Skip to main content
sharethis

23 ธ.ค.2558 ที่เมืองทองธานี การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 21-23 ธ.ค.ที่อินแพ็ค เมืองทองธานี เจษฎา มิ่งสมร ประธานคณะกรรมการจัดงาน ระบุว่างานครั้งนี้มีเครือข่ายต่างๆ เข้าร่วมถึง 250 องค์กร จำนวนคน 2,618 คน 7 ปีที่ผ่านมามีมติออกมา 64 มติ และในปีนี้มีการอภิปรายและออกมติกันใน 5 เรื่อง คือ สุขภาวะชาวนา ระบบบริการสุขภาพในเมืองใหญ่ เชื้อแบคทีเรียดื้อยา การลดปริมาณการบริโภคเกลือและโซเดียม และวาระที่นำเข้ามาพิจารณาใหม่เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปคือ ปัญหาหมอกควัน โดยทั้งหมดมีการลงรายละเอียดข้อเสนอเชิงนโยบายซึ่งจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในท้ายที่สุด

กอบศักดิ์ ภูตระกูล นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและตลาดทุนและเป็นคณะทำงานในสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นหนึ่งในองค์ปาฐกที่มากล่าวในงานนี้ ระบุว่า มุมมองของกลุ่มทุนหรือนายแบงก์นั้นจะมองเรื่องสุขภาวะที่ต่างออกไป นั่นคือ สุขภาวะด้านปากท้องซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและเป็นปัญหาความช่องความเหลื่อมล้ำมายาวนาน ดังนั้น ภาคีเครือข่ายต่างๆ น่าจะลองจับมือกับภาคธุรกิจในการทำโครงการต่างๆ โดยไม่ต้องฝากความหวังไว้ที่รัฐบาล เนื่องจากภาคเอกชนมีทุนมากและอยากนำเงินไปช่วยเหลือชุมชน แต่ไม่รู้ความต้องการและมักใช้จ่ายไปกับสิ่งที่ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาจริงๆ นอกเหนือจากนี้บทบาทสำคัญของสมัชชาสุขภาพ คือ การเรียกร้องให้หลายสิ่งที่กำลังผลักดันอยู่เกิดขึ้นจริง เช่น โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน ซึ่งกำลังเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

“มันคือโอกาสสำคัญซึ่งมีแค่ 2 ปี หลังจากนั้นคงจะเรียกร้องได้ยากมาก” กอบศักดิ์กล่าว

ประเวศเสนอกระบวนทัศน์ใหม่การพัฒนา เน้นฐานรากเหมือน ‘ประชารัฐ’ ยุคนี้

ประเวศ วะสี กล่าวปาฐกถาปิดงานระบุถึง กระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาเพื่อสร้างสุขภาวะ โดยกล่าวว่า ความแตกแยกทางความคิดในสังคมหลายทศวรรษที่ผ่านมา แปรสภาพเป็นความแตกแยกทางสังคมที่เห็นชัด ความเกลียดชังอบอวลไปทั่วทั้งสังคม เปรียบประหนึ่งโรคร้ายเรื้อรังรอวันรักษา จึงนำเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ซึ่งประกอบด้วย 1. การพัฒนาต้องวางเป้าหมายสูงสุดไว้ที่ “สุขภาพ” ไม่ใช่กำไร 2. สุขภาพคือทั้งหมด หรือ Health is the whole สุขภาพเป็นเรื่องขององค์รวม ไม่ใช่เพียงเรื่องของ โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ 3. พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน 4. ใช้แนวทางการทำงานแบบ “สาน สร้าง เสริม” 5.เรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติในสถานการณ์จริง 6.สร้างสังคมเครือข่าย

“ไม่มีเจดีย์องค์ใดจะสร้างสำเร็จจากยอดหากฐานรากไม่แข็งแรง คล้ายกับสร้างสังคม หากปัจจัยพื้นฐานของประเทศไม่แข็งแรง ประชาชนไม่มั่นคงในสุขภาพ ประเทศไทยทั้งหมดก็ปราศจากความมั่นคง เทียบได้กับยุทธศาสตร์ประชารัฐของรัฐบาลชุดนี้ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเป็นฐานราก” ประเวศกล่าว

