธนะชัย
บัณฑิต หอมเกษ
ภัทรภร ภู่ทอง
บุรินทร์ ปุรินทราภิบาล
นิรภัย สายธิไชย
อารีฟ มูน๊ะ
สมฤดี พิมลนาถเกษรา
ฤทธิชัย โฉมอัมฤทธิ์
ผกามาส คําฉ่ำ
อรุณชัย เพริดพริ้ง
พรสุข เกิดสว่าง
สรศักดิ์ เสนาะพรไพร
อาอีฉ๊ะ แก้วนพรัตน์
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ
อโณทัย โสมา
ภัทรานิษฐ์ เยาดํา
เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์
ชาญชัย ชัยสุขโกศล
ชฎาพร ไชยมาลา
นวพร สุวรรณรัตน์
สุรางค์รัตน์ จําเนียรพล
เสมอแข ย้อยนวล
พิษณุรักษ์ ปิตาทะสังข์
ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล
มานียา รักษาผล
ชูเวช เดชดิษฐรักษ์
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
พลัฏฐ์ พงษ์โสภณ
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์
ญาดา ช่วยจําแนก
อนวัช จันทร์พงษ์
มุฮัมมัดมุมิน มูหนะ
ธวัชชัย ป้องศรี
สุนิดา ปิยกุลพานิชย์
เฉลิมศรี ประเสริฐศรี
วชิรวิทย์ สร้อยสูงเนิน
วินัย ผลเจริญ
ศุทธิกานต์ มีจั่น
ทิพสุดา ญาณาภิรัต

18 ธ.ค. 2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net