Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา MGR Online รายงานว่า พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าในที่ประชุม ครม. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้รายงานต่อที่ประชุมถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. - 4 ธ.ค. โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 2,700 คนทั่วประเทศ พบว่าประชาชนร้อยละ 88.2 ติดตามข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล โดยผ่านช่องทางรายการคืนความสุขมากที่สุด ร้อยละ 85.2 และประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 90 ทราบถึงการดำเนินการในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล 

โดย  มติชนออนไลน์ ได้รายงานรายละเอียดผลสำรวจดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้ ในรอบปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ประชาชนร้อยละ 42.1  ระบุว่า  ชุมชน/หมู่บ้านได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดในเรื่อง สินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง  รองลงมาได้แก่  ผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ ร้อยละ 36.2 ปัญหาหนี้สินของประชาชน ร้อยละ 28.5   ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 18.4 และการไม่มีเงินทุนในการประกอบอาชีพ ร้อยละ 16.0  เป็นต้น

ขณะที่เรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ในปี พ.ศ. 2559  พบว่า ประชาชนร้อยละ 43.9  ระบุว่าต้องการให้รัฐบาลควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง มากกว่าเรื่องอื่น  รองลงมา  ได้แก่ การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน ร้อยละ 35.5   การแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ/พยุงราคา ร้อยละ 27.2   การช่วยเหลือ/ดูแล/สนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพให้ผู้ยากจน ร้อยละ 19.2  และการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 13.3  เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประชาชนสูงถึงร้อยละ 99.5  ระบุว่ามีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของรัฐบาล (ซึ่งในจำนวนนี้มีความพึงพอใจมาก – มากที่สุดร้อยละ 53.2  ปานกลางร้อยละ 36.7   น้อยร้อยละ 8.7   และน้อยที่สุดร้อยละ 0.9)  มีเพียงเล็กน้อยที่ไม่พึงพอใจเลย ร้อยละ 0.5   ในภาพรวมประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจฯ อยู่ที่ 7.5213 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

โดยที่ ประชาชนสูงถึงร้อยละ 99.3 ระบุว่ามีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล  ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศได้  สำหรับข้อเสนอแนะต่อการบริหารงานของรัฐบาลพบว่า  ประชาชนประมาณร้อยละ 40 ระบุว่าต้องการให้รัฐบาลควบคุมสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาแพง  และการแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ/พยุงราคา ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงกว่าเรื่องอื่น  รองลงมาได้แก่  การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน ร้อยละ 36.8    การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมการท่องเที่ยว ร้อยละ 28.2  ต้องการให้รัฐบาลอยู่บริหารประเทศต่อไป ร้อยละ 24.8   การแก้ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 16.2 และการปรับขึ้นเงินเดือน/ค่าจ้าง/เงินบำนาญ ร้อยละ 12.7  เป็นต้น

ที่มาภาพ ศูนย์สื่อทำเนียบ

ประยุทธ์ ชี้ภาพรวมผลการรายงานก็ดูดี ส่วนที่ไม่ดีคือเรื่องเศรษฐกิจ แนะให้ดูภาพรวม
 
ขณะที่ ไทยรัฐออนไลน์ รายงาน ความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงรายงานผลการสำรวจดังกล่าวว่า ภาพรวมผลการรายงานก็ดูดี แต่ส่วนที่ไม่ดีคือเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอธิบายว่าเศรษฐกิจจะดีได้ต้องดูภาพรวม แต่วันนี้เศรษฐกิจมหภาคยังตกอยู่ทุกวัน ซึ่งช่วงนี้ต้องขับเคลื่อนให้ได้ แล้วขยายไปสู่ความเชื่อมโยงธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพ และสร้างอาชีพรายได้ให้คนในประเทศ 
 
สำหรับผลงานรัฐบาลเรื่องชอบมากที่สุดคือ เรื่องความมั่นคง สร้างความสงบเรียบร้อยให้สังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และเราได้ทำให้บ้านเมืองเรียบร้อยขึ้น ไม่ให้มีการประท้วง ทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ใช้อาวุธ ซึ่งถ้าตนไม่เข้ามาจะมีการใช้อาวุธหรือไม่ก็ไม่รู้ ซึ่งถ้าถามความพอใจนั้น หากงานยังไม่เสร็จก็ยังไม่พอใจ แล้วถึงเวลาที่จะส่งงานต่อให้เขา อย่ามากังวลกับตนให้ไปกังวลมาตรการรัฐบาลหน้าที่เลือกกันเข้ามา
 
นพ.เชิดชัย ไม่เชื่อผลวิจัยสำนักงานสถิติแห่งชาติ 99% พอใจผลงานรัฐบาล
 
มติชนออนไลน์ รายงาน ความเห็น นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ แกนนำ นปช. และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย (พท.) ต่อผลสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวที่ประชาชน 99% พอใจผลงานการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล ว่า เป็นไปไม่ได้เลยกับข้อมูลที่ออกมา การทำโพลของทุกหน่วยงานทั่วไป อย่างมากก็ 1 ใน 3 ที่เป็นไปได้ เพราะประชาชนจะต้องมีบางส่วนที่ไม่รู้ ดังนั้นข้อมูลที่ออกมาจึงเชื่อไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การนำเสนอข่าวในช่วงนี้ทำให้เห็นว่า คสช.และรัฐบาลโยนหินถามทาง เพื่อที่จะเดินหน้าในการตั้งพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติของรัฐบาลหลังการรัฐประหารที่จะต้องสืบทอดอำนาจต่อ เพราะคิดว่าตัวเองมีความนิยมจากประชาชนสูง แต่ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างให้เห็น เช่น พรรคมาตุภูมิ ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่เลือกตั้งมาได้แค่ 2 คน ทั้งนี้ ในฐานะนักการเมืองก็ยินดีหากรัฐบาลจะที่การตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาต่อสู้ในการเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net