ทีดีอาร์ไอฟันธงสำเร็จยาก เขตเศรษฐกิจพิเศษแบบไร้เป้าหมาย

ภายในงานยังมีงานเสวนาอีกหลายเวที เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นหนึ่งในนั้น นายพลากร วงค์กองแก้ว ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) นำเสนอมุมมองเขตเศรษฐกิจจากฐานราก ล้อไปกับแนวคิดของรัฐบาล เป็นมุมที่มาจากชุมชน ท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ โดยอ้างอิงถึงแนวคิด ซูเปอร์คลัสเตอร์ของเดชรัตน์ สุขกำเนิด ที่นำเสนอคลัสเตอร์แบบชุมชน เช่น คลัสเตอร์เชิงนิเวศ “สามสวรรค์ สามน้ำ สามสมุทร” เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านสัตว์น้ำ ครอบคลุมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีน นครนายก โดยรัฐเข้าไปสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานฟาร์ม การแปรรูป การตลาด หรืออาจรวมถึงคลัสเตอร์ข้าวอินทรีย์ แนวทางแบบนี้จะเกาะเกี่ยวและกระจายผลประโยชน์สู่ประชาชนฐานรากจริงๆ

ขณะที่ ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นต้องเรื่องคลัสเตอร์ฉบับประชาชนว่าเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนก็จริง แต่ผลที่เห็นได้จากการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนนั้นไม่สามารถเห็นได้ระยะเวลาอันสั้น ขณะที่รัฐบาลมีอายุสั้นมากและต้องการทำงานให้เห็นผลเร็ว โดยเฉลี่ยที่ผ่านมารัฐบาลประเทศไทยมีอายุประมาณ 1.5 ปี เรื่องนี้จึงขับเคลื่อนได้ยาก สำหรับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลดำเนินอยู่นั้น ดร.เสาวรัจ เห็นว่า ยุทธศาสตร์และเป้าหมายไม่ชัดเจนซึ่งทำให้เป็นไปได้ยากมากที่จะประสบความสำเร็จ เพราะไม่สามารถตอบได้ว่าเรื่องนี้จะช่วยพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างไร เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นแค่เครื่องมือ ไม่สามารถทดแทนนโยบายอุตสาหกรรมและแรงงานต่างด้าวในระดับชาติได้ อีกทั้งยังตอบไม่ได้ว่าประเทศเพื่อนบ้านหรือชุมชนท้องถิ่นจะได้ประโยชน์อะไร ส่วนข้อเสนอนั้นเห็นว่าควรเปลี่ยนเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็น เขตเศรษฐกิจนวัตกรรมพิเศษ ที่เน้นการใช้ปัญญา แรงงานมีฝีมือ และพัฒนาลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์ที่เพิ่มมูลค่าให้สินค้าที่ไทยมี

เดินหน้าด้วยข้อมูล เดชรัตน์ทำแอป NPI Data More พร้อมใช้ 2559

วงเสวนาที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ “ข้อมูล...คุณทำได้” เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า สังคมไทยไม่ได้ขาดตัวชี้วัดหรือดัชนี แต่ขาดการนำข้อมูลที่มีไปใช้เพราะขาด ‘คนกลางน้ำ’ ที่จะเชื่อมคนและข้อมูลจากต้นน้ำและปลายน้ำเข้าด้วยกัน โดยองค์ประกอบของประชาธิปไตยในข้อมูล ประกอบด้วย ข้อมูลและระบบดิจิทัลเป็นฐานราก นำสู่การกระจายอำนาจเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและการถกแถลงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลก่อนตัดสินใจ

“ถ้าไม่มีข้อมูลจะไม่สามารถวางแผนได้อย่างครบถ้วน” นายเดชรัต กล่าวพร้อมยกตัวอย่างกรณีที่มักมีความเข้าใจกันว่า ภาคเกษตรกำลังจะตาย แต่เมื่อดูจีดีพีภาคเกษตร รายภาค ในปี 2555กลับพ บว่า ในภาคเหนือ ภาคใต้และภาคอีสาน มีจีดีพีภาคเกษตรสูงกว่าร้อยละ 20 ซึ่งนับว่าสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การจะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อไปต้องนำข้อมูลเหล่านี้ไปถกแถลงกัน

เดชรัตยังแนะนำแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยรวบรวมข้อมูลและเก็บแบบสอบถาม ชื่อ NPI Data Me และเว็บไซต์คลังข้อมูลด้านต่างๆ 13 ด้าน ชื่อ NPI Data More ซึ่งจะสามารถแสดงผลเป็นกราฟให้เข้าใจได้ง่าย รวมถึงสามารถเปรียบเทียบรายจังหวัดได้ โดยจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้ในเดือนมกราคม 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net