นักวิจัยแนะ พัฒนาเส้นทางจักยานตอบโจทย์ ‘ผู้ใช้จริง’ หลังพบ คนริมคลองใช้จักรยานมากสุด

นักวิจัยวิจัยพบ ชุมชนแออัดริมคลองใช้จักรยานสัญจรมากที่สุด ส่วนใหญ่ใช้เป็นพาหนะหลักมากกว่าใช้เพื่อนนันทนาการ สวนทางนโยบายสร้างทางจักยานรองรับชนชั้นกลาง ผลักให้ชุมชนใช้ทางร่วมกับรถยนต์

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2558 เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาพื้นที่ริมคลอง เผยแผร่ข้อมูลเพื่อพัฒนาเส้นทางจักรยานให้ตอบโจทย์ผู้ใช้จักยานในชีวิตประจำวันมากกว่าใช้เพื่อนันทนาการว่า จากการศึกษาผ่านวิทยานิพนธ์ เรื่อง ‘ปัญหาและความต้องการเส้นทางและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับจักรยานของผู้ใช้จักรยานที่อาศัยอยู่ในชุมชนริมคลองบางบัว เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร: กรณีศึกษา ชุมชนร้อยกรอง’ กล่าวถึงการจัดการจัดการพื้นที่เพื่อรองรับผู้ใช้จักรยานเพื่อการสัญจรในชีวิตประจำวันมากกว่าเป็นกิจกรรมว่า จากการเก็บข้อมูลสถิติทำให้รู้ว่า ปี 2552 พื้นที่ชุมชนแออัดมีผู้ใช้จักรยานประมาณร้อยละ 22 พอถึงปี 2555 ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29 ทำให้รู้ว่าในชุมชน 5 ประเภทของ กทม. ได้แก่ ชุมชนบ้านจัดสรร ชุมชนชานเมือง ชุมชนเมือง เคหะชุมชน และชุมชนแออัด ชุมชนแออัดมีผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมากที่สุด แต่สภาพการใช้ของแต่ละชุมชนไม่เหมือนกัน

ชยุต รัตนพงษ์ ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ดังกล่าว และเป็นหนึ่งในสองคนแรกที่ก่อตั้งกลุ่มเมืองจักรยานเมื่อปี 2555 ชยุตกล่าวว่า ในแง่ระยะทางพบว่า ผู้ใช้จักรยานในชุมชนร้อยกรองใช้จักรยานเดินทางโดยเฉลี่ยประมาณกิโลเมตรเศษๆ ถึงจะเป็นระยะทางสั้นๆ แต่ก็เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมายในการเดินทาง เพราะถูกกระแสการจราจรจากถนนทุกด้านสกัดเอาไว้ ทำให้ระยะทางการใช้จักรยานเป็นไปได้แค่เส้นเลียบคลองและวนเวียนอยู่ในละแวกดังกล่าว ทำให้ได้ข้อสรุปว่าการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันของคนในชุมชนร้อยกรองใช้ในระยะทางที่ไม่ยาวมาก เนื่องจากไม่มีเส้นทางจักรยานที่สะดวก ปลอดภัย และมีระยะทางยาวเพียงพอ

“ชีวิตประจำวันของเขา ชุมชนแออัดถูกอิทธิพลของเมืองบีบ ถนนใหญ่จักรยานก็ข้ามยาก ทำให้เขาต้องใช้จักรยานเป็นหนึ่งในหลายรูปแบบของการเดินทาง อาจเป็นจักรยานบวกรถเมล์” ชยุต กล่าว

งานศึกษาข้างต้นยังได้ประมวลองค์ความรู้ว่า พฤติกรรมการเดินทางด้วยจักรยานคือองค์ประกอบสำคัญในการวางแผนด้านการคมนาคมขนส่งด้วยจักรยาน ซึ่งจะเข้าใจพฤติกรรมการเดินทางด้วยจักรยานได้จะต้องเข้าใจจุดประสงค์การเดินทาง, ระยะทางในการเดินทาง, เวลาการเดินทาง, ช่วงเวลาการเดินทาง, ความถี่ในการใช้จักรยาน และการครอบครองจักรยาน ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการวางระบบเส้นทางจักรยาน เพราะมันหมายถึงการตอบสนองต่อการใช้จักรยานจริงๆ ในชีวิตประจำวันของคนใช้จักรยาน

ดังนั้น เมื่อชุมชนแออัดเป็นแหล่งที่มีคนใช้จักรยานมากที่สุด การจะพัฒนาเส้นทางจักรยานก็ควรเริ่มต้นจากจุดนี้ จุดที่ชีวิตของผู้คนเริ่มต้นในตอนเช้า ซึ่งก็คือชุมชน และไปจบ ณ จุดที่คนเหล่านี้ต้องดำเนินชีวิตต่อ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงานหรือสถานศึกษา

“จะใช้แนวเอาแนวคิดแบบรถยนต์ที่ว่า สร้างทางไปก่อน เดี๋ยวก็มีคนใช้ มาใช้กับจักรยานไม่ได้ เพราะจักรยานใช้แรงปั่น มีข้อจำกัดเรื่องระยะทาง และความปลอดภัย ถ้าอุปสรรคมากๆ คนก็ไม่ใช้ ดังนั้น การจะกำหนดปลายทางของเส้นทางจักรยาน ต้องถามชุมชนนั้นๆ ไม่ใช่กำหนดไปจากโต๊ะหรือนโยบายของผู้บริหารเมือง”

 

ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ เฟซบุ๊ก Khon-Kool-Klong

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท