Skip to main content
sharethis

22 ธ.ค. 2558 เมื่อเวลา 14.00 น. ที่โถงทางเข้าหอสมุดปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเสวนาหัวข้อ "เบน แอนเดอร์สัน กับ ชุมชนจินตกรรม และอื่นๆ" วิทยากรประกอบด้วย นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์, ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคลิปรายละเอียดของการอภิปรายมีดังต่อไปนี้

[1] การอภิปรายโดย เกษียร เตชะพีระ

ตอนหนึ่ง เกษียร เตชะพีระ กล่าวถึงวิธีทำความเข้าใจการเมืองไทยสมัยใหม่ของเบน แอนเดอร์สัน ด้วยประเด็นต่างๆ เช่น เปรียบเทียบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชยุโรปกับสยาม ความป่วยไข้ทางการเมืองของระบบราชการไทย ยุคสฤษดิ์-ถนอมซึ่งเปลี่ยนแปลงประเทศไทยอย่างลึกซึ้งทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ความรุ่งเรืองของระบบรัฐสภาที่เกิดจากกระฎุมพีเชื้อสายจีน ฯลฯ

[2] การอภิปรายโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เริ่มต้นกล่าวว่า เป็นการอภิปรายถึงเบน แอนเดอร์สันหลังจากที่กล่าวไปแล้วครึ่งหนึ่งก่อนหน้านี้ที่ร้านบุ๊ค รีพับลิก จ.เชียงใหม่ ตอนหนึ่ง นิธิ กล่าวถึง เบน แอนเดอร์สัน ว่าเป็นมากกว่ายักษ์ในวงการเอเชียตะวันออกเฉียงศึกษา แต่ยังเป็นยักษ์ในวงการวิชาการระดับโลกด้วย ในส่วนที่เป็นข้อเสนอของเบนในประเด็นทางสากล เช่น แนวคิดเรื่องชาติกับชาตินิยม กับงานศึกษาบทบาทกลุ่มอนาธิปไตยในยุโรปตะวันออก ซึ่งงานเหล่านี้เป็นคำตอบในช่องว่างหลังแนวคิดมาร์กซ์ซิสต์เสื่อมความนิยมในปลายศตวรรษที่ 19 และมาเป็นคำตอบของพวกกู้ชาติจากเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย ฯลฯ

[3] การอภิปรายโดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ในช่วงอภิปรายของผาสุก พงษ์ไพจิตร เขากล่าวว่ารู้จักเบนผ่านงานวิชาการมาก่อน และเพิ่งมารู้จักกันเมื่อปี 2541 นี้เอง ตอนที่ช่วยคริส เบเกอร์ แปลงาน "ปากไก่และใบเรือ" ซึ่งแต่งโดยนิธิ เอียวศรีวงศ์ เพื่อสอบถามเรื่องงานนี้เพราะเบน แอนเดอร์สันเป็นผู้จัดทีมแปลหนังสือปากไก่และใบเรือ นอกจากนี้เบน ยังเป็นที่ปรึกษาในการทำหนังสือ Populism in Asia และเป็นที่ปรึกษาเมื่อเริ่มศึกษาเรื่องความไม่เท่าเทียม

ตอนหนึ่ง ผาสุก เล่าถึงหัวข้อวิจัย 4 หัวข้อแนะนำโดยเบน 1. ศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง คำนำหน้าชื่อ เช่น หลัง 2475 ไม่มีการให้ราชทินนาม หรือการให้คำนำหน้าสำหรับชายไทย แต่ผู้หญิงยังมีโอกาสได้คำนำหน้าเป็นคุณหญิง ท่านผู้หญิง ทำไมผู้หญิงจึงมีคำนำหน้าเหล่านั้น แต่ผู้ชายไม่มี / ศัพท์หรือชื่อเสียงอำนาจของคำว่า อาจารย์ และหมอ เดี๋ยวนี้อาจารย์ใช้เรียกแต่คนสอนในมหาวิทยาลัย ส่วนหมอก็หมายถึงแค่หมอรักษาคนในโรงพยาบาล และผู้ที่มีคำนำหน้าเหล่านี้ยังชอบเลคเชอร์ทุกเรื่อง

2. การใช้สรรพนามหรือคำเรียกแทนคำต่างๆ ในสังคมเมืองใหญ่ เช่น คำที่มีระดับสถานภาพทางสังคมผูกติดด้วย ซึ่งผู้หญิงได้รับผลกระทบจากการใช้คำนำหน้าเหล่านี้มาก เช่น ถูกเรียกว่าหนู หรือน้องเสมอ / คำที่สำแดงความเป็นกันเองแต่ผู้ฟังไม่อาจใช้กลับกับผู้พูดได้ และสำแดงถึงความไม่เท่าเทียมด้วย เช่น ตำรวจ พูดอั๊วะ/ลื้อ แต่เราพูดอั๊วะ/ลื้อ กลับไม่ได้ ตำรวจโกรธ นักภาษาศาสตร์น่าศึกษาคำที่มีนัยยะลดค่าเชิงแอบแฝงในภาษาไทย เปรียบเทียบกับภาษาในประเทศอื่น

