Skip to main content
sharethis
 
สายลมหนาวบริสุทธิ์ที่พัดโชยปะทะใบหน้าเย็นชื่นใจ เมื่อขึ้นสู่ภูผาม่านคราวใด ภาพปรากฏของสายตาที่เพ่งมอง ช่วยทำให้ผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากการเดินทางมาทั้งวัน บนความตระหง่านที่ถูกโอบล้อมไปด้วยเทือกเขาหินปูน มีจุดเด่นหลากหลายทางธรรมชาติ ทั้งถ้ำและน้ำตก เป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำลำธาร
 
จากตีนผาถึงยอดภูสูงเสียดฟ้า ยังพบความหลากหลายของวิถีชีวิตคนอยู่กับป่า ที่ถูกหล่อเลี้ยงมาโดยธรรมชาติแห่งบ้านซำผักหนาม ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น หนึ่งในนั้นที่พวกเขาเข้ามาใช้ประโยชน์ในการทำมาหากิน นั่นคือ แปลงผักเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มปลูกผักเพื่อสุขภาพ
 
สุรางค์รัตน์ ชำนาญมูล ที่ปรึกษากลุ่มเยาวชนป่าน้ำซำ นอกจากเป็นผู้ริเริ่มผลักดันให้เกิดกลุ่มเด็กเยาวชนให้มีจิตสำนึกในการร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและปกป้องผืนป่า ดูแลรักษาป่าชุมชน ปลูกต้นไม้ในวันสำคัญต่างๆ ร่วมกับผู้ใหญ่ในชุมชนแล้วนั้น กิจกรรมที่กลุ่มช่วยกันทำในปัจจุบันคือ ทำแปลงปลูกผักเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มปลูกผักเพื่อสุขภาพ เพื่อเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของชุมชน
 
“ พื้นที่ปลูกผักจำนวนกว่า 1 ไร่ 2 งาน เป็นแปลงส่วนกลางของชุมชนที่ชาวบ้าน 16 ครอบครัว นำมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ด้วยการปลูกผักพื้นบ้าน อาทิ ผักกาด ผัดกวางตุ้ง ผักชีลาว และผักคะน้า โดยสมาชิกแต่ละครอบครัวที่ร่วมรวมกลุ่ม จะมีการจัดสรรพื้นที่ในการเพาะปลูกภายในแปลง แล้วแต่ว่าใครจะปลูกผักชนิดใด ส่วนผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้นั้น แต่ละครอบครัวจะเก็บขายกันเอง เพื่อสร้างรายได้ในแต่ละครัวเรือน ชาวบ้านที่นี่จะอาศัยปลูกกินทำเองสะดวกกว่า นอกจากนี้เพื่อความยั่งยืนและความมั่นคงในอาหาร ยังได้ร่วมกันเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้นำมาหว่านปลูกได้อีกในรอบต่อไป โดยไม่ต้องไปหาซื้อตามตลาด ที่สำคัญเป็นแปลงผักเกษตรอินทรีย์ ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พูดง่ายๆว่าเป็นผักปลอดสารพิษ เป็นผลดีต่อทั้งสุขภาพ ร่างกาย และไม่เป็นพิษภัยต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย “
 
สุรางค์รัตน์ เผยด้วยรอยยิ้มเล็กๆ ขณะเดียวกันได้ชี้นิ้วนำสายตาให้เหลียวมองมาทาง นางบุญรอด แก้วสิงห์ อายุ 60 ปี ที่กำลังบรรจุผลผลิตที่ได้จากน้ำแรง จัดลงถุงพลาสติกด้วยสีหน้ายิ้มแย้มเปี่ยมไปด้วยความสุข
 
 
ทางด้านนางบุญรอด แก้วสิงห์ ตอบด้วยน้ำเสียงฟังดูมีพลัง ริ้วรอยบนใบหน้าแสดงถึงความภูมิใจในผลผลิต พร้อมเอ่ยบอกว่า หลังจากผ่านการนำผักมาดองแล้ว ยายเตรียมของที่จะเดินหาบขายในเย็นนี้ คือ ผักกาดหิ่น จะแบ่งเป็นถุงเล็ก 5 บาท ถุงใหญ่ราคา 10 บาท และยังมีมะเขือเทศ ขายถุงละ 10 บาท ช่วงเช้าและเย็น จะใช้รถลากเข็น ตระเวนขายไปรอบหมู่บ้านซำผักหนาม ทำแบบนี้มาตลอด ปัจจุบันพอมีรายได้วันละประมาณ 200 - 300 บาท ใช้จ่ายเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ และให้ลูกๆหลานๆ ส่วนที่เหลือจากการขายนอกจากเก็บไว้ใช้เองแล้ว ส่วนหนึ่งได้นำแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน ที่ไม่มีที่ดินเพียงพอในการปลูกพืชผักอีกด้วย
 
 
 