3. ภูมิความกลัว ชุมชนที่อยู่ในบริเวณรั้วรอบขอบชิดในจาร์กาต้า ซึ่งอยากแยกตัวออกจากชุมชนอื่น แต่ก็อยากมีคนรับใช้ คนทำเล็บ ช่างตัดเสื้อ รปภ. จึงให้เขาเข้ามาอยู่ด้วย แปลว่าคนเหล่านี้ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว แต่ก็เริ่มกลัวคนเหล่านี้ว่าจะทำร้าย โดยเฉพาะการกลัว รปภ. ปล้น โดยเบนยังเปรียบเทียบกับชาวคอนโดฝั่งธนบุรี ที่เขาอาศัย ซึ่งชาวคอนโดนั้นไม่สนใจชื่อเสียงเรียงนามของ รปภ. แต่เรียกว่า "น้อง" เหมือนกันหมด และเนื่องจากไม่มีมนุษย์สัมพันธ์ระหว่างคนในคอนโดกับยามที่ช่วยดูแล พวกยามจึงถูกสงสัยว่าจ้องจะขโมย ฯลฯ เท่ากับว่าคอนโดมี รปภ. เพื่อรักษาความปลอดภัยกลับกลายเป็นความไม่ปลอดภัย นี่คือภูมิความกลัวในกลุ่มชนชั้นกลาง

4. แจ๋ว เบนสงสัยว่าทำไมแม่บ้านยังต้องการคนรับใช้ แม้ว่าเราจะมีเครื่องทุ่นแรงต่างๆ มากมาย แม่บ้านมักจะบ่นว่าคนรับใช้ไม่ได้เรื่อง และยั่วยวนสามี เบนคิดว่าแม่บ้านต้องการมีคนรับใช้ ก็เพราะเอาอย่างคนชั้นสูง เมื่อเขาพูดกับสตรีนิยม ก็จะถูกวิจารณ์ว่า อ.เบน ไม่เห็นใจพวกผู้หญิงเลย แม่บ้านอยากมีคนรับใช้ เพราะเขาไม่ต้องการรับใช้สามีของเขา ต้องเห็นใจเขา อาจารย์เลยบอกว่ามีความพิลึกพิลั่นสูง มีสตรีนิยมแบบสังคมหลังความสมัยใหม่ แต่ไม่มีความสมัยใหม่ เช่น ไม่มีทุนนิยมอุตสาหกรรม สังคมไทยจึงเกิดพันธมิตรแบบพิลึกพิลั่น เช่น ระหว่างสตรีนิยมกับสิ่งที่หลงเหลือมาจากสังคมก่อนสมัยใหม่

เบนสรุปว่าเราน่าจะศึกษาความรู้สึกนึกคิดของครอบครัวชนชั้นกลาง เช่น เรื่องความกลัว ความรู้สึกโดดเดี่ยว และความหวังดีของเขาด้วย โดยผาสุกกล่าวว่าเป็นที่น่าเสียดายว่านักวิจัยไทยรับฟังสิ่งที่อาจารย์บรรยายด้วยความสนุกสนานและหัวเราะ แต่ในที่สุดยังไม่มีใครรับทำตามคำแนะนำของอาจารย์ และเขาอาจจะต้องรับทำวิจัยเหล่านี้สักชุดหนึ่ง

[4] การอภิปรายโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตอนหนึ่งธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เล่าถึงเบื้องหลังหนังสือของเบน แอนเดอร์สัน เรื่อง "Imagined Communities" (ชุมชนจินตกรรม) ซึ่งในเวลานั้นเบน แอนเดอร์สัน ที่รู้สึกว่านักวิชาการโดยเฉพาะอเมริกาที่มีทุนวิจัยเยอะและออกไปทำวิจัยภาคสนามในประเทศเกิดใหม่เยอะ เสร็จแล้วเอามาตีความใช้อคติแต่บอกว่านี่คือทฤษฎี นี่คือการทำให้เป็นสมัยใหม่ ซึ่งเบนเห็นว่าไม่ใช่แบบนี้ เพราะอินโดนีเซียที่เบนไปเจอไม่ใช่แบบนี้ เขาไม่ได้ต้องการเป็นแบบนี้

ธเนศเล่าด้วยว่า เบน แอนเดอร์สัน พยายามเขียนบทความเป็นภาษาอินโดนีเซีย เพื่อให้เป็นบทเรียนประวัติศาสตร์สำหรับชาวอินโดนีเซีย โดยใช้วิธีเล่าแบบง่ายๆ เพื่อให้คนอินโดนีเซียเข้าใจด้วย

นอกจากนี้หลังงาน "Imagined Communities" แล้ว เบนยังมีการผลิตบทความอธิบายเรื่องชาติออกมาอีก ทำให้ธเนศมองว่างานของเบนมีความต่อเนื่อง โดยที่ข้อสรุปของเบนไม่ได้ไปตามกระแสหรือแนวโน้มของพวกโพสต์โมเดิร์น ที่กำลังได้รับความนิยมในสมัยนั้น

เหตุการณ์สุดท้ายก่อน "Imagined Communities" ออกมาเป็นรูปเล่มคือ จีนบุกเวียดนาม ซึ่งเป็นการทำสงครามกันเองของประเทศคอมมิวนิสต์บนพื้นฐานของชาตินิยม คือที่มาของการชำแหละในงานของ เบน แอนเดอร์สัน ว่าชาตินิยมเริ่มมาได้อย่างไร ทั้งนี้เบนเองยังเขียนขยายความงานเรื่องชาตินิยมของเขาต่อไป ในฐานะของชาตินิยมที่เป็นโครงการร่วมกันของประชาชน หากไม่ใช่ของประชาชนแล้วก็ต้องดึงชาติกลับมาไม่ให้รัฐเป็นฝ่ายนำไปใช้

[5] ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ อ่านบทกวีของไอดา อรุณวงศ์ ซึ่งแปลจากนวนินาย King Lear ของวิลเลียม เช็คสเปียร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net