นอกจากนี้ นายเจด็จ แก้วสิงห์ พี่เลี้ยงเยาวชนป่าน้ำซำ เปล่งเสียงออกมาแข่งกับเสียงลมที่หวีดคำรามกระทบไปทั่วภูผาและท้องทุ่ง ว่า จากข้อมูลและได้รับการศึกษาจากผู้ใหญ่ ภูผาม่านเป็นอีกหนึ่งในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน ที่ถูกให้อพยพออกจากที่ดินทำกินเมื่อปี 2533 ได้มีโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ (คจก.) โดยรัฐสัญญาว่าจะจัดสรรที่ทำกินให้ใหม่ ปรากฏว่าพื้นที่จัดสรรให้มีเจ้าของแล้ว ผู้เดือดร้อนในภาคอีสานจึงร่วมกันต่อสู้ กระทั่งสามารถล้มโครงการฯ คจก.ได้ในปี 2535 หลังจากคืนกลับมายังที่ดินทำกินเดิม กลับถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งชาติภูผาม่านไปแต่ปี 2534  จึงร่วมกันต่อสู้เพื่อผลักดันให้รัฐร่วมแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน โดยได้ทำข้อตกลงร่วมกับอุทยานฯ จึงเกิดโครงการจอมป่าฯ ในรูปแบบที่ให้ชุมชนสามารถจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าได้อย่างยั่งยืน
 
“ปัจจุบันข้อพิพาทยังไม่จบสิ้น เพราะต่อมาภายหลังเกิดรัฐประหาร โดยคณะ คสช. ได้มีแผนแม่บทป่าไม้ฯ และนโยบายทวงคืนผืนป่า ประกอบกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ มีหนังสือแจ้งว่า จะมีการลงพื้นที่เพื่อพิสูจน์สิทธิ ด้วยเกรงจะถูกอพยพซ้ำรอยเดิมอีก หลายครั้งชาวบ้านจึงร่วมเดินทางกันไปพบกับหัวหน้าอุทยานฯภูผาม่าน และนายอำเภอ รวมทั้งไปยื่นหนังสือที่จังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมขอนแก่น เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงว่าการจัดการทรัพยากรฯชุมชนต้องมีส่วนร่วม การลงสำรวจสิทธิ์ฯ ต้องผ่านคณะกรรมการหมู่บ้านและคณะกรรมการจอมป่าฯด้วย เพราะชุมชนมีสิทธิบริหารจัดการ และมีกฎข้อระเบียบของการอนุรักษ์ผืนป่าร่วมกันอยู่แล้ว
 
ทุกครั้งพวกเรากลุ่มเยาวชนฯ จะร่วมทำหน้าที่สื่อสารให้สังคมส่วนใหญ่ได้รับรู้ เข้าใจ ในข้อเท็จจริงอีกมุมหนึ่งมาโดยตลอด” เจด็จ เผยทิ้งท้าย
 
 
กลุ่มเยาวชนป่าน้ำซำ แม้พวกเขาจะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ  ทว่าสองมือเล็กๆเหล่านี้ มากด้วยประโยชน์และทรงคุณค่าต่อชุมชนและสังคมยิ่ง ด้วยมีส่วนสำคัญที่ทรงพลัง ในความสามารถที่ทำให้กิจกรรมการดำเนินงานร่วมกับผู้ใหญ่เป็นไปอย่างราบรื่น สำคัญที่สุดเยาวชนเหล่านี้ ต่างก้าวขึ้นมาเป็นนักสื่อสารชุมชน ด้วยบทบาทในการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง ในเรื่องของสิทธิ ความเป็นวิถีชีวิตชุมชน เผยแพร่ส่งผ่านความคิดให้กับสังคมได้รับรู้ว่า ป่านั้นคือชีวิต คือทุกสิ่งทุกอย่างของพวกเขา ป่านั้นคือความผูกพัน เป็นความรัก ความหวัง และกำลังใจ ในวิถีชีวิตของคนในชุมชน
 
จากตีนผาถึงยอดเขาสูงเสียดฟ้า แม้บนความสูงชันสลับซับซ้อนกว่าสองแสนไร่ ภายหลังถูกประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ครอบคลุมอาณาบริเวณอำเภอภูผาม่าน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ทอดยาวไกลเชื่อมต่ออุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เสมือนเป็นปราการธรรมชาติกั้นเขตแดนระหว่างจังหวัดขอนแก่น จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย
 
ทว่าชีวิตผู้คนบนผืนดินนี้ แม้จะถูกปิดกั้นสิทธิในการถือครองที่ดินทำกินมาโดยตลอด แต่ภาพชีวิตความสุขที่เรียบง่ายในชุมชนเล็กๆแห่งนี้ ไม่มีกฎเกณฑ์บ่งชี้ นอกจากการมีส่วนร่วมในการปกป้องดูแลรักษาป่า ให้ความสมบูรณ์แก่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
การจัดการป่าโดยรัฐ หรือนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน แน่นอนว่า ย่อมสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการทำมาหากินของชาวบ้าน ฉะนั้นหากรัฐสามารถให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาอย่างที่ชาวบ้านทำมาอย่างต่อเนื่อง และสามารถยืนอยู่ได้อย่างยั่งยืนมาตราบวันนี้ ด้วยความเชื่อในหัวใจโดยสุจริตว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านจะเกิดขึ้นน้อยมาก
 
หากมีโครงการเข้ามารุกไล่ ยึดที่ดินทำกิน และเบียดขับพวกเขาลงจากเทือกภูไปอยู่ที่อื่นอีก ความทุกข์ทนสาหัส ผลกระทบของชาวบ้านรวมทั้งลูกหลานที่จะได้รับนั้น นอกจากผืนดินที่อยู่อาศัย แหล่งเพาะปลูกทำกิน ไออุ่นจากผืนดินนี้ อีกทั้งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่สืบทอดมาแต่ครั้นบรรพบุรุษอย่างยาวนาน จะพลันสูญสลายตามไปด้วย
